วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) อาจารย์ประจำวิชาปฏิบัติการจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธี เปิดเผยว่า ได้ทำหน้าที่สอนนิสิตระดับปริญญาโท รุ่น ๘ หลักสูตรสันติศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นรายวิชาสุดท้ายของนิสิตปริญญาโทรุ่น ๘ คือ วิชาปฏิบัติการจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธี เป็นวิชาที่ต้องลงมือปฏิบัติเพื่อจัดการความขัดแย้งในมิติต่างๆ ไม่ใช่วิชาที่ต้องเรียนทฤษฎีแต่เป็นรายวิชาที่ต้องนำทฤษฎีที่เรียนมาทั้งหมดมาบูรณาการลงสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริงในการจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธี จึงออกแบบให้นิสิตได้เลือกพื้นที่ในการปฏิบัติเพื่อจัดการความขัดแย้งในบริบทของตนเอง
โดยเริ่มต้นจากสวดมนต์เจริญสติวิปัสสนากรรมฐานซึ่งเป็นหัวใจของการสร้างสันติภายใน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชี้แจงรายละเอียดของรายวิชา พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การลงพื้นจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธีผ่านเรื่องราวและการใช้เครื่องมือของพุทธสันติวิธี ผ่านการวิเคราะห์ความขัดแย้งผ่านอริยสัจโมเดล โดยนิสิตเลือกพื้นที่ในการปฏิบัติการจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธี “เอาธรรมลงไปทำ” แต่สิ่งที่พึงระวังคือ ได้ยกกรณีข่าวดังในสื่อออนไลน์เรื่องการกล่าวเสียดสีบุคคลอื่นๆ สังคมออนไลน์ไว เร็ว แรง แซงแต่ชน ซึ่งสอดรับกับทางพระพุทธศาสนาว่าพึงระวังการเสียดสีด้วยการเขียนและการคำพูด
ประกอบด้วย “ชาติกำเนิด ชื่อ ตระกูล หน้าที่การทำงาน ศิลปวิทยาการศึกษา ความเจ็บไข้ รูปลักษณ์ กิเลส คดีความ และคำด่า ” เพราะจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ฝังรากลึกสามารถนำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้ในที่สุด วิศวกรสันติภาพเวลาลงไปทำงานกับชุมชนบุคคลจะต้องใช้สัมมาวาจามีความ “จริง ไพเราะ เหมาะกาล ประสานสามัคคี มีประโยชน์ ประกอบด้วยเมตตา” โดยสวมวิญญาณของปุณณะต้นแบบของพระสาวกที่ใช้ขันติธรรมเป็นฐานต่อความแตกต่าง เพราะขันติธรรมไม่ได้แปลว่าอดทนเท่านั้นแต่ต้องเคารพให้ เกียรติในความแตกต่าง ยิ่งเราแตกต่างกันยิ่งต้องศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
พระปราโมทย์ สรุปว่า ดังนั้น จึงสะท้อนไปถึงคนในสังคมที่ขาดสติในการสื่อสารอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรง พระพุทธเจ้าจึงเน้นย้ำในหลักโอวาทปาติโมกข์ว่า “การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย” แม้บุคคลนั้นจะมีความแตกต่างจากเราขนาดไหนก็ตาม จึงเน้นย้ำนิสิตปริญญาโทว่านี่คือ วิชาสุดท้ายที่จะต้องลงปฏิบัติการจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธี วิศวกรสันติภาพพึงระวังการเสียดสีด้วยการเขียนและการคำพูด ผ่านการพัฒนาสติ ขันติ และสันติ เพราะขันติธรรมไม่ได้แปลว่าอดทนแต่ต้องเคารพให้เกียรติในความแตกต่าง เป็นเหตุว่าจะต้องฝึกสติขันติสันติให้มีความเข้มแข็งเพื่ออยู่กับสังคมที่ไม่มีสติ ไม่มีขันติ ไม่มีสันติ แต่แท้จริงโลกไม่ได้วุ่นวายใจของเราต่างหากที่วุ่นวาย เพราะอะไรที่เราไม่สามารถจัดการได้จงจัดการใจของเราเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น