วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2565

เพื่อไทยถาม นักวิชาการตอบชัด 5 ข้อสังเกต ดีล “ทรูดีแทค”



เพื่อไทยถาม นักวิชาการตอบชัด 5 ข้อสังเกต ดีล “ทรูดีแทค” ย้ำตั้งข้อสังเกตได้ แต่ต้องรู้จริง และไม่ขัดต่อกฎหมาย วอนฝั่งการเมืองให้ผู้รับผิดชอบทำหน้าที่ก่อนวิจารณ์

วันเสาร์ที่ 23 เมษายน 2565 ตามที่ นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย และคณะทำงานเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง True กับ DTAC  ออกมาแสดงความเห็นต่อสังคมชี้มี 5 เหตุผลไม่ควรอนุมติให้มีการควบรวม  ในการนี้ปรากฎว่าในแวดวงนักวิชาการได้ออกมาแสดงความเห็นและตอบ 5 ข้อสังเกตของนักการเมืองพรรคเพื่อไทยเพื่อให้สังคมได้มีมุมมองในหลาย ๆ ด้าน ก่อนที่จะชี้ถูกชี้ผิด 


1.เพื่อไทยถาม: ผลกระทบต่อตลาดโทรคมนาคมในไทย ดัชนีการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมของประเทศไทยนั้นก็สุ่มเสี่ยงต่อการต่อการใช้อำนาจเหนือตลาดอยู่แล้ วในอดีตที่การควบรวมของ True – DTAC ในครั้งนี้จะยิ่งทำให้ตลาดโทรคมนาคมของไทยเสี่ยงต่อการสูญเสียสภาพการแข่งขันอย่างเสรี เนื่องจากหากมีการควบรวม 2 ผู้ให้บริการในตลาดโทรคมนาคมของไทยจะกินส่วนแบ่งของตลาดรวมกันกว่า 90 % แล้วนั้น จะทำให้ยากต่อการเกิดผู้เล่นหน้าใหม่ เมื่อการแข่งขันลดลง ผลกระทบก็จะตกอยู่กับผู้บริโภค 


นักวิชาการตอบ : ปัจจุบัน AIS เป็นผู้นำเดี่ยวของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย โดย นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า “สถานการณ์ในปี 2564 เป็นอีกหนึ่งปีที่บริษัทต้องเผชิญกับข้อจำกัดและความท้าทายอย่างมาก ซึ่งผลงานในปี 2564 อยู่ในระดับที่น่าพอใจ สำหรับผลประกอบการในปี 2564 รายได้รวม อยู่ที่ 181,333 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน ในส่วนกำไรสุทธิ 26,922 ล้านบาท”


จากข้อมูลนี้เห็นได้ว่า AIS ยังเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทยเพียงรายเดียวที่มีกำไรมหาศาล ในขณะที่ ทรูขาดทุน 1,400 ล้าน และ ดีแทค กำไรเพียง 3,356 ล้าน  ในประเด็นนี้ขอตั้งข้อสังเกตกลับไปว่า “การมีผู้ประกอบการแข็งแกร่งรายเดียว และให้อีกสองรายอ่อนแอ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่สุดจริงหรือ?” 


นอกจากนี้ จะเห็นว่าเมื่อทรูรวมกับดีแทคแล้วก็ยังมีต้นทุนต่อลูกค้าสูงกว่าเอไอเอสกว่า 2 เท่า และหากรวมกำไรสองบริษัทในปีที่ผ่านมา ยังน้อยกว่าเอไอเอสที่มีกำไรสูงกว่า 2 เจ้าที่เหลือรวมกันถึง  1,300% แต่ในประเด็นนี้ก็ไม่มีใครพูดถึง เหมือนกับว่าต้องการสนับสนุนให้มีผู้นำตลาดที่แข็งแรงเพียงรายเดียวในประเทศไทย


อีกประเด็นที่สังคมต้องมีความรู้ คือเรื่อง “ส่วนแบ่งตลาด” ทั้งนี้การนับจำนวนลูกค้าเป็นส่วนแบ่งการตลาด ถือว่าไม่มีความรู้และขาดความเข้าใจอุตสาหกรรมโทรคมนาคม  ในการวัดส่วนแบ่งตลาดนั้นจะต้องวัดที่มูลค่า(Value) เพราะการวัดที่จำนวนซิมจะเป็นการนับซ้ำ เนื่องจากจำนวนซิมกว่าครึ่งของตลาดไม่ได้ถูกใช้งาน ไม่ได้สร้างรายได้  ดังนั้นต้องวัดที่ต้นทุนต่อลูกค้า และกำไรที่ได้จากตลาดทั้งหมด ด้วยเหตุนี้หากการควบรวมทรูดีแทคไม่สำเร็จ ตลาดโทรคมนาคมไทยจะมีผู้นำเดี่ยวที่แข็งแกร่งมากเพียงรายเดียว ในขณะที่ผู้เล่นรายอื่นมีสภาพอ่อนแอ ไม่สามารถเติบโตได้ทั้งในประเทศไทยและในระดับภูมิภาค  ถ้าพิจารณาให้รอบด้าน ต้องมองว่า ใครคือผู้ได้ประโยชน์ หากการควบรวมนี้ไม่สำเร็จ 


2. เพื่อไทยถาม:  ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับกฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมดูแลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากเกิดการควบรวม เนื่องจาก กสทช. มีการออกประกาศ เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นประกาศที่แก้ไขระเบียบในการควบรวม จากการ “ขออนุญาต” เป็นการ “แจ้งให้ทราบ” เท่านั้น 


นักวิชาการตอบ : กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ กล่าวคือ ประกาศ กสทช. ที่ว่าด้วยมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีการแก้ไขเมื่อวันที่ 19 มกราคม ปี 2561 ซึ่งขณะนั้นกลุ่มทรูและดีแทคยังไม่ได้มีการควบรวม ดังนั้นการยกประเด็นว่าได้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อการควบรวมทรูดีแทค และมีการกล่าวว่าถือเป็นเลือกปฏิบัติบางราย จึงยิ่งสร้างความสับสน 


นอกจากนี้ยังปรากฏว่ากฎหมายดังกล่าว หรือ ประกาศ กสทช. ปี 2561 ได้ใช้บังคับในการพิจารณาควบรวมกิจการมาแล้ว หลายครั้งหลายครา ทั้งในกรณี TOT และ CAT รวมกันเป็น NT หรือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)  รวมถึงในปี 2564 ที่เอไอเอส (AIS) ปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยกัลฟ์ (GULF) ทุ่ม 4.86 หมื่นล้าน ซื้อ INTUCH 42.25%


ตามที่มีการผลักดันให้มีแก้กฎหมาย ยังจะต้องคำนึงถึงหลัก “กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง (Ex post facto law)” หมายความว่า “กฎหมายจะใช้บังคับ แก่กรณีที่เกิดขึ้นในอนาคต นับแต่วันที่ประกาศใช้กฎหมายเป็นต้นไปเท่านั้น และกฎหมายจะไม่ใช้บังคับแก่การกระทำหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าวันใช้บังคับแห่งกฎหมาย” 


3.เพื่อไทยถาม : การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบจากการควบรวมในต่างประเทศที่หน่วยงานใช้ประกอบไม่เหมาะสมในการใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาเรื่องนี้ จากการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากการควบรวม True-DTAC พบว่า ข้อมูลซึ่งหน่วยงานใช้ในการศึกษาและเปรียบเทียบผลกระทบที่อาจเกิดหลังการควบรวมเสร็จสิ้นนั้น ไม่สามารถสะท้อนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ เนื่องจาก ข้อมูลตัวอย่าง แตกต่างจากกรณีการควบรวมในไทยมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรมีการศึกษาและคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดต่อประชาชนอย่างละเอียดอีกครั้งหรือไม่


นักวิชาการตอบ : เกี่ยวกับคำถามนี้ มีมุมมองที่น่าสนใจจากฝั่งนักลงทุน โดยนายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยในคลังความรู้ Worldwide Wealth by SCBAM ว่าการประกาศการควบรวมกิจการระหว่าง 2 ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือรายใหญ่ อย่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ “ทรู” และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ “ดีแทค” ถือเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางธุรกิจที่น่าจับตามองอย่างหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากตลาดโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยมีมูลค่าถึง 2.75 แสนล้านบาท มีผู้ให้บริการ 4 ราย โดยนับรวม บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ “NT” ซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด “ในฐานะนักลงทุนในตลาดทุนและผู้บริโภคคนไทย มองว่าดีลการควบรวมครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยให้ปรับตัวดีขึ้น และมี New S-Curve มาต่อยอดการเติบโตรอบใหม่ในอนาคตได้” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าว


นอกจากนี้ ยังกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกหรือประเทศเดียวที่มีการควบรวมกิจการภายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาการควบรวมกิจการภายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต่างก็เป็นทิศทางที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ทั้งในทวีปอเมริกาที่มีการควบรวมกิจการระหว่าง Sprint กับ T-Mobile เมื่อปี 2563 ส่งผลให้เหลือผู้ให้บริการเพียง 3 รายใหญ่ ส่วนในทวีปเอเชียเองก็มีการควบรวมกิจการในมาเลเซียระหว่าง Celcom Axiata กับ Digi.Com เมื่อปี 2564 และระหว่าง Vodafone กับ Idea Cellular ในอินเดีย เมื่อปี 2560 ส่งผลให้เหลือผู้ให้บริการเพียง 4 รายใหญ่เช่นเดียวกัน


ทั้งนี้ การควบรวมกิจการ หรือ Mergers and Acquisitions (M&A) เป็นหนึ่งในเทรนด์และบันไดขั้นแรก จัดเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกจนเป็นกระแสตลอดปี 2564 ซึ่งมีตั้งแต่การควบรวมกิจการแบบยุบรวมและมีการตั้งบริษัทใหม่เกิดขึ้น การควบรวมแบบการเข้าซื้อกิจการของอีกบริษัทเพื่อได้สิทธิเข้าไปประชุมผู้ถือหุ้นและมีสิทธิในการออกเสียง การควบรวมแบบซื้อสินทรัพย์หน่วยธุรกิจบางส่วนหรือทั้งหมดของกิจการ เป็นต้น


เหตุผลที่บริษัททั่วโลกมีการควบรวมกิจการมากขึ้น เป็นเพราะต้องการให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างต่อเนื่องในยุคที่ธุรกิจทั้งโลกถูกดิสรัปชั่นจากเทคโนโลยี ดังนั้นในหลายธุรกิจที่ทำการควบรวมกิจการ หรือ M&A จึงมุ่งเน้นเรื่องการต่อยอดด้านพัฒนานวัตกรรม เพื่อช่วยให้ธุรกิจเข้มแข็งขึ้นจากความสามารถในการเพิ่มมูลค่าของธุรกิจ. ทั้งยังทำให้การบริหารจัดการคุ้มทุนและใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีที่การควบรวมอยู่ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเดียวกันด้วยแล้วจะช่วยเกิดการประหยัดด้านขนาด หรือ Economy of Scale จากการสามารถเพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มส่วนแบ่งตลาด ลดคู่แข่ง นอกจากนี้ยังดึงดูดนักลงทุนจากตลาดต่างประเทศ และในส่วนของผู้บริโภคจะได้สินค้าและบริการที่มาจากต้นทุนที่ถูกลงตาม


นอกจากนี้งานวิจัยในต่างประเทศได้ระบุชัดว่ายุคนี้หากบริษัทใดยังลงทุนด้านนวัตกรรมไม่มากเพียงพอ ก็น่าห่วงว่าอนาคตอาจจะต้องปิดตัวลง ดังนั้นวันนี้บริษัทไหนที่ไม่รีบทุ่มเทลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ไม่ขยับปรับเปลี่ยน ก็ย่อมน่าห่วงต่อชะตากรรม


ขณะที่บริษัทและธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อการลงทุนด้านนวัตกรรมจะมีอายุเฉลี่ยได้นานมากขึ้นกว่าบริษัทที่ยังคงทำธุรกิจรูปแบบเก่า ๆ อยู่ในธุรกิจดั้งเดิมที่ตัวเองเคยประสบความสำเร็จ โดยมีการประเมินกันว่าอายุขัยเฉลี่ยของบริษัทเหล่านี้จะเหลือเพียง 20 ปีเท่านั้น


4.เพื่อไทยถาม : ที่ปรึกษาอิสระเพื่อให้ความคิดเห็นต่อคณะกรรมการ กสทช. ที่ได้รับการแต่งตั้ง อาจขัดต่อหลักเกณฑ์ในการเลือกที่ปรึกษาอิสระ ซึ่ง กสทช. เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์เอง ในการประชุมของกรรมธิการศึกษาผลกระทบ ได้มีการสอบถามและชี้ให้เห็นถึง คุณสมบัติที่อาจขัดต่อหลักเกณฑ์ของ กสทช. เอง ซึ่งเป็นที่กังขาและกระทบความเชื่อมั่นของหน่วยงาน


นักวิชาการตอบ : บ้านเมืองใดที่ยึดมั่นในหลักนิติรัฐอย่างเคร่งครัด ไม่มีการเลือกปฏิบัติด้านกฎหมายและหลักการยุติธรรมกับคนในสังคม บ้านเมืองนั้นก็จะมีความสงบสุข มีความสมานฉันท์ มีความผาสุก ดังนั้น การปฏิบัติตามหลักกฎหมาย ต้องถือหลักการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ยุติธรรม เพราะขั้นตอน หลักการ มีระบุไว้ในกฎหมาย การคาดการณ์ว่า อาจขัดต่อหลักเกณฑ์ของฝั่งการเมือง ต้องนำมาดูผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการไม่ปฏิบัติตามกรอบกฎหมาย และความเสียหายที่เกิดขึ้น  ไม่นำมาสู่การฟ้องร้องกันภายหลัง ดังนั้น การยึดหลักกฎหมาย และการไม่เลือกปฏิบัติ ถือเป็นหลักการที่สำคัญ 


5.เพื่อไทยถาม : มีข้อกังวลจากประชาชนและองค์กรต่าง ๆ ที่ได้ติดตามการควบรวม True-DTAC ในครั้งนี้ ทุกกลุ่มต่างแสดงความเป็นห่วงและข้อกังวลต่อการควบรวมในครั้งนี้ ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่สังคมตั้งคำถามถึงความเหมาะสม ความสามารถในการดูแลและคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน 


นักวิชาการตอบ : ในกรณีนี้เมื่อมองถึงประโยชน์จากการควบรวม  โดยเฉพาะลูกค้าดีแทค หากมีการควบรวมสำเร็จ จะสามารถใช้เครือข่าย 5G ของทรูได้ทั้งประเทศ และการใช้เสาสัญญานหลังการควบรวมกว่า 50,000 ต้น จะทำให้คุณภาพสัญญานดีขึ้นทันทีหลายเท่า 


นอกจากนี้ ต้นทุนที่ลดลง จะสามารถทำให้ทรู ดีแทค มีความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งได้ใกล้เคียงมากขึ้น เพราะปัจจุบัน เอไอเอส มีต้นทุนต่อลูกค้าต่ำกว่าทั้งสองค่ายมาก และ มีกำไรสะสมสูงมาโดยตลอด ทำให้ตลาดโทรคมนาคมไทยไม่เกิดการต่อสู้ด้านราคา ทั้งทรู และ ดีแทค ไม่สามารถลดราคาได้มาก เนื่องจากต้นทุนดอกเบี้ย และการขาดทุนสะสมมีสูง ดังนั้น หากควบรวมสำเร็จ ลูกค้าของทั้งสองราย จะได้ผลกระทบเชิงบวก จากต้นทุนที่ลดลง และ เอไอเอส ก็ต้องมาแข่งด้านราคามากขึ้น เนื่องจาก ทรูและดีแทค เข้ามาใกล้เคียงมากขึ้นนั่นเอง 


นอกจากนี้ในมุมผู้ถือหุ้นทรู และ ดีแทค ซึ่งมีทั้งผู้ที่เป็นลูกค้า ประชาชนคนไทย และ ต่างประเทศ และ เป็นผู้ที่ลงทุนในบริษัท ก็เห็นประโยชน์ โดย ผู้ถือหุ้น ทรู อนุมัติการควบรวมกิจการกับ ดีแทค เป็นเอกฉันท์ 99.37% ส่วนการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นดีแทคสัดส่วน 89% โหวตผ่านอนุมัติแผนควบรวมกับทรู แสดงให้เห็นว่าผู้ถือหุ้นทรู และ ดีแทค เห็นด้วยกับการควบรวม ซึ่งการควบรวมนี้จะมีผู้ได้รับประโยชน์จากการแข่งขันที่ใกล้เคียงผู้นำมากขึ้น และ ต้นทุนที่ลดลง บวกกับคุณภาพสัญญานที่ดีขึ้นในทันที 


ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การแข่งขันจะมีมากขึ้นหลังการควบรวม  และสิ่งสำคัญที่ควรคิดหาคำตอบต่อไปคือจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทยอยู่รอด แข่งขันได้กับผู้เล่นดิจิทัลต่างประเทศที่มาบุกถึงในบ้าน ผู้ประกอบการไทยอ่อนแรงจากต้นทุนค่าคลื่น ภาระดอกเบี้ย การไม่สามารถลงทุนเพิ่มในการลงทุนครั้งต่อไป ความสามารถในการทำกำไรลดลง จากบริการทดแทนของผู้เล่นดิจิทัลผ่านแอพลิเคชั่น โทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เนต คนใช้ไลน์แทน SMS การเลิกโทรทางไกลผ่านโทรศัพท์ นักการเมืองไทยควรมองภาพใหญ่ในอีก 5 ปีข้างหน้า ว่าจะเหลือผู้ประกอบการไทยกี่ราย ที่จะแข่งขันได้ในเวทีระดับภูมิภาค




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รวม 4 สุดยอดเหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส จ.นครพนม อายุ109 ปี

เหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช  หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม อายุ 109 ปี รวมความเป็นสุดยอดดังนี้ สุดยอดพุทธศิลป์ สุดยอดม...