วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

"อ.ทองย้อย"มองไม่มีเลย! พระเณรเรียนบาลีที่ค้นคว้าพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกา



เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔  เพจทองย้อย แสงสินชัย ได้โพสต์ข้อความว่า  ผู้สนับสนุนรายใหญ่

---------------------

เมื่อวันก่อนผมเสนอเรื่องขอให้ผู้ที่มีกำลังความสามารถช่วยกันสนับสนุนส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรที่เรียนบาลีมุ่งหน้าทำงานศึกษาพระธรรมวินัยซึ่งหมายถึงศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกา 

เวลานี้เรามีพระภิกษุสามเณรที่เรียนบาลีอยู่เป็นจำนวนมาก

แต่เรามีพระภิกษุสามเณรที่ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาอยู่เป็นจำนวนน้อยมาก หรือถ้าจะพูดแบบฟันธงก็พูดได้ว่า-ไม่มีเลย

พระภิกษุสามเณรที่เรียนบาลีจำนวนมากนั้นมุ่งหน้าเรียนวิธีแปลคัมภีร์ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร นั่นคือแปลให้ถูกต้องตามเกณฑ์ที่สนามหลวงแผนกบาลีกำหนด และแปลเฉพาะคัมภีร์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรเพียง ๕ คัมภีร์เท่านั้น 

ท่านมุ่งหน้าไปที่ตรงนั้น เพราะถ้าท่านแปลได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด นั่นหมายถึงท่านจะสอบได้

แปลได้แล้ว จะเอาความรู้ไปฏิบัติจริง เอาไปใช้ในชีวิตจริง เอาไปใช้แก้ปัญหาที่มีอยู่และกำลังเกิดขึ้นจริงในสังคมหรือไม่ หลักสูตรไม่ได้กำหนด และไม่ได้ตามไปตรวจสอบวัดผลอะไรด้วย

ในบ้านเรา การเรียนบาลีเพื่อให้ได้ความรู้ในหลักพระธรรมวินัยที่ถูกต้องแล้วเอาหลักนั้นมาปฏิบัติในชีวิตจริง พร้อมทั้งแนะนำสั่งสอนเผยแผ่ต่อไปอีก-แบบนี้มีน้อยอย่างยิ่ง 

คือมีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี แต่มีน้อยจนแทบจะพูดได้ว่าไม่มี

---------------

การเรียนบาลี-แปลคัมภีร์เพื่อให้สอบได้ตามที่กล่าวนั้น มีผู้สนับสนุนส่งเสริมให้ทุนเป็นที่น่าอนุโมทนา

แต่การเรียนบาลีเพื่อให้ได้ความรู้ในหลักพระธรรมวินัยที่ถูกต้องและเอาความรู้มาใช้งานจริง ยังไม่ปรากฏว่ามีผู้สนับสนุนส่งเสริมให้เป็นที่ปรากฏแต่อย่างใด 

มีแต่บอกกันว่า พระภิกษุสามเณรที่เรียนบาลีจบแล้วจะใช้ความรู้เพื่อศึกษาค้นคว้าหลักพระธรรมวินัยหรือไม่ ย่อมเป็นไปตามอัธยาศัย บังคับกะเกณฑ์กันไม่ได้

บังคับกะเกณฑ์ไม่ได้ก็จริง แต่หาทางสนับสนุนส่งเสริมกันได้

ผมก็เลยร้องบอกว่า ใครมีกำลังขอให้ช่วยกันสนับสนุนให้ทุนส่งเสริมกันหน่อยได้ไหม

คือช่วยกันส่งเสริมให้พระเณรเรียนบาลีเพื่อเอาความรู้มาใช้งานจริง คือเอามาตอบปัญหาคาใจของสังคมว่า-ชาววัดทำอย่างนั้นผิดไหม ชาวบ้านทำอย่างนี้ถูกไหม-เอาความรู้ในหลักพระธรรมวินัยที่ได้จากการเรียนบาลีมาช่วยตอบปัญหาคาใจของสังคมได้จริง 

แบบนี้มีใครส่งเสริมสนับสนุนกันบ้างไหม

---------------

ร้องถามร้องบอกออกไปแล้ว ถอยมาตั้งหลักคิดทบทวน เออ ความจริงเรามองข้ามไปเอง 

ผู้ส่งเสริมสนับสนุนมีอยู่แล้ว แต่เรามองข้าม 

ในหลักของการออกบวชท่านก็บอกไว้โต้งๆ บอกไว้ในทันทีที่บวชเสร็จนั่นเลยทีเดียว แต่เราลืมคิดไป

ลองตั้งหลักคิดอย่างนี้ครับ --

ทุกวันนี้ผมทำงานศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์ได้ค่อนข้างเต็มที่ เหตุผลที่สำคัญที่สุดก็คือ เพราะไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการทำมาหากิน ทั้งนี้เนื่องจากได้รับพระราชทานบำนาญเป็นรายเดือนพอยังชีพอยู่ได้ (พอยังชีพอยู่ได้เท่านั้น แต่จะใช้ไปเพื่อเสพสุขเป็นอติเรกลาภไม่ได้ ไม่พอ)

เมื่อไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการทำมาหากิน ก็มีเวลามากพอที่จะทำงานศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์ตามแนวทางที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา 

มีข้อสังเกตเล็กๆ ว่า ท่านผู้อื่นที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาจากวัดเหมือนกัน มีภูมิรู้ทัดเทียมกันหรือดีกว่า เกษียณอายุราชการแล้วเหมือนกัน ได้รับพระราชทานบำนาญเหมือนกัน (และส่วนมากจะได้มากกว่าผม) เท่าที่เห็นส่วนมากจะใช้เวลาไปกับการพักผ่อน ท่องเที่ยว ทำอะไรๆ ที่สนุกๆ ให้แก่ชีวิต ซึ่งรวมอยู่ในคำที่เรียกว่า “เสพสุขเป็นอติเรกลาภ” ซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบธรรมและโดยสมบูรณ์ที่จะทำเช่นนั้น

เท่าที่ได้สดับมา มีน้อยอย่างยิ่ง-จนอาจกล่าวได้ว่าแทบไม่มีเลย-ที่จะใช้เวลาไปเพื่อศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์ตามแนวทางที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา

คราวนี้มาดูวิถีชีวิตพระภิกษุสามเณร

พระพุทธองค์ทรงวางแนวทางไว้แล้วว่า เป็นวิถีชีวิตที่ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการทำมาหากิน-เทียบกับชาวบ้านอย่างผมเป็นต้นก็เท่ากับได้รับพระราชทานบำนาญพอยังชีพอยู่ได้ทุกวันนั่นแล้ว

ต่างกันตรงที่-ผู้ให้บำนาญไม่ใช่ทางราชการ หากแต่เป็น-ศรัทธาจากประชาชนชาวบ้าน

หลักแห่งการดำรงชีวิตของภิกษุที่พระอุปัชฌาย์ปฐมนิเทศให้ฟังตั้งแต่วันแรกที่บวชก็คือ -


.................................

 (๑) “ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ  นิสฺสาย  ปพฺพชฺชา” = “ชีวิตนักบวชในพระพุทธศาสนาอาศัยโภชนะคือคำข้าวอันหามาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง” 

(๒) “ปํสุกูลจีวรํ  นิสฺสาย  ปพฺพชฺชา” = “ชีวิตนักบวชในพระพุทธศาสนาอาศัยผ้าบังสุกุลเป็นเครื่องนุ่งห่ม” 

(๓) “รุกฺขมูลเสนาสนํ  นิสฺสาย  ปพฺพชฺชา” = “ชีวิตนักบวชในพระพุทธศาสนาอาศัยโคนไม้เป็นที่อยู่” 

(๔) “ปูติมุตฺตเภสชฺชํ  นิสฺสาย  ปพฺพชฺชา” = “ชีวิตนักบวชในพระพุทธศาสนาอาศัยเภสัชคือน้ำมูตรดอง” 

.................................

เป็นอันชัดเจนว่า ชีวิตนักบวชในพระพุทธศาสนาตัดกังวลเรื่องปัจจัยเครื่องอาศัยในการดำรงชีพออกไปได้ทั้งหมด 

เมื่อไม่ต้องเสียเวลาไปกับเรื่องทำมาหากิน ก็สามารถใช้เวลาไปกับการค้นคว้าพระคัมภีร์ คือศึกษาพระธรรมวินัยแล้วเอาความรู้ที่ถูกต้องมาปฏิบัติขัดเกลาตนเอง พร้อมทั้งเผยแผ่ให้แพร่หลายไปยังหมู่ชนในสังคมต่อไป

นี่เท่ากับสังคมไทยให้ทุนสนับสนุนพระภิกษุสามเณรเพื่อการศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยอยู่แล้วในตัว 

ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า ทุกวันนี้พระภิกษุสามเณร-ซึ่งได้รับทุนจากสังคม-ใช้เวลาไปกับการทำอะไรหมด?

ได้รับทุนแล้ว ใช้ทุนตรงตามวัตถุประสงค์ของสังคมผู้ให้ทุนหรือเปล่า?

ตรงนี้แหละครับที่เราในทุกวันนี้พากันมองข้ามไปหมด

พระภิกษุสามเณรของเรา มีสังคมไทยเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนรายใหญ่อยู่แล้ว

สังคมเองต่างหากที่ลืมตรวจสอบว่า-ท่านเอาทุนไปใช้ทำอะไรกันอยู่?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

๑๖:๔๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...