วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

6ปีรัฐประหาร'ทักษิณ'ผู้เสียสละเทียบชั้น'ปรีดี'?

              19กันยายน2555 เป็นวันครบรอบ 6 ปีการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ "ทักษิณ ชินวัตร" หลังจากนั้นเจ้าตัวถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปีจากคดีที่ดินรัชดา มีสภาพเป็นนักโทษหนีคุก เป็นสัมภเวสีเร่ร่อนไปตามหัวเมืองต่างๆ จนเกิดปัญหาทำให้ ป.ป.ช.สอบกระทรางการต่างประเทศกรณีการออกหนังสือเดินทางให้

              ตลอดระยะเวลา 6 ปีนี้กลุ่มคนเสื้อแดง และล่าสุด "สมเกียรติ อ่อนวิมล" ก็กวักมือเรียกให้ "ทักษิณ" กลับบ้าน แต่ "ทักษิณ" ทิ้งประโยชน์ส่วนตนมองประโยชน์ส่วนร่วมเป็นที่ตั้ง จึงได้ประกาศไม่เดินทางกลับช่วงที่บ้านมีความขัดแย้งสูง ดังนั้น "ทักษิณ" จึงควรจะได้รับการยกย่องว่า "เป็นผู้เสียสละ" แล้ว

              หากจะให้ดีไปกว่านั้น "ทักษิณ" ควรจะประกาศยุติบทบาททางการเมือง ไม่ลวงลูกโผทหาร ไม่ชักใย "น้องสาว" ให้ถูกตราหน้าว่าเป็น "นายกฯหุ่นเชิด" ก็จะทำให้เธอได้รับการยกย่องว่าเป็น "นารีขี่ม้าขาว" เพราะไม่เช่นนั้นแล้วก็เป็นได้เพียง "นารีถือโพย" เท่านั้น

              และจะให้ดีไปกว่านั้น "ทักษิณ" ควรจะประกาศไม่เดินทางกลับประเทศไทยอีก ตามข้อเสนอของ "คณิต ณ นคร" ประธาน คอป.   ที่ระบุว่า "ถ้าอยากเป็นรัฐบุรุษ ต้องรู้จักคำว่าเสียสละ แม้ว่าจะไม่กลับประเทศ ก็สามารถเป็นรัฐบุรุษได้เช่นกัน เหมือนนายปรีดี พนมยงค์ ที่ทำงานเพื่อประเทศโดยที่ไม่เคยกลับประเทศ เพียงเพราะอยากให้บ้านเมืองสงบ"

              "ทักษิณ" ยอมรับข้อเสนอของ "คณิต" ก็จะกลายสภาพเป็น "State Man หรือ รัฐบุรุษ" เทียบชั้น  "ปรีดี พนมยงค์" ทันที

              หาก "ทักษิณ"  ไม่ยอมรับและยังดึงดันที่จะเดินทางกลับไทยโดยไร้ความผิดแล้ว อาจจะถูก "แผ่นดินสูบ" ก็เป็นได้ ในที่นี้คือ ถูกสูบจากความดีที่เสียสละมา ความเป็น "State Man หรือ รัฐบุรุษ" ให้หมดไป

              คำว่า "แผ่นดินสูบ" คงจะสามารถตีความได้ในลักษณะเช่นนี้ได้  อย่างเช่น "เสฐียรพงษ์ วรรณปก" เจ้าของคอลัมน์ "รื่นร่ม รมเยศ" ที่มติชน ได้เขียนเรื่อง " เมื่อคนชั่วถูกแผ่นดินสูบ" เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ยกกรณีผู้ที่แผ่นดินสูบเมื่อครั้งพุทธกาลคือ พระเทวทัตและนางจิญจมาณวิกา

              กรณีของพระเทวทัตอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ระบุว่า "มีข้อที่น่าสังเกตว่า ทั้งๆ ที่พระเทวทัตถูกประณามว่าเป็นมารร้ายคอยจองล้างจองผลาญพระพุทธเจ้า ชาวพุทธฝ่ายจีนเขายังถือว่า พระเทวทัตมีความสำคัญมิใช่น้อย ถึงกับยกย่องให้เป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง (ว่ากันอย่างนั้น เท็จจริงอย่างไรผมก็ยังไม่ได้เห็นหลักฐานชัดๆ) เขาอธิบายว่า พระเทวทัตยิ่งเลวร้ายต่อพระพุทธองค์เพียงใด พระพุทธคุณยิ่งเด่นชัดขึ้นในความรู้สึกของประชาชนเพียงนั้น ดุจดังจุดดำช่วยขับให้ผ้าขาวเด่นชัดขึ้นฉันนั้น"

              ขอเสริมอาจารย์เสฐียรพงษ์ตรงจุดนี้ก็คือว่า ตามพุทธประวัติแล้วช่วงที่พระเทวทัตจะถูกแผ่นดินสูบนั้นสำนึกผิดขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์(อริยะ)เป็นที่พึ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทำนายว่าด้วยอานิสงส์แห่งการสำนึกผิดนี้  พระเทวทัตหลังจากเสวยกรรมในนรกแล้วจะสั่งสมบารมีและบรรลุพระปัจเจกพุทธเจ้าในที่สุด            

              ส่วนกรณีของ "นางจิญจมาณวิกา" ที่กล่าวตู่พระพุทธเจ้าทำให้เธอตั้งครรภ์เพราะหวังจะทำลายชื่อเสียงของพระองค์ เมื่อพิสูจน์ความจริงปรากฏจึงถูกประชาทัณฑ์วิ่งหนีออกจากพระอารามและถูกแผ่นดินสูบ

              อาจารย์เสฐียรพงษ์ระบุว่า ถ้าไม่ตีความตามตัวอักษรคงจะหมายความว่า "นางคงวิ่งกะเล่อกะล่าหนีฝูงชนจนตกท่อประปา เอ๊ยตกหลุมตกบ่อตาย หรือไม่ก็คงถูกประชาชนรุมกระทืบตายคาเท้านั่นเอง"

              หาก "ทักษิณ"  ไม่ยอมรับข้อเสนอของ "คณิต" ตามการตีความไม่ตรงตามตัวอักษร อาจจะถูก "แผ่นดินสูบ" พลาดโอกาสการเป็น "State Man หรือ รัฐบุรุษ" จึงมองไม่เห็นว่าสังคมไทยจะเกิดความปรองดองเมื่อใด

............

(หมายเหตุ : 6ปีรัฐประหาร'ทักษิณ'ผู้เสียสละเทียบชั้น'ปรีดี'? : กระดานความคิดโดยสำราญ สมพงษ์)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...