วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2565

เจ้าคณะภาค 6 ร่วมเวทีเสวนา “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ :ทิศทางระบบสุขภาพของไทย”

 


เจ้าคณะภาค 6 ร่วมเวทีเสวนา “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ :ทิศทางระบบสุขภาพของไทย” ชี้ธรรมนูญสุขภาพเป็นเครื่องมือนโยบายสาธารณะ ในการขับเคลื่อนให้เกิดสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน”

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม กรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพฯ พระเทพเวที (พล  อาภากโร) เจ้าคณะภาค 6 เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม และรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ร่วมเป็นวิทยากรเสวนาในเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 โดยมี ดร.สุวิทย์  เมษินทรีย์ ประธานจัดทำธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 กล่าวรายงาน และ ดร.สาธิต  ปิตุเตชะ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเปิดการประชุม



พระเทพเวที กล่าวว่า ขออนุโมทนาที่ให้โอกาสคณะสงฆ์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 กระบวนการสมัชชาถือเป็นเครื่องมือในการทำและใช้ธรรมนูญสุขภาพเป็นนโยบายสาธารณะในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างสุขภาวะให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ชอบใจคำว่า “ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เมื่อนึกถึงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา คือ หลักสาราณียธรรม 6 ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติของผู้ที่อยู่ร่วมกัน ตั้งแต่ขนาดเล็ก เช่น ระดับบุคคล ครอบครัวไปจนถึงระดับประเทศ หรือแม้กระทั่งในระดับโลก ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อความเท่าเทียมและยั่งยืน ทั้งในระดับ individual well-being , collective well-being, planetary well-being



หลักสาราณียธรรมนี้มีสาระอันพอสรุปได้ 6 ประการดังนี้ (1) เมตตากายกรรม คือ การช่วยเหลือกิจธุระของผู้ร่วมหมู่คณะด้วยความเต็มใจ เคารพนับถือกันทั้งต่อหน้า และลับหลัง (2) เมตตาวจีกรรม คือ การช่วยบอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์  (3) เมตตามโนกรรม คือ การตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สังคม (4) สาธารณโภคิตา  คือ มีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์สาธารณะร่วมกันตามหลักธรรมาภิบาล (5) สีลสามัญญตา คือมีความประพฤติสุจริตดีงาม กระทำตนเป็นประโยชน์ และ (6) ทิฏฐิสามัญญตา คือ มีความเห็นชอบร่วมกันในข้อที่เป็นหลักการ อันจะนำไปสู่ความหลุดพ้น สิ้นทุกข์ ขจัดปัญหา



อย่างไรก็ตามพระเทพเวที ได้กล่าวถึงรูปธรรมความสำเร็จ ซึ่งเป็นดอกผลจากการมีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติหลายประการ เช่น พระคิลานุปัฏฐาก, กองบุญสุขภาวะ,  การเข้าถึงสิทธิบริการสุขภาพของพระสงฆ์,  ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธ,  การมีส่วนร่วมในกองทุนตำบลของพระสงฆ์ เป็นต้น  


ในตอนหนึ่งพระเทพเวทีได้กล่าวถึงมีประเด็นที่น่าสนใจว่า ทำไม ? จึงต้องทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ จำเป็นหรือไม่ ? ทำไม ? ไม่ใช้ธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติที่มีอยู่แล้ว คำตอบก็คือ (1) เพราะพฤติกรรมกำหนดสุขภาพพระสงฆ์แตกต่างจากประชาชนทั่วไปด้วยมีหลักพระธรรมวินัย (2) พระสงฆ์มีต้นทุนความศรัทธา ถือเป็นทุนทางสังคมสูง หากสามารถทำให้องค์กรสงฆ์เป็นองค์กรสุขภาวะ จะเกิดประโยชน์มากมายมหาศาลต่อการสร้างสุขภาวะให้ประชาชน  


พระเทพเวทีกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อพระสงฆ์สามารถดูแลสุขภาพตัวเองและดูแลกันเองได้  ชุมชน สังคม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือร่วมใจกันอุปัฏฐากพระสงฆ์ ก็จะส่งผลให้พระสงฆ์มีสุขภาวะที่ดี เกิดเป็นองค์กรสุขภาวะที่สามารถเป็นผู้นำด้านสุขภาวะให้กับชุมชนและสังคมได้ โดยเฉพาะ สุขภาวะทางจิตและปัญญา เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีกระบวนการนโยบายสาธารณะในทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างมีส่วนร่วม 


"ในปี2565 นี้ เป็นวาระครบรอบการทบทวนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและสร้างเครื่องมือนโยบายสาธารณะ เป็นกรอบและทิศทางให้องค์กรภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการอุปัฏฐากพระสงฆ์ เพื่อนำไปสู่หมุดหมายสำคัญในการสร้างระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และใช้พลังบวรขับเคลื่อนให้เกิดสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืนต่อไป" พระเทพเวทีกล่าวสรุปในตอนท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทวิเคราะห์ อนุตตริยวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์

  บทวิเคราะห์ อนุตตริยวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ บทนำ พระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พร...