วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2565

คณะสงฆ์ตาสว่าง! ยกทีมงานธรรมะห่มดอย "ต้นแบบการเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงรุก" นำชาวกะเหรี่ยง 10 หมู่บ้านแสดงตนเป็น "พุทธมามกะ"



วันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2565 เพจพระดร.อรุณเมธี พุทธิภัทโท (ธรรมะห่มดอย) ได้โพสต์ภาพการแสงตนเป็นพุทธมามะของชาวกะเหรี่ยงในภาคเหนือ ความว่า กล่าวคำขอถึงซึ่งพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งในชีวิต  พี่น้องชนเผ่ากะเหรี่ยงจาก 10 กว่าหมู่บ้านผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาขอกล่าวคำแสดงตนเป็นพุทธมามกะ  ขอถึงซึ่งพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกในชีวิต

สำหรับโครงการพระธรรมจาริกหรือ “ธรรมะห่มดอย” พระประทิน วรสทฺโธ หนึ่งในแกนนำโครงการได้เขียนเล่าไว้เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้วว่า ในพุทธศักราช 2508 ได้เกิดโครงการพระธรรมจาริกขึ้น โดย พระธรรมกิตติโสภณ (สมเด็จพระพุทธชินวงศ์) อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร อดีตเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เป็นองค์สถาปนาโครงการเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางจิตใจของชาวเขากับชาวเราให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยอาศัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นตัวเชื่อมให้เกิดความสันติสุขและมีปัญญาใคร่ครวญไตร่ตรองหาเหตุหาผลในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ตราบจนถึงปัจจุบันมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เป็นประธานคณะพระธรรมจาริกสืบต่อมา กว่า 50 ปี โครงการพระธรรมจาริกประสบความสำเร็จในการปฏิบัติศาสนกิจอย่างมาก โดยเฉพาะการการสร้างศรัทธาในหมู่ประชาชนชาวเขาให้มีต่อพระพุทธศาสนา 

โดยกิจกรรมที่พระธรรมจาริกได้ดำเนินการที่ผ่านมา ได้แก่ การสอนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์แก่เยาวชนชาวเขา (ยุวพุทธธรรมจาริก) สอนจริยธรรมในโรงเรียน จัดพิธีบรรพชาอุปสมบทหมู่ชาวเขา จัดพิธีบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน จัดบวชเนกขัมมะศิลจาริณี จัดปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ จัดอบรมธรรมเคลื่อนที่ (ธรรมจาริกสัญจร) จัดปลูกป่า บวชป่าเฉลิมพระเกียรติ ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ จัดบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด จัดพิธีธรรมะเสียงตามสาย และจัดพิธีสืบสานวัฒนธรรมไทย วันสำคัญของชาติ วันสำคัญทางศาสนา วันสำคัญของพระมหากษัตริย์ ประเพณีวัฒนธรรมนิยมแต่ละชนเผ่าตามท้องถิ่นต่างๆ ทุกอาศรมฯจนทำให้ชุมชนบนพื้นที่สูงมีความมั่นคง มั่งคั่ง ด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาแก่ชาวไทยภูเขา จรรโลงสังคมด้วยพุทธธรรม เป็นแบบฉบับแห่งการสร้างสรรค์สังคมคุณธรรม สังคมเข้มแข็ง สังคมไม่ทอดทิ้งกัน และสังคมประชาธิปไตย เน้นให้มีการอบรมด้านศีลธรรม จริยธรรม การสร้างความมั่นคงด้านจิตใจ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ด้านการศึกษา อนามัย อาชีพ การปกครอง และเกิดความรู้ใหม่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดกระแสแห่งความร่มเย็น และความร่วมมือในการสร้างสรรค์สังคมคนบนพื้นที่สูง สู่สังคมคุณธรรม สังคมเข้มแข็ง สังคมไม่ทอดทิ้งกัน และสังคมแห่งประชาธิปไตยด้วยหลักพุทธธรรม นำไปสู่ต้นแบบทางศีลธรรม เพื่อความสงบ สามัคคี และสมานฉันท์ จากการนำเอาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ทำให้ชาวไทยภูเขาคิดเป็น ทำเป็นและแก้ปัญหาเป็น นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพที่พึงประสงค์ของชาติได้ระดับหนึ่ง

ปัจจุบันโครงการพระธรรมจาริกมีอาศรมพระธรรมจาริกในสังกัด 304 แห่ง มีพระภิกษุสามเณรที่เป็นพระธรรมจาริกอยู่ในความรับผิดชอบกว่า 300 รูป มีหมู่บ้านในเขตความรับผิดชอบในเขตภาคเหนือและภาคกลางบางส่วนกว่า 20 จังหวัด 14 ชาติพันธุ์ ยังเหลือพื้นที่หมู่บ้านชาวเขาที่ควรเข้าถึงอีกประมาณ 2,000 หมู่บ้าน อย่างไรก็ตามในช่วงระยะที่ผ่านมา งานเผยแผ่ศาสนธรรมตามชุมชนบนพื้นที่สูงประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากร ขาดแคลนงบประมาณ และทรัพยากรในการดำเนินงานอย่างยิ่ง ทั้งที่เป็นงานสำคัญเร่งด่วนท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ กอปรกับสถานการณ์ปัญหาในชุมชนบนพื้นที่สูงก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น อาทิ ปัญหาครอบครัว การศึกษา การอนามัย การอาชีพ ปัญหายาเสพติด ปัญหาสุขภาพ ปัญหาการหย่าร้าง การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ ซึ่งต้องอาศัยภาคีในการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งการออกธรรมสัญจรเพื่อเผยแผ่ศาสนธรรมแก่ประชาชนชาวไทยภูเขาบนพื้นที่สูงจะเป็นการช่วยรัฐในการแก้ปัญหาชุมชนได้ในระดับหนึ่งโดยเฉพาะเรื่องของจิตใจ การสำรวจและรับทราบปัญหาจากการออกธรรมสัญจร การช่วยเหลือเบื้องต้น (แก้ปัญหาเฉพาะหน้า) ซึ่งในช่วงการทำโครงการธรรมสัญจรในครั้งที่ผ่านมานั้น การดำเนินงานได้ผลเป็นน่าพึงพอใจในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการที่ชาวบ้านมีความคุ้นเคยกับพระสงฆ์มากขึ้นและการที่ชาวบ้านรู้จักนำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะหลักของศีลห้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทางโครงการพระธรรมจาริกคาดหวังไว้

จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทย ที่มีความโดดเด่นหลายลักษณะ โดยเฉพาะสภาพภูมิประเทศเต็มไปด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีอาณาเขตติดกับประเทศพม่า มีประชากรน้อยเป็นอันดับ 5 ในขณะที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับ 8 ของประเทศ แต่มีประชากรเบาบางที่สุดในประเทศ มีลักษณะการจัดตั้งหมู่บ้านที่ห่างไกลกัน นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ โดยร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมดเป็นชาวเขา ได้แก่ ม้ง (แม้ว), ลีซู (ลีซอ), ล่าหู่ (มูเซอ), ลัวะ, และปกาเกอะญอ(กะเหรี่ยง) ซึ่งต่างรักษาวัฒนธรรมของตนเอาไว้ได้เป็นอย่างดี จากลักษณะของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่กล่าวมา เป็นเหตุให้การพัฒนาชุมชนในพื้นที่ของหน่วยงานองค์กรภาครัฐเป็นไปด้วยความยากลำบาก ขณะที่โครงการพระธรรมจาริกซึ่งเป็นตัวกลางในการสร้างเข้าใจระหว่างชาวบ้านในชุมชนบนพื้นที่สูงกับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ประสบปัญหาการขาดแคลนด้านบุคลากร โดยในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีอาศรมพระธรรมจาริก จำนวน 57อาศรม มีพระธรรมจาริกปฏิบัติศาสนกิจ จำนวน 27 รูป ซึ่งยังมีหมู่บ้านขาวเขาที่ควรเข้าถึงอีก จำนวนกว่า 50 หมู่บ้าน

จากเหตุผลที่กล่ามาข้างต้น สำนักงานบริหารงานโครงการพระธรรมจาริกส่วนภูมิภาคจึงได้จัดทำโครงการพระธรรมจาริกสัญจรนำธรรมะห่มดอยขึ้น โดยเลือกดำเนินการในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง และอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อให้พระธรรมจาริกที่ปฏิบัติศาสนกิจอยู่บนพื้นที่สูงสามารถดำเนินกิจกรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวเขาบนพื้นที่สูงได้ครอบคลุมพื้นที่เพิ่มมากขึ้น โดยการปฏิบัติตามนโยบายเผยแผ่ศาสนกิจเชิงรุก [Mobile Team] และเพื่อเป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้านทักษะ และประสบการณ์ รวมทั้งนำไปสู่การขับเคลื่อนการปฏิบัติการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงระหว่างพระธรรมจาริกกับและหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้าใจ เข้าถึง ให้โอกาส และพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมต่อไป

พระเทพเวที เจ้าคณะภาค 6 เปิดเผยว่า การดำเนินงานของโครงการพระธรรมจริกในภาคเหนือ มีผลสำเร็จเป็นอย่างมาก พระสังฆาธิการ พระธรรมจาริก ทำงานอย่างเข็มแข็งและเข้าถึงประชาชนที่อยู่บนดอย การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจึงประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ควรเป็นแบบอย่างให้พระสงฆ์ในภาคอื่น ๆหรือจังหวัดอื่น ๆ นำเป็นไปเป็นต้นแบบ


ที่มา - https://thebuddh.com/?p=61735


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ "ปารายนวรรค...