"วัดลาดปลาเค้า"เปิดโครงการ"มอบข้าวถุง พยุงชีวิต"สู้ภัยโควิด "ณพลเดช" ระบุหากวัดทั่วประเทศทำเช่นนี้วัดจะกลับมาเป็นศูนย์กลางของชุมชนในอนาคต สังคมไทยจะดีขึ้นด้วยศีลธรรม-ก้าวสู่ศูนย์กลางค้าขายอย่างแน่นอน
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 ที่วัดลาดปลาเค้า แขวงจรเข้บัว กทม. ดร.ณพลเดช มณีลังกา เลขานุการกลุ่มป้องกันประเทศ คลังสมอง วปอ.ฯ เปิดเผยว่า ตนได้เข้ามากราบพระมหาเขมานันท์ (ฉลอม) ปิยสีโล ป.ธ.9 เจ้าอาวาสวัดลาดปลาเค้า เจ้าคณะเขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร เนื่องจากทราบว่าวัดลาดปลาเค้า มีโครงการช่วยเหลือชาวบ้าน "มอบข้าวถุง พยุงชีวิต" โดยจากปกติวัดจะให้ร่วมทำบุญถวายภัตาหาร ทำบุญหลังคาโบสถ์ สร้างวิหาร ต่างๆ แต่ที่วัดลาดปลาเค้าใช้โอกาสยามสถานการณ์ โควิด-19 ยามที่ประเทศเกิดภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองนี้ เปิดรับบริจาคเงินเพื่อนำไปซื้อข้าวสาร โดยให้ร่วมบุญ 100 บาทต่อข้าวสารหนึ่งถุง และยังเปิดโอกาสให้หน่วยงานธนาคาร มาเปิดจุดช่วยเหลือผู้ขับ Taxi มาลงทะเบียนรับสิทธิ์เข้าโครงการเราชนะ
พระมหาเขมานันท์ กล่าวว่า เป็นโครงการที่วัดอยากจะเป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือชาวบ้านที่ยากไร้ ยุคนี้อาตมาต้องขอบอกว่าเป็นยุค "ข้าวยากหมากแพง" จริงๆ ประชาชนยากไร้ หลายๆ บ้าน ไม่มีแม้แต่ข้าวสารกรอกหม้อ อาตมาจึงคิดว่าคนที่พอจะมีเงินนั้นยังพอมีอยู่ หากประชาสัมพันธ์ "ให้ผู้ที่มีทรัพย์" นำเงินมาบริจาค แล้วช่วยเหลือคนยากไร้ที่ไม่มีจะกิน คงจะช่วยเหลือชาวบ้านที่ยากจนลดปัญหาฉกชิงวิ่งราว ลดปัญหาอาชญากรรม การฆ่าตัวตายด้วยพิษเศรษฐกิจไปได้บ้าง จึงได้ริเริ่มโครงการ "มอบข้าวถุง พยุงชีวิต" ดังกล่าว ปรากฏว่าหลังจากประชาสัมพันธ์ไปแล้ว ได้ผลเกินคาด ทั้งชาวไทยชาวต่างประเทศ หน่วยงานราชการ ต่างร่วมบริจาคเงิน เมื่อได้เงินมาก็นำไปซื้อข้าวถุง มาตั้งไว้ ก็จะมีผู้ยากไร้มารับข้าวสารจากมืออาตมาโดยตรง บ้างก็เดินมา บ้างก็ขี่จักรยานมา บริจาคทุกวัน บางวันร่วม 100 ถุงหรือมากกว่า แต่การบริจาคก็มีมาอย่างไม่ขาดสาย อาตมาได้เท่าไหร่ ก็บริจาคเท่านั้น ก็หมดทุกวัน ก็ถือเป็นโอกาสดีที่อาตมาเป็นพระสงฆ์เล็กๆ แต่ได้มีโอกาสได้ช่วยเหลือประชาชน ได้ช่วยเหลือประเทศชาติ
ดร.ณพลเดช กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตนเชื่อว่า จากเหตุการณ์ โควิด-19 นี้ มีประชาชนส่วนมากที่เห็นความทุกข์ยากของพี่น้องร่วมประเทศและมีจิตกุศลที่จะช่วยเหลือ บ้างก็บริจาคทรัพย์ บ้างก็บริจาคสิ่งของ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ตนเห็นว่าสิ่งนี้คล้ายกับเหตุการณ์ของประเทศในอดีต ในสังคมไทยเชื่อกันว่า "ยิ่งให้ ก็ยิ่งได้" และ "ทำบุญด้วยอะไรก็ได้สิ่งนั้น" ปลูกถั่วก็ได้ถั่วปลูกงาก็ได้งา ตนคิดว่าสิ่งนี้ยังฝังแน่นในจิตใจคนไทย การมีจิตใจเอื้อเฟื้อเกื้อกูลนี้ จะส่งผลให้ประเทศฝ่าฟันภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองไปได้ด้วยกัน จากที่ตนมาสัมผัสวัดลาดปลาเค้า วัดก็มีโอกาสได้กลับมาเป็นศูนย์กลางของชุมชน ได้มีโอกาสเป็นที่พึ่งยามท้องหิว ส่งผลให้ได้มีโอกาสในการนำหลักธรรมคำสอนมาสอนให้ประชาชน "รู้จัก ผิดชอบชั่วดี" อาจมีผลให้ท้องถิ่นประกอบสัมมาอาชีวะ
ดร.ณพลเดช กล่าว กล่าวด้วยว่า หากวัดทั่วประเทศมีรูปแบบเช่นวัดลาดปลาเค้า วัดจะกลับมาเป็นศูนย์กลางของชุมชน การเรียนการสอนจะเริ่มจากจิตใจที่ดีเป็นรากเหง้า ตนเชื่อว่าหากจิตใจของประชาชนดี เราจะเป็นประเทศที่มั่งคั่ง ดังมีประวัติศาสตร์ ดังสมัย "อาณาจักรตามพรลิงค์" แห่งเมืองนครศรีธรรมราช ที่มีเงิน "นะโม" เป็นสกุลเงินหลักในการค้าขายภายในและต่างประเทศ สมัยนั้นแผ่นดินไทยถือเป็นศูนย์กลางการเงินการธนาคารและศูนย์กลางการค้าโลกแห่งหนึ่ง และอีกสมัยไม่นานมานี้ ก็เช่นสมัยสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยา หากจะดูตามประวัติศาสตร์และความยิ่งใหญ่ของบ้านเมืองแล้ว เรามีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ศิลปะและวัฒนธรรม อย่างโดดเด่น โดยมีจุดเชื่อมโยงจุดเล็กๆ ที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็งมีการปรึกษาหารือกันในแต่ละชุมชน นั่นก็คือ "วัด" นั้นเอง ตนมองว่าหากวัดกลับมามีบทบาทเป็นศูนย์กลางชุมชนอีกครั้ง จะส่งผลให้ประเทศมั่งคั่งและส่งผลดีให้ประเทศชาติได้ในหลายอีกมิติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น