วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556

เนปาลฮือฮา!ตีแผ่ข่าวพระไทยบิณฑบาต กรุงกบิลพัสดุ์เมืองเจ้าชายสิทธัตถะ

               หนังสือพิมพ์ Katmandu Post  ของประเทศเนปาล เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ได้ตีแผ่ข่าวที่พระสงฆ์ไทย จากสถาบันโพธิคยาวิชชาลัยและจากวัดไทยลุมพินี วัดไทยกบิลพัสดุ์ วัดไทยนิโครธาราม  จำนวนกว่าสี่สิบรูป  เดินออกรับอาหารบิณฑบาต ที่เมืองเตาลิฮาวา กรุงกบิลพัสดุ์  อดีตวังของพระเจ้าสุทโธทนะ ที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงประทับในช่วงทรงพระเยาว์และครองเรื่องจนพระชนมายุ 29 จึงเสด็จออกบวช

               การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของพระสงฆ์ไทยเป็นนิมิตบอกว่า พระพุทธศาสนากำลังกลับคืนสู่แดนดินถิ่นแห่งหิมวันตประเทศ หลังจากที่เงียบหายไปนานแสนนาน และประชาชนชาวเนปาล ท้องถิ่นต่างก็ออกมาใส่บาตรพระสงฆ์ไทยเป็นจำนวนมาก แม้พวกเขาส่วนใหญ่จะเป็นชาวฮินดู ไม่ใช่ชาวพุทธ ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาก็ตาม แต่เมื่อได้เห็นภาพอันน่าศรัทธาเลื่อมใสในจริยาวัตรอันงดงามนี้ ของเหล่าพระสงฆ์ไทย ประชาชนชาวเนปาลต่างก็ตื่นเต้นที่จักได้มีส่วนร่วมในการถวายอาหารบิณฑบาตรแก่พระสงฆ์สมณศากยบุตร จากประเทศไทย  นับเป็นภาพที่น่าชื่นชมยิ่งนัก

               ข้อความข้างต้นนี้เฟซบุ๊กนามท่านคมสรณ์ของพระธรรมทูตอินเดียคือพระครูปริยัติโพธิวิเทศ ภายใต้การนำของพระราชรัตนรังษี หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ได้รายงานเมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ได้รายงานการปฏิบัติศาสนกิจของพระธรรมทูตอินเดีย-เนปาลอย่างต่อเนื่อง

               พร้อมกันนี้ได้โพสต์บทความเรื่องพระธรรมทูตไทยในอินเดียและเนปาลช่วยสร้าง “ความนิยมไทย” เขียนโดย ไพฑูรย์ สงค์แก้ว สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี วันที่ 27 สิงหาคมความว่า

               "เมื่อวันที่ 14-16 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา พระธรรมทูตไทยสายประเทศอินเดียและเนปาลได้จัดงาน "ทำบุญบูรพาจารย์และประชุมพระธรรมทูตพุทธภูมิ" ที่วัดไทยพุทธคยา อำเภอคยา รัฐพิหาร พระภิกษุไทยประมาณ 120 รูปจากวัดไทยในอินเดียจำนวน 26 วัดและวัดไทยในเนปาล 1 วัด รวมทั้งพระภิกษุไทยที่ได้รับนิมนต์ให้จำพรรษาในวัดนานาชาติในอินเดียจำนวน 5 วัด และในเนปาลอีก 4 วัด ทั้งสังกัดมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย รวมจำนวน 36 วัด ได้เดินทางมาร่วมงานดังกล่าว นอกจากนี้ พระภิกษุชาวเนปาล จำนวน 2 รูป ได้มาร่วมประชุมด้วย

               พระธรรมสุธี เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งได้เดินทางจากประเทศไทยมาเป็นประธานการประชุมพระธรรมทูตครั้งนี้ ได้ให้โอวาท และแนวทางการทำงานแก่พระธรรมทูต ที่นอกจากมุ่งเน้นการทำงานเผยแพร่พระพุทธศาสนาเพื่อประโยชน์สุข และเกื้อกูลต่อชาวอินเดียและชาวไทยที่มานมัสการสังเวชนียสถาน ในอินเดียและเนปาลแล้ว ก็ควรเป็นพี่เลี้ยงพระภิกษุอินเดีย (All India Bhikkhu Sangha) เพื่อให้ฝ่ายหลังเติบโตแข็งแรงด้วย หลังจากนั้น ทั้งพระธรรมทูตและพระภิกษุไทย ที่มาปฏิบัติพุทธศาสนกิจ รวมทั้งพระภิกษุนักศึกษาในอินเดียทั้ง 120 รูปได้แลกเปลี่ยนทัศนะและประสบการณ์การทำงานในฐานะพระธรรมทูต ส่วนผู้แทนสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทยได้กล่าวต่อที่ประชุมถึงความพร้อมโดยเฉพาะของสถานเอกอัคร-ราชทูต ณ กรุงนิวเดลี และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา ที่จะสนับสนุนอุปถัมภ์การดำเนินงานของพระธรรมทูตอย่างดีที่สุด

               ในงานมีการทำพิธีเชิญธงอินเดียขึ้นสู่ยอดเสาในวัดไทยพุทธคยา โดยนักเรียนโรงเรียนปัญจศีล ซึ่งเป็นเด็กชาวพุทธใหม่โดยมีพระภิกษุชาวอินเดียเป็นผู้นำและพระภิกษุไทย ที่เข้าร่วมงานครั้งนี้เข้าร่วมพิธีด้วย เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2556 ซึ่งเป็นวันฉลองวันเอกราชของอินเดียด้วย

               ส่วนการประกอบพิธีทำบุญบุรพาจารย์ก็จัดขึ้นในพระอุโบสถวัดไทยพุทธคยา เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่อดีตเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยาสามรูปที่ได้มรณภาพไปแล้ว และแก่อดีตเอกอัครราชทูต  ณ กรุงนิวเดลี ตลอดทั้งแก่ กงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตาที่ล่วงลับไปแล้ว

               นอกจากนี้ ก็มีการมอบทุนการศึกษาแก่พระภิกษุไทย สามเณรอินเดีย และเยาวชนอินเดีย จำนวน 33 ทุน รวมเป็นเงิน 159,000 รูปี รวมทั้งการมอบทุนการศึกษาจำนวน 1 แสนรูปี (ผ่านตัวแทนสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย) ให้แก่นักศึกษาไทยมุสลิมของมหาวิทยาลัยอลีครห์ (Aligarh University) ในรัฐอุตตรประเทศด้วย

               งานดังกล่าวนอกจากเพื่อการส่งเสริมพระพุทธศาสนาในอินเดียแล้ว ยังเป็นการสร้าง “ความนิยมไทย” ได้อย่างดีด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการมอบทุนการศึกษาโดยเฉพาะแก่เยาวชนชาวอินเดียที่เรียนดี แต่ยากจนน่าจะสามารถช่วย
ยกระดับคุณภาพชีวิตได้ในระยะยาว

               จากบทความนี้พอจะเป็นการสะท้อนภารกิจของพระธรรทูตอินเดีย-เนปาลได้ชัดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมที่จาริกไปพื้นที่ที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมและสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอินเดีย-เนปาล และควรจะขยายภาพไปที่รัฐอัสสัม ปากีสถาน อัฟกานิสถาน บังคลาเทศก็มีประโยชน์ยิ่ง หากนำภาพดังกล่าวมาประกอนการเรียนการสอนวิชาพระพุทธประวัติแล้วคงจะทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจมากขึ้นและรวดเร็วนิ่งยิ่งขึ้นแทนที่จะให้เรียนในตำราเป็นตัวหนังสือเท่านั้น เพราะยุคปัจจุบันนี้มีสื่อการเรียนการสอนมากมายที่จะนำมาประกอบ



.....................

สำราญ สมพงษ์รายงาน(FB-samran sompong)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"วิเคราห์ ทิฏฐิสังยุตต์ มูลปัณณาสก์ ทุติยเปยยาล - นวาตสูตร

  "วิเคราห์   ทิฏฐิสังยุตต์  มูลปัณณาสก์  ทุติยเปยยาล  -   นวาตสูตร  - เนวโหตินนโหติตถาคตสูตร - รูปีอัตตาสูตร - อรูปีอัตตาสูตร -รูปีจอร...