วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พระไทยหนึ่งเดียวผงาดบนเวทีศก.โลกที่พม่า

               ปิดฉากลงแล้วสำหรับการประชุมเศรษฐกิจ 'เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม' ในเอเชียตะวันออก ณ กรุงเนปีดอว์ ประเทศเมียนมาร์ ระหว่างวันที่ 5-7 มิ.ย.2556 ที่มีผู้แทนเกือบ 900 คนจาก 55 ประเทศเข้าร่วม นับเป็นครั้งแรกที่เมียนมาร์มีโอกาสได้จัดการประชุมระดับใหญ่เช่นนี้

              และมีผู้นำสำคัญอย่างเช่นประธานาธิบดีเต็ง เส่งของเมียนมาร์  ประธานาธิบดีเบนิกโน่ อาคิโน่ ของฟิลิปปินส์ นายกรัฐนตรีเหงียน ตัน ดุง ของเวียดนาม นายกรัฐมนตรี ทองสิง ทำมะวง ของลาว และนางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของเมียนมาร์ ส่วนไทยนั้นมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง  น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที เข้าร่วม

               ดูเหมือนว่าความสนใจจะมุ่งเป้าไปที่นางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ฝ่ายค้านของเมียนมาร์ ที่เธอได้กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมพร้อมกับระบุว่าเธอต้องการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี รวมถึงท่าทีของเธอที่มีต่อกรณีชาวมุสลิมโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยในรัฐยะไข่

               แต่คงแปลกใจไม่น้อยที่การประชุมครั้งนี้ได้มีพระไทยเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่เข้าร่วมในฐานะตัวแทนผู้นำทางศาสนา ภาคประชาสังคมด้วย พระรูปดังกล่าวคือพระมหานพดล ปุญญัสสวัฑฒโก  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาพฤฒาราม กรุงเทพฯ รองคณบดีคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  ทั้งนี้ได้รับเชิญจากรัฐบาลเมียนมาร์ และรองผู้อำนวยการศาสนา จริยธรรม และมนุษยชน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นามว่า "Eimear Farrell" ให้เข้าร่วม

              พระมหานพดล ได้เปิดเผยถึงจุดมุ่งหมายที่เข้าร่วมและเผยแพร่ภาพระหว่างเข้าร่วมทางเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ "Nopadol Saisuta" โดยให้ชื่อภาพว่า "Dhamma and World Economic Forum on East Asia 2013 organized during 5-7 June 2013 at Myanmar International Convention Center (MICC) at Nay Pyi Taw, New Capital City of Myanmar."

               พระมหานพดล ระบุว่าได้มีโอกาสได้เผยแพร่ "ปฏิญญากรุงเทพมหานครปี 2556 การประชุมสัมมนาวิชาการชาวพุทธนานาชาติฉลองวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 10 เรื่องการศึกษากับความเป็นประชากรโลกตามคำสอนทางพระพุทธศาาสนาจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมสหประชาติประจำประเทศไทย ระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคม พ.ศ.2556  โดยเฉพาะปฏิญญา...ข้อที่ 3.เพื่อกระตุ้นเตือนผู้นำชาวพุทธ ให้ขยายเพิ่มงานเผยแผ่หลักธรรมที่มีอยู่แล้วไปในการส่งเสริมการศึกษา พร้อมทั้งให้มีการพัฒนาสังคมและงานสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้เกิดสันติภาพโลกที่ยั่งยืน

               ข้อ 6.เพื่อเตือนให้ทุกองค์กรทั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐและเอกชน เพียรพยายามพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน เน้นย้ำความจำเป็นที่ต้องมีความสมดุลย์ระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์สิ่ง แวดล้อม  ข้อ 7.เพื่อเพิ่มพูนความเพียรพยายามที่จะเผยแผ่ข่าวสารที่ว่ามวลมนุษยชาติมีภาวะ เชื่อมโยงถึงกัน โดยกระตุ้นเตือนปัจเจกบุคคลและองค์กร ให้พัฒนามุมมองของมนุษย์ในฐานะเป็นพลเมืองโลก เมื่อต้องเผชิญเรื่องสำคัญในการทำงานร่วมกัน และข้อ 8.เพื่อส่งเสริมการประยุกต์ใช้สติอย่างถูกต้องในการดูแลรักษาสุขภาพ การศึกษา การจัดการ และการพัฒนาชุมชน

               "และได้ปฏิบัติหน้าที่ตามปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจของ มจร ในฐานะมหาวิทยาลัยแห่งคณะสงฆ์ไทยประชาชนไทยและรัฐบาลประเทศไทยไปด้วยพร้อม ๆ กัน" รองคณบดีคณะพุทธศาสตร์ ระบุ
             
               อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ทางเมียนมาร์นิมนตร์พระจาก มจร ไปร่วมนั้น ได้รับคำชี้แจงจากทางผู้บริหาร มจร ว่า ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะทาง มจร โดยคณะพุทธศาสตร์ได้จัดโครงการบรรพชาภาคฤดูร้อนอาเซียน (ไทย-พม่า) รุ่น 1/2556 วัดอ่องเถกดี้ ชองอู่ โมนยวา เมืองสกาย มัณฑเลย์ เมียนมาร์  ระหว่างวันที่ 20 เม.ย.-10 พ.ค. ที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลพม่าและองค์กรศาสนาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตื่นตัวเรื่องนี้ จึงนิมนต์พระจาก มจร เข้าร่วมประชุมด้วย

               เชื่อแน่ว่า ปฏิญญากรุงเทพมหานครปี 2556 ในการประชุมสัมมนาวิชาการชาวพุทธนานาชาติฉลองวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 10 ที่ศูนย์ประชุมสหประชาติประจำประเทศไทย ที่พระมหานพดลนำไปเสนอต่อที่ประชุมเศรษฐกิจ 'เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม' ที่ประเทศเมียนมาร์ครั้งนี้ คงจะทำให้ผู้นำประเทศเอเชียตะวันออกได้เข้าใจถึงหลักเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบ่งกันอยู่แบ่งกันกินไม่แย่งกัน ก็คงจะทำให้โลกเกิดสันติภาพเร็วขึ้น


..............................

(หมายเหตุ : พระไทยหนึ่งเดียวผงาดบนเวทีศก.โลกที่พม่า : สำราญ สมพงษ์รายงานเผยแพร่เว็บไซต์คมชัดลึกวันที่ 7 มิ.ย.2556)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...