วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

แนะอ่านนิทานเรื่อง'นกกระจาบ'ลดความขัดแย้งในสังคมไทย

                 "ปัจจุบันนี้แม้นว่าจะมีการแก้ไขกฏมายหรือวางแนวทางปฏิรูปการเมืองไม่ว่าจะออกมาดีอย่างไร หากใจของคนในสังคมไทยไม่ยอมรับแล้วก็ยากที่แก้ปัญหาความขัดแย้งได้ ดังนั้น หากจิตใจคนในสังคมไทย ลด ละ เลิกทิฐิ ไม่มองเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้ง และเห็นประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติเป็นสำคัญแล้ว ก็เชื่อแน่ว่าจะลดปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยได้"
               นี้เป็นข้อเสนอของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นักศึกษาปริญญาเอก บัณฑิตวิทยาลัย มจร ที่กล่าวในงานแถลงข่าวของบัณฑิตวิทยาลัย มจร ที่เปิดเผยผลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ดีเด่นระดับ “ยอดมงกุฏ” ที่สามารถนำพุทธบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่อย่างลงตัว  พร้อมได้องค์ความรู้ใหม่ตอบโจทย์และเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยเฉพาะลดความขัดแย้ง ซึ่งเตรียมที่จะจัดโชว์ต่อสาธารณชนในวันที่ 22 ก.ย.นี้ ที่ มจร  อ.วังน้อย  จ.พระนครศรีอยุธยา

               ในส่วนของคุณหญิงสุดารัตน์เองก็เร่งที่จะทำวิจัยหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเพื่อหาแนวทางในการลดความขัดแย้งสร้างความปรองดองในสังคมไทย โดยตั้งชื่อข้อวิทยานิพนธ์เบื้องต้นว่า "พุทธศาสนากับการสร้างความปรองดองในสังคมไทย" หรือ "พุทธศาสนากับการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย" เพราะเห็นว่าสังคมไทยละเลยที่จะนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาใช้แก้ปัญหามานานแล้ว

               ทันทีที่ข่าวนี้กระจายออกไปทั่วโลก ก็มีเสียงข้ามน้ำข้ามทะเลกลับมาเมืองไทยในลักษณะไม่มีความเชื่อมั่นในตัวองค์กรที่คุณหญิงสุดารัตน์กำลังศึกษาคือ มจร ว่า "อย่ามัวแต่ดึงดารานักการเมืองมาสร้างภาพอยู่เลย ควรที่จะเน้นสร้างคุณภาพของนิสิตนักศึกษาเป็นหลักจะดีกว่า"

               พร้อมกันนี้ก็มีเสียงดังจากสังคมออนไลน์ออกมาว่างานวิจัยในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยนั้นมีอยู่มากแล้วเป็นแต่เพียงไม่นำออกมาใช้เท่านั้น 

               ขณะเดียวกันก็มีการเคลื่อนไหวจาก 50 องค์กรที่จะร่วมกันตั้งสภาปฏิรูปการเมืองคู่ขนานกับสภาปฏิรูปการเมืองของรัฐบาล

               จะมีการตั้งอะไรอย่างไรหรือดำเนินการอย่างไรก็ตาม แต่จุดที่สำคัญก็คืออยู่ที่จิตใจเป็นสำคัญ หากยังมัวแต่เห็นแต่โยชน์ส่วนตัวเป็นหลักและชี้หน้าตำหนิกันและกันก็ยากที่ความขัดแย้งจะลดลงได้

               เมื่อมีเสียงท้วงติงความเห็นของคุณหญิงสุดารัตน์แม้นว่าจะเป็นความปารถนาดีก็ตาม แต่ยามนี้ควรที่จะให้กำลังใจกันและกันยึดหลักสัมมาวาจาตามมรรคมีองค์ 8  จะไม่เกิดประโยชน์มากกว่าหรือ

               เมื่อสังคมไทยยังมีบรรยากาศของการชี้หน้าด่ากันอยู่เช่นนี้ทำให้นึกถึงนิทานเรื่องนกกระจายความว่า

               "ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดนิโคธาราม เมืองกบิลพัสดุ์ ทรงปรารภการทะเลาะกันของพระประยูรญาติ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...

               กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีฝูงนกกระจาบหลายพันตัวอาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง มีนายพรานคนหนึ่ง มีอาชีพจับนกกระจาบขายอยู่เป็นประจำ วันหนึ่ง นกกระจาบจ่าฝูงได้แนะนำนกกระจาบทุกตัวว่า
  
               "ท่านทั้งหลาย เมื่อถูกตาข่ายนายพรานครอบแล้ว ให้ท่านทุกตัวสอดหัวเข้าในตาข่ายตาหนึ่งๆ แล้วพากันบินไปที่ต้นไม้มีหนาม ทิ้งตาข่ายไว้แล้วบินหนีไปนะ "หมู่นกกระจาบพากันรับคำ ต่อมาอีกสองวัน ฝูงนกกระจาบถูกตาข่ายนายพรานเข้าก็พากันทำเช่นนั้น นกทุกตัวสามารถหนีรอดไปได้ กว่านายพรานจะปลดตาข่ายออกจากหนามก็ค่ำมืดพอดี

               อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่หากินอาหาร มีนกกระจาบตัวหนึ่ง บินลงพื้นที่หากินเหยียบถูก หัวนกกระจาบอีกตัวหนึ่งเข้า ตัวถูกเหยียบหัวโกรธจึงเป็นเหตุให้ทะเลาะกันลามไปทั้งฝูงว่า
  
               "เห็นจะมีแต่ท่านเท่านั้นกระมัง ที่ยกตาข่ายขึ้นได้ ตัวอื่นไม่มีกำลังหรอกนะ"

               ฝ่ายนกกระจาบจ่าฝูง เห็นพวกนกมัวแต่ทะเลาะกัน ก็คิดว่า
  
               "ขึ้นชื่อว่า การทะเลาะกัน ย่อมไม่มีความปลอดภัย ความพินาศจะเกิดขึ้น " จึงได้พาบริวารส่วนหนึ่งบินหนีไปอยู่ที่อื่น

               ฝ่ายนายพราน พอผ่านไปสองสามวัน ก็มาดักตาข่ายอีก พอฝูงนกกระจาบติดตาข่ายนายพรานในครั้งนี้อีก ต่างทะเลาะกันเกี่ยงกันบินขึ้น จึงถูกนายพรานรวบไปเป็นอาหารและขายทั้งหมด

               นายพรานจึงกล่าวเป็นคาถาว่า "นกกระจาบทั้งหลาย ร่าเริง บันเทิงใจ พาเอาข่ายไปได้ เมื่อใดพวกมันทะเลาะกัน เมื่อนั้น พวกมันจักตกอยู่ในเงื้อมมือของเรา"

               นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การทะเลาะกันนำมาซึ่งความพินาศ
   
               เรื่องที่ 3 ในกุลาวกวรรค หน้า 335-338 พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่มที่ 3 ภาคที่ 1 ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ 1 โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม (เสนาซุย)" 

               เมื่อสังคมไทยเอาใจอ่านนิทานเรื่องนกกระจาบนี้แล้ว บวกกับนักการเมืองยึดหลักมรรคมีองค์ 8 โดยเริ่มจากความเห็นที่ถูกต้อง ตามข้อเสนอของนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.แล้ว ก็เชื่อแน่ว่าความแข้งแย้งจะลดลงอย่างแน่นอน


'''''''''''''''''''''''''''''''''

แนะอ่านนิทานเรื่อง'นกกระจาบ'ลดความขัดแย้งในสังคมไทย : สำราญ สมพงษ์รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ "ปารายนวรรค...