กรมส่งเสริมการเกษตรเผยปี64"ยกระดับเกษตรกร ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน" ก้าวสู่เกษตรวิถีใหม่ปรับรูปแบบการทำงานส่งเสริมเกษตรพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทุกสถานการณ์ ยึดหลักตลาดนำการเกษตร หนุนใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม
(19 กุมภาพันธ์ 2564) นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยถึง ทิศทางการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตร ในปี 2564 ว่าหลังจากปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ประเทศไทยประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเฉพาะภาคเกษตรได้รับผลกระทบตั้งแต่การผลิต จนถึงการตลาด ส่งผลต่อรายได้และการประกอบอาชีพ รวมถึงเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมดิจิทัล ความใส่ใจเรื่องความปลอดภัยจากอาหารและสุขอนามัย
ทั้งนี้กรมส่งเสริมการเกษตรจะต้องปรับวิธีการทำงาน เพื่อยังคงให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีเช่นเดียวกับในภาวะปกติ การก้าวเข้าสู่เกษตรวิถีใหม่ (New Normal) สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กับการเปลี่ยนแปลง คือ การส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร โดยปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต การบริหารจัดการสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ใช้ตลาดนำการเกษตรเป็นหลัก เพื่อยกระดับเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกษตรกรเกิดรายได้ที่ยั่งยืน ด้วยการ “ยกระดับเกษตรกร ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน” ในแต่ละด้านโดยมีแนวทางในการพัฒนา คือ
1. ส่งเสริมการรวมกลุ่มในรูปแบบแปลงใหญ่ และพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน โดยยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด เพื่อสร้างความเข้มแข็งส่งเสริมให้เกษตรกรทำงานในรูปแบบเครือข่าย พัฒนากระบวนการผลิตให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง การใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิการผลิต สร้างตราสินค้า (Brand) มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ
2. พัฒนาตลาดเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า โดยยึดหลักตลาดนำการผลิต เพื่อให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตทางตลาดออนไลน์ได้มากขึ้น สนับสนุนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์สินค้าเกษตร ตลาดเกษตรกร การทำ Contract Farming การจำหน่ายสินค้าเกษตรตามชั้นคุณภาพ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อให้สามารถบริหารจัดการการท่องเที่ยวในชุมชน สร้างรายได้จากการขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น สร้างเศรษฐกิจชุมชน
3. ส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ได้แก่ ยกระดับการทำงานของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ให้เป็นกลไกหลักของชุมชนในการให้บริการด้านดินและปุ๋ย รวมทั้งส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อลดต้นทุนการผลิต ช่วยสร้างธุรกิจให้เกิดขึ้นในชุมชน
4. บริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในชุมชน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร สร้างเครือข่ายปลอดการเผาให้เข้มแข็งครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น
5. พัฒนาศักยภาพองค์กรและการบริหารจัดการ ปรับวิธีการทำงานให้มีการใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารจัดการองค์กร รวมทั้งการให้บริการในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรมากขึ้น
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการระบาดของโรค COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการกระจายสินค้าเกษตรของเกษตรกร นอกจากนี้กรมส่งเสริมการเกษตรยังมีแนวทางดำเนินการให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นเพื่อลดผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคเศรษฐกิจสำคัญ ตามกรอบนโยบายด้านเกษตรโดยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาศักยภาพการผลิตและต่อยอดของเดิมให้ดีขึ้น ซึ่ง ครม.ได้มีมติอนุมัติให้ใช้เงินกู้ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 ขณะนี้ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด และ 2) โครงการพัฒนาธุรกิจบริการด้านดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ทั้งนี้ ในการ “ยกระดับเกษตรกร” เป้าหมายสำคัญ คือ ยกระดับการรวมกลุ่มเกษตรกร สู่การดำเนินการในรูปแบบธุรกิจเกษตร สร้างโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม กลุ่มเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ เกษตรแปลงใหญ่ และ เกษตรกรศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.)
สำหรับโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด มีเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ คือ ต้องเป็นแปลงใหญ่ที่ผ่านการรับรองและอยู่ในระบบ Co-farm.doae.go.th ของกรมส่งเสริมการเกษตรที่ได้เสนอความต้องการเข้าร่วมโครงการ ซึ่ง ครม. มีมติอนุมัติงบประมาณไว้แล้ว จำนวน 5,250 แปลง โดยเป็นแปลงใหญ่ที่จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ประเภทนิติบุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การขอรับการสนับสนุนงบประมาณต้องไม่เกินวงเงินเดิมที่เคยเสนอขอความต้องการและได้รับการอนุมัติจาก ครม. แล้ว รวมทั้งต้องดำเนินกิจกรรมที่ไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการอื่นๆ ผลการดำเนินงาน (ณ วันที่ 15 ก.พ. 2564) มีกลุ่มแปลงใหญ่แจ้งเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 1,555 แปลง เป็นกลุ่มแปลงใหญ่ที่จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ประเภทนิติบุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำนวน 879 แปลง และกลุ่มแปลงใหญ่ที่อยู่ระหว่างจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ประเภทนิติบุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำนวน 676 แปลง ตัวอย่างกลุ่มแปลงใหญ่ที่จัดแสดงครั้งนี้เป็นของ นายพิพัฒน์ เต็งเศรษฐศักดิ์ แปลงใหญ่มังคุดหมู่ 1 ต.ชากไทย อ.เขาคิชกูฎ จ.จันทบุรี ปัจจุบันมีสมาชิก 70 ราย พื้นที่ 1098 ไร่ จดทะเบียนเป็น บริษัท วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่มังคุดคิชฌกูฎ จำกัด มีการต่อยอดโดยขอรับการสนับสนุนเป็นเครื่องคัดมังคุด เพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพในการส่งออกด้วยตนเอง จากเดิมที่ทางกลุ่มได้มีการรวบรวมผลผลิตและคัดด้วยมือแล้วส่งให้ล้ง
ส่วนโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) จะสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในรูปแบบธุรกิจชุมชน ตัวอย่างโมเดลธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน ได้แก่ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ต.หนองค้า อ.พยุห์ จ.ศรีสะเกษ ของนายสมชิต แซ่อึ้ง เกษตรกร ศดปช. ปัจจุบันมีสมาชิก 176 ราย ได้ดำเนินการในเชิงธุรกิจ มีการให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน ให้คำแนะนำการจัดการดินปุ๋ยที่ถูกต้อง บริการจัดหาแม่ปุ๋ยและผสมปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหรือปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งเป็นปุ๋ยเต็มสูตรและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ศูนย์ผลิตเองเป็นตัวเติมเต็ม มีการวางแผนบริหารจัดการกิจกรรมศูนย์อย่างดี เช่น ให้สมาชิกเลี้ยงวัวเพื่อให้มีวัตถุดิบมูลทำปุ๋ยเพียงพอและต่อเนื่อง มีการจัดสรรกำไรสู่สมาชิก สะสมเข้ากลุ่ม ใช้เพื่อสาธารณะ และจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก รวมไปถึงโอกาสในการขยายธุรกิจบริการเพื่อให้สมาชิกในชุมชนได้ใช้ปุ๋ยคุณภาพเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต “หากสมาชิกใน ต.หนองค้า หันมาใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินจะทำให้ศูนย์ฯ สามารถจำหน่ายปุ๋ยรวมมูลค่าประมาณ 35 ล้านบาท ดังนั้น สมาชิก ศดปช. จึงร่วมกันการผลิตปุ๋ยที่มีคุณภาพ ให้บริการดี มีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในชุมชนรู้จักธุรกิจบริการของศดปช.เพิ่มขึ้น” ขณะเดียวกันสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอได้ให้ความรู้ที่ถูกต้องและช่วยประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรทั่วไปอีกทางหนึ่ง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการ “ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน” กรมฯ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานในมิติดังกล่าว 2 โครงการสำคัญ ได้แก่ 1) ส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร และ 2) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป้าหมายสำคัญ คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน เช่น การสร้างรายได้จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร นำไปสู่การลดการเผาในพื้นที่เกษตร และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในรูปแบบเครือข่ายชุมชน สร้างต้นแบบการท่องเที่ยววิถีเกษตร สร้างรายได้สู่ชุมชน
สำหรับกิจกรรมส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ได้นำเสนอกรณีตัวอย่างของ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีวิธีการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร โดยนำร่องจัดทำจุดสาธิตการทำปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุทางการเกษตร สาธิตการอัดฟางก้อน จัดทำสื่อรณรงค์ “หยุดเผาในพื้นที่การเกษตร” รวมทั้งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน จัดกิจกรรมการไถกลบตอซังฟางข้าว ลดการเผาฟางและตอซังข้าว, MOU หน่วยงานในท้องถิ่น (อบต.รางจระเข้ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา) ร่วมกับบริษัท SCG ซีเมนต์จำกัด และบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่นจำกัด ในการ ทำ MOU มอบเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อใช้ในโครงการ "ฟางอัดก้อน ลดการเผา Zero Burn", ทำชีวมวลอัดแท่ง ซึ่งบริษัท SCG ตั้งโรงงานผลิตชีวมวลอัดแท่ง โดยรับซื้อฟางอัดก้อนจากเกษตรกร เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต และนำชีวมวลที่ได้ไปใช้ในโรงงานปูนซีเมนต์ของ SCG
อีกหนึ่งกิจกรรมซึ่งถือเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของชุมชน คือ เชิญชวนให้คนไทยหันมาส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในประเทศเพิ่มขึ้น โดยกรมฯ มุ่งเน้นการส่งเสริมเป็นคลัสเตอร์การท่องเที่ยว ให้เกิดการหมุนเวียนเครือข่ายและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน โดยเสนอจุดท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ไม่ไกลจาก กทม. เช่นตัวอย่างของ นายมงคลศิลป์ ลีนะกนิษฐ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งให้บริการด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวครอบคลุมทั้งอำเภอ มีการสร้างสรรค์กิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวรวมถึงการพัฒนาสินค้าการเกษตรเพื่อเป็นของฝากแก่นักท่องเที่ยว ปัจจุบันมีสมาชิก 28 คน กิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่โดดเด่น เป็นอัตลักษณ์ของอำเภอวังน้ำเขียว ได้แก่ การปลูกพืช เช่น พุทรานมสด หม่อน องุ่น ทุเรียน ลำไย อโวกาโด ข้าวโพด ผักสลัด และไม้ดอกไม้ประดับ, การเลี้ยงสัตว์ เช่น ฟาร์มเป็ดกากีแคมเบล และการอนุรักษ์ควายไทย, การเกษตรแบบผสมผสาน, ฟาร์มสเตย์ (ที่พักนักท่องเที่ยว) และผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรต่าง ๆ รวมถึงสินค้าของชุมชน การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในนโยบาย ปี 2564 ที่กรมส่งเสริมการเกษตรมุ่งขับเคลื่อนการดำเนินงานในมิติของการ “ก้าวสู่เกษตรวิถีใหม่”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น