กระแสความขัดแย้งระหว่างศาสนานับวันจะยิ่งทวีความรุ่นแรงมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีชาวมุสลิมทั่วโลกได้ลุกฮือขึ้นประท้วงหนังหมิ่นศาสนาอิสลาม ขณะเดียวกันก็มีความกระทบกระทั้งกันระหว่างชาวมุสลิมกับพุทธอย่างเช่นที่ พม่า อินเดีย และมาเลเซีย หรือชาวพุทธกับคริสต์ หากผู้นำแต่ละศาสนาไม่จับมือกับดับไฟเสียแต่ต้นลมแล้ว ก็ยิ่งจะเกิดผลเสียกับชาวโลก
นับเป็นมิติหมายอันดีที่ผู้นำศาสนาในภูมิภาคอาเซียนได้มีการประชุมปรึกษา หารือกันระหว่างวันที่ 17-19 ก.ย.ที่ผ่านมา ในการสัมมนานานาชาติ เรื่อง "ศาสนากับกระบวนการสร้างสันติภาพในภูมิภาคอาเซียน" ซึ่งจัดโดยศาสนาสันนิบาตโลกมุสลิม สภาศาสนสัมพันธ์แห่งประเทศไทย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ณ โรงแรมเดอะสุโกศลหรือโรงแรมสยามซิตี้เดิม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ซึ่งโครงการนี้ยังเป็นการรองรับการก้าวสู่ "ประชาคมอาเซียน" หรือ ASEAN Community ในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015) อีกด้วย
งานนี้มีวิทยากรสำคัญที่เข้าร่วมการสัมมนา อาทิ นายอับดุลเลาะห์ บิน อับดุลมุหชิน อัล ตุรกี เลขาธิการสันนิบาตโลกมุสลิม สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พระราชวราจารย์ ประธานร่วมศาสนาเพื่อสันติภาพ สภาศาสนสัมพันธ์แห่งประเทศไทย (RfP - IRC Thailand) สมเด็จพระสังฆราช Tep Vong (กัมพูชา) ประธานร่วมศาสนาเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ
Mr. Myint Swe จากมูลนิธิรัตนเมตตา สหภาพพม่า อัครสังฆราช Fernando Capalla จากฟิลิปปินส์ สังฆราชแห่งมินดาเนาและประธานกิจการระหว่างศาสนาและระหว่างชาวคริสต์ของ สหพันธ์สภาสังฆราชแห่งเอเชีย Dr.Nyoman Udayana Sangging กรรมการบริหารของสมาคมฮินดูแห่งอินโดนีเซีย พระอาจารย์ภูสวรรค์ รองประธานพุทธศาสนสัมพันธ์ประเทศลาว Sadsr V. Harcharan Singh ประธานสภา Gurdwards แห่งมาเลเซีย Prof. Dr. Philip K Widjaja รองเลขาธิการพุทธสมาคมแห่งอินโดนีเซีย Huji Mohamad Idris ประธานชุมชนอิสลามในกรุงโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม Dr. Yabit Alas คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยบรูไนดารุสซาลาม Sister Maria Law ประธานองค์กรระหว่างศาสนาแห่งสิงคโปร์ เป็นต้น
สำหรับฝ่ายไทยมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีวิทยาลัยอิสลามยะลา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายกสภามหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ผศ.สุกรี หลังปูเต๊ะ คณบดีคณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ร่วมในการสัมมนาและให้การต้อนรับคณะวิทยากรจากต่างประเทศ
ทั้งนี้สภาศาสนสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของผู้นำศาสนาในพื้นที่ 5 ศาสนา คือ อิสลาม พุทธ คริสต์ ซิกข์ และฮินดู เพื่อเป็นเวทีและสะพานเชื่อมระหว่างผู้นำศาสนารวมทั้งประชาชนทั่วไปในการนำ หลักการทางศาสนาที่ถูกต้องมาใช้ในกระบวนการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยเปิดโอกาสให้แต่ละศาสนาในพื้นที่เสนอทางออกในมิติของการอยู่ร่วมกันอย่าง สมานฉันท์และสันติสุข
แนวแนวคิดจัดการสัมมนานานาชาติระดับอาเซียนในครั้งนี้ เพื่อให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้นำศาสนาทั้ง 5 ศาสนาในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และนำตัวอย่างอันดีตลอดจนประสบการณ์ในการจัดการความขัดแย้งทางศาสนาหรือความ ขัดแย้งอื่นๆ ที่สามารถใช้หลักการและกระบวนการทางศาสนาเข้าไปเยียวยาไปใช้แก้ไขปัญหาความ ขัดแย้งในแต่ละพื้นที่ของอาเซียน รวมทั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยต่อไป
งานสัมมนาเริ่มขึ้นในวันจันทร์ที่ 17 ก.ย. โดยมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย เป็นประธานเปิดแทนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมกล่าวว่า ศาสนาถือเป็นกระบวนการสำคัญในการแก้ไขปัญหาทางสังคม ตนคิดว่าปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เกิด จากศาสนาและเกิดจากการเมืองมากกว่า เพราะไทยเปิดโอกาสให้ทุกคนในทุกศาสนิกมีโอกาสเท่ากันในการเข้ามาบริหาร ประเทศ ที่ผ่านมามีผู้บริหารระดับประเทศที่เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม เช่น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา และรมว.มหาดไทย นอกจากนี้ยังมีผู้ว่าฯที่เป็นมุสลิมก็มี จึงขอยืนยันว่าปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ไม่ใช่ความขัดแย้งทางด้านศาสนา แต่เป็นปัญหาความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ และ ความรู้สึก
วันอังคารที่ 18 ก.ย.เป็นการเสวนาเรื่องการเสริมสร้างความร่วมมือและการสานเสวนาระหว่างศาสนา เพื่อแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งและสร้างสันติภาพในประเทศอาเซียน, การสร้างเครือข่ายศาสนาเพื่อสันติภาพในอาเซียน และการประชุมกลุ่มย่อยซึ่งมีหัวข้อน่าสนใจ เช่น แบ่งปันความสำเร็จในการจัดการความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับศาสนา, ความเป็นสมัยใหม่และความสมานฉันท์ระหว่างชุมชนชาติพันธุ์ศาสนา และความขัดแย้งและบทบาทของศาสนา: กรณีศึกษาของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น
หลังจากนั้นวันพุธที่ 19 ก.ย.คณะผู้นำศาสนาเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงเช้าร่วมสัมมนาที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา มีวงประชุมร่วมกับคนในพื้นที่เกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งและการใช้หลักศาสนา ในการจัดการความขัดแย้ง โดยจะมีการร่วมแถลงข่าวของผู้นำศาสนาในประเทศอาเซียนด้วย
เชื่อแนวทางแนวทางการปรึกษาหารือกันพูดคุยกันนี้จะสามารถสร้างสันติภาพให้ เกิดขึ้นในโลกได้ มากกว่าการโพทนาด่าท่อกัน หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานสัมมนาลักษณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ
(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจาก thaipbs.or.th และศูนย์ข่าวภาคใต้สำนักข่าวอิศรา isranews.org/south-news)
สำราญ สมพงษ์รายงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น