วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สกว.สวนกระแส'เณรคำ' ชู'ครูพระลำปาง'ยอดนักวิจัย

              ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาชาวพุทธคงจิตตกไม่น้อยกับกระแสข่าวในวงการพระสงฆ์ ทั้งการสึกของอดีตพระอาจารย์มิตซูโอะ การแฉพฤติกรรมของ "หลวงปู่เณรคำ" ส่วนข้อเท็จจริงทั้งสองเรื่องนี้จะเป็นจริงหรือมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไรนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตนวิญญูชนพิจารณาเอาเองเถิด

              หากจะพิจารณาถึงสาเหตุของอาการจิตตกนั้น พอจะมองได้ว่าคงเกิดจากชาวพุทธไทยยึดติดกับตัวบุคคลมากเกินไปหรือไม่ แทนที่จะยึดพระพุทธ พระธรรม  และพระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่ง กลับไปยึดติดกับพระปุถุชนสงฆ์ไปที่พึ่งแทน เพราะพระปุถุชนสงฆ์ยังตกอยู่ในลักษณ์ของไตรลักษณ์ก็มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา หากไปยึดติดก็เป็นทุกข์อย่างที่เห็นกัน

              ความจริงแล้พระในประเทศไทยมีมากกว่าสองแสนรูปหากไม่ยึดติดในตัวบุคคลมากจนเกินไปก็พอจะหาเป็นแบบอย่าง เป็นที่พึ่ง หรือเป็นเพื่อนเพื่อพัฒนาจิตให้สูงขึ้นได้

              ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างหนึ่งของพระที่ทำหน้าที่เพื่อสังคมเป็นครูสอนศิลธรรมในโรงเรียนถิ่นธุรกันดาร นั้นก็คือพระประพจน์สรัช ญาณธีโร สังกัดวัดสัณฐาน อ.แม่ทะ จ.ลำปาง โดยเป็นครูสอนศิลธรรมในโรงเรียนสุนทรศึกษา ต.ป่าตัน อ.แม่ทะ  และมีตำแหน่งงานวัดผลประเมินผลหมวดวิชาคณิตศาสตร์ โดยโรงเรียนแห่งนี้​ประกอบด้วยนัก​เรียนส่วน​ใหญ่​เป็นสาม​เณร​และ​เด็กยากจน ​ไร้สัญชาติ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นครูพระ​ผู้สอน​เด็ก​ไร้สัญชาติ-ยากจน  จากโครง​การสังคม​ไทยร่วมกันคืนครูดี​ให้ศิษย์ยกย่อง​เชิดชูครูสอนดีเนื่องในวันครูประจำปี 2555

​              โดยสำนักงานส่ง​เสริมสังคม​แห่ง​การ​เรียนรู้​และคุณภาพ​เยาวชน ​ได้ระดม​ความร่วมมือ จากชุมชนท้องถิ่น​และจังหวัด กว่า 150,000 คน มาร่วมกันคัด​เลือกครูที่มีผลงาน​เชิงประจักษ์ จน​ได้ครูสอนดีจำนวน​ทั้งสิ้น 18,871 คน ที่อยู่​ทั้ง​ในสถานศึกษา​ และนอกสถานศึกษา นอกจากนี้ยังมีครูสอนดีที่สอน​เด็กด้อย​โอกาส ​ซึ่ง​ได้รับงบประมาณ ​ในรูปของ "ทุนครูสอนดี" รายละ 250,000 บาท จำนวน​ทั้งสิ้น 549 คน  ​เพื่อจัด​ทำ​โครง​การขยายผล​การพัฒนากลุ่ม​เด็ก​และ​เยาวชนด้อย​โอกาส ​ในระยะ​เวลา 18 ​เดือน

              "จิตวิญญาณของ​ความ​เป็นครู สิ่งสำคัญคือต้อง​ให้​ความสน​ใจ​เด็ก ถ้า​เรา​เข้า​ใจ​เด็ก​แต่ละกลุ่ม​ได้​ก็จะช่วย​เติม​ในสิ่งที่ขาด ​และด้วย​ความมุ่งมั่นที่อยาก​เห็น​เด็กมี​ ความรู้​ความสามารถ ​เนื่องจากอาตมา​เอง​ก็​เคยขาด​โอกาส​ได้​เรียนมาก่อนด้วยสภาพทาง​เศรษฐกิจ​ในครอบครัว ​จึงอยากสอน​เด็ก​ได้มี​โอกาส​เรียนอย่างมีคุณภาพ​ เท่า​เทียมกับ​โรง​เรียนที่มี​ความพร้อม" พระประพจน์สรัช ได้แสดงความรู้สึกตามที่หนังสือพิมพ์​ไทย​โพสต์ เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2555

              พระประพจน์สรัชนั้นจบวุฒิการศึกษษนักธรรมเอก เปรียญธรรมประโยค 1-2 ปริญญาตรีพุทธศาสตรบัณฑิตเอกภาษาอังกฤษจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปริญญาโทบริหารการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 15 และได้รับการเห็นชอบจากประชุมมหาเถรสมาคมให้ไปปฏิบัติศาสนกิจที่วัดพุทธวิหารอัมสเตอร์ดัม กรุงอัมสเตอร์ดัม ประ เทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันพุธที่ 20  มิถุนายน พ.ศ.2555

              จากการที่พระประพจน์สรัชจบวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโทนอกจากจะทำหน้าที่ศิลธรรมในโรงเรียนแล้ว ยังมีทักษะการทำวิจัย เมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการพัฒนาเด็ก เยาวชนและการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2539 ที่ได้ริเริ่มชุดโครงการการศึกษากับชุมชนส่งเสริมสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นต่างๆ ใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กเพื่อชุมชนท้องถิ่นต่างๆ โดยมีการสร้างเครือข่ายการวิจัยโดยมีครูนักวิจัยและชุมชนชาวบ้านร่วมเรียนรู้งานวิจัย ข้อค้นพบนำไปสู่การขยายผลการทำงานอีกมาก อาทิ งานวิจัยท้องถิ่น งานวิจัยย่อยเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน โครงการครุวิจัย โครงการยุววิจัย ซึ่งกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาได้มีผลงานวิจัยมากมายที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาเด็กเยาวชนและการศึกษาทั้งในระดับนโยบายและระดับท้องถิ่นในหลากหลายพื้นที่ ขยายไปสู่ยุทธศาสตร์การทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาทั้งพื้นที่ (ABC, Area-Based Collaborative Research) ที่เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ทำงานของ สกว.

              จังหวัดลำปางเป็นหนึ่งในพื้นที่การทำงานที่ สกว.ให้การสนับสนุนการทำงานวิจัยในหลากหลายมิติซึ่งมีโครงการวิจัยในพื้นที่ลำปางไม่น้อยกว่า 60 โครงการ ทั้งนี้ในมิติด้านเด็ก เยาวชนและการศึกษาที่ได้บุกเบิกมาไม่น้อยกว่าสองทศวรรษผ่านโครงการต่างๆ นั่นคือ ตั้งแต่ชุดโครงการการศึกษากับชุมชน โครงการนำร่องติดตามสภาวการณ์เด็กเยาวชนในพื้นที่ภาคเหนือจังหวัดลำปาง (Child Watch) ชุดโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ชุดโครงการวิจัยและพัฒนา เครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการเรียนรู้ โครงการสำรวจสถานภาพองค์ความรู้เรื่อง “การพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อถิ่นฐานบ้านเกิดจังหวัดลำปาง”

              ที่สำคัญในรอบปี พ.ศ.2554-2556 ที่ผ่านมา สกว.ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีหลายภาคส่วนในการทำงานพัฒนาพื้นที่จังหวัดลำปาง อาทิ โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนานักวิจัยและการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดลำปางภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สกว.กับมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง โดยมีผศ.จำลอง คำบุญชู ดูแลซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับการสร้างความรู้และขับเคลื่อนความรู้หลากหลายมิติ  ชุดโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาภายใต้ความร่วมมือระหว่างสกว.กับธนาคารกสิกรไทย โดยมี รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ดูแลส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้คู่วิจัยในลักษณะต่างๆ โครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง (Teacher Coaching) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สกว.กับสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ดูแลขับเคลื่อนให้มีระบบพี่เลี้ยงเพื่อการพัฒนาครูในพื้นที่ต่างๆ โครงการพัฒนาตัวแบบการเรียนรู้นอกฐานโรงเรียนผ่านกระบวนการผลิตสื่อของเยาวชน(Non-traditional Learning)เป็นโครงการย่อยที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎ ภาคีด้านเด็กเยาวชนและท้องถิ่น พัฒนานวัตกรรมปฏิรูปการเรียนรู้บนฐานการผลิตสื่อสารคดี โดยมีนายสรรชัย หนองตรุด และคณะดูแล ซึ่งต่างก็มีส่วนสร้างนวัตกรรมและตัวแบบการจัดการที่มากมาย

              นอกจากนี้มีหน่วยงานภาคีต่างๆ ที่ต่างก็ทำงานคู่ขนานขับเคลื่อนไปกับสกว. อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา มูลนิธิปูนซีเมนต์ไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน เป็นต้น ที่ต่างลงไปทำงานร่วมกับโรงเรียน ภาคีการศึกษา และท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในมิติต่างๆ ซึ่งน่าจะได้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์กัน

              สถาบันรามจิตติในฐานะทำหน้าที่เป็นสำนักประสานงานเครือข่ายวิจัยด้านเด็ก เยาวชนและการศึกษาให้แก่ สกว. มีภารกิจในการสร้างและสนับสนุนการวิจัยที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็ก เยาวชนและการศึกษา โดยประสานงานภายในและภายนอกชุดโครงการตลอดจนสนับสนุนให้ทำงานขับเคลื่อนความรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่องานพัฒนาในพื้นที่ได้มองเห็นโอกาสของการประสานพลังการขับเคลื่อนความรู้จากงาน สกว.ไปสู่การพัฒนางานด้านเด็ก เยาวชนและการศึกษาภายใต้ “ยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่” (Area-Based Strategy) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งพื้นที่อย่างเป็นองค์รวม  ด้วยเหตุนี้ สถาบันรามจิตติจึงได้จัดทำโครงการประชุมวิชาการเรื่อง “การขับเคลื่อนความรู้เพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชนและการศึกษาเชิงพื้นที่ : จังหวัดลำปาง” ขึ้นในวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง  เวลา 08.00-15.30 น. เพื่อการเผยแพร่ผลงานและเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้พร้อมขับเคลื่อนความรู้จากงานวิจัยไปสู่การผลักดันให้เกิดประโยชน์ ต่อยอด และขยายผลจากงานวิจัยในกลุ่มเด็ก เยาวชน และการศึกษาของ สกว.ให้เกิดพลังในการทำงานด้านการพัฒนาเด็ก เยาวชน และการปฏิวัติการเรียนรู้ในพื้นที่ต่อไป

              การประชุมวิชาการครั้งนี้จะเป็นที่รวมของนักบริหาร นักวิจัย นักวิชาการด้านการศึกษาอาทิ ดร.สุรัฐ  ศิลปอนันต์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ดร.อมรวิชช์  นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) อาจารย์ชุติมา  คำบุญชู หัวหน้าโครงการศูนย์พี่เลี้ยงโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง พระประพจน์สรัชพระครู​นักวิจัยโครงการตัวแบบการเรียนรู้นอกฐานโรงเรียนผ่านกระบวนการผลิตสื่อ ของเยาวชนโรงเรียนสุนทรศึกษา จังหวัดลำปาง จึงได้มีโอกาสเข้าร่วมเสนอผลงานวิจัยด้วย

              พระประพจน์สรัชนับได้ว่าเป็นพระดีรูปหนึ่งที่น่ายกย่องท่ามกลางกระแสข่าวอีกด้านของอดีตพระอาจารย์มิตซูโอะและหลวงปู่เณรคำ ในภาวะเช่นนี้คงได้แต่นึกถึงคติธรรมของพระหลวงพ่อพุทธทาสที่ว่า

              "...เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา

              จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่

              เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู

              ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย

              ...จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว

              อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย

              เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเลย

              ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง"

...............................

(หมายเหตุ :  สกว.สวนกระแส'เณรคำ' ชู'ครูพระลำปาง'ยอดนักวิจัย : สำราญ สมพงษ์รายงานเผยแพร่ทางเว็บไซต์คมชัดลึกวันที่ 5 ก.ค.2556)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...