วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2565

"สุดารัตน์-เก่ง การุณ" ใส่บาตรวันเกิด ระหว่างช่วย "ศิธา" หาเสียง


วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม 2565 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวระบุว่า เช้าวันนี้เป็นวันเกิด เป็นปีที่ 3 แล้ว ที่ต้องงดจัดงาน "ปีละหนคนกันเอง" ที่พี่น้องจากทุกเขตจะมาทำบุญและทานข้าวด้วยกัน  2 ปีที่แล้วเนื่องจากสภาวะโควิด-19 ปีนี้ติดเลือกตั้ง มีข้อห้ามเรื่องจัดเลี้ยงอีก คิดถึงเพื่อนพ้องน้องพี่ทุกๆคน จากทุกเขตมากๆ เช้ามืดวันนี้หน่อยต้องมาหาเสียงให้กับ “ปุ่น” น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. น้องรักที่ช่วยทำงานกันมาตลอด 22 ปี ที่ตลาดสะพาน 2 เลยถือโอกาสได้ใส่บาตร ขอนำบุญมาฝากทุกท่านด้วย ด้วยความรักและปราถนาดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในภาพที่คุณหญิงสุดารัตน์ กำลังใส่บาตร มีนายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ร่วมอยู่ด้วย

"เอ้ สุชัชวีร์"ฝ่าสายฝนหาเสียงบางขุนเทียน เจอปัญหา 3 น้ำ"น้ำท่วม-น้ำเหนือ-น้ำหนุน"



"เอ้ สุชัชวีร์" ควง “สารัช ม่วงศิริ” บางขุนเทียน เบอร์ 4 ทั้งคู่ เดินหาเสียงลุยฝน ห่วงบางขุนเทียน เจอปัญหา 3 น้ำ น้ำท่วม-น้ำเหนือ-น้ำหนุน ยันต้องใช้หลักวิศวกรรมสู้ภัยธรรมชาติ พร้อมสังคายนาสายไฟอันตรายทั่วกรุงเทพฯ

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม 2565  ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 4 มาพร้อมกับ นายสารัช ม่วงศิริ ผู้สมัคร ส.ก. เขตบางขุนเทียน เบอร์ 4 เช่นเดียวกัน ลงพื้นที่ตลาดกรีนเวลท์ พระราม 2 แต่เช้าตรู่ โดยได้ไปเดินทักทายพี่น้องประชาชน พ่อค้าแม่ค้ารอบตลาด พบบรรดาผู้ติดตามเฟซบุ๊ก และแฟนคลับมาขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึก และเปิดให้ดูว่ากำลังติดตามชมไลฟ์อยู่ด้วย 

ระหว่างที่ “เอ้ สุชัชวีร์” ใช้สะพานลอยข้ามไปยังตลาดมารวย พบสายไฟระโยงระยางเป็นพวงใหญ่ จึงได้เตือนพี่น้องประชาชนหากพบเห็นสายไฟ ขอให้คิดไว้เสมอว่าอันตราย พร้อมกับระบุว่า อะไรที่ตั้งบนฟุตบาท กทม.รับผิดชอบได้หมด ไม่ว่าจะระยะขึ้นไปสูงแค่ไหนก็ตามจะต้องขออนุญาต กทม. จึงเป็นต้นทาง และเป็นเจ้าภาพจัดการได้ นอกจากนี้กรุงเทพฯ ควรจะเป็นเมืองที่การก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นฟุตบาท ทางเท้า ทางข้าม ถนน สะพานลอย ต้องเป็นมาตรฐานสากล ไม่เช่นนั้นจะทำให้ผู้ใช้ฟุตบาท สะพานลอย เกิดความเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุได้ 

“ผมเป็นวิศวกรตั้งใจจะสังคายนาสายไฟที่อันตรายแบบนี้ทั่วกรุงเทพฯ พ่อแม่และลูกๆ ที่เดินข้ามสะพานลอยต้องจับราวบันได แล้วมีสายไฟห้อยลงมา โดยเฉพาะช่วงฝนตกเป็นอันตรายมาก เพราะไม่รู้ว่าเป็นสายอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นสายไฟ สายสัญญาณช็อตได้ทั้งนั้น ดังนั้นถ้าเห็นสายไฟต้องคิดไว้ก่อนเลยว่าอันตราย” 

พร้อมกับแสดงความเป็นห่วงถึงสภาพอากาศในกรุงเทพฯ และเขตบางขุนเทียนซึ่งเป็นเขตที่ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วม น้ำหนุน ซึ่งต้องได้รับการดูแลด้วยหลักวิศวกรรม และก่อนที่ “เอ้ สุชัชวีร์” จะได้เดินพบปะตลาดสาย A เคหะบางขุนเทียน เริ่มมีฝนตกและลมพายุรุนแรง แต่ยังมีบรรดาผู้สนับสนุนเดินฝ่าฝนมามอบดอกกุหลาบ และพวงมาลัยดอกดาวเรือง เพื่อให้กำลังใจกับ “เอ้ สุชัชวีร์” พร้อมอวยพรให้ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. 

“อย่าล้อเล่นกับอากาศกรุงเทพฯ เมื่อวันก่อนร้อนมาก แล้วก็มีพายุ แล้วก็มีน้ำท่วม กรุงเทพฯ ต้องแก้ไขด้วยหลักวิศวกรรม เพราะปัญหาที่ต่อสู้กับธรรมชาติเป็นปัญหาที่รุนแรงที่สุดกว่าปัญหาใดๆ ย้ำว่า ปัญหาที่เกี่ยวกับภัยธรรมชาติ เป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุด ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ไม่ได้เตรียมการอะไรที่พอจะสู้ได้ หากไม่เริ่มวันนี้จะอันตรายมาก ทั้งน้ำท่วมหนักขึ้น น้ำเหนือไหลบ่ามามากขึ้นทุกปี แถวบางขุนเทียนมีน้ำทะเลหนุน ต้องเจอทั้ง 3 น้ำเลย” 

ทั้งนี้ “เอ้ สุชัชวีร์” ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า วันนี้ตนมาเขตบางขุนเทียน พร้อมกับผู้สมัคร ส.ก. สารัช ม่วงศิริ ซึ่งเป็นเบอร์ 4 ทั้งคู่ และกำลังจะไปหาเสียงที่เคหะฯ บางขุนเทียน ปรากฏว่าฝนตกไม่ถึง 5 นาทีน้ำท่วม นี่คือปัญหาที่แท้จริงของคนกรุงเทพฯ ทั้งเรื่องแผ่นดินทรุด และเรื่องน้ำท่วมภายใน 5 นาทีล้วนเป็นเรื่องจริง 

“กรุงเทพมหานครถ้าไม่แก้ปัญหาด้วยหลักวิศวกรรม เราจะเอาอะไรไปสู้ธรรมชาติ เพราะเราก็รู้อยู่ว่าการจะสู้กับธรรมชาติได้ หนทางเดียวสมองมนุษย์ ด้วยหลักวิศวกรรม เหมือนกับโตเกียวที่เขาสู้อยู่รอดจากธรรมชาติมาแล้ว บางขุนเทียนเป็นเขตที่ผมมีความตั้งใจมาก เพราะเป็นเขตที่คนกรุงเทพฯ กำลังจะชนกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งน้ำทะเลหนุน ปัญหาน้ำฝน ทั้ง 2 เรื่องนี้บางขุนเทียนกำลังแย่ ไม่มีใครดูแลอย่างจริงจัง ผมตั้งใจว่าจะเป็นผู้ว่าฯ ที่แก้ปัญหาให้เขตบางขุนเทียนให้ได้” 

 

พบปี 65 แรงงานไทยเครียด "สสส. – สธ." ชูโปรแกรมอบรม "สร้างสุขด้วยสติในองค์กร MIO"


เผย ปี 65 แรงงานไทย ยื่น ‘ลาออก’ กว่า 7.7 หมื่นราย พบ 87% เหตุเครียด ทำงานไร้ความสุข สสส. – สธ. ชู โปรแกรมอบรม “สร้างสุขด้วยสติในองค์กร MIO” รูปแบบ e-Learning ภายใต้นวัตกรรมแนวคิด Happy Workplace ยกระดับสุขภาพจิตคนทำงาน ร่วมสร้างองค์กรแห่งความสุข

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม 2565  นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เมื่อเดือนมกราคม 2565 พบวัยแรงงานขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงาน 392 ราย ของสายทั้งหมด 5,978 สาย สอดคล้องกับข้อมูลการลาออกของแรงงานในประเทศไทย ที่มีการขึ้นทะเบียนตนเป็นผู้ว่างงานตามระเบียบของสำนักงานประกันสังคมของประเทศไทย โดยกองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เมื่อเดือนมกราคม 2565 พบว่า มีผู้ขึ้นทะเบียนว่างงาน 88,119 คน สาเหตุเกิดจากการลาออกด้วยตัวเองจากภาวะหมดไฟ ไม่มีความสุขในการทำงานถึง 77,143 คน หรือร้อยละ 87.54 สะท้อนได้ถึงการขาดวิธีจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตของวัยแรงงาน



“สสส. ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2565 นี้ สสส. ร่วมกับ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จัดทำโครงการ “สร้างสุขและจิตสำนึกด้วยโปรแกรมสติในองค์กร” พัฒนาโปรแกรมสร้างสุขด้วยสติในองค์กร (Mindfulness in Organization : MIO) ภายใต้แนวคิด Happy Workplace เป็นโปรแกรมเพื่อมุ่งส่งเสริมให้มีความสุขในการทำงาน มีสุขภาพจิตที่ดี และเน้นการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ ที่จะส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพดีขึ้น มีสัมพันธ์ภาพกับเพื่อนร่วมงานดีขึ้น มีความสุขในการทำงานมากขึ้น และเกิดความสงบด้วยการรับฟังและสื่อสารอย่างมีสติ รวมถึงเกิดความคิดสร้างสรรค์สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งในระดับตนเอง ทีม องค์กร และสังคมได้ เนื่องจากกลุ่มแรงงานเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศให้อยู่รอดจึงต้องได้รับการดูแลสุขภาวะทุกมิติอย่างจริงจัง” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว



นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และที่ปรึกษาโครงการสร้างสุขและจิตสำนึกด้วยโปรแกรมสติในองค์กร สสส. กล่าวว่า การมีสติและสมาธิ คือ การฝึกสภาวะจิตที่สูง เป็นเครื่องมือในลักษณะ Meta skill นำไปสู่คุณลักษณะที่ดี เช่น เห็นใจผู้อื่น มีความรับผิดชอบ มีความคิดบวก ที่สอดคล้องกับนวัตกรรมแนวคิด Happy Workplace ของ สสส. เรื่อง Happy Soul ซึ่งเป็นความสุขด้านจิตใจ มีคุณธรรม และศีลธรรมในการดำเนินชีวิต ส่งผลให้มีการใช้ชีวิตอย่างมีสติ ช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล เพิ่มความสุขในการทำงาน นำไปสู่สังคมที่ร่วมสร้างองค์กรแห่งความสุข



“โปรแกรมอบรม MIO  แบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 3 เรื่อง 1. สติกับการเรียนรู้พัฒนาตน ประกอบด้วย 3 เรื่องย่อย คือ กรอบแนวคิดและบุคคลในดวงใจ การฝึกสมาธิ และการฝึกสติ 2. สติในทีมสัมพันธภาพ การทำงานร่วมกัน ประกอบด้วย 3 เรื่องย่อย คือ สติสื่อสาร สติสื่อสารระหว่างบุคคล และสติคิดบวก 3. สติกับการพัฒนาองค์กร ประกอบด้วย 2 เรื่องย่อย คือ การประชุมด้วยสติสนทนาแบบกัลยาณมิตร และการประชุมด้วยสติสนทนาแบบอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ โดยโปรแกรมจะแบ่งหลักสูตรออกเป็น 3 กลุ่ม คือ หลักสูตรสำหรับผู้บริหาร หลักสูตรสำหรับวิทยากร และหลักสูตรสำหรับบุคคลทั่วไป ผู้สนใจสามารถเรียนรู้หลักสูตรสร้างสุขด้วยสติในองค์กร ลงทะเบียนเพื่อเรียนในรูปแบบ e-Learning ได้ที่ www.thaimio.com/elearning/” นพ.ยงยุทธ กล่าว



"นิพิฏฐ์" โพสต์ "หลวงพี่กาโตะ"ลาสิกขาแล้วก็ดีนะ ไม่ต้องสอบอธิกรณ์



วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม 2565 กรณีกระแสข่าวเหตุการณ์คลิปเสียงที่ถูกระบุว่าคล้ายกับพระหนุ่มนักเทศน์ชื่อดังใน จ.นครศรีธรรมราช พัวพันกับสีการายหนึ่งชื่อ“ตอง”จนเป็นข่าวที่ถูกให้ความสนใจอย่างมาก ทำให้หลายฝ่ายพุ่งเป้าไปที่ พระพงศกร จันทร์แก้ว หรือ“หลวงพี่กาโตะ”พระนักเทศน์ชื่อดังวัดเพ็ญญาติ ต.กะเปรยด อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ก่อนที่ฝ่ายหญิงจะออกมาระบุว่าเป็นการแต่งเรื่องขึ้นเพราะตัวเองป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ จนกลายเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง และในวันที่(30 เม.ย.) เพจพงศกร จันทร์แก้ว ซึ่งเป็นเพจของอดีตพระกาโตะ โพสต์คลิปวิดีโอขณะลาสิกขาพร้อมระบุข้อความว่า “วันนี้ เวลา 21:34 น. พระราชวิสุทธิกวี เจ้าคณะภาค 16 พระครูสิริธรรมาภิรัตน์ เจ้าคณะจังหวัดนครศรี เจ้าคณะอำเภอฉวาง พระครูอรรคธรรมโกวิท (พระอุปัชฌาย์) 

ต่อมานายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวความว่า หลวงพี่กาโตะ ลาสิกขาแล้ว โดยไม่ต้องสอบอธิกรณ์ ผมก็ว่าดีนะครับ เรื่องศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ยุติเสียก่อนจะบานปลาย ท่านเป็นพระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงในภาคใต้ตอนกลาง ผมเคยเห็นท่านเทศน์ในคลิป แต่ผมดูไม่จบ เพราะผมไม่ชอบการเทศน์แนวนี้ ท่านเริ่มต้นใช้ชีวิตในสมณเพศดี แต่สุดท้ายจบอย่างไรก็ไม่ขอวิจารณ์ แต่การที่ท่านตัดสินใจลาสิกขานี่ผมชื่นชม ดูอายุของท่านแล้ว ก็น้อยกว่าอายุลูกคนสุดท้องของผมเสียอีก ถ้าผมจะขอท่านสักอย่าง คือ หลังจากท่านสึกหาลาเพศแล้ว ช่วงแรกขอให้ท่านระวังการใช้ชีวิต เพราะท่านบวชมา 3-4 พรรษา ช่วงนี้เนื้อตัวร่างกายของท่าน ยังเป็นสิ่งที่ได้จากการบำรุงเลี้ยงดูของชาวบ้านซึ่งศรัทธาในพระพุทธศาสนา อย่าทำอะไรให้ชาวบ้านเสียดาย ข้าวแดง แกงร้อน ที่อุปถัมภ์ท่านในระหว่างอยู่ในสมณเพศ หากคำแนะนำของผมจะมีประโยชน์อยู่บ้างก็ขอให้ท่านนำไปพิจารณา 

ก่อนหน้านี้นายนิพิฏฐ์ ได้โพสต์ว่า อย่าฝากศาสนาไว้กับพระแต่เพียงอย่างเดียว 

-เวลาเห็นพระภิกษุสงฆ์กระทำผิดวินัย หรือ กระทำสิ่งอันเป็นโลกวัชชะพุทธศาสนิกชน(บางคน) ถึงกับตีโพยตีพาย ร้องห่มร้องไห้ ทำนองว่าหมดแล้วพระพุทธศาสนาของพระพุทธองค์ บางคนถึงกับด่าไปถึงพระภิกษุสงฆ์โดยรวม รุนแรงถึงขั้นไม่เข้าวัด ไม่ทำบุญกันเลยก็มี

-ตั้งสติกันหน่อยเป็นไร ก่อนปลงอายุสังขาร พระพุทธองค์ฝากศาสนาไว้กับพุทธบริษัท 4 พระองค์มิได้ฝากศาสนาไว้กับพระอย่างเดียว  พุทธบริษัท 4 ที่พระองค์ฝากศาสนาไว้ต้องมีคุณสมบัติเป็นพุทธบริษัทที่ 1.เรียนรู้ศาสนา และปฏิบัติได้  2.แนะนำสั่งสอนผู้อื่นได้ 3. เวลามีการสั่งสอนผิดไปจากพระธรรมวินัยต้องชี้แจงได้ว่าที่ถูกคืออย่างไร

-เราเอาเปรียบพระไปหรือเปล่า ที่ฝากศาสนาไว้กับพระเพียงอย่างเดียว หากทำอย่างนั้นเราก็มิใช่พุทธศาสนิกชนในพุทธศาสนาหรอก เรากลับทำผิดคำสอนของพระพุทธองค์ด้วยซ้ำไป

-เวลาพระทำผิดพระวินัยแล้วสึกออกมา ผมดีใจเสียด้วยซ้ำ นึกในใจว่า ท่านสึกน่ะดีแล้ว ทำให้ศาสนาบริสุทธิ์และเข้มแข็งขึ้น พระสึกมิใช่ทำให้ศาสนาอ่อนแอหรอกแต่กลับทำให้ศาสนาเข้มแข็งขึ้นต่างหาก หากท่านทำผิดแล้วสึก เราก็ควรอนุโมทนายกมือท่วมหัวเสียด้วยซ้ำ จะเศร้า-จะโกรธท่านไปทำไม

-เราเพียงระลึกว่า พระสงฆ์มี 2 ประเภท คือ สมมติสงฆ์ กับ อริยะสงฆ์  ชายหนุ่มอายุ 20 กว่าๆ บวชในศาสนา แล้วเราหวังให้ท่านเป็นอริยะสงฆ์ก็อย่าพึงหวังให้มากนัก จะผิดหวังเปล่าๆ พุทธศาสนาสำหรับเราผู้เป็นฆราวาสปฏิบัติง่ายกว่าพระที่เป็นบรรพชิตเสียอีก หากพระท่านปฏิบัติตามพระวินัยไม่ได้ ก็ให้ท่านสึกเถอะ ดีแล้ว

อดีตรมว.พลังงาน เตือนรัฐต้องเสียสละ ไม่ดึงเงินออกจากกระเป๋าปชช.

 


หลังพรุ่งนี้ น้ำมันดีเซล จะปรับขึ้นเป็น 32 บาท/ลิตร  ชี้อย่ามุ่งแค่เก็บภาษีตามเป้า บอกรัฐบาลอยู่ได้ แต่ปชช.อยู่ไม่ได้   แนะ รัฐควรต่ออายุการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไป  ฉะภายเรือในอ่าง หากต้องไปหากู้เพื่อนำเงินใส่กองทุนน้ำมัน ที่ติดลบกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท 

วันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2565  นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์เฟซบุ๊ก  ปรามรัฐบาล  ไม่ควรทำอะไร ที่ดึงเงินออกจากกระเป๋าประชาชน ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ โดยระบุ ว่า อย่างที่ทราบว่า พรุ่งนี้ 1 พฤษภา 65 ราคาน้ำมันดีเซลหน้าปั๊มจะขึ้นเป็น 32 บาท ต่อลิตร สิ่งที่ตามมาแน่ๆ คือ เราต้องควักเงินออกจากกระเป๋าสตางค์เพิ่มขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น ราคาข้าวของก็จะสูงขึ้น เพราะต้นทุนการผลิต การขนส่ง ที่ปรับตัวตามราคาน้ำมัน

นายสนธิรัตน์ ย้ำว่าในเวลาที่ประชาชนลำบากอย่างนี้ รัฐต้องเสียสละ  อย่าไปมุ่งอยู่กับเป้าของการเก็บภาษีให้ได้ตามเป้า การที่น้ำมันดีเซลราคาขึ้นก็เพราะต้นทุนน้ำมันจากราคาตลาดโลกที่คุมไม่ได้ บวกกับโครงสร้างภาษีและอื่นๆที่เป็นสูตรเฉพาะของเรา

ตนขอเสนอว่า เรื่องภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล รัฐควรต่ออายุการลดออกไปอีกครับ รัฐต้องยอม ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ต้องมาช่วยอุ้มประชาชน

และโครงสร้างต้นทุนราคาน้ำมันคืออีกหนึ่งคำตอบ คือทางออกของเรื่องนี้  โดยวันนี้กองทุนน้ำมันติดลบ ประมาณ 24,000 กว่าล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG ติดลบประมาณ 31,000 กว่าล้านบาท การช่วยเหลือจากกองทุนน้ำมัน ด้วยการไปหาเงินกู้มาใส่ในกองทุน จึงเหมือนเป็นการพายเรือในอ่าง 

เพราะการไม่ลดการเก็บภาษี แต่สุดท้ายก็ไปกู้เงินมา เพื่อมาพยุงราคา จริงๆ แล้วก็คือ เงินไม่มีพอทั้งคู่ แต่ไม่ไปดูไปลดที่โครงสร้างภาษีน้ำมัน

ดังนั้น เราสามารถกลับไปดูการแก้ไขที่เคยพูดว่าในภาวะวิกฤต เราสามารถกลับไปดูเรื่องต้นทุนน้ำมันและบริการจัดการเฉพาะกิจ ตนเคยพูดเรื่องการอิงราคาหน้าโรงกลั่น ว่าให้เปลี่ยนจากการคิดราคาอ้างอิงแบบเก่าจากการอ้างอิงราคาโรงกลั่นจากสิงคโปร์ มาเป็น การคิดอิงต้นทุนจริง ซึ่งทำได้ เอาจริงๆ วันนี้มีข่าวเรื่องค่าการกลั่นของโรงกลั่นในประเทศได้ราคาดี ถ้าลดลงมาหน่อยในช่วงที่เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ก็น่าจะได้  และการคุยกับภาคเอกชน บริษัทน้ำมัน โรงกลั่น ว่าลดต้นทุนได้ทางไหนอย่างไร ค่าการตลาดลดได้ไหมชั่วคราว ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง

การบริหารงานในภาวะวิกฤต กับ ภาวะปกติทั่วไป ต่างกัน รัฐบาลต้องโฟกัสที่ความเดือดร้อนของประชาชน  รัฐบาลจะมาบอกว่าเรื่องราคาน้ำมันนี่จะให้ประชาชนมาช่วยแบกคนละครึ่งแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลอยู่ได้ ประชาชนอยู่ไม่ได้


คณะสงฆ์ตาสว่าง! ยกทีมงานธรรมะห่มดอย "ต้นแบบการเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงรุก" นำชาวกะเหรี่ยง 10 หมู่บ้านแสดงตนเป็น "พุทธมามกะ"



วันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2565 เพจพระดร.อรุณเมธี พุทธิภัทโท (ธรรมะห่มดอย) ได้โพสต์ภาพการแสงตนเป็นพุทธมามะของชาวกะเหรี่ยงในภาคเหนือ ความว่า กล่าวคำขอถึงซึ่งพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งในชีวิต  พี่น้องชนเผ่ากะเหรี่ยงจาก 10 กว่าหมู่บ้านผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาขอกล่าวคำแสดงตนเป็นพุทธมามกะ  ขอถึงซึ่งพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกในชีวิต

สำหรับโครงการพระธรรมจาริกหรือ “ธรรมะห่มดอย” พระประทิน วรสทฺโธ หนึ่งในแกนนำโครงการได้เขียนเล่าไว้เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้วว่า ในพุทธศักราช 2508 ได้เกิดโครงการพระธรรมจาริกขึ้น โดย พระธรรมกิตติโสภณ (สมเด็จพระพุทธชินวงศ์) อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร อดีตเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เป็นองค์สถาปนาโครงการเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางจิตใจของชาวเขากับชาวเราให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยอาศัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นตัวเชื่อมให้เกิดความสันติสุขและมีปัญญาใคร่ครวญไตร่ตรองหาเหตุหาผลในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ตราบจนถึงปัจจุบันมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เป็นประธานคณะพระธรรมจาริกสืบต่อมา กว่า 50 ปี โครงการพระธรรมจาริกประสบความสำเร็จในการปฏิบัติศาสนกิจอย่างมาก โดยเฉพาะการการสร้างศรัทธาในหมู่ประชาชนชาวเขาให้มีต่อพระพุทธศาสนา 

โดยกิจกรรมที่พระธรรมจาริกได้ดำเนินการที่ผ่านมา ได้แก่ การสอนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์แก่เยาวชนชาวเขา (ยุวพุทธธรรมจาริก) สอนจริยธรรมในโรงเรียน จัดพิธีบรรพชาอุปสมบทหมู่ชาวเขา จัดพิธีบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน จัดบวชเนกขัมมะศิลจาริณี จัดปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ จัดอบรมธรรมเคลื่อนที่ (ธรรมจาริกสัญจร) จัดปลูกป่า บวชป่าเฉลิมพระเกียรติ ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ จัดบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด จัดพิธีธรรมะเสียงตามสาย และจัดพิธีสืบสานวัฒนธรรมไทย วันสำคัญของชาติ วันสำคัญทางศาสนา วันสำคัญของพระมหากษัตริย์ ประเพณีวัฒนธรรมนิยมแต่ละชนเผ่าตามท้องถิ่นต่างๆ ทุกอาศรมฯจนทำให้ชุมชนบนพื้นที่สูงมีความมั่นคง มั่งคั่ง ด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาแก่ชาวไทยภูเขา จรรโลงสังคมด้วยพุทธธรรม เป็นแบบฉบับแห่งการสร้างสรรค์สังคมคุณธรรม สังคมเข้มแข็ง สังคมไม่ทอดทิ้งกัน และสังคมประชาธิปไตย เน้นให้มีการอบรมด้านศีลธรรม จริยธรรม การสร้างความมั่นคงด้านจิตใจ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ด้านการศึกษา อนามัย อาชีพ การปกครอง และเกิดความรู้ใหม่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดกระแสแห่งความร่มเย็น และความร่วมมือในการสร้างสรรค์สังคมคนบนพื้นที่สูง สู่สังคมคุณธรรม สังคมเข้มแข็ง สังคมไม่ทอดทิ้งกัน และสังคมแห่งประชาธิปไตยด้วยหลักพุทธธรรม นำไปสู่ต้นแบบทางศีลธรรม เพื่อความสงบ สามัคคี และสมานฉันท์ จากการนำเอาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ทำให้ชาวไทยภูเขาคิดเป็น ทำเป็นและแก้ปัญหาเป็น นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพที่พึงประสงค์ของชาติได้ระดับหนึ่ง

ปัจจุบันโครงการพระธรรมจาริกมีอาศรมพระธรรมจาริกในสังกัด 304 แห่ง มีพระภิกษุสามเณรที่เป็นพระธรรมจาริกอยู่ในความรับผิดชอบกว่า 300 รูป มีหมู่บ้านในเขตความรับผิดชอบในเขตภาคเหนือและภาคกลางบางส่วนกว่า 20 จังหวัด 14 ชาติพันธุ์ ยังเหลือพื้นที่หมู่บ้านชาวเขาที่ควรเข้าถึงอีกประมาณ 2,000 หมู่บ้าน อย่างไรก็ตามในช่วงระยะที่ผ่านมา งานเผยแผ่ศาสนธรรมตามชุมชนบนพื้นที่สูงประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากร ขาดแคลนงบประมาณ และทรัพยากรในการดำเนินงานอย่างยิ่ง ทั้งที่เป็นงานสำคัญเร่งด่วนท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ กอปรกับสถานการณ์ปัญหาในชุมชนบนพื้นที่สูงก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น อาทิ ปัญหาครอบครัว การศึกษา การอนามัย การอาชีพ ปัญหายาเสพติด ปัญหาสุขภาพ ปัญหาการหย่าร้าง การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ ซึ่งต้องอาศัยภาคีในการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งการออกธรรมสัญจรเพื่อเผยแผ่ศาสนธรรมแก่ประชาชนชาวไทยภูเขาบนพื้นที่สูงจะเป็นการช่วยรัฐในการแก้ปัญหาชุมชนได้ในระดับหนึ่งโดยเฉพาะเรื่องของจิตใจ การสำรวจและรับทราบปัญหาจากการออกธรรมสัญจร การช่วยเหลือเบื้องต้น (แก้ปัญหาเฉพาะหน้า) ซึ่งในช่วงการทำโครงการธรรมสัญจรในครั้งที่ผ่านมานั้น การดำเนินงานได้ผลเป็นน่าพึงพอใจในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการที่ชาวบ้านมีความคุ้นเคยกับพระสงฆ์มากขึ้นและการที่ชาวบ้านรู้จักนำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะหลักของศีลห้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทางโครงการพระธรรมจาริกคาดหวังไว้

จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทย ที่มีความโดดเด่นหลายลักษณะ โดยเฉพาะสภาพภูมิประเทศเต็มไปด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีอาณาเขตติดกับประเทศพม่า มีประชากรน้อยเป็นอันดับ 5 ในขณะที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับ 8 ของประเทศ แต่มีประชากรเบาบางที่สุดในประเทศ มีลักษณะการจัดตั้งหมู่บ้านที่ห่างไกลกัน นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ โดยร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมดเป็นชาวเขา ได้แก่ ม้ง (แม้ว), ลีซู (ลีซอ), ล่าหู่ (มูเซอ), ลัวะ, และปกาเกอะญอ(กะเหรี่ยง) ซึ่งต่างรักษาวัฒนธรรมของตนเอาไว้ได้เป็นอย่างดี จากลักษณะของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่กล่าวมา เป็นเหตุให้การพัฒนาชุมชนในพื้นที่ของหน่วยงานองค์กรภาครัฐเป็นไปด้วยความยากลำบาก ขณะที่โครงการพระธรรมจาริกซึ่งเป็นตัวกลางในการสร้างเข้าใจระหว่างชาวบ้านในชุมชนบนพื้นที่สูงกับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ประสบปัญหาการขาดแคลนด้านบุคลากร โดยในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีอาศรมพระธรรมจาริก จำนวน 57อาศรม มีพระธรรมจาริกปฏิบัติศาสนกิจ จำนวน 27 รูป ซึ่งยังมีหมู่บ้านขาวเขาที่ควรเข้าถึงอีก จำนวนกว่า 50 หมู่บ้าน

จากเหตุผลที่กล่ามาข้างต้น สำนักงานบริหารงานโครงการพระธรรมจาริกส่วนภูมิภาคจึงได้จัดทำโครงการพระธรรมจาริกสัญจรนำธรรมะห่มดอยขึ้น โดยเลือกดำเนินการในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง และอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อให้พระธรรมจาริกที่ปฏิบัติศาสนกิจอยู่บนพื้นที่สูงสามารถดำเนินกิจกรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวเขาบนพื้นที่สูงได้ครอบคลุมพื้นที่เพิ่มมากขึ้น โดยการปฏิบัติตามนโยบายเผยแผ่ศาสนกิจเชิงรุก [Mobile Team] และเพื่อเป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้านทักษะ และประสบการณ์ รวมทั้งนำไปสู่การขับเคลื่อนการปฏิบัติการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงระหว่างพระธรรมจาริกกับและหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้าใจ เข้าถึง ให้โอกาส และพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมต่อไป

พระเทพเวที เจ้าคณะภาค 6 เปิดเผยว่า การดำเนินงานของโครงการพระธรรมจริกในภาคเหนือ มีผลสำเร็จเป็นอย่างมาก พระสังฆาธิการ พระธรรมจาริก ทำงานอย่างเข็มแข็งและเข้าถึงประชาชนที่อยู่บนดอย การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจึงประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ควรเป็นแบบอย่างให้พระสงฆ์ในภาคอื่น ๆหรือจังหวัดอื่น ๆ นำเป็นไปเป็นต้นแบบ


ที่มา - https://thebuddh.com/?p=61735


วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2565

"อนุชา" ควง"สมศักดิ์" ลงพื้นที่สุโขทัยเปิดโครงการไกล่เกลี่ยหนี้สิน



วันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2565    เวลา 10.00 น. ณ เทิดไทฟาร์ม ต.วังใหญ่ อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการไกล่เกลี่ยหนี้สิน หาช่องทางทำกิน ขจัดสิ้นความยากจน ภายใต้การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองพื้นที่ต้นแบบ (จังหวัดสุโขทัย) โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวรายงานวัตถุประสงค์โครงการ และมีนางพรรณศิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 จ.สุโขทัย นายวิรุฬ พรรณเทวีผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ประชาชนเข้าร่วม


นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า โครงการไกล่เกลี่ยหนี้สิน หาช่องทางทำกิน ขจัดสิ้นความยากจน ภายใต้การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองพื้นที่ต้นแบบจังหวัดสุโขทัย มุ่งหวังให้สมาชิกสมาชิกและประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการอย่างแท้จริง ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัยได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการให้เป็นผลสำเร็จ ทั้งการให้ความช่วยเหลือ ให้ความรู้ ความเข้าใจในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ไกล่เกลี่ยหนี้สินก่อนฟ้องหรือหลังฟ้อง และอำนวยความสะดวกทุกด้าน ทำให้ประชาชนคลายกังวล รู้สึกอุ่นใจ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อภาวะทางเศรษฐกิจ ประชาชนในระดับฐานราก รวมถึงครัวเรือนของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกอบอาชีพ มีรายได้ลดน้อยลง ค่าใช้จ่ายมากขึ้น กองทุนหมู่บ้านบางแห่ง  เกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีกับกรรมการกองทุน หรือดำเนินคดีกับสมาชิก หรือบางแห่ง ก็อาจถึงขั้นบังคับคดี ยึดทรัพย์สินของกรรมการกองทุน หรือสมาชิกกองทุน ส่งผลให้ได้รับความเดือดร้อน โครงการไกล่เกลี่ยหนี้สิน ฯ ภายใต้การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจะช่วยให้สมาชิกและประชาชนได้รับการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนในด้านต่างๆ ทำให้สมาชิกสามารถประกอบอาชีพต่อไปได้

นายอนุชาฯ กล่าวต่อไปว่า จังหวัดสุโขทัยมีข้อร้องเรียนด้านการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้าน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จำนวน 7 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 0.81 จากจำนวน 864 กองทุน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยมาก สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือ และความตั้งใจของประชาชนในการขับเคลื่อนกองทุนใหัประสบความสำเร็จ เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อสมาชิก เป็นต้นแบบของความเข้มแข็งในระดับหมู่บ้าน/ชุมชนที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้สมาชิกและประชาชนได้รับโอกาสในการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เพราะเมื่อทุกหมู่บ้าน มีความเข้มแข็ง สามารถเป็นกลไกหลักในการพัฒนาหมู่บ้านให้พึ่งพาตนเองได้ สมาชิกและประชาชนในหมู่บ้านก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ เศรษฐกิจของประเทศก็จะดีขึ้นด้วย 

 


โปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ 7 รูป “พระเทพสุวรรณเมธี” เป็น “พระธรรมวชิราจารย์”



วันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2565  เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศตั้งสมณศักดิ์พระราชาคณะ จำนวน 7 รูป ดังนี้

1.พระเทพสุวรรณเมธี   เป็น “พระธรรมวชิราจารย์” สถิต ณ วัดสุวรรณาราม กทม.

2.พระมงคลวัชโรดม    เป็น  “พระราชมงคลวัชโรดม” สถิต ณ ที่พักสงฆ์ดอยเทพนิมิต จ.ภูเก็ต

3.พระวชิรเขมคุณ       เป็น  “พระราชวชิรเขมคุณ” สถิต ณ วัดป่านาคนิมิตต์ จ.สกลนคร

4.พระมหาบรรจบ ขนฺติโก    เป็น  “พระราชวชิรเมธี” สถิต ณ วัดเจ้ามูล กทม.

5.พระมหาวิทยาเขฎฐ์ วรธมฺโม  เป็น “พระศรีวชิรเมธี” สถิต ณ วัดโมลีโลกยาราม กทม.

6.พระมหาสำราญ สีลสํวโร    เป็น “พระศรีวชิราจารย์ “สถิต ณ วัดโมลีโลกยาราม กทม.

7.พระมหาอภิลักษณ์ ปญฺญาวโร  เป็น “พระศรีวชิรบัณฑิต” สถิต วัดโมลีโลกยาราม กทม.






วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2565

"อุตตม" หวั่นเศรษฐกิจฐานรากแก้วเม็ดเงินหด แนะรัฐกระจายรายได้-สร้างงาน-จัดซื้อ เพิ่มเงินหมุนเวียน


วันศุกร์ที่ 29 เมษายน 2565 ดร.อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กผ่านเพจ ดร.อตม สาวนายน  ความว่า สวัสดีครับ วันนี้ผมขอแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกท่าน ในประเด็นเกี่ยวกับแนวทางการดูแลประชาชนคนไทย ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากภาวะต้นทุนราคาพลังงานสูง วัตถุดิบและสินค้าบริการต่างๆปรับราคาแพงขึ้น และมีแนวโน้มจะแพงขึ้นต่อไป แต่ขณะเดียวกันกลับต้องเผชิญกับปัญหารายได้ที่ถดถอย เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศยังไม่ฟื้น

เรื่องนี้เป็นความท้าทายทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังก็ได้ลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ลงเหลือร้อยละ 3.5 จากเดิมที่ร้อยละ 4 และคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีไว้ที่ร้อยละ 5 ซึ่งเกินกรอบเงินเฟ้อเดิมของประเทศที่กำหนดไว้ร้อยละ 1-3 ไปมาก รวมทั้งยังระบุว่าสถานการณ์อนาคตเศรษฐกิจประเทศ มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนหลายประการ

สถานการณ์ดังกล่าว ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะราคาพลังงานนั้นเป็นปัญหาจากปัจจัยภายนอก ซึ่งเราควบคุมไม่ได้ ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการภายในประเทศเอง ด้วยการดำเนินนโยบายและมาตรการที่ครอบคลุมเหมาะสม เพื่อดูแลประชาชนและผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันก็เพื่อพยุงสถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวมไม่ให้ทรุดหนักลงไป และมีความพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอน รวมทั้งปัจจัยความเสี่ยงในปัจจุบัน


สำหรับการดูแลช่วยเหลือเยียวยาค่าครองชีพประชาชนเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ที่ได้รับผลกระทบมาก แต่ตามที่ผมกล่าวไว้ข้างต้นว่า วันนี้นอกจากประชาชนมีปัญหาเรื่องต้นทุนพลังงานและค่าครองชีพแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องรายได้อีกด้านหนึ่งด้วย ในภาวะเช่นนี้จำเป็นต้องใช้ชุดมาตรการที่จะสามารช่วยเหลือดูแลประชาชนได้ครบวงจร เพราะเพียงมาตรการด้านใดด้านหนึ่ง จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพแท้จริง


นับตั้งแต่การระบาดของโควิด รัฐบาลได้ออกมาตรการบรรเทาด้านค่าครองชีพ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สภาพการปัจจุบันแตกต่างจากในอดีต มีเหตุแทรกซ้อน โดยเฉพาะสงครามยูเครน ทำให้การดูแลเศรษฐกิจและปัญหาของประชาชนมีความซับซ้อนและอ่อนไหวเพิ่มขึ้นมาก เช่น การกระตุ้นกำลังซื้อเพื่อเสริมรายได้ให้กับผู้ประกอบการนั้น จะส่งผลได้ในช่วงเวลาหนึ่งก่อนเศรษฐกิจโดยรวมจะฟื้นตัว แต่ทว่าหากเศรษฐกิจยังไม่เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน และรายได้ของผู้บริโภคและผู้ประกอบการกลับถดถอย รวมทั้งมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น มาตรการเดิมเพียงเท่านั้นจึงอาจไม่มีผลได้เช่นดังก่อน


เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา พรรคสร้างอนาคตไทยได้จัดประชุมสามัญครั้งแรกของพรรค และได้นำเสนอ #ชุดความคิดใหม่ ที่อยู่บนพื้นฐานของการเร่งฟื้นเศรษฐกิจ และสร้างอนาคตที่ดีให้กับประเทศและคนไทย ซึ่งนำไปสู่นโยบาย 5 สร้างของพรรค ได้แก่ -สร้างความเข้มแข็งในเศรษฐกิจฐานราก  -สร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ก้าวทันโลก -สร้างสังคมที่เกื้อกูล เป็นธรรม และยั้งยืน -สร้างคนและวิทยาการ พร้อมก้าวสู่สังคมโลกแห่งอนาคต -สร้างการเมืองสร้างสรรค์ด้วยพลังบวก


การที่จะขับเคลื่อนนโยบาย 5 สร้างนี้ เราจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า ดังที่ผมได้กล่าวไปตอนต้นแล้ว ซึ่งผมเห็นว่ามีความจำเป็นต้องมีชุดมาตรการที่ครอบคลุม โดยเพิ่มมาตรการใหม่ที่จะช่วยเพิ่มความสามรถในการสร้างรายได้ของผู้ประกอบการโดยตรงและต่อเนื่อง ผมจึงขอแชร์แนวคิดดังต่อไปนี้ครับ


1.การสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในวงกว้างและต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อและเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงฟื้นฟูเงินทุนให้ผู้ประกอบการ


2.การช่วยให้ผู้ประกอบการรายกลางรายเล็ก ที่ขณะนี้มีปัญหาการเข้าถึงเงินกู้สินเชื่อ ให้มีเงินหมุนเวียนเพียงพอในช่วงเวลาปัจจุบัน เพื่อสามารถทำการค้าต่อไปได้


3.การเพิ่มปริมาณการค้าโดยใช้ประโยชน์จากตลาดแนวชายแดนให้มากขึ้น


สำหรับวันนี้ผมจะขอกล่าวถึงแนวคิดข้อแรกก่อนว่า เมื่อเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจปัจจุบันหดหาย จึงมีความจำเป็นต้องสร้างแหล่งรายได้ใหม่ขึ้นมา และแหล่งรายได้ใหม่นั้นสมควรพุ่งเป้าไปที่กลุ่มเปราะบาง รวมถึงกลุ่มคนตัวเล็กทั้งพ่อค้าแม่ขาย และเอสเอ็มอี ที่สำคัญเน้นการกระจายแหล่งรายได้นั้นให้ทั่วถึงในพื้นที่ต่างๆของประเทศ เพื่อช่วยเศรษฐกิจฐานรากให้หมุนเวียนคล่องตัวขึ้น


ทีมงานสร้างอนาคตไทยได้ประมวลภาพกำลังซื้อในปัจจุบัน พบว่า แม้ในภาพรวมกำลังซื้อจะหดหาย แต่ในความเป็นจริงยังมีผู้มีกำลังซื้อรายใหญ่อยู่ ประกอบด้วย 1.หน่วยงานราชการ 2.รัฐวิสาหกิจ 3.เอกชนรายใหญ่ ซึ่งยังมีความจำเป็นต้องจัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์และอื่นๆต่อเนื่อง โดยจากการประเมินคาดว่ามีมูลค่ารวมกันสูงถึงปีละ 3 ล้านล้านบาท


แนวทางที่เราเสนอคือ จากเดิมที่โดยปกรติถือปฏิบัติ หน่วยงานดังกล่าวจะดำเนินการจัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์ ฯลฯ ในส่วนกลาง แล้วจึงจัดส่งสิ่งที่จัดซื้อไปให้หน่วยงานของตนในพื้นที่ต่างๆเพื่อใช้งาน เม็ดเงินที่เกิดจากการจัดซื้อจึงอยู่ในส่วนกลางเป็นจำนวนมาก โดยต้องใช้เวลานานจึงจะหมุนเวียนไปสู่พื้นที่อื่นๆของประเทศ


ดังนั้น หากเราทำให้เม็ดเงินจากการจัดซื้อดังกล่าว กระจายลงสู่พื้นที่ในจังหวัดต่างๆได้เร็วยิ่งขึ้น ก็จะเกิดประโยชน์ครอบคลุมเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานรากได้มากขึ้น ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สามารถพิจารณาดำเนินการการจัดซื้อในพื้นที่โดยตรง เพื่อให้ธุรกรรมการซื้อขายเกิดขึ้นในพื้นที่ ก็จะเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายกลางรายเล็กที่มีความพร้อม เข้าถึงการเสนอขายครุภัณฑ์และอื่นๆดังกล่าวได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้และกระตุ้นกำลังซื้อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในหลากหลายพื้นที่ของประเทศได้โดยตรง


ทั้งนี้เราอาจมีข้อกังวลว่า การจัดซื้อในท้องถิ่นมีโอกาสที่งบประมาณจะรั่วไหลมากนั้น ผมคิดว่า หากภาครัฐมีนโยบายทำเรื่องนี้อย่างชัดเจน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถหารือร่วมกันกำหนดวิธีบริหารจัดการที่รัดกุมและโปร่งใสให้มีประสิทธิภาพและคล่องตัว เพื่อให้ดำเนินการสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้


วันนี้สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ปรกติ และเผชิญกับความสุ่มเสี่ยงในอนาคต เราควรมีความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนแนวคิดและการดำเนินการบางประการ เพื่อดูแลประชาชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งการสร้างรายได้ให้ประชาชนในวงกว้าง ด้วยการสนับสนุนการจัดซื้อตรงในท้องถิ่น เป็นตัวอย่างแนวคิดหนึ่งที่สามารถพิจารณากำหนดเป็นมาตรการดำเนินการได้ในทันที


ทั้งในส่วนหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงธนาคารของรัฐที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ ทั้งยังสามารถแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชนที่มีหน่วยงานอยู่ในพื้นที่ต่างๆไปพร้อมๆกัน เพื่อให้มาตรการมีพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น


พรรคสร้างอนาคตไทยเชื่อว่า การกระจายอำนาจและโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถดูแลกันเองได้มากขึ้น ภายใต้แนวทางขบวนการปฏิบัติที่ชัดเจนและรัดกุม จะเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งยั้งยืนให้เศรษฐกิจฐานราก และผมจะขออนุญาตแชร์แนวความคิดเกี่ยวกับมาตรการอื่นๆต่อไปในครั้งหน้า  

ผู้ค้าตลาดวงศกร ฝาก "ไทยสร้างไทย" แก้หนี้นอกระบบ "ประภัสร์" ควง "รัตติกาล" ผู้สมัคร ส.ก. ไทยสร้างไทย "สายไหม" เบอร์ 4 ลงพื้นที่ตลาดวงศกร ขอเสียงคนสายไหม ดันกองทุนเครดิตประชาชน ล้างหนี้นอกระบบทันที ช่วยคน กทม. ตั้งตัวได้



ผู้ค้าตลาดวงศกร ฝาก "ไทยสร้างไทย" แก้หนี้นอกระบบ "ประภัสร์" ควง "รัตติกาล" ผู้สมัคร ส.ก. ไทยสร้างไทย "สายไหม" เบอร์ 4 ลงพื้นที่ตลาดวงศกร ขอเสียงคนสายไหม ดันกองทุนเครดิตประชาชน ล้างหนี้นอกระบบทันที ช่วยคน กทม. ตั้งตัวได้ 

วันศุกร์ที่ 29 เมษายน 2565    นายประภัสร์ จงสงวน ผู้อำนวยการกองการเลือกตั้งพรรคไทยสร้างไทย พร้อม ดร.รัตติกาล แก้วเกิดมี ผู้สมัคร ส.ก. เขตสายไหม พรรคไทยสร้างไทย เบอร์ 4 และ ดร.สมชาย เวสารัชตระกูล ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขตสายไหม พรรคไทยสร้างไทย ได้เยี่ยมพ่อค้าแม่ค้า และพบปะคนเดินทางจับจ่ายใช้สอยที่ตลาดวงศกร โดยได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ค้ารายย่อยในตลาดวงศกรที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ และการระบาดของโรคโควิด-19 บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ยอดขายหดหาย ขาดเงินทุนในการหมุนเวียนกิจการ ทำให้ต้องพึ่งหนี้นอกระบบ


นายประภัสร์ กล่าวว่า "ขณะนี้พรรคไทยสร้างไทยเป็นพรรคเดียวที่ทีนโยบายช่วยเหลือพ่อค้าแม่ขายคนตัวเล็ก ด้วยนโยบายกองทุนเครดิตประชาชน โดยสามารถเริ่มต้นกู้ด้วยวงเงิน 5,000 บาท โดยไม่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน สามารถผ่อนจ่ายได้ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 3 ปี ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1 ต่อเดือน หากมีเครดิตดีสามารถกู้ได้สูงสุดถึง 50,000 บาท หากคนกรุงเทพ เลือกผู้ว่า กทม. และ ส.ก.พรรคไทยสร้างไทย จะสามารถผลักดันนโยบายนี้ได้ทันที ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และเป็นเงินทุนหมุนเวียนที่มั่นคงให้แก่คน กทม. ตลอดไป" 


นอกจากนี้ นายประภัสร์ ได้กล่าวกับพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่ตลาดวงศกรว่า ต้องเลือก "น.ต.ศิธา ทิวารี เบอร์ 11" เป็นผู้ว่า กทม. เพื่อผลักดันกองทุนเครดิตประชาขน และเลือก ดร.รัตติกาล แก้วเกิดมี ผู้สมัคร ส.ก. เขตสายไหม พรรคไทยสร้างไทย เบอร์ 4 เพราะเป็นคนที่ทีความสามารถ ทำงานจริงจัง ไม่ทิ้งพื้นที่สายไหม อีกทั้งยังมีความคิดที่ดี มีศักยภาพที่พัฒนาสายไหมให้ดีขึ้นได้

"สนธิรัตน์" เล็งใช้ศูนย์พลังงานทดแทน "พระอาจารย์สุภาพ" หนุนต่อยอดสร้างรายได้เศรษฐกิจฐานรากแก้ว



วันศุกร์ที่ 29 เมษายน 2565  นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์เฟสบุ๊ค "สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์" วันที่ 28 พ.ค.2565 ว่า พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกกับเรื่องปากท้องและเศรษฐกิจฐานราก เป็นเรื่องเดียวกันครับ การลงพื้นที่ที่ศูนย์การเรียนรู้พลังงานทดแทนโรงเรียนเชตวัน อ.ลอง จ.แพร่ เมื่ออาทิตย์ก่อนได้พิสูจน์ในข้อนี้




ที่ศูนย์ฯ นี้ มีพระครูโสภณปัญญาธร หรือ พระอาจารย์สุภาพ ชำนาญ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนและหัวหน้าศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งพระอาจารย์ก็เป็นผู้ริเริ่มตั้งศูนย์ หาความรู้ เดินทางเรียนรู้ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับพลังงานทดแทนจากปราชญ์ชาวบ้านมาเกือบทั่วประเทศ จนวันนี้การถ่ายทอดความรู้ในเรื่องนี้ที่ อ. ลอง จ.แพร่ จึงเป็นแนวปฏิบัติที่ขอชื่นชมและคิดว่าน่านำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆ โดยได้ข้อสรุปจากการลงพื้นที่ ดังนี้



1.พลังงานทดแทนและพลังานทางเลือก ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในครัวเรือน

2.การส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งพลังงานจะช่วยต่อยอดให้เกิดรายได้ที่ชุมชนและฐานราก

3.การเชื่อมการเข้าถึงพลังงานและการพัฒนาอาชีพท้องถิ่น จะนำมาซึ่งความเข้มแข็งทั้งในส่วนของชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้ในที่สุด

ดังนั้น การเดินหน้ากับนโยบายพลังงานเพื่อทุกคน (Energy for All) จะถูกสานต่อในแนวนโยบายของพรรคสร้างอนาคตไทยเพื่อสร้างอนาคตเศรษฐกิจฐานรากไทยไปด้วยกัน



นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2565 นายสนธิรัตน์ เคยโพสต์เฟสบุ๊คเกี่ยวกับการแก้ปัญหาพลังงาน โดยระบุว่า พรรคฯ ให้ความสำคัญทั้งเรื่องการต่อยอดสิ่งที่ชุมชนทำมาดีอยู่แล้ว ควบคู่กับการเติมในส่วนที่ขาด


พร้อมทั้งส่งเสริมในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันผมจะมาสานต่อนโยบาย Energy For All ที่ริเริ่มไว้เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยจะประกาศนโยบายให้ประชาชนสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าใช้เองทั่วประเทศ และขายคืนส่วนเกินให้กับรัฐบาล

ทั้งนี้ จะผลักดันให้มีการแก้หลักเกณฑ์และกฎหมายให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานและเป็นเจ้าของพลังงานเพื่อสร้างรายได้และลดค่าใช้จ่ายของประชาชนทั้งในเรื่อง Net Metering และ Smart Meter เพราะนโยบายพลังงานถือเป็นปัจจัยต้นๆ ที่จะมีส่วนช่วยสร้างให้สร้างศรษฐกิจฐานรากทั่วประเทศให้มีความเข้มแข็ง เพื่อเป็นรากฐานผลักดันเศรษฐกิจระดับประเทศให้เติบโตในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน

"ผมและพรรคสร้างอนาคตไทยพร้อมเปิดรับข้อเสนอเชิงนโยบายจากพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ เพื่อจับมือสร้างอนาคตเศรษฐกิจฐานรากไทยไปด้วยกัน"

"วิโรจน์" ลุยย่านชุมชนเขตดุสิต ถกทางออกปัญหาขยะ - การรุกล้ำพื้นที่ กทม.



วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2565  เพจพรรคก้าวไกล - Move Forward Party ได้โพสต์ข้อความว่า ลุยย่านชุมชน ‘เขตดุสิต’ ถกทางออกปัญหาขยะ - การรุกล้ำพื้นที่ กทม. 

ชุมชนวัดคอนเซปชัญ เป็นชุมชนคาทอลิกเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร มีผู้อาศัยอยู่กันเป็นจำนวนมาก บริเวณแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของชาวต่างชาติเพื่อมาสักการะพระแม่มารี แต่ ธันย์ชนน ศรีอัษฎาวุธกุล - Thanchanon Sriusadawutkul ผู้สมัคร ส.ก.เขตดุสิต เบอร์ 2 พรรคก้าวไกล บอกเล่าว่า ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาชุมชนเพิ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กว่าครึ่งชุมชน ทำให้ไม่รับการดูเเลจากกรุงเทพมหานคร ไม่มีจุดทิ้งขยะของ กทม. ไม่มีถังขยะ กทม. ตามบ้าน และยังมีกรณีปัญหาจากการที่ชุมชนรุกล้ำพื้นที่ กทม.


“พรรคก้าวไกลไม่ได้สนับสนุนการรุกล้ำพื้นที่ แต่แนวทางของผู้ว่าฯ กทม. ในอนาคตควรพยายามหาทางออกร่วมกันกับชุมชน ไม่ใช่การฟ้องร้องชุมชนบุกรุก หรือขับไล่ออกจากพื้นที่ นี่เป็นปัญหาของพื้นที่กรุงเทพชั้นใน ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในชีวิตของประชาชน” ธันย์ชนน กล่าว


Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 1 พรรคก้าวไกล และ ธันย์ชนน ได้พบปะพูดคุย รับฟังปัญหาของพี่น้องชุมชนวัดคอนเซปชัญ และชุมชนมิตรคาม ถนนสามเสน เขตดุสิต พร้อมเชิญชวนให้ไปเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครและ ส.ก. ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565


วิโรจน์ กล่าวว่า การเข้าไปในชุมชนคอนเซปชัญ ทำให้เห็นปัญหาในเรื่องการจัดเก็บขยะที่ไม่มีจุดทิ้งขยะ เป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ทั้งที่ประชาชนก็เสียภาษีและค่าธรรมเนียมจากการจัดเก็บขยะเหมือนกัน เขตสามารถจัดเก็บขยะให้กับห้างสรรพสินค้า โรงแรมหรูได้ แต่ประชาชนที่เสียค่าขยะเหมือนกัน แม้แต่ถังขยะ จุดทิ้งขยะยังไม่มีบริการ ประชาชนต้องดูเเลตัวเอง


นี่คือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด วิโรจน์ จึงต้องนำเรื่องนี้เป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาเพื่อคนกรุงเทพมหานคร เพราะค่าใช้จ่ายที่กรุงเทพมหานครแบกรับในการจัดการขยะมีมากถึง 7,000 ล้านบาท แต่เก็บค่าขยะได้เพียง 500 ล้านบาท


“พอไปดูในรายละเอียด ร้านสะดวกซื้อจ่ายแค่ 120 บาทต่อเดือน หรือตกวันละ 4 บาท นายทุนห้างสรรพสินค้าจ่ายเพียงเดือนละไม่กี่หมื่นบาท แล้วเราจะเอาเงินตรงไหนมาปรับปรุงจัดการ จุดทิ้งขยะ ปรับปรุงเที่ยววิ่งรถขยะให้ตอบสนองกับการต้องการของประชาชนได้ หากเก็บค่าจัดการขยะของทุนใหญ่เพียงเท่านี้” วิโรจน์ กล่าว


วิโรจน์ เปิดเผยว่า การหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง จะเน้นการหาเสียงแบบสั้นๆ เข้าใจง่าย กระชับ เพื่อสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่า การแก้ไขปัญหากรุงเทพมหานคร ถ้าบริหารด้วยการจัดทำงบประมาณแบบปกติโดยไม่คิดจากปัญหาเป็นฐาน และหากยังคงใช้กติกา ข้อบัญญัติต่างๆแบบเดิมจะแก้ไขอะไรไม่ได้เลย มากไปกว่านั้นคือการปล่อยให้กลุ่มคนเพียงบางกลุ่ม คือนายทุนและผู้รับเหมาได้รับประโยชน์ โดยที่ไปไม่แตะคนกลุ่มนั้นเลย กรุงเทพมหานครจะเเก้ไขปัญหาไม่ได้เช่นกัน


“ถึงเวลาเเล้วที่เราพร้อมจะบริหารและแก้ไขปัญหาให้กับคนกรุงเทพฯ ที่ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งงบประมาณ ข้อบัญญัติ รวมทั้งสวัสดิการ เรายืนยืนว่า หากเราเพิ่มสวัสดิการให้กับประชาชนได้สำเร็จแล้ว จะไม่มีผู้ว่าคนไหน หรือคนต่อไปไม่ว่าจะเป็นใคร จะไม่กล้าตัดลดสวัสดิการ และงบประมาณที่กระจายมายังประชาชน จะไม่มีผู้ว่าคนไหนกล้าตัดงบกลับมาที่ส่วนกลาง หรือที่ผู้ว่าอีก”

 


วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2565

"ประภัตร" ดัน "ซำสูง น้ำพองโมเดล" ยกระดับรายได้ชวนปลูกฟักทอง พร้อมประกันราคา

 


"ประภัตร"  นำทีม ลงพื้นที่ขอนแก่น ดันซำสูง น้ำพอง  โมเดล เดินหน้าโครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร  ชวนเกษตรกรปลูกฟักทอง พร้อมประกันราคารับซื้อ สร้างอาชีพ สร้างรายได้สู่ครัวเรือน

วันที่ 27 เม.ย. 2565   นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการ "สานฝันสร้างอาชีพ และยกระดับรายได้เกษตรกร ณ อำเภอซำสูง และอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น โดยมีนายพันธุ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ และผู้นำภาคประชาชน ตลอดจนเกษตรกรในพื้นที่ให้การต้อนรับ

ทั้งนี้นายประภัตร เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ( Covid-19 ) เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว รัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรทั่วประเทศ โดยเฉพาะหลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค รวมถึงสาธารณภัยต่างๆ จึงได้มีนโยบายให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร  โดยร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินโครงการ “สานฝันสร้างอาชีพ และยกระดับรายได้เกษตรกร” มีวัตถุประสงค์ในการปล่อยสินเชื่อสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตร หรืออาชีพนอกภาคเกษตร หรือการลงทุนค้าขาย เพื่อเสริมรายได้ในครัวเรือน เน้นอาชีพที่มีตลาดรองรับชัดเจน

นอกจากนั้นยังมีการประกันราคารับซื้อผลผลิต ให้กับเกษตรดรด้วย โดยจะสามารถสร้างรายได้ในระยะเวลา ไม่เกิน 6 เดือน มีผลตอบแทนเบื้องต้นเพียงพอต่อการดำรงชีพ และสามารถต่อยอดเป็นอาชีพที่มั่นคงต่อไปได้ในอนาคต ซึ่งโครงการดังกล่าว มีเมนูทางเลือกให้กับเกษตรกรในด้านต่าง ๆ ทั้งเมนูทางเลือกอาชีพด้านปศุสัตว์ เมนูอาชีพด้านพืช และเมนูอาชีพด้านประมง 

โดยสามารถยื่นความประสงค์ขอกู้ตามโครงการได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ 1) ยื่นขอกู้เงินที่ธนาคาร ธ.ก.ส. สาขาที่ตนเองมีภูมิลำเนาหรือที่ตั้งของโครงการ (Walk In) และ 2) ให้ผู้ขอกู้ลงทะเบียนยื่นขอสินเชื่อผ่านช่องทาง Line Official : BAAC Family และนัดหมายผู้ขอกู้ผ่านระบบนัดหมาย โดยวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน จำนวน 100,000 บาท แต่ต้องไม่เกินค่าใช้จ่ายและหรือค่าลงทุนจริงของลูกค้าแต่ละราย 

สำหรับในพื้นที่อำเภอซำสูง และอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่นได้มีการส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ เริ่มจากการปลูกฟักทอง ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการเจรจาทำข้อตกลงกับบริษัทสุวรรณภูมิเมล็ดพันธุ์ จำกัด และหจก.โอ.เค. เมล็ดพันธุ์ ในการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกรไปทดลองปลูกก่อน และยังมีบริษัท ทีพีไอ โพลีน ชีวะอินทรีย์ จำกัด สนับสนุนปุ๋ยที่จำเป็นในการเพาะปลูกให้กับเกษตรกรก่อน หลังจากขายผลผลิตได้แล้วจึงจะหักต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย โดยมีผู้ประกอบการพร้อมรับซื้อฟักทองลูก ซึ่งจะเข้ามารับซื้อถึงที่ และประกันราคาที่กิโลกรัมละ 5 บาท 

นอกจากนี้ รมช.ประภัตร ยังได้เสนอทางเลือกให้กับเกษตรกร โดยจะนำร่องเพิ่มอีกสองเมนูทางเลือกในพื้นที่อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น 1. การเลี้ยงไก่ไข โดยจะนำแม่ไก่มาให้เกษตรกรเลี้ยง ในราคาตัวละ 200 บาท สามารถให้ผลผลิตได้ทันที โดยจะประกันราคารับซื้อไข่ไก่ไว้ที่ฟองละ 3 บาท และเมื่อเลี้ยงครบ1 ปี ก็จะมีผู้ประกอบการรับซื้อคืนในราคาตัวละ 100 บาท 2. การเลี้ยงเป็ดไข่ โดยจะนำเป็ดมาให้เกษตรกรเลี้ยง ในราคาตัวละ 150 บาท รับประกันราคารับซื้อไข่ฟองละ 4 บาท เมื่อเลี้ยงครบ1 ปี ผู้ประกอบการจะรับซื้อคืนในราคาตัวละ 75 บาท 

ทั้งนี้ ผลการดำเนินโครงการสานฝันสร้างอาชีพฯ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ธ.ก.ส. ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 554 สัญญา จำนวนเงิน 49.5 ล้านบาท และคาดว่าจะมีเกษตรกร ขอเข้าร่วมโครงการสานฝันสร้างอาชีพฯ อย่างต่อเนื่อง สำหรับในพื้นที่อำเภอซำสูง มีจำนวนเกษตรกรที่ทดลองปลูกฟักทองแล้ว 64 ราย เนื้อที่รวม 84 ไร่

 

วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2565

พรรคสร้างอนาคตไทยประชุมแต่งตั้ง คกก.สรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง

 


วันที่ 27 เมษายน 2565  ที่ทำการพรรคสร้างอนาคตไทย พรรคสร้างอนาคตไทยจัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคครั้งแรก ภายหลังจากการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในการประชุมใหญ่พรรค เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา โดยมีคณะกรรมการบริหารพรรคเข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน นำโดย นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค นายสันติ กีระนันท์ เหรัญญิกพรรค นายนิทัศน์ ประทักษ์ใจ นายทะเบียนพรรค นายวัชระ กรรณิการ์ รองเลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรค อาทิ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ นายวิเชียร ชวลิต  นายสุพล ฟองงาม และนายพินิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ เป็นต้น


ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบวาระการตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง จำนวน 11 คน ในสัดส่วนต่างๆ ดังนี้ 


คณะกรรมการสรรหาสัดส่วนกรรมการบริหารพรรคสร้างอนาคตไทย จำนวน 5 คน ได้แก่ 

1. นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค

2. นายสุพล  ฟองงาม รองหัวหน้าพรรค / กรรมการบริหารพรรค

3. นายนิพิฏฐ์  อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค / กรรมการบริหารพรรค

4. นายวัชระ  กรรณิการ์ รองเลขาธิการพรรค / กรรมการบริหารพรรค

5. นายสุรนันทน์  เวชชาชีวะ รองหัวหน้าพรรค / กรรมการบริหารพรรค


คณะกรรมการสรรหาสัดส่วนหัวหน้าสาขาพรรคสร้างอนาคตไทย จำนวน 4 คน ได้แก่ 

 1. นายณรงค์ชัย แกหลวง หัวหน้าสาขาจังหวัดเชียงใหม่

 2. นายจรงค์ หมื่นเมือง หัวหน้าสาขาจังหวัดนราธิวาส

 3. นางสาวจินตนา กลั่นแก้ว หัวหน้าสาขาจังหวัดหวัดสุรินทร์

 4. นายชัยพัฒน์ ตั้งแดนทอง หัวหน้าสาขาจังหวัดเพชรบุรี


คณะกรรมการสรรหาสัดส่วนตัวแทนพรรคสร้างอนาคตไทย จำนวน 2 คน ได้แก่ 

1. นายแดงดี แสงโยธา  ตัวแทนพรรคประจําจังหวัดสกลนคร เขตเลือกตั้งที่ 4 

2. นายวิฑูรย์ กวางทอง ตัวแทนพรรคประจําจังหวัดอุดรธานี  เขตเลือกตั้งที่ 4


นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการแต่งตั้งตำแหน่งเพิ่มเติมในส่วนของรองเลขาธิการพรรค และรองโฆษกพรรค โดยแต่งตั้งนายบุญส่ง ชเลธร เป็นรองเลขาธิการพรรคเพิ่มเติมจากนายวัชระ กรรณิการ์ อีก 1 คน ซึ่งนายบุญส่งจะเข้ามาทำงานด้านวิชาการของพรรค และแต่งตั้งนายพงศ์พรหม ยามะรัต นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ และ นายธันวา ไกรฤกษ์  เป็นรองโฆษกพรรค 

มหาดไทยหารือร่วม Airbnb ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากแก้วด้านท่องเที่ยว


กระทรวงมหาดไทยหารือร่วม Airbnb เดินหน้าขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวชุมชนภายหลังสถานการณ์การระบาดโควิด-19 เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน 

วันที่ 27 เมษายน 2565  เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมดำรงธรรม อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือผ่านระบบการประชุมทางไกล (Webex) ระหว่างกระทรวงมหาดไทย และบริษัท แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) ร่วมกับ นางมิช โกห์ (Ms. Mich Goh) หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน และอินเดีย Airbnb นางแชงการี คิรุปปัลลินี (Ms. Shangari Kiruppalini) ผู้จัดการด้านนโยบายสาธารณะประจำอาเซียน Airbnb และคณะ โดยมี นายกฤษณะ พินิจ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นางสาวฐิติพร อุนรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานกิจการต่างประเทศ กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นายแผน สุขแสวง ผู้อำนวยการส่วนการรักษาความสงบเรียบร้อย 3 สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง นางสาวอุดมพร ทับศฤงฆรา ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สำนักส่งเสริมภูมิปัญหาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน นายกฤษฎา สมประสงค์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต กองพัฒนาและส่งเสริมการบริหารงานท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม 

     นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีความยินดีที่ได้ร่วมประชุมหารือกับบริษัท Airbnb เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชนภายหลังจากเราเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวชุมชนได้รับผลกระทบ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้มีนโยบายในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป โดยกรณีเดินทางเข้าประเทศไทยทางอากาศ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทุกคนต้องลงทะเบียนผ่านระบบ Thailand Pass ที่ http://tp.consular.go.th แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กรณีเป็นผู้ได้รับวัคซีนครบแล้วตามข้อกำหนด ต้องแนบเอกสารหนังสือเดินทาง เอกสารรับรองการได้รับวัคซีน และหลักฐานการมีประกันที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลในประเทศไทย วงเงินขั้นต่ำ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ และไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้งก่อนเดินทางและเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย 2) กรณีเป็นผู้ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามข้อกำหนดแต่มีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ ที่ออกภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง ต้องแนบเอกสารประกอบ ได้แก่ หนังสือเดินทาง ผลตรวจ RT-PCR ที่ออกภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง และหลักฐานการมีประกันที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลในประเทศไทย วงเงินขั้นต่ำ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ และไม่ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย และ 3) กรณีไม่มีผลตรวจ RT-PCR ที่ออกภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง เมื่อเดินทางเข้าประเทศไทยแล้วต้องเข้ากักกัน 5 วัน โดยแนบเอกสารประกอบ ได้แก่ หนังสือเดินทาง หลักฐานการชำระเงินค่าโรงแรมสำหรับกักกัน (Alternative Quarantine) จำนวน 5 วัน (พร้อมค่าตรวจ RT-PCR 1 ครั้ง) และแนบหลักฐานการมีประกันที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลในประเทศไทย วงเงินขั้นต่ำ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมเข้ารับการตรวจ RT-PCR ในวันที่ 4-5 โดยไม่ต้องตรวจก่อนเดินทางมาประเทศไทย นอกจากนี้ สำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยผ่านช่องทางผ่านแดนทางบก จะอนุญาตเฉพาะจุดผ่านแดนถาวรเท่านั้น โดยผู้ไม่มีสัญชาติไทยหากประสงค์เดินทางแบบระยะสั้น (พำนักอยู่ไทย ไม่เกิน 3 วัน) จะใช้ Border Pass เป็นเอกสารในการผ่านแดน ไม่ต้องลงทะเบียนผ่าน Thailand Pass แต่ต้องเป็นผู้ได้รับการฉีดวัคซีนครบ และต้องทำการตรวจ ATK ด้วยตนเอง กรณีผลตรวจเป็นลบสามารถเดินทางเข้าราชอาณาจักรได้โดยไม่ต้องกักตัว หากผลตรวจเป็นบวกจะไม่อนุญาตให้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ทั้งนี้ ไม่ต้องมีประกันภัยในการเดินทาง

     นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการขับเคลื่อนพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของครัวเรือนและชุมชนที่ผ่านมาที่ Airbnb ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้ทุกครัวเรือนยังมีความเข้มแข็งและมีความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่มีความประสงค์จะเดินทางไปพัก ไปเยี่ยม ไปเที่ยว ไปใช้ชีวิตอยู่อาศัยแบบวิถีชุมชน นอกจากนี้ ในด้านการประกอบกิจการสถานที่พักในลักษณะ HOMESTAY ตามข้อหารือของ Airbnb นั้น ถือเป็นสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามกฎกระทรวง กำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551 ซึ่งเจ้าของห้องพักหรือเจ้าของบ้านเรือนลักษณะดังกล่าว คือ มีลักษณะเป็นสถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักในอาคารเดียวกันหรือหลายอาคารรวมกันไม่เกิน 4 ห้อง จำนวนผู้พักรวมกันทั้งหมดไม่เกิน 20 คน และเป็นห้องที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นโดยมีค่าตอบแทนเพื่อหารายได้เสริม และเป็นสถานที่พักที่ต้องสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นและส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สามารถยื่นจดแจ้งตามแบบฟอร์มที่กำหนดต่อนายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ ทั่วประเทศ สำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยื่นจดแจ้งได้ที่สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง (วังไชยา) นางเลิ้ง จึงขอให้ Airbnb ได้ประสานแจ้งเจ้าของห้องพักในลักษณะดังกล่าวที่เป็นสมาชิกในเครือ ได้จดแจ้งฯ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป

     “สำหรับความคืบหน้าเรื่องการเตรียมความพร้อมเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนหรือหมู่บ้านที่มีศักยภาพในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชิงวัฒนธรรม และชีวิตความเป็นอยู่ที่มีลักษณะเป็น Green Tourism ที่กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ขับเคลื่อนต่อเนื่องจากการดำเนินโครงการหมู่บ้านโอทอปนวัตวิถี ในขณะนี้ทั่วประเทศมีจำนวน 3,000 กว่าหมู่บ้าน ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ร่วมกับบริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด (Local Alike) ซึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ส่งเสริมความเข้มแข็งและเตรียมความพร้อมชุมชนในด้านการท่องเที่ยวใน 20 หมู่บ้าน/ชุมชน กระจายครอบคลุม 4 ภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย และจังหวัดอุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และจังหวัดอุดรธานี ภาคกลาง ที่จังหวัดกาญจนบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี อุทัยธานี และจังหวัดตราด และภาคใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระนอง ยะลา พัทลุง และจังหวัดพังงา นอกจากนี้ Local Alike ยังได้ร่วมส่งเสริมสนับสนุนความเข้มแข็งด้านการท่องเที่ยวให้กับชุมชน “หมู่บ้านคชานุรักษ์” ตามโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่ทรงมีความมุ่งมาดปรารถนาเสด็จไปช่วยชาวบ้านในหมู่บ้านที่ถูกบุกรุกจากช้างป่าให้เป็นชุมชนที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดกับภูเขาบริเวณจังหวัดจันทบุรี สระแก้ว ระยอง และจังหวัดชลบุรี ซึ่งหมู่บ้าน/ชุมชนเหล่านี้ล้วนเป็น Amazing Community-based tourism ที่น่าสัมผัส น่าศึกษาเรียนรู้ ทั้งในมิติวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ธรรมชาติสวยงาม ที่มีความปลอดภัย ที่สำคัญที่สุด สมาชิกในหมู่บ้าน/ชุมชนเป็นเจ้าบ้านที่ดีที่สามารถให้การดูแลนักท่องเที่ยวเสมือนเป็นญาติพี่น้อง โดยสามารถเดินทางไปเยี่ยมเยือนและดื่มด่ำวิถีดังกล่าวทั้งในระยะสั้น และระยะยาว หรือเข้าพักเพื่อทำงาน (Workation) ก็ได้ จึงขอเชิญ Airbnb มาร่วมสัมผัสและส่งเสริมการพัฒนาร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

     สุดท้าย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย ขอเชิญชวน Airbnb ได้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมชมหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อร่วมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งในขณะนี้มีหลายพื้นที่ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา รวมไปถึงพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนที่น้อมนำพระราชดำริเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระดำริในการส่งเสริมอาชีพการทอผ้าแบบพึ่งพาตนเองของประชาชนในพื้นที่ชุมชนทอผ้าทั่วประเทศเพื่อส่งเสริมการใช้ผ้าไทยตามโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนเหล่านี้ พร้อมให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้าไปศึกษา ไปใช้ชีวิต “แบบพึ่งพาตนเอง 100%” โดยไม่ต้องง้อความเจริญของเทคโนโลยี เช่น ฝึกทำอาหาร ปลูกพืช ผัก สวนครัว ผลไม้ ทำไร่ ทำนา ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอผ้า เป็นต้น กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ อาทิ พื้นที่พุทธอุทยานดอยอินทรีย์ จังหวัดเชียงราย ซึ่งได้รับการพัฒนาและฟื้นฟูโดยพระอาจารย์วิบูลย์ ธมฺเตโช จากพื้นที่เขตป่าสงวนที่เคยถูกบุกรุกทำลายกลายเป็นป่าใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังเป็นการพื้นที่ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ทำโคก หนอง นาที่ปลอดสารพิษ 100% รวมถึงหมู่บ้านทอผ้าไหม ผ้าฝ้าย ในจังหวัดสกลนคร นครพนม สุรินทร์ มหาสารคาม ชัยภูมิ นครราชสีมา ที่นักท่องเที่ยวและผู้สนใจสามารถเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย ทำสีธรรมชาติ กระทั่งทอจนเป็นผืนผ้า 

     นางมิช โกห์ (Mich Goh) และ นางแชงการี คิรุปปัลลินี (Ms. Shangari Kiruppalini) กล่าวว่า ขอขอบคุณปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ให้เกียรติร่วมประชุมกับ Airbnb ในวันนี้ ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 ปีของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 Airbnb ได้มุ่งมั่นทำงานเชิงสร้างสรรค์กับกระทรวงมหาดไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อเป้าหมายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ผ่านแนวทางการศึกษาและการขับเคลื่อน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) แนวโน้มในการเดินทางของนักท่องเที่ยวหลังการระบาดของโรคโควิด-19 2) การท่องเที่ยวแบบชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ตามมาตรการของประเทศไทย 3) เป้าหมายการส่งเสริมการท่องเที่ยวในปี 65 และ 4) แนวทาง/เป้าหมายการขับเคลื่อนส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนของกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งได้ทำการศึกษาด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยผ่าน 3 เสาหลัก คือ 1) นโยบายประเทศไทยเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว 2) การสนับสนุนการท่องเที่ยววิถีชุมชนอย่างใกล้ชิดกับกรมการพัฒนาชุมชน และ 3) การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย ซึ่ง Airbnb จะได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของชุมชนให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

     “กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน กรมการปกครอง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนผ่านกระบวนการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อ Change for Good สร้างสรรค์สิ่งที่ดีอันเป็นการอำนวยประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ชนบทและขยายผลไปในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง ควบคู่วิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำในช่วงท้าย

องคมนตรีเผยกองทุนเล่าเรียนหลวงพร้อมหนุน ยกระดับเผยแผ่พุทธตอบโจทย์สังคมยุคดิจิทัล

  

วันพุธที่ 27 เมษายน 2565  



คณะ กก. เผยแผ่พุทธศาสนาแห่งชาติประชุมครั้งแรก มุ่งยกระดับการเผยแผ่ตอบโจทย์สังคมยุคดิจิทัล เตรียมเสนอมส.ตั้ง กก.ระดับจังหวัด มีอนุกก.ฝ่ายต่างๆ เสริม  ขณะที่องคมนตรีเผยกองทุนเล่าเรียนหลวงพร้อมสนับสนุน 

วันที่ 26 เมษายน 2562 ที่วัดประยุรวงศาวาส กรุงเทพมหานคร  คณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ พระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ตามระเบียบว่าด้วยการเผยแผ่มหาเถรสมาคม ซึ่งมีพระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานกรรมการ ได้ร่วมประชุมกับคณะกรรมการทั้งพระสงฆ์ รวมถึงข้าราชการกระทรวงต่างๆ โดยมีนายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ



พระพรหมบัณฑิต กล่าวว่า ระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยการเผยแผ่พระพุทธศาสนา 2564 เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดทิศทางเพื่อบูรณาการการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ การประชุมวันนี้ได้มีการเสนอให้มหาเถรสมาคมได้แต่งตั้งคณะกรรมการเผยแผ่ระดับจังหวัด แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผล เพื่อให้คณะอนุกรรมการได้ช่วยยกร่างแผนแม่บทในการเผยแผ่ที่สามารถตอบโจทย์สังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป



ในขณะที่ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ได้กล่าวว่า กองทุนเล่าเรียนหลวงจะมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาร่วมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาพระภิกษุสามเณรได้ศึกษาปริยัติ และปริยัติอย่างลึกซึ้งแตกฉาน และจะส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เป็นหลักทางจิตใจและความคิดของประชาชน



นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ย้ำว่า เชื่อมั่นว่า ภายใต้ระเบียบดังกล่าว จะทำให้สามารถพลิกโฉมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งปริยัติและปฏิบัติ เข้าถึงความต้องการของสังคมโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้อย่างกว้างขวาง และมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งในและต่างประเทศ  อีกทั้ง จะนำไปสู่การออกแบบรูปแบบการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรูปแบบทั้งแบบประเพณีนิยม และรูปแบบสมัยใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละกลุ่มเป้าหมายสอดรับกับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ทั้งในชุมชน องค์กร และสถานศึกษาระดับต่างๆ



เจ้าคณะภาค 6 ร่วมเวทีเสวนา “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ :ทิศทางระบบสุขภาพของไทย”

 


เจ้าคณะภาค 6 ร่วมเวทีเสวนา “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ :ทิศทางระบบสุขภาพของไทย” ชี้ธรรมนูญสุขภาพเป็นเครื่องมือนโยบายสาธารณะ ในการขับเคลื่อนให้เกิดสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน”

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม กรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพฯ พระเทพเวที (พล  อาภากโร) เจ้าคณะภาค 6 เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม และรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ร่วมเป็นวิทยากรเสวนาในเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 โดยมี ดร.สุวิทย์  เมษินทรีย์ ประธานจัดทำธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 กล่าวรายงาน และ ดร.สาธิต  ปิตุเตชะ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเปิดการประชุม



พระเทพเวที กล่าวว่า ขออนุโมทนาที่ให้โอกาสคณะสงฆ์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 กระบวนการสมัชชาถือเป็นเครื่องมือในการทำและใช้ธรรมนูญสุขภาพเป็นนโยบายสาธารณะในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างสุขภาวะให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ชอบใจคำว่า “ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เมื่อนึกถึงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา คือ หลักสาราณียธรรม 6 ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติของผู้ที่อยู่ร่วมกัน ตั้งแต่ขนาดเล็ก เช่น ระดับบุคคล ครอบครัวไปจนถึงระดับประเทศ หรือแม้กระทั่งในระดับโลก ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อความเท่าเทียมและยั่งยืน ทั้งในระดับ individual well-being , collective well-being, planetary well-being



หลักสาราณียธรรมนี้มีสาระอันพอสรุปได้ 6 ประการดังนี้ (1) เมตตากายกรรม คือ การช่วยเหลือกิจธุระของผู้ร่วมหมู่คณะด้วยความเต็มใจ เคารพนับถือกันทั้งต่อหน้า และลับหลัง (2) เมตตาวจีกรรม คือ การช่วยบอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์  (3) เมตตามโนกรรม คือ การตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สังคม (4) สาธารณโภคิตา  คือ มีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์สาธารณะร่วมกันตามหลักธรรมาภิบาล (5) สีลสามัญญตา คือมีความประพฤติสุจริตดีงาม กระทำตนเป็นประโยชน์ และ (6) ทิฏฐิสามัญญตา คือ มีความเห็นชอบร่วมกันในข้อที่เป็นหลักการ อันจะนำไปสู่ความหลุดพ้น สิ้นทุกข์ ขจัดปัญหา



อย่างไรก็ตามพระเทพเวที ได้กล่าวถึงรูปธรรมความสำเร็จ ซึ่งเป็นดอกผลจากการมีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติหลายประการ เช่น พระคิลานุปัฏฐาก, กองบุญสุขภาวะ,  การเข้าถึงสิทธิบริการสุขภาพของพระสงฆ์,  ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธ,  การมีส่วนร่วมในกองทุนตำบลของพระสงฆ์ เป็นต้น  


ในตอนหนึ่งพระเทพเวทีได้กล่าวถึงมีประเด็นที่น่าสนใจว่า ทำไม ? จึงต้องทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ จำเป็นหรือไม่ ? ทำไม ? ไม่ใช้ธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติที่มีอยู่แล้ว คำตอบก็คือ (1) เพราะพฤติกรรมกำหนดสุขภาพพระสงฆ์แตกต่างจากประชาชนทั่วไปด้วยมีหลักพระธรรมวินัย (2) พระสงฆ์มีต้นทุนความศรัทธา ถือเป็นทุนทางสังคมสูง หากสามารถทำให้องค์กรสงฆ์เป็นองค์กรสุขภาวะ จะเกิดประโยชน์มากมายมหาศาลต่อการสร้างสุขภาวะให้ประชาชน  


พระเทพเวทีกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อพระสงฆ์สามารถดูแลสุขภาพตัวเองและดูแลกันเองได้  ชุมชน สังคม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือร่วมใจกันอุปัฏฐากพระสงฆ์ ก็จะส่งผลให้พระสงฆ์มีสุขภาวะที่ดี เกิดเป็นองค์กรสุขภาวะที่สามารถเป็นผู้นำด้านสุขภาวะให้กับชุมชนและสังคมได้ โดยเฉพาะ สุขภาวะทางจิตและปัญญา เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีกระบวนการนโยบายสาธารณะในทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างมีส่วนร่วม 


"ในปี2565 นี้ เป็นวาระครบรอบการทบทวนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและสร้างเครื่องมือนโยบายสาธารณะ เป็นกรอบและทิศทางให้องค์กรภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการอุปัฏฐากพระสงฆ์ เพื่อนำไปสู่หมุดหมายสำคัญในการสร้างระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และใช้พลังบวรขับเคลื่อนให้เกิดสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืนต่อไป" พระเทพเวทีกล่าวสรุปในตอนท้าย

กรมปศุสัตว์คัดเลือกพระโค "4 พอ" พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญปี2565

 


เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565   นายสัตวแพทย์สรวิศ  ธานีโต  อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์  เป็นหน่วยงานคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ใน วันพืชมงคลปีนี้ ซึ่งตรงกับ วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2565  พระโคในทางศาสนา พรามหณ์ หมายถึง  เทวดาผู้ทำหน้าที่เป็นพาหนะของพระอิศวรซึ่งเปรียบได้กับการใช้แรงงานและความเข้มแข็ง  และเป็นสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแล  ซึ่งเปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์  ดังนั้น ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ  จึงได้กำหนดให้ใช้พระโคเพศผู้เข้าร่วมพระราชพิธีเสมอมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1  เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็งและความอุดมสมบูรณ์ 



โดยในปีนี้ศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพราชบุรี  สังกัดสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิต      ปศุสัตว์  กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการคัดเลือกโคเพื่อเป็นพระโคตามหลักเกณฑ์ กล่าวคือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 ซ.ม. ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า 120  ซ.ม.ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180  ซ.ม.  โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย  ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่ายไม่ดุร้าย เขาลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงามดี มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง มีขาและกีบข้อเท้าแข็งแรง  มองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม



ซึ่งในปีพ.ศ. 2565  นี้ กรมปศุสัตว์ได้ทำการคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ  2  คู่  เป็นพระโคแรกนาขวัญ 1 คู่  คือ พระโคพอ  มีความสูง 165  ซ.ม. ความยาวลำตัว 225  ซ.ม. ความสมบูรณ์รอบอก  214  ซ.ม.  อายุ  10  ปี  พระโคเพียง มีความสูง 169 ซ.ม. ความยาวลำตัว  238  ซ.ม. ความสมบูรณ์รอบอก 209  ซ.ม. อายุ  10  ปี  พระโคสำรอง 1 คู่  คือ พระโคเพิ่ม มีความสูง 159  ซ.ม. ความยาวลำตัว 233  ซ.ม. ความสมบูรณ์รอบอก  201  ซ.ม. อายุ  12 ปี  พระโคพูล มีความสูง  157  ซ.ม. ความยาวลำตัว  238  ซ.ม. ความสมบูรณ์รอบอก 205  ซ.ม.อายุ 12  ปี ซึ่งเป็นโคพันธุ์ขาวลำพูน มีสีผิวขาวอมชมพู ขนสีขาวสะอาด ทั้งลำตัวไม่มีจุดด่างดำหรือสีอื่นบนลำตัว  เขามีสีขาว เป็นลำเทียน  เขาทั้งสองข้างมีลักษณะโค้งสวยงาม ดวงตาแจ่มใสสีน้ำตาลอ่อน ขนตาสีชมพู บริเวณจมูกขาว กีบสีขาว ขนหางเป็นพวงสีขาวยาว ลำตัวช่วงขาหลังและกีบมีความสมบูรณ์แข็งแรง  เวลายืนและเดินสง่า โดยนายสมชาย ดำทะมิส  บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคพอ  มอบให้กรมปศุสัตว์นำน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 



และ นายอาคม  วัฒนากูล  บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคเพียง  มอบให้กรมปศุสัตว์นำน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ใช้เป็นพระโคแรกนาขวัญประจำปีพุทธศักราช  2565    นายทฤษดี ชาวสวนเจริญ อดีตอธิบดีกรมปศุสัตว์บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคเพิ่ม มอบให้กรมปศุสัตว์นำน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  และนายวิจารณ์ ภุกพิบูลย์  มอบพระโคพูลให้กรมปศุสัตว์นำน้อมเกล้าฯ  ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ใช้เป็นพระโคสำรองประจำปีพุทธศักราช  2565 


   

โครงสร้างนิยายเรื่อง "น่านรัก"

โครงสร้างนิยายเรื่อง "น่านรัก" 1. บทนำ เปิดเรื่อง : สันติสุข ชายหนุ่มนักเขียนนิยายธรรมะที่ต้องการค้นหามิติใหม่ของการเล่าเรื่องธรรม...