กระทรวงมหาดไทยหารือร่วม Airbnb เดินหน้าขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวชุมชนภายหลังสถานการณ์การระบาดโควิด-19 เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน
วันที่ 27 เมษายน 2565 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมดำรงธรรม อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือผ่านระบบการประชุมทางไกล (Webex) ระหว่างกระทรวงมหาดไทย และบริษัท แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) ร่วมกับ นางมิช โกห์ (Ms. Mich Goh) หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน และอินเดีย Airbnb นางแชงการี คิรุปปัลลินี (Ms. Shangari Kiruppalini) ผู้จัดการด้านนโยบายสาธารณะประจำอาเซียน Airbnb และคณะ โดยมี นายกฤษณะ พินิจ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นางสาวฐิติพร อุนรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานกิจการต่างประเทศ กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นายแผน สุขแสวง ผู้อำนวยการส่วนการรักษาความสงบเรียบร้อย 3 สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง นางสาวอุดมพร ทับศฤงฆรา ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สำนักส่งเสริมภูมิปัญหาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน นายกฤษฎา สมประสงค์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต กองพัฒนาและส่งเสริมการบริหารงานท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีความยินดีที่ได้ร่วมประชุมหารือกับบริษัท Airbnb เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชนภายหลังจากเราเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวชุมชนได้รับผลกระทบ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้มีนโยบายในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป โดยกรณีเดินทางเข้าประเทศไทยทางอากาศ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทุกคนต้องลงทะเบียนผ่านระบบ Thailand Pass ที่ http://tp.consular.go.th แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กรณีเป็นผู้ได้รับวัคซีนครบแล้วตามข้อกำหนด ต้องแนบเอกสารหนังสือเดินทาง เอกสารรับรองการได้รับวัคซีน และหลักฐานการมีประกันที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลในประเทศไทย วงเงินขั้นต่ำ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ และไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้งก่อนเดินทางและเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย 2) กรณีเป็นผู้ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามข้อกำหนดแต่มีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ ที่ออกภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง ต้องแนบเอกสารประกอบ ได้แก่ หนังสือเดินทาง ผลตรวจ RT-PCR ที่ออกภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง และหลักฐานการมีประกันที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลในประเทศไทย วงเงินขั้นต่ำ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ และไม่ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย และ 3) กรณีไม่มีผลตรวจ RT-PCR ที่ออกภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง เมื่อเดินทางเข้าประเทศไทยแล้วต้องเข้ากักกัน 5 วัน โดยแนบเอกสารประกอบ ได้แก่ หนังสือเดินทาง หลักฐานการชำระเงินค่าโรงแรมสำหรับกักกัน (Alternative Quarantine) จำนวน 5 วัน (พร้อมค่าตรวจ RT-PCR 1 ครั้ง) และแนบหลักฐานการมีประกันที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลในประเทศไทย วงเงินขั้นต่ำ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมเข้ารับการตรวจ RT-PCR ในวันที่ 4-5 โดยไม่ต้องตรวจก่อนเดินทางมาประเทศไทย นอกจากนี้ สำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยผ่านช่องทางผ่านแดนทางบก จะอนุญาตเฉพาะจุดผ่านแดนถาวรเท่านั้น โดยผู้ไม่มีสัญชาติไทยหากประสงค์เดินทางแบบระยะสั้น (พำนักอยู่ไทย ไม่เกิน 3 วัน) จะใช้ Border Pass เป็นเอกสารในการผ่านแดน ไม่ต้องลงทะเบียนผ่าน Thailand Pass แต่ต้องเป็นผู้ได้รับการฉีดวัคซีนครบ และต้องทำการตรวจ ATK ด้วยตนเอง กรณีผลตรวจเป็นลบสามารถเดินทางเข้าราชอาณาจักรได้โดยไม่ต้องกักตัว หากผลตรวจเป็นบวกจะไม่อนุญาตให้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ทั้งนี้ ไม่ต้องมีประกันภัยในการเดินทาง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการขับเคลื่อนพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของครัวเรือนและชุมชนที่ผ่านมาที่ Airbnb ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้ทุกครัวเรือนยังมีความเข้มแข็งและมีความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่มีความประสงค์จะเดินทางไปพัก ไปเยี่ยม ไปเที่ยว ไปใช้ชีวิตอยู่อาศัยแบบวิถีชุมชน นอกจากนี้ ในด้านการประกอบกิจการสถานที่พักในลักษณะ HOMESTAY ตามข้อหารือของ Airbnb นั้น ถือเป็นสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามกฎกระทรวง กำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551 ซึ่งเจ้าของห้องพักหรือเจ้าของบ้านเรือนลักษณะดังกล่าว คือ มีลักษณะเป็นสถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักในอาคารเดียวกันหรือหลายอาคารรวมกันไม่เกิน 4 ห้อง จำนวนผู้พักรวมกันทั้งหมดไม่เกิน 20 คน และเป็นห้องที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นโดยมีค่าตอบแทนเพื่อหารายได้เสริม และเป็นสถานที่พักที่ต้องสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นและส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สามารถยื่นจดแจ้งตามแบบฟอร์มที่กำหนดต่อนายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ ทั่วประเทศ สำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยื่นจดแจ้งได้ที่สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง (วังไชยา) นางเลิ้ง จึงขอให้ Airbnb ได้ประสานแจ้งเจ้าของห้องพักในลักษณะดังกล่าวที่เป็นสมาชิกในเครือ ได้จดแจ้งฯ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป
“สำหรับความคืบหน้าเรื่องการเตรียมความพร้อมเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนหรือหมู่บ้านที่มีศักยภาพในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชิงวัฒนธรรม และชีวิตความเป็นอยู่ที่มีลักษณะเป็น Green Tourism ที่กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ขับเคลื่อนต่อเนื่องจากการดำเนินโครงการหมู่บ้านโอทอปนวัตวิถี ในขณะนี้ทั่วประเทศมีจำนวน 3,000 กว่าหมู่บ้าน ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ร่วมกับบริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด (Local Alike) ซึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ส่งเสริมความเข้มแข็งและเตรียมความพร้อมชุมชนในด้านการท่องเที่ยวใน 20 หมู่บ้าน/ชุมชน กระจายครอบคลุม 4 ภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย และจังหวัดอุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และจังหวัดอุดรธานี ภาคกลาง ที่จังหวัดกาญจนบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี อุทัยธานี และจังหวัดตราด และภาคใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระนอง ยะลา พัทลุง และจังหวัดพังงา นอกจากนี้ Local Alike ยังได้ร่วมส่งเสริมสนับสนุนความเข้มแข็งด้านการท่องเที่ยวให้กับชุมชน “หมู่บ้านคชานุรักษ์” ตามโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่ทรงมีความมุ่งมาดปรารถนาเสด็จไปช่วยชาวบ้านในหมู่บ้านที่ถูกบุกรุกจากช้างป่าให้เป็นชุมชนที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดกับภูเขาบริเวณจังหวัดจันทบุรี สระแก้ว ระยอง และจังหวัดชลบุรี ซึ่งหมู่บ้าน/ชุมชนเหล่านี้ล้วนเป็น Amazing Community-based tourism ที่น่าสัมผัส น่าศึกษาเรียนรู้ ทั้งในมิติวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ธรรมชาติสวยงาม ที่มีความปลอดภัย ที่สำคัญที่สุด สมาชิกในหมู่บ้าน/ชุมชนเป็นเจ้าบ้านที่ดีที่สามารถให้การดูแลนักท่องเที่ยวเสมือนเป็นญาติพี่น้อง โดยสามารถเดินทางไปเยี่ยมเยือนและดื่มด่ำวิถีดังกล่าวทั้งในระยะสั้น และระยะยาว หรือเข้าพักเพื่อทำงาน (Workation) ก็ได้ จึงขอเชิญ Airbnb มาร่วมสัมผัสและส่งเสริมการพัฒนาร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
สุดท้าย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย ขอเชิญชวน Airbnb ได้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมชมหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อร่วมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งในขณะนี้มีหลายพื้นที่ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา รวมไปถึงพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนที่น้อมนำพระราชดำริเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระดำริในการส่งเสริมอาชีพการทอผ้าแบบพึ่งพาตนเองของประชาชนในพื้นที่ชุมชนทอผ้าทั่วประเทศเพื่อส่งเสริมการใช้ผ้าไทยตามโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนเหล่านี้ พร้อมให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้าไปศึกษา ไปใช้ชีวิต “แบบพึ่งพาตนเอง 100%” โดยไม่ต้องง้อความเจริญของเทคโนโลยี เช่น ฝึกทำอาหาร ปลูกพืช ผัก สวนครัว ผลไม้ ทำไร่ ทำนา ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอผ้า เป็นต้น กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ อาทิ พื้นที่พุทธอุทยานดอยอินทรีย์ จังหวัดเชียงราย ซึ่งได้รับการพัฒนาและฟื้นฟูโดยพระอาจารย์วิบูลย์ ธมฺเตโช จากพื้นที่เขตป่าสงวนที่เคยถูกบุกรุกทำลายกลายเป็นป่าใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังเป็นการพื้นที่ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ทำโคก หนอง นาที่ปลอดสารพิษ 100% รวมถึงหมู่บ้านทอผ้าไหม ผ้าฝ้าย ในจังหวัดสกลนคร นครพนม สุรินทร์ มหาสารคาม ชัยภูมิ นครราชสีมา ที่นักท่องเที่ยวและผู้สนใจสามารถเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย ทำสีธรรมชาติ กระทั่งทอจนเป็นผืนผ้า
นางมิช โกห์ (Mich Goh) และ นางแชงการี คิรุปปัลลินี (Ms. Shangari Kiruppalini) กล่าวว่า ขอขอบคุณปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ให้เกียรติร่วมประชุมกับ Airbnb ในวันนี้ ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 ปีของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 Airbnb ได้มุ่งมั่นทำงานเชิงสร้างสรรค์กับกระทรวงมหาดไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อเป้าหมายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ผ่านแนวทางการศึกษาและการขับเคลื่อน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) แนวโน้มในการเดินทางของนักท่องเที่ยวหลังการระบาดของโรคโควิด-19 2) การท่องเที่ยวแบบชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ตามมาตรการของประเทศไทย 3) เป้าหมายการส่งเสริมการท่องเที่ยวในปี 65 และ 4) แนวทาง/เป้าหมายการขับเคลื่อนส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนของกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งได้ทำการศึกษาด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยผ่าน 3 เสาหลัก คือ 1) นโยบายประเทศไทยเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว 2) การสนับสนุนการท่องเที่ยววิถีชุมชนอย่างใกล้ชิดกับกรมการพัฒนาชุมชน และ 3) การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย ซึ่ง Airbnb จะได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของชุมชนให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
“กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน กรมการปกครอง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนผ่านกระบวนการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อ Change for Good สร้างสรรค์สิ่งที่ดีอันเป็นการอำนวยประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ชนบทและขยายผลไปในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง ควบคู่วิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำในช่วงท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น