วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2565 เพจพรรคก้าวไกล - Move Forward Party ได้โพสต์ข้อความว่า ลุยย่านชุมชน ‘เขตดุสิต’ ถกทางออกปัญหาขยะ - การรุกล้ำพื้นที่ กทม.
ชุมชนวัดคอนเซปชัญ เป็นชุมชนคาทอลิกเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร มีผู้อาศัยอยู่กันเป็นจำนวนมาก บริเวณแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของชาวต่างชาติเพื่อมาสักการะพระแม่มารี แต่ ธันย์ชนน ศรีอัษฎาวุธกุล - Thanchanon Sriusadawutkul ผู้สมัคร ส.ก.เขตดุสิต เบอร์ 2 พรรคก้าวไกล บอกเล่าว่า ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาชุมชนเพิ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กว่าครึ่งชุมชน ทำให้ไม่รับการดูเเลจากกรุงเทพมหานคร ไม่มีจุดทิ้งขยะของ กทม. ไม่มีถังขยะ กทม. ตามบ้าน และยังมีกรณีปัญหาจากการที่ชุมชนรุกล้ำพื้นที่ กทม.
“พรรคก้าวไกลไม่ได้สนับสนุนการรุกล้ำพื้นที่ แต่แนวทางของผู้ว่าฯ กทม. ในอนาคตควรพยายามหาทางออกร่วมกันกับชุมชน ไม่ใช่การฟ้องร้องชุมชนบุกรุก หรือขับไล่ออกจากพื้นที่ นี่เป็นปัญหาของพื้นที่กรุงเทพชั้นใน ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในชีวิตของประชาชน” ธันย์ชนน กล่าว
Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 1 พรรคก้าวไกล และ ธันย์ชนน ได้พบปะพูดคุย รับฟังปัญหาของพี่น้องชุมชนวัดคอนเซปชัญ และชุมชนมิตรคาม ถนนสามเสน เขตดุสิต พร้อมเชิญชวนให้ไปเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครและ ส.ก. ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565
วิโรจน์ กล่าวว่า การเข้าไปในชุมชนคอนเซปชัญ ทำให้เห็นปัญหาในเรื่องการจัดเก็บขยะที่ไม่มีจุดทิ้งขยะ เป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ทั้งที่ประชาชนก็เสียภาษีและค่าธรรมเนียมจากการจัดเก็บขยะเหมือนกัน เขตสามารถจัดเก็บขยะให้กับห้างสรรพสินค้า โรงแรมหรูได้ แต่ประชาชนที่เสียค่าขยะเหมือนกัน แม้แต่ถังขยะ จุดทิ้งขยะยังไม่มีบริการ ประชาชนต้องดูเเลตัวเอง
นี่คือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด วิโรจน์ จึงต้องนำเรื่องนี้เป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาเพื่อคนกรุงเทพมหานคร เพราะค่าใช้จ่ายที่กรุงเทพมหานครแบกรับในการจัดการขยะมีมากถึง 7,000 ล้านบาท แต่เก็บค่าขยะได้เพียง 500 ล้านบาท
“พอไปดูในรายละเอียด ร้านสะดวกซื้อจ่ายแค่ 120 บาทต่อเดือน หรือตกวันละ 4 บาท นายทุนห้างสรรพสินค้าจ่ายเพียงเดือนละไม่กี่หมื่นบาท แล้วเราจะเอาเงินตรงไหนมาปรับปรุงจัดการ จุดทิ้งขยะ ปรับปรุงเที่ยววิ่งรถขยะให้ตอบสนองกับการต้องการของประชาชนได้ หากเก็บค่าจัดการขยะของทุนใหญ่เพียงเท่านี้” วิโรจน์ กล่าว
วิโรจน์ เปิดเผยว่า การหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง จะเน้นการหาเสียงแบบสั้นๆ เข้าใจง่าย กระชับ เพื่อสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่า การแก้ไขปัญหากรุงเทพมหานคร ถ้าบริหารด้วยการจัดทำงบประมาณแบบปกติโดยไม่คิดจากปัญหาเป็นฐาน และหากยังคงใช้กติกา ข้อบัญญัติต่างๆแบบเดิมจะแก้ไขอะไรไม่ได้เลย มากไปกว่านั้นคือการปล่อยให้กลุ่มคนเพียงบางกลุ่ม คือนายทุนและผู้รับเหมาได้รับประโยชน์ โดยที่ไปไม่แตะคนกลุ่มนั้นเลย กรุงเทพมหานครจะเเก้ไขปัญหาไม่ได้เช่นกัน
“ถึงเวลาเเล้วที่เราพร้อมจะบริหารและแก้ไขปัญหาให้กับคนกรุงเทพฯ ที่ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งงบประมาณ ข้อบัญญัติ รวมทั้งสวัสดิการ เรายืนยืนว่า หากเราเพิ่มสวัสดิการให้กับประชาชนได้สำเร็จแล้ว จะไม่มีผู้ว่าคนไหน หรือคนต่อไปไม่ว่าจะเป็นใคร จะไม่กล้าตัดลดสวัสดิการ และงบประมาณที่กระจายมายังประชาชน จะไม่มีผู้ว่าคนไหนกล้าตัดงบกลับมาที่ส่วนกลาง หรือที่ผู้ว่าอีก”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น