วันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2565 เวลา 10.00 น. ณ เทิดไทฟาร์ม ต.วังใหญ่ อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการไกล่เกลี่ยหนี้สิน หาช่องทางทำกิน ขจัดสิ้นความยากจน ภายใต้การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองพื้นที่ต้นแบบ (จังหวัดสุโขทัย) โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวรายงานวัตถุประสงค์โครงการ และมีนางพรรณศิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 จ.สุโขทัย นายวิรุฬ พรรณเทวีผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ประชาชนเข้าร่วม
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า โครงการไกล่เกลี่ยหนี้สิน หาช่องทางทำกิน ขจัดสิ้นความยากจน ภายใต้การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองพื้นที่ต้นแบบจังหวัดสุโขทัย มุ่งหวังให้สมาชิกสมาชิกและประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการอย่างแท้จริง ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัยได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการให้เป็นผลสำเร็จ ทั้งการให้ความช่วยเหลือ ให้ความรู้ ความเข้าใจในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ไกล่เกลี่ยหนี้สินก่อนฟ้องหรือหลังฟ้อง และอำนวยความสะดวกทุกด้าน ทำให้ประชาชนคลายกังวล รู้สึกอุ่นใจ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อภาวะทางเศรษฐกิจ ประชาชนในระดับฐานราก รวมถึงครัวเรือนของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกอบอาชีพ มีรายได้ลดน้อยลง ค่าใช้จ่ายมากขึ้น กองทุนหมู่บ้านบางแห่ง เกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีกับกรรมการกองทุน หรือดำเนินคดีกับสมาชิก หรือบางแห่ง ก็อาจถึงขั้นบังคับคดี ยึดทรัพย์สินของกรรมการกองทุน หรือสมาชิกกองทุน ส่งผลให้ได้รับความเดือดร้อน โครงการไกล่เกลี่ยหนี้สิน ฯ ภายใต้การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจะช่วยให้สมาชิกและประชาชนได้รับการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนในด้านต่างๆ ทำให้สมาชิกสามารถประกอบอาชีพต่อไปได้
นายอนุชาฯ กล่าวต่อไปว่า จังหวัดสุโขทัยมีข้อร้องเรียนด้านการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้าน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จำนวน 7 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 0.81 จากจำนวน 864 กองทุน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยมาก สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือ และความตั้งใจของประชาชนในการขับเคลื่อนกองทุนใหัประสบความสำเร็จ เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อสมาชิก เป็นต้นแบบของความเข้มแข็งในระดับหมู่บ้าน/ชุมชนที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้สมาชิกและประชาชนได้รับโอกาสในการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เพราะเมื่อทุกหมู่บ้าน มีความเข้มแข็ง สามารถเป็นกลไกหลักในการพัฒนาหมู่บ้านให้พึ่งพาตนเองได้ สมาชิกและประชาชนในหมู่บ้านก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ เศรษฐกิจของประเทศก็จะดีขึ้นด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น