วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2565

"ปลัด มท." เปิดการฝึกอบรมหลักสูตร Change for Good ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รุ่นที่ 2



เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมและบรรยายพิเศษ หัวข้อ “ทำไมต้อง Change for Good” ให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการ : คณะทำงาน Change for good ของกระทรวงมหาดไทย หลักสูตรผู้นำการขับเคลื่อนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รุ่นที่ 2 ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมีนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัด มท. ด้านบริหาร นายศุภชัย ศรีมีชัย ผู้อำนวยการกลุ่มงานวินัย กองการเจ้าหน้าที่ สำนักงานปลัด มท. นางรมณ คูวงษ์วัฒนาเสรี นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัด มท. ร่วมรับฟัง โดยถ่ายทอดผ่านระบบ Zoom Meeting ไปยังกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) โดยมีนายธนวัฒน์ ปิ่นแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน ร่วมรับฟัง และถ่ายทอดไปยังศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก โดยมีนางวรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัด มท. นายพิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัด มท. นายบุญธรรม ถาวรทัศนกิจ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ น.ส.เยาวมาลย์ เศรษฐา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก คณะทำงาน Change for good ของ มท. รุ่นที่ 2 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟัง


นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การฝึกอบรมหลักสูตร Change for Good ของกระทรวงมหาดไทยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจในสังกัด มท. ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการนำเอาศักยภาพของตนเองและทีมเพื่อเสียสละและช่วยเหลือต่อส่วนรวม มากกว่าการทำงานตามอำนาจหน้าที่ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายหรือตามฟังก์ชันหน่วยงานหรือองค์กร “ใจต้องมาก่อน” ด้วยการผนึกกำลังพี่น้อง มท. สร้างสิ่งที่ดีเพิ่มพูนให้กับสังคมไทยมากยิ่งขึ้นร่วมกับทุกภาคีเครือข่าย โดยดึงเอาสิ่งที่เรียกว่าศักยภาพหรือความรู้ความสามารถมาใช้ด้วยใจที่มุ่งมั่นปรารถนาและทัศนคติที่ดี ในการทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น ด้วยตัวของเราและทีมงาน ซึ่งมีนัยสำคัญว่า คนในทีม Change for Good ต้องมีภาวะผู้นำที่สูงมากกว่าคนอื่น และใช้ภาวะผู้นำที่มีในการผลักดันให้เรากล้าคิด กล้าทำ และกล้าที่จะเชิญชวนให้คนในองค์กร/หน่วยงาน หรือแม้แต่คนในสังคม มาร่วมทำสิ่งที่ดีร่วมกับพวกเรา ดังที่ทุกคนได้แสดงเจตนาว่าทุกคนเต็มใจและสมัครใจมาเป็นทีม Change for Good รุ่นที่ 2 ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งทุกท่านจะได้รับสิ่งที่ดีในการใช้ชีวิตร่วมกัน และจะได้มีโอกาสทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต


“สิ่งดีๆ ในสังคมที่เรากำลังมุ่งมาดปรารถนาที่จะทำเหล่านี้จะบังเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ก็ต่อเมื่อ “เราลงมือทำโดยทันทีด้วยภาวะผู้นำที่มีในตัวเรา” เพราะถ้าเราไม่แสดงออกถึงภาวะผู้นำในการรวมกลุ่มทีมงานและทำอยู่คนเดียว ก็จะไม่เกิดพลัง ดังนั้นจึงต้องใช้ภาวะผู้นำซึ่งไม่ได้เป็นนามธรรม แต่มันอยู่ที่การกระทำ ดังคำกล่าวที่ว่า The Leader is Action not Position “ความเป็นผู้นำเกิดจากการกระทำ ไม่ใช่เพราะตำแหน่งหน้าที่” ด้วยการใช้ศักยภาพระดมคน หลอมรวมจิตใจ พูดคุย ชักชวนเพื่อนๆ มาร่วมหัวจมท้ายช่วยกันทำสิ่งที่ดีร่วมกัน เปรียบประดุจเราเป็นคนรวบรวมเอาแขนงไม้ไผ่ แขนงเล็ก แขนงน้อยมามัดรวมกันเป็นฟ่อน เป็นก้อน ก็จะทำให้เกิดความแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีคนที่มีภาวะผู้นำที่กล้าแสดงออกถึงความอยากที่จะทำสิ่งที่ดีงาม” นายสุทธิพงษ์ กล่าว


นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนทีมงาน Change for Good ประการสำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นคือ “การถ่ายทอดจิตวิญญาณสร้างคนมหาดไทยรุ่นต่อไปที่มีจิตใจทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวมตลอดชีวิต” โดยขอให้ได้น้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานเมื่อปี 2553 ที่จ.นครนายก ใจความสำคัญว่า “แม้เราจะเกษียณอายุราชการแล้วแต่เราต้องไม่เกษียณจากการทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม” เพราะสิ่งที่อยู่เบื้องหลังที่พวกเราทุกคนต้องตระหนักและใส่ใจรวมทั้งเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อให้เกิดความผาสุกและความสงบร่มเย็น นั่นคือ “ประเทศชาติของเรา” จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทีมงาน Change for Good ต้องดึงพลังความคิดริเริ่มเชิงสร้างสรรค์ที่มีใจตนเอง และลงไม้ลงมือทำ นำเสนอ แลกเปลี่ยน ด้วยการรู้จักหยิบยกองค์ความรู้หรือประเด็นที่เป็นที่สนใจในสังคมมาถกแถลง มาพูดคุย มาหารือ และเมื่อคิดแล้วว่าสิ่งไหนมีผลกระทบในวงกว้าง ต้องระดมสรรพกำลังเพื่อนฝูงไปช่วยกัน โดยคนมหาดไทยต้องไม่ทำตัวเป็นทาสของผู้บังคับบัญชา คือ ใช้อย่างทำอย่าง คนมหาดไทย หรือทีม Change for Good ต้องมี Creative Thinking นำเสนอ โน้มน้าว ด้วยเหตุและผลและคาดการณ์ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อส่วนรวมให้กับผู้บังคับบัญชาและทำให้ผู้บังคับบัญชาทำในสิ่งที่เราอยากทำ นอกจากนี้ ต้องเชื่อมต่อสัมพันธ์กัน (Connectivity) รวมตัวอยู่กันด้วยใจเสียสละ ด้วยความรักสามัคคี พร้อมใจกันตกผลึกความคิด และทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นต่อสังคม


“ถ้าเราจะสร้างสังคมแห่งความรัก ความเมตตา หรือสังคมแห่งความดีงาม ต้องเริ่มสร้างที่ตัวเรา ด้วยการนำความคิดดีเหล่านั้น ไปนำเสนอผู้บริหาร นำเสนอหัวหน้า และเมื่อได้รับการพิจารณาเห็นชอบก็จะกลายเป็นนโยบายของฝ่าย กลุ่มงาน กอง สำนัก กรม หน่วยงาน นำไปสู่การเกิดแนวทาง (Trend) ที่คนในองค์กร ในกรม/รัฐวิสาหกิจ ทำร่วมกัน แต่การจะทำสิ่งใดก็แล้วแต่ให้เกิดความยั่งยืน ต้องทำอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย เช่น ในการใช้รถใช้ถนน ต้องสวมหมวกกันน็อค ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ทำจนเคยชินเป็นนิสัย ขยายผลทำอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ และทำโดยมีภาคีเครือข่ายช่วยกันทำ ก็จะทำให้เกิดวัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนน เช่นเดียวกัน การจะทำสิ่งที่ดี ก็ต้องอาศัยวิธีการทำงานในลักษณะนี้ เพื่อซึมซับ หลอมรวม สร้างคนที่มีนิสัยเสียสละ ชอบช่วยเหลือสังคม อยากเห็นสังคมมีแต่สิ่งที่ดี ให้เพิ่มพูน และขับเคลื่อนทำไปด้วยกัน ทำไปพร้อมกันทุกคน ก็จะทำให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการอยากทำความดีทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม” นายสุทธิพงษ์ กล่าว


นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การฝึกอบรมหลักสูตร Change for Good จะทำให้พวกเราทุกคนได้มีทักษะองค์ความรู้จากการฝึกปฏิบัติจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะการอยู่รอดในโลกที่กำลังเผชิญกับภัยคุกคามด้านต่าง ๆ ทั้งจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงหรือภาวะโรคระบาดที่สังคมโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เปรียบเสมือนคลื่นลูกต่างๆ ที่มวลมนุษย์กำลังเผชิญ แต่ด้วยพระวิสัยทัศน์และน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานทฤษฎีใหม่มากกว่า 40 ทฤษฎี โดยพวกเราทุกคนโชคดีที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีความห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำมาขับเคลื่อนในเรื่องทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา รวมถึงพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ อันจะทำให้พวกเราทุกคนที่ผ่านหลักสูตรนี้ เป็นทีม Change for Good ที่น้อมนำเอาศาสตร์พระราชา และพระราชดำริ พระดำริต่างๆ มาเรียนรู้ บ่มเพาะทักษะ แนวความคิด และวิธีปฏิบัติ ขยายผลไปสู่เพื่อนร่วมงาน และพี่น้องประชาชนโดยรวม ด้วยความคิดมุ่งมาดปรารถนาในการพัฒนาต่อยอดสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคม


“ขอให้ทุกคนได้ช่วยกันใช้เวลาที่อยู่ร่วมกันให้เป็นประโยชน์ ผนึกกำลังเป็นทีม “Change for Good” ทีมเดียวกัน ในการทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น และขอให้ใช้เวลาที่มีอยู่ในการสานสัมพันธ์คนหมู่เดียวกัน ที่ลงในลำนาวาเรือลำเดียวกัน คือ เรือ Change for Good ให้แนบแน่น ไม่ต้องเขินอาย รังเกียจเดียดฉันท์ในความคิดเห็นที่อาจจะแตกต่างกัน แต่เป็นการแชร์ความคิดที่นำไปสู่การสร้างสิ่งที่ดี อาจจะหนักบ้าง เบาบ้าง ก็ให้อภัยกันและกัน เพื่อเราจะได้มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ที่ช่วยกันเสริมเติมเต็มให้ความคิดได้รับการต่อยอดเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการขับเคลื่อนร่วมกัน และขอให้ทุกคนได้มีปณิธานที่แน่วแน่ในการรวมกลุ่มพบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนเช่นนี้ตลอดชีวิต เป็นกำลังสำคัญในการทำให้คนในสังคมนี้ไม่หมดหวัง ไม่สิ้นหวัง ด้วยการไม่ยอมอยู่เฉย ไม่ยอมอยู่นิ่ง มีกำลังกาย กำลังใจสร้างสรรค์สิ่งที่ดี สานต่อความคิดทำดีเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และพี่น้องประชาชน ช่วยกัน Change for Good ให้เกิดขึ้นตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ "ปารายนวรรค...