วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

เปิดพระวินัยปิฎก "ลงทัณฑกรรม"คืออะไร มส.ใช้ทำโทษเณรร่วมม็อบราษฏร


เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 จากกรณี สามเณรสหรัฐ สุขคำหล้า หรือ โฟล์ค นักศึกษาวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล สมาชิกแนวร่วมราษฎรศาลายา ที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองกับม็อบราษฎร ว่า มีพฤติกรรมขัดต่อคำสั่งมหาเถรสมาคม (มส.) ต่อมาวันนี้ (25 ก.พ.) เพจ “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” ได้ออกประกาศเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว กรณีการตวจสอบสามเณรมีพฤติกรรม ขัดต่อคำสั่งมหาเถรสมาคม โดยมีข้อความคือให้ลงทัณฑกรรมแก่สามเณรสหรัฐ   ดังนั้นจึงมีประเด็นว่า การลงโทษสามเณรสหรัฐตามแนวทางลงทัณฑกรรมอะไร ซึ่งตามพระไตรปิฎก เล่มที่ 4   พระวินัยปิฎก เล่มที่ 4   มหาวรรค ภาค 1   เรื่องลงทัณฑกรรมแก่สามเณร ได้ระบุข้อความไว้ว่า              

[๑๒๑] ก็โดยสมัยนั้นแล พวกสามเณรไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง มีความ ประพฤติไม่เหมาะสม ในภิกษุทั้งหลายอยู่. ภิกษุทั้งหลายจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพวกสามเณรจึงได้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง มีความประพฤติไม่เหมาะสมในภิกษุ ทั้งหลายอยู่เล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.             

พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรม แก่สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ ๑. พยายามเพื่อความเสื่อมลาภแห่งภิกษุทั้งหลาย ๒. พยายามเพื่อความพินาศแห่งภิกษุทั้งหลาย ๓. พยายามเพื่อความอยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย ๔. ด่า บริภาษ ภิกษุทั้งหลาย ๕. ยุยงภิกษุต่อภิกษุให้แตกกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรมแก่สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล.

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความดำริว่า จะพึงลงทัณฑกรรมอย่างไรหนอแล แล้ว กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรม คือ ห้ามปราม.

ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายลงทัณฑกรรมคือห้ามสังฆารามทุกแห่งแก่พวกสามเณร. สามเณรเข้าอารามไม่ได้ จึงหลีกไปเสียบ้าง สึกเสียบ้าง ไปเข้ารีตเดียรถีย์บ้าง. ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงลงทัณฑกรรม คือห้ามสังฆารามทุกแห่ง รูปใดลงต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรม คือ ห้ามเฉพาะสถานที่ที่สามเณรจะอยู่หรือจะเข้าไปได้.

ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายลงทัณฑกรรมคือห้ามอาหารซึ่งจะกลืนเข้าไปทางช่องปาก แก่พวกสามเณร. คนทั้งหลายทำปานะคือยาคูบ้าง สังฆภัตรบ้าง จึงกล่าวนิมนต์พวกสามเณร อย่างนี้ว่า นิมนต์ท่านทั้งหลายมาดื่มยาคู นิมนต์ท่านทั้งหลายมาฉันภัตตาหาร. พวกสามเณรจึง กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกอาตมาทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะภิกษุทั้งหลายลงทัณฑกรรมคือห้ามไว้.

ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย จึงได้ ห้ามอาหาร ซึ่งจะกลืนเข้าไปทางช่องปากแก่พวกสามเณรเล่า. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงลง ทัณฑกรรมคือห้ามอาหารที่จะกลืนเข้าไปทางช่องปาก รูปใดลง ต้องอาบัติทุกกฏ.

เรื่องลงทัณฑกรรมแก่สามเณร จบ.

เรื่องกักกันสามเณรต้องขออนุญาตก่อน

[๑๒๒] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ไม่อาปุจฉาพระอุปัชฌาย์ก่อน แล้วทำการ กักกันสามเณรทั้งหลายไว้. พระอุปัชฌาย์ทั้งหลายเที่ยวตามหาด้วยนึกสงสัยว่า ทำไมหนอ สามเณรของพวกเราจึงหายไป.

ภิกษุทั้งหลายได้แจ้งให้ทราบอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พระฉัพพัคคีย์ได้กักกันไว้.

พระอุปัชฌาย์ทั้งหลาย จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงไม่ อาปุจฉาพวกเราก่อน แล้วทำการกักกันสามเณรของพวกเราเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่อาปุจฉาอุปัชฌาย์ ก่อนแล้ว ไม่พึงทำการกักกันสามเณรไว้ รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ.

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...