วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

เจ้าอาวาสวัดดอยสุเทพเจริญรอยตาม"ครูบาเจ้าศรีวิชัย" ยื่นกมธ.ศาสนาฯหนุนขยายถนนขึ้นดอยสุเทพ


เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ จ.เชียงใหม่ พระธรรมเสนาบดี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า พระธาตุดอยสุเทพฯ มีประวัติอันยาวนานมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองชาวเชียงใหม่มาแต่โบราณกาล แต่ครั้ง "พระเจ้ามังรายมหาราช"  ทรงสถาปนาเมืองเชียงใหม่ขึ้นโดยมีชื่อ "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" ตั้งแต่ในปี พ.ศ.1839 ภายหลังพลโท หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร อุปราชเทศาภิบาลมณฑลพายัพ คิดสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพในครั้งแรก เมื่อปี 2460 หลังจากนั้นจึงมีความพยายามจากคณะสงฆ์เชียงใหม่และพลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ สร้างเส้นทางขึ้นอีกครั้ง และครั้งสำคัญที่สุดเมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 "ครูบาเจ้าศรีวิชัย"  ควบคุมการทำงานจากด้านล่างขึ้นไปยังพระธาตุดอยสุเทพ และทำหน้าที่ "นั่งหนัก"  เป็นประธานระดมทุนทรัพย์และรับไทยทานที่บริเวณหน้าวัดศรีโสภา รวมผู้คนทั้งสิ้นที่มาร่วมงานก่อสร้างถนนครั้งนี้ 118,304 คน ใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จในเวลา 5 เดือน 22 วัน หลังจากนั้นมีการพัฒนารถรางเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกจากการเดินขึ้นบันไดสู่พระธาตุดอยสุเทพ

พระธรรมเสนาบดี กล่าวต่ออีกว่า ในการนี้เพื่อสืบทอดมโนปณิธานของบูรพมหากษัตริย์แห่งล้านนารวมถึงครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่เห็นความสำคัญของการสร้างเส้นทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสาธุชนรุ่นหลังทุกหมู่ชั้นเพื่อสามารถขึ้นไปกราบสักการะพระธาตุดอยสุเทพได้โดยง่าย อีกทั้งมีเรื่องความปลอดภัยของผู้เดินและรถที่วิ่งขึ้นลง เพราะปัจจุบันใช้เส้นทางเดียวกันในการสัญจร ดังนั้นทางคณะศรัทธาวัดพระธาตุดอยสุเทพจึงเห็นว่า หากขยายถนนและเดินเท้าเพื่อขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพให้สะดวกตามยุคสมัยและเทคโนโลยีตามแบบฉบับของประเทศที่เจริญแล้ว ก็จะช่วยสืบทอดมโนปณิธานต่อเจ้าผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่รวมถึงครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่ผ่านมามีการผลักดันในการขยายถนนขึ้นดอยสุเทพฯ หลายยุคหลายสมัย แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ อาตมาจึงได้ยื่นหนังสือถึง คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อช่วยผลักดันสิ่งดีๆ ให้กับชาวเชียงใหม่ต่อไป

ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เผยว่า เรื่องขอขยายถนนขึ้นดอยสุเทพฯ นั้นได้มีการนำเรื่องเข้าบรรจุเข้าในชั้นกรรมาธิการการศาสนาฯแล้ว และได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือตามอำนาจหน้าที่ของกรรมาธิการ เช่น กรมอุทยาน จังหวัดเชียงใหม่ กรมป่าไม้ ฯลฯ มาหารือในชั้นอนุกรรมาธิการฯ พุทธศาสนาฯ  ซึ่งเป็นงานที่จะต้องบูรณาการร่วมกันกับหลายหน่วยงาน ทั้งนี้จะต้องถูกตามหลักกฎหมาย และมีความโปร่งใส มีประโยชน์ต่อชาวเชียงใหม่และประเทศชาติ

ดร.ณพลเดช มณีลังกา เลขานุการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เผยว่า ควรยึดข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและทำให้ถูกกฎหมายเป็นเบื้องต้น จะเป็นเรื่องที่ดีที่จะสร้างความปลอดภัยให้กับคนใช้รถใช้ถนน ทั้งนี้ตนเคยได้หารือกับ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ท่านได้ให้ความสำคัญในแง่ขอกฎหมาย เพื่อสามารถดำเนินไปได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ตนมองว่า การบูรณาการร่วมกันของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด ควรมีนักวิชาการเข้าไปศึกษาและทำให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายและวิชาการ อาจดูโมเดลต่างประเทศที่สร้างทางเดินเท้าสู่ภูเขาที่สูง ที่ได้ประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวเชิงศิลปะและวัฒนธรรม อย่างเช่น นองปิง ที่ฮ่องกง เป็นต้น

นายสมบูรณ์ ธีรบัณฑิตกุล ผอ.ทสจ. เชียงใหม่ กล่าวว่า ตนได้แถลงต่อชั้นอนุกรรมาธิการฯ พุทธศาสนาฯ ที่รัฐสภาเกียกกาย ในวันที่ 10 ก.พ.2564 ที่ผ่านมา ซึ่งจากที่ตนได้ศึกษาในข้อกฎหมายมาแล้ว ในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะมีช่องของกฎหมายตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 รวมถึงมติ ครม. ที่เกี่ยวข้อง ที่สามารถขยายถนนได้ ทั้งนี้หากผ่านประเด็นข้อกฎหมายแล้ว ก็เหลือปัจจัยว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้ให้งบประมาณ ทั้งนี้หากเป็นในส่วนของ จังหวัดเชียงใหม่ อาจจะต้องของบในปี งบประมาณ พ.ศ.2566 แต่หากเป็นงบของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.เชียงใหม่) ก็อาจจะต้องหารือกัน และสิ่งที่สำคัญควรมีการบูรณาการร่วมกันเช่น จังหวัดเชียงใหม่ กรมทางหลวง กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ กรมการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...