ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หรืออาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ในความทรงจำของดร.สำราญ สมพงษ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองหนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์นั้น ได้สะสมความแจ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เป็นสามเณรเข้ามาเรียนต่อพักอยู่ที่วัดเทวราชกุญชร กรุงเทพมหานครในปี 2523 และเรียนภาษาบาลีที่วัดชนะสงครามและระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) วัดมหาธาตุท่าพระจันทร์เข้าปี 1 พ.ศ.2529 เนื่องจากว่า อาจารย์เสฐียรพงษ์เป็นอาจารย์พิเศษ แต่ไม่แน่ใจว่าได้เรียนกับอาจารย์หรือไม่ เพราะว่าพอขึ้นปี 3 ได้เลือกเรียนเอกปรัชญา แต่คิดว่าได้เรียนกับอาจารย์ขณะเรียนระดับปริญญาโท มจร พ.ศ.2535
แต่ความทรงจำได้แจ่มชัดขึ้นหรือถือว่าเป็นไอดอลเลยก็ว่าได้ หลังจากได้เป็นนักข่าวสายการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการ หากมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศาสนาแล้วนักข่าวกระทรวงศึกษาธิการมักจะโทรศัพท์หรือเดินทางไปดักสัมภาษณ์อาจารย์เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี 2536-37 มีข่าวเกี่ยวกับอดีตพระยันตระ เพราะอาจารย์ถือว่าเป็นนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา
ประกอบกับอาจารย์นั้นถือว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์มีคอลัมน์เขียนลงในหนังสือพิมพ์ข่าวสด และเขียนหนังสือด้านพระพุทธศาสนาออกตีพิมพ์เป็นประจำ จึงทำให้แนวความคิดที่จะเป็นนักเขียนเหมือนอาจารย์ แต่เพราะเป็นนักข่าวที่ต้องเขียนข่าวเขียนรายงานเป็นประจำ จึงทำให้ไม่ได้เริ่มที่จะเริ่มเขียนหนังสือสักทีจนถึงปัจจุบัน
ต้องยอมรับว่าช่วงที่ทำงานเป็นนักข่าวๆใหม่ในปี 2536 แสนหว้าเหว่ เพราะว่านักข่าวส่วนใหญ่ก็มีพื้นฐานความรู้ด้านการทำข่าว ส่วนเรานั้นไม่มีพื้นฐานอะไรเลย แม้แต่คำว่าทำข่าวก็ไม่รู้ว่าเขาทำกันอย่างไร เขาหากันอย่างไร เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วพวกที่ออกมาจากพระแล้วมีโอกาสเข้ามาทำงานด้านหนังสือพิมพ์นั้นก็จะทำหน้าที่เป็นคนตรวจอักษรหรือตรวจปรู๊ฟ เนื่องจากบรรณาธิการข่าวหรือคนที่รับเข้าทำงานคงจะคิดว่ามีความเชี่ยวชาญด้านภาษาไทย นอกจากนี้ก็จะเป็นนักเขียนหนังสือแต่งตำราอย่างเช่ยไทยวัฒนาพาณิชย์หรืออักษรเจริญทัศน์ก็จะมีเพื่อนร่วมรุ่นเข้าไปทำงาน ดังนั้นจะพยายามฟังข่าวว่ามีพวกมหาเป็นนักข่าวโรงพิมพ์อะไรบ้าง เมื่อได้ข่าวว่าอาจารย์เสฐียรพงษ์มีคอลัมพ์เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์มติชนข่าวสด พร้อมกันนี้ได้ทราบว่าเสฐียร พันธรังษี นักวิชาการศาสนาและนักหนังสือพิมพ์ เคยนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ทำให้มีกำลังใจมากขึ้น
ช่วงที่เป็นนักข่าวใหม่ๆจำที่กระทรวงศึกษาธิการส่วนใหญ่จะนั่งอยู่ด้านนอกห้องนักข่าว เพราะว่าเราไม่ค่อยรู้จักใครก็จะรู้เพียงกมลทิพย์ ใบเงินจากหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น พอนานเข้าเริ่มสนิทกับนักข่าวกระทรวงศึกษาธิการและฝ่ายประชาสัมพันธ์ก็เริ่มเรียนรู้งานการหาข่าวเขียนข่าวก็พออยู่ได้ และเป็นนักข่าวมาได้จนถึงทุกวันนี้
เมื่อเวลาผ่านไปพอที่จะทำข่าวได้ ก็ได้มีโอกาสไปทำข่าวนอกสายอย่างเช่นทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา ทำให้รู้ว่ามีมหาที่เป็นนักข่าวบ้างเช่นพี่สุชาติ ไพฑูรย์ที่สยามรัฐ และคำภูช่อง 9 อาจารย์ยนต์ กำลังวรรณ อาจารย์สมาน สุดโต จากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เป็นต้น
อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก จึงนับเป็นว่าเป็นอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์เป็นต้นแบบเป็นแนวทางจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้วันที่ 6 มิ.ย. 65 มติชนออนไลน์ข่าวรายงานว่า ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก นักปรัชญาศาสนา ได้เสียชีวิตลงแล้ว ขณะเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อเวลา 18.33 น. วันที่ 6 เมษายน เบื้องต้น ญาติแจ้งว่า สาเหตุหลักของการเสียชีวิตเนื่องจากอาการทรุดเพราะเส้นเลือดในช่องท้องกับตรงหัวใจที่ทำไว้แต่เดิมปริ ก่อนหน้านี้ ได้รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลธนบุรี ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม ก่อนที่จะย้ายมาที่โรงพยาบาลศิริราช วันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ จะตั้งศพไว้ที่วัดตรีทศเทพ และจะสวดอภิธรรมเป็นเวลา 5 คืน และเก็บศพไว้ 100 วัน ก่อนพระราชเพลิง โดย ส. ศิวรักษ์ นักปรัชญา นักคิด และนักวิชาการชาวไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Sulak Sivaraksa ระบุว่า
แด่ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เสฐียรพงษ์ วรรณปก เป็นสามเณรประโยค 9 รูปแรกในรัชกาลที่ 9 และเป็นรูปแรกแต่เกิดการสอบแบบข้อเขียนแทนการสอบปากเปล่าดังแต่ก่อน เขาเป็นศิษย์ของพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) แห่งสำนักเรียนวัดทองนพคุณ
ต่อมาเสฐียรพงษ์ได้ทุนไปเรียนที่วิทยาลัยตรีนิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทั้งๆ ที่ยังบวชอยู่ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นพระไทยรูปแรกที่จบจากที่นั่น เสียดายที่กลับมาไม่ทันไร เขาก็สึก
เขาถนัดเป็นนักหนังสือพิมพ์มากกว่าเป็นครูบาอาจารย์ ทั้งที่เขาเคยอยู่มหาวิทยาลัย เดิมเขาเขียนให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ต่อมาเมื่อไทยรัฐไม่เล่นงานธรรมกาย เขาจึงย้ายมาอยู่กับมติชน และมีผลงานรวมเล่มมากมาย ทั้งกับสำนักพิมพ์มติชน และกับทางเคล็ดไทย ภาษาไทยเขาดี หนังสือที่มีชื่อเสียงก็เป็นหนังสือตั้งชื่อ ที่เขาสามารถตั้งชื่อคนเพราะ ๆ ผมกับเขาเป็นกัลยาณมิตรกันมายาวนาน เมื่อเขาตายจากไป ก็หวังว่าเขาจะไปสู่สุคติในสัมปรายภพ
ส. ศิวรักษ์ 6-4-65
สำหรับ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก เป็นอาจารย์หรือนักวิชาการทางด้านศาสนาพุทธและภาษาบาลี ราชบัณฑิตสาขาศาสนศาสตร์ และยังเป็นนักเขียนบทกวี ตำรา และบทความในนิตยสารหลายฉบับ เริ่มเขียนบทความให้นิตยสารต่วยตูน แล้วได้รับการชักนำให้เขียนลงคอลัมน์ประจำให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ก่อนจะย้ายไปเขียนประจำให้หนังสือพิมพ์ในเครือมติชนและข่าวสด มีชื่อเสียงโด่งดังจากการเขียนวิจารณ์พระสงฆ์ที่ปฏิบัตินอกรีต โดยเฉพาะกรณีอดีตพระยันตระ อมโร รวมทั้งยังนับได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกการตั้งชื่อเป็นมงคลนามแก่ตัวเจ้าของชื่อด้วย (ที่มาวิกีพีเดีย)
เสถียรธรรมนำทางสว่างจิต
เป็นเข็มทิศนำทางแห่งพงษา
จารวรรณปกศิษย์ทั่วนครา
เตอสีติกาลล่างลับอนิจจา
ขอแสดงความอาลัยยิ่ง
จากดร.สำราญ สมพงษ์
บรรณาธิการข่าวการเมืองหนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์
พุทธศาสตรบัณฑิต
รุ่นที่ 36/2534
7 เมษายน 2565
(ขอบคุณเจ้าของภาพ)
“ศ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก,ราชบัณฑิต”
.
เปรียญ ๙ เอกอุดมคมความคิด
เกียรตินิยมเคมบริดจ์เป็นศักดิ์ศรี
“ยุทธจักรดงขมิ้น”-หลงกลิ่นกวี
“ใต้ตามทาง”-สว่างชี้ทิศทางไทย
.
ผู้ชำนาญการตั้งชื่อระบือระบัด
“สวนทางนิพพาน” ชัดสติสมัย
“คอลัมนิสต์” ปากกาคมขมขัดใจ
อลัชชีลี้ภัยกระซ่านเซ็น
.
เป็นนักเขียนนักแปลแลนักปราชญ์
สีหนาทก้องกรรจายคลายยุคเข็ญ
พระไตรปิฎกเคลื่อนที่ที่บำเพ็ญ
สมกับเป็น “นาคหลวง” ควงสมญา
.
“พุทธศาสนาทัศนะและวิจารณ์”งานเอกอุ
ปราดเปรื่องปรุประดิษฐ์คำส่ำภาษา
เคยส่องทาง ส่องทิศ ส่องศิษยา
คือเมธา “เสฐียรพงษ์ วรรณปก” หยกน้ำงาม
.
(ท่านคือหนึ่งในครูผู้เป็นแรงบันดาลใจ
ให้ฝักใฝ่อยากเป็นพระนักเขียน-เคยเรียนกับท่าน
ในวิชา พระไตรปิฎกวิเคราะห์ ณ มจร.)
.
พระเมธีวชิโรดม|ว.วชิรเมธี
๘ เมษายน ๒๕๖๕
คารวาลัย แด่
ศ.พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ครุฏฐานิยาจารย์ของผมและสังคมไทย
& แล้วไม้ใหญ่ในร่มเงาของพระพุทธศาสนา
ก็ล้มไปอีกต้นหนึ่ง
& ผมได้ยินชื่อคนดังๆสายวัดตั้งแต่ผมเรียนบาลีใหม่ๆ อยู่ที่วัดบ้านผม อาจารย์ท่านมักใช้ชื่อคนดังๆที่ไปจากวัดปลุกใจพวกผมให้อยากเรียนนักธรรม-บาลี
(ตอนนั้นผมอายุได้ ๑๑ ขวบ เป็นเณรน้อย
คงจะน่ารักอยู่บ้าง เวลาไปไหนพระผู้ใหญ่จึงมักชอบจับหัวเขย่าแล้วถามว่าเณรอยู่วัดไหน)
& ‘เสฐียรพงษ์’ คือ ชื่อหนึ่ง ที่ผมได้ยินอาจารย์เอ่ยถึงเสมอ ๆ
ตามด้วยชื่อสามเณรประยุทธ์ อารยางกูร วัดพระพิเรนทร์ และสามเณรอุทัย เกลี้ยงเล็ก วัดบางหลวง ปทุมธานี
ทั้งหมดนี้ คือ สามเณรประโยค ๙ เป็นนาคหลวง ได้บวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ถือเป็นรุ่นครูบาอาจารย์ ที่นำร่องชีวิตผม
อาจารย์ของผมคือ ‘อดีตพระอาจารย์สายทอง เพ็ญมาศ’ ปัจจุบันคือครูวิจิตร เพ็ญมาศ อายุ ๘๗ ปี ‘ท่าน’ มีอุปการคุณต่อวัดบ้านผมมาก เป็นผู้เสนอตั้งการศึกษาปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและแผนกบาลี โดยยกชื่อเหล่านี้มาปลุกใจเณรบ้านนอกอย่างผมได้สำเร็จ
อ.เสฐียรพงษ์ ได้เป็นแรงบันดาลใจหนึ่งที่อาจารย์ผมเอ่ยถึงจนกระตุ้นผมได้มาเป็นอย่างที่เป็นปัจจุบัน
& แรงบันดาลใจอีกอย่างหนึ่ง คือ ความโด่งดังในการเขียนหนังสือ อาจารย์เอาความรู้ด้านพระพุทธศาสนาที่ร่ำเรียนมาถ่ายทอดให้สังคมเรียนรู้กัน ด้วยภาษาเขียนที่ง่าย
สมัย ๖๐ ปีที่แล้ว นักเขียนสายพุทธที่ดังๆมีไม่กี่ท่าน เช่น อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ อ.วศิน อินทสระ ที่เขียนหนังสือพิมพ์ดังก็ ท่านประสก ชื่อจริง จำรัส ดวงธิสาร
และที่เป็นนักหนังสือพิมพ์ใหญ่ ทำงานกว้างขวาง และยังทำงานกับองค์กรพุทธต่างๆอยู่ ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมยังสอนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยดัง เช่น ธรรมศาสตร์ คือ
ศ.พิเศษ เสฐียร พันธรังษี
อ.เสฐียรพงษ์ เป็นท่านหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้อยากเขียนหนังสือ แล้วต่อมาผมก็ได้พบกับท่าน
& อ.เสฐียรพงษ์ บอกผมว่า ‘เรื่องเขียนหนังสือ ท่านไม่เคยของานใครทำ มีแต่มีคนมาขอให้ท่านทำ’
ตรงนี้ผมยอมแพ้ท่าน ผมนั้นมีทั้งขอและไม่ขอ
แต่แปลกงานที่ผมขอ เช่น ขอเขียนหนังสือให้วารสารหรือสำนักพิมพ์มักไม่ประสบผลสำเร็จ น่าจะติดขัดตรงเงื่อนไขที่ผู้ให้กำหนดขึ้นมากมาย เลยทำให้เขียนไม่ค่อยออก
แต่งานที่ผมทำเองมักลื่นไหล ได้ค่าวิชาบ้างไม่ได้บ้าง ก็ไม่เป็นไร แต่สำเร็จลงด้วยดี จนกระทั่งผมแซวตัวเองว่า
‘งานได้เงิน ไปไม่ดี แต่งานฟรี ถนัดนัก’
มีเรื่องขำขัน มีครอบครัวหนึ่ง ๓ พี่น้องสนใจงานเขียนผม เรื่อง คนตายกลับบ้านได้ โทรศัพท์มาขอพิมพ์แจก เพราะศรัทธาในเนื้อหา อยากให้สังคมได้เรียนรู้กัน เชื่อว่าเขาจะได้บุญและมีปัญญา
แล้วจึงมาพบผม คุยกันจิปาถะแล้ว สุดท้ายผมเลยแหย่ไป
‘หนังสือที่ผมพิมพ์เองมีเหลืออยู่ จะทำบุญกับผมช่วยค่าพิมพ์แล้วเอาหนังสือไปแจกก็ได้’
ทั้งหมดปฏิเสธ เพราะอยากพิมพ์เอง อยากให้มีชื่อครอบครัวปรากฏในปกหนังสือ ผมเลยแหย่ต่อว่า
‘ถ้างั้นไม่คิดให้ค่าเหนื่อยคนเขียนบ้างเหรอ’
เพราะตอนนั้นอยากได้เงินไปช่วยญาติที่เขาขอความช่วยเหลือมา
ทุกคนนิ่งอึ้ง แล้วก็ตอบว่า
‘ถ้างั้น ก็ไม่เอา เพราะเขาอยากทำบุญ ไม่อยากให้เป็นการซื้อขาย’
ตกลงเรื่องก็ยุติ ไม่พิมพ์ ด้วยเงื่อนไขว่า
ถ้าให้เขาเอาต้นฉบับไปพิมพ์เอง ใส่ชื่อเขาพิมพ์ เขาเอา เพราะถือว่าทำบุญ
แต่ถ้าให้ซื้อหนังสือที่พิมพ์อยู่แล้วจากผมไปแจกแม้ลดราคาก็ไม่เอา
หรือถ้าให้ช่วยผมบ้างค่าลิขสิทธิ์ก็ไม่เอา
ถือว่าค้าขาย
นี่แหละที่ผมว่า ผมแพ้ท่าน อ.เสฐียรพงษ์
เวลาทำงานกับใคร เขาพอใจให้ผมรับเงื่อนไขเขาอย่างเดียว
แต่พอผมมีเงื่อนไขบ้าง เขาจะไม่พอใจ
แต่เอาละผ่านไปแล้ว เล่าไว้แค่เป็นเรื่องแทรก
& อย่างไรก็ตาม งานที่ผมคิดเขียนและพิมพ์ก็คือหลักฐานทางวิชาการที่เป็นพื้นฐานส่งผมขึ้นโบยบินในวงวิชาการ แม้การได้มาเป็นราชบัณฑิต งานที่ผมทำด้วยใจรักและทุ่มเทนี้ก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะว่าเป็นองค์ประกอบหลักก็ได้
& อ.เสฐียรพงษ์ กับผมได้ร่วมงานกันบ่อยตอนผมยังไม่ได้มาทำงานที่ราชบัณฑิตยสถาน ต่อมา อ.ประสิทธิ์ จันทร์รัตนา ได้เขียนใบสมัครเป็นภาคีสมาชิกสายศาสนศาสตร์ให้ผม ท่านราชบัณฑิตเสฐียรพงษ์ก็เซ็นรับรองให้
ตอนที่ผมเริ่มมาช่วยงานที่ราชบัณฑิตยสถาน (ชื่อตอนนั้น) เริ่มไม่ค่อยได้ทำงานกับ
อ.เสฐียรพงษ์ เพราะท่านดังมาก เนื่องจากท่านได้รับเชิญให้เขียนบทความให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จึงทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับงานที่ท่านรัก และยิ่งต่อมาย้ายไปอยู่มติชนก็ยิ่งดังใหญ่ เพราะมีเรื่องฉาวโฉ่ทางพระพุทธศาสนาสะท้านฟ้าสะท้านดินเกิดขึ้น เริ่มจากกรณี นิกร ธรรมวาที กรณียันตระ อมโรภิกขุ และกรณีวัดพระธรรมกาย
กรณีทั้งสามนี้ เป็นเรื่องทางพระพุทธศาสนา แน่นอนว่า กองทัพผู้สื่อข่าวย่อมวิ่งเข้าหาต้นตอข้อมูลทางพระธรรมวินัย ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ อ.เสฐียรพงษ์
เหตุนั้นจึงทำให้ท่านห่างไปจากงานทางราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งระยะนั้นผมทำงานส่วนใหญ่ที่นั่น และผมกับท่านก็พลอยห่างกันไปด้วย แม้ว่าผมจะเป็นภาคีสมาชิกในราชบัณฑิตสายเดียวกับท่านก็ตาม
& ท่าน อ.เสฐียรพงษ์ ยังริเริ่มงานไว้อีกอย่างที่น่าสนใจ คือ การนำบทสวดมนต์มาให้นักร้องขับร้องมีดนตรีบรรเลงประกอบ เป็นงานยุคบุกเบิกในเมืองไทย ที่ลังกาเขาทำมานานแล้ว
งานนี้ดูจะผ่านมากว่า ๓๐ ปีแล้ว บทสวดมนต์ที่ผมจำได้ก็มี ชินบัญชร ท่านลงทุนทำเอง ไม่ทราบว่าได้ทุนคืนบ้างไหม เพราะการทำเทปจำหน่ายละเมิดลิขสิทธิ์กันง่ายมาก ซื้อต้นฉบับไปแผ่นเดียว ก็ก็อปปี้ขายกันเป็นล่ำเป็นสัน ผลคือ ต้นฉบับเจ๊ง แต่พวกกอปปี้รวย
ผมพูดได้เป็นตุเป็นตะ เพราะโดนมาเอง ทำเทปขาย ๕๐ แผ่น ๓ ปีผ่านไปขายได้ ๑๐ แผ่น
มารู้ว่าถูกก็อปปี้ก็ตอนที่ผู้ฟังมาบอกว่า
‘ผมซื้อเทป อ.มาฟังหมดเงินเป็นหมื่นแล้ว’
& เรื่องผมกับท่าน อ.เสฐียรพงษ์ยังมีเล่าได้อีกยาว
อาจเป็นเพราะช่วงหนึ่งท่านเมตตาผมมาก มีรายการพูดที่ไหน ก็มักให้ผมไปดำเนินรายการ แม้กระทั่งรายการวิทยุ เลยมีเรื่องที่ท่านเล่าให้ฟังหลายเรื่อง (และ)
อาจเป็นเพราะเป็นคนวัดด้วยกันท่านดุผมได้เวลา ซึ่งผมก็ยอมท่านอยู่แล้ว ในฐานะรุ่นครู
จึงวันนี้ต้องกราบขออภัยที่ถือโอกาสเล่าบางเรื่องของท่าน
& สุดท้าย ได้ทราบมาว่า ก่อนวันเวลาแห่งการจากไปมาถึง อ.ยังสติสัมปชัญญะดีอยู่มาก พยายามต่อสู้กับทุกข์ทรมานด้วยสมาธิ
ผมจึงพูดได้แค่ว่า ด้วยจิตที่มีสติสมาธิสัมปชัญญะ ประกอบกับที่ อ.สร้างกุศลมามาก ทำความดีถวายพระพุทธศาสนามายาวนาน จึงเป็นอันคะเนได้ว่า ชีวิตโอปปาติกะ-ชีวิตใหม่หลังจากชีวิตนี้ของอาจารย์สว่างรุ่งเรืองแน่นอน
& สาธุ โชติ โชติปรายโน
สาธุ สว่างมาที่ได้พบพระพุทธศาสนารอรับสว่างไปที่ได้พระพุทธศาสนานำทาง
ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
ร้อยโท ดร. บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต เขียน
Uthit Siriwan
11 ชม. ·
ปี ๒๕๓๓
อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก
และลูกชายคนเดียว “เสกขภูมิ วรรณปก”
(ใจหาย ทราบว่าเป็นมะเร็ง ละร่างไปก่อนพ่อ
เมื่อปีสองปีก่อน)
เมตตาให้เกียรติ มาร่วมยินดี
ให้กำลังใจ ให้ถ้อยคำอันเป็นแรงบันดาลใจ
ผมซักถาม สอบถาม โอกาสเรียนต่อที่เคมบริดจ์
อาจารย์เล่าละเอียด สรุปคือ cash only
เรื่อง Recommendation
ท่านเขียนรับรองและหาเพิ่มเติมได้
ท่านบอก ก็เรียนบาลีนี่แหละ แต่เป็นอังกฤษ
ง่ายกว่าเรียนประโยค ๙ เยอะ
ผมพยายามเดินตามฝัน
หาช่องทาง หาโอกาสเรียนต่อปริญญาเอกพุทธศาสนา
ไม่พบที่อังกฤษ กลับเป็นมหานครนิวยอร์ก
ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ก
สุดท้าย cash only เป็นอุปสรรคสำหรับผม
โอกาสเรียนต่อผมคือทางการเงินและการประกันภัย
ในที่สุด ผมจำต้องเลือก ทั้งไม่มีทางเลือก
แลกด้วยทำงาน 5 อาชีพ ในเวลาเดียวกัน
เหนื่อยจนแทบขาดใจ ทำไงได้ ไม่ได้เกิดบนกองเงินกองทอง สุดท้ายผมคว้าปริญญาโททางบริหารธุรกิจ
ที่นิวยอร์กสำเร็จ และต่อด้วยปริญญาเอก
ทางบริหารธุรกิจระหว่างประเทศที่ฟลอริดา
กำลังใจ และแรงบันดาลใจ เป็นสิ่งสำคัญ
ตั้งแต่สมัยสอบตกประโยค ๘
หนังสือผมอ่านเล่นคือ
ชีวิตในดงขมิ้น
ฤาสมัยนี้โลกมันเอียง
ของ “ไต้ ตามทาง”
นามปากกา
อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก
อาจารย์บอกผม ให้แน่วแน่
เขียนงานวิชาการ
อีกครั้งหนึ่งที่มีโอกาสคุย แต่ไม่ได้มาก
คือที่บ้านชลดา บางบัวทอง
ไปกับสหายเก่าแก่
ผศ. ดร. ชัยณรงค์ ศรีมันตะ
เป็น untold story คือยากจะเล่า
และเล่าไม่ได้
ผมเอง แยกแยะ ไม่ได้เห็นตรงกับอาจารย์ทุกเรื่อง
แต่หลายเรื่อง ผมเห็นด้วย
โดยเฉพาะประเด็น “ปกป้องพุทธศาสนา”
จาก “สมีทั้งหลาย” และ “เรียนบาลี
เพื่อรักษาพุทธศาสนาคำสอนดั้งเดิม”
เมื่อก่อน ผมใช้คำว่า “พุทธวจนะ”
แต่ภายหลัง บางกลุ่ม ทำให้ความหมายต่างออกไป
เลยเลิกใช้
และไม่คิดว่าท่านชดใช้กรรมอันใด
ชีวิตอยู่มาได้ถึง ๘๓ ปี ถึงวันต้องละร่าง
เป็นอนิจจัง สำหรับทุกชีวิต รวมถึงผม
อาจารย์เสฐียรพงษ์
เป็นแรงบันดาลใจสำหรับผม หลายเรื่อง
• พยายามให้เป็นสามเณรนาคหลวง
ในพระบรมราชูปถัมภ์ให้ได้
• พยายามเรียนต่อปริญญาโทและปริญญาเอก
มหาวิทยาลัยในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาให้ได้
• พยายามเขียนงานวิชาการล้วนๆ
ซึ่งผมก็ได้อาสากล้าทำและทำจนได้
เช่น ธรรมบทแปลโดยพยัญชนะ
• พยายามเป็นศาสตราจารย์ให้ได้
• พยายามเป็นราชบัณฑิตให้ได้
(เสียดาย ฝันนี้ล้มเหลว เพราะผมล้มเลิกเอง
ทั้งที่ผลงานถึง เพราะกลายเป็นตำแหน่งทางการเมือง
ต้องเล่นการเมือง มีพวกพ้อง ผมพอมี แต่ไม่อยากไปสมัคร)
นำภาพและข้อเขียนเก่าๆ มาลง
มีสามเณรอุทิศ ศิริวรรณ
นาคหลวงสายสามเณรเปรียญธรรม ๙ ประโยค
ในปี ๒๕๓๓
ส่วนสำคัญของแรงบันดาลใจ
เกิดจาก สามเณรเสฐียรพงษ์ วรรณปก
สามเณรเปรียญธรรม ๙ ประโยค
นาคหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์
ปี ๒๕๐๓ เมื่อ ๓๐ ปีก่อน
เป็นแรงบันดาลใจ และกำลังใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น