วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

"วิเชียร"สร้างอนาคตไทยหนุนสูตรคำนวณหาร 100 เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน



"วิเชียร"สร้างอนาคตไทยหนุนสูตรคำนวณหาร 100 เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน ชี้หาร 500 ไม่สอดคล้องเจตนารมณ์ รธน.ปลื้ม บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทำปชช .อิสระเลือกพรรค-ส.ส. ลั่น กติกาที่เป็นกลาง ต้องไม่มีใครได้เปรียบ-เสียเปรียบ  ชี้หากศาลตีความนายกฯ ครบ 8 ปี พ้นตำแหน่งทันที ชี้ พิจารณาที่คุณสมบัติ อย่าอ้างรธน. 

เมื่อวันอังคารที่ 5 กรกฎาคม 2565 นายวิเชียร ชวลิต รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) และผู้อำนวยการพรรค กล่าวถึง แนวคิดการพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)  ในประเด็นการคำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ที่มีผู้เสนอให้หารด้วย 500 แทนการหารด้วย 100 ว่า การใช้หลักการส.ส.พึงมี โดยวิธีคำนวณหารด้วย 500 ตามมาตรา 91 เดิม และอ้างเจตนารมณ์ประกอบมาตรา 94 ที่ยังไม่ได้แก้ไข ส่วนตัวเห็นว่าไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่    ที่เขียนไว้ชัดเจนว่าเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรง  

“ผมมีความเห็นว่าในทางข้อกฎหมายนั้นอธิบายได้ยาก และไม่สอดคล้องกับเหตุ และผล คือสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรง เรามีบัตรเลือกตั้งลงคะแนนให้กับส.ส.เขต แล้วก็มีบัตรเลือกตั้งลงคะแนนให้กับส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่เวลาการคำนวณกลับกำหนดวิธีคำนวณโดยนำคะแนนบัตรทั้ง 2 ใบมารวมกัน ซึ่งตรงนี้ไม่ชอบด้วยหลักการและเหตุผล” 

นายวิเชียร กล่าวว่า ส่วนประเด็นการโต้แย้งกันว่าขัดรัฐธรรมนูญจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่นั้น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีกระบวนการที่แตกต่างจากการเขียนกฎหมายหรือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อื่นทั่วไป คือจะมีการกำหนดกระบวนการที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอยู่ในกระบวนการเลย คือ การเข้าชื่อโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งมา หรือส.ส. ในสภาเข้าชื่อกันแล้วไปพิจารณาโดยใช้การประชุมรัฐสภา คือวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรประชุมร่วมกัน เหมือนที่กำลังพิจารณาอยู่ และเมื่อรัฐสภาลงมติเป็นประการใด ก็ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องในที่นี้คือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หากมีความเห็นเป็นประการใดก็ส่งกลับมาให้รัฐสภาพิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ต้องใช้เวลาไม่เกิน 65 วัน ภายหลังจากที่รัฐสภาเห็นชอบในวาระที่ 3 แล้ว  

ดังนั้น การแก้ไข พ.ร.ป. ทุกอย่างถูกบังคับด้วยเวลา และเวลาก็กำหนดกระบวนการวิธีไว้ครบถ้วนแล้ว ตนจึงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร รัฐสภาสามารถใช้ดุลยพินิจของสมาชิกในการลงมติการอภิปรายเพื่อให้เหตุ และผล ก็เป็นสิทธิของสมาชิกที่จะให้ความเห็นได้ ซึ่งในที่สุดเชื่อว่าสมาชิกจะวินิจฉัยไปตามเหตุ และผลของกฎหมายที่ระบุไว้ ทั้งนี้ ตนคาดว่ากระบวนการน่าจะเสร็จสิ้นปลายเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ทำให้แต่ละเขตเลือกตั้งเล็กลงมีความใกล้ชิดของประชาชน และส.ส.เพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนการลงคะแนนเลือกตั้งเป็นแบบบัตร 2 ใบ เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเลือกผู้แทนที่ชอบ และเลือกพรรคการเมืองได้โดยอิสระ ไม่ต้องถูกบังคับให้ต้องตัดสินใจเลือกรวมด้วยบัตรใบเดียว และการคิดคำนวณส.ส.เข้าใจได้ง่าย คือ คะแนนรวมหารด้วยจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน เป็นที่เข้าใจได้ไม่ซับซ้อน 

“สำหรับการใช้สูตรหาร 500 นั้น ผมไม่อยากสรุปว่าวิธีการของการเลือกตั้ง และการคิดคะแนนจะมาตัดสินว่าทำให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งมีโอกาสในการเลือกตั้ง เพราะเท่ากับว่าเรากำลังนำกติกามากำหนดอนาคต เพราะอนาคตของพรรคการเมืองมันอยู่ที่การกระทำ แนวนโยบาย และสิ่งที่พรรคการเมืองต้องนำเสนอต่อประชาชนให้เขาศรัทธา และเชื่อถือ ถ้าเราไปอ้างว่ากติกานี้ทำให้ฉันได้เปรียบก็เหมือนกับมองข้ามประชาชน ประชาชนเป็นผู้เลือกว่าคนที่จะมาทำหน้าที่บริหารประเทศเพื่อให้เขาอยู่ดีมีสุขควรจะเป็นพรรคแบบไหน อย่างไร เราต้องเคารพในสิ่งเหล่านี้ ถ้าเรามองข้ามก็เท่ากับเราไม่เคารพในเสียงหรือผู้ลงคะแนนให้ ต้องคิดว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องสำคัญ ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะเลือกคนที่จะมาทำหน้าที่บริหารประเทศ ไม่ว่ากติกาจะเป็นแบบไหนเราก็พร้อมที่จะดำเนินการ เพราะถ้าเราออกกติกา และมีความเห็นว่ากติกานี้ทำให้เราได้เปรียบมันก็แสดงว่ากติกานั้นไม่เป็นกลาง ไม่เป็นธรรม ถ้าเป็นกลาง และเป็นธรรมต้องไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ” นายวิเชียร กล่าว

ชี้หากศาลตีความนายกฯ ครบ 8 ปี พ้นตำแหน่งทันที ชี้ พิจารณาที่คุณสมบัติ อย่าอ้างรธน. 

นายวิเชียร กล่าวถึงกรณีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ที่จะครบวาระ 8 ปีในเดือนสิงหาคม จะต้องรอให้ครบกำหนดก่อนหรือไม่ ว่า โดยปกติศาลรัฐธรรมนูญจะไม่วินิจฉัยหลักการ คือไม่วินิจฉัยล่วงหน้า แต่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วร้องขอให้วินิจฉัย ศาลจึงจะวินิจฉัยโดยปกติ ดังนั้นถ้าหลักการเป็นไปตามที่ได้เคยใช้อยู่นั้น ศาลก็จะรับเมื่อครบ คือเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วถึงจะส่งให้ศาลวินิจฉัย ดังนั้นต้องเป็นหลัง 24 ส.ค.ไปแล้ว ถึงจะสามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้  

เมื่อถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำวินิจฉัยการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ สามารถดำเนินการต่อไปได้ตามปกติหรือไม่ นายวิเชียร กล่าวว่า กฎหมายไม่ได้บอกไว้ อยู่ที่ศาลจะสั่ง แต่หากวินิจฉัยมาว่าครบ 8 ปีพ้นจากตำแหน่งทันที อย่างไรก็ตามนายกฯ ไม่สามารถรักษาการตำแหน่งได้ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการของการสรรหานายกฯ ใหม่ เป็นบทบัญญัติพิเศษที่บังคับใช้กับคนที่เป็นนายกฯ ว่าพ้นจากตำแหน่งทันที แต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะเมื่อนายกฯ ไม่อยู่กฎหมายก็บอกให้ครม.ที่เหลือรักษาการ ดังนั้นรองนายกฯ ก็เป็นรักษาการนายกฯ  

เมื่อถามว่า จำเป็นต้องสรรหานายกฯ ใหม่ นายวิเชียร กล่าวว่า เมื่อตำแหน่งนายกฯ ว่างก็เป็นกระบวนการที่ต้องสรรหานายกฯ ใหม่อยู่แล้ว โดยกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ว่ากำหนดระยะเวลาเท่าไหร่ แต่ว่างเว้นจากผู้บริหารนานไม่ได้ ต้องเข้าสู่กระบวนการสรรหา  

เมื่อถามว่า จากสถานการณ์การเมืองขณะนี้ จะนำไปสู่เรื่อง 8 ปีแล้วต้องสรรหานายกฯ ใหม่หรือไม่ นายวิเชียร กล่าวว่า ฝ่ายค้านยื่นอยู่แล้ว ประเมินขณะนี้ หากฝ่ายค้านยื่นก็ต้องไปสู่กระบวนการวินิจฉัยของศาลต่อไป แต่ประเด็นเรื่องครบวาระ 8 ปีก็มีความเห็นหลายมุม อย่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ก็พูดเป็นนัยว่าถ้าครบแล้วยื่น ศาลก็ต้องวินิจฉัย  

เมื่อถามว่า ในแง่กฎหมาย มองว่าผลการวินิจฉัยจะออกมาเป็นอย่างไร นายวิเชียร กล่าวว่า เราไปวินิจฉัยแทนไม่ได้ เหตุผลต่างๆ ประกอบกัน แต่โดยหลักการเรื่องการกำหนดคุณสมบัติของคนที่จะดำรงตำแหน่งนั้น ต้องพิจารณาในเรื่องของคุณสมบัติ ไม่ได้ดูที่กฎหมายใช้เมื่อไหร่ ซึ่งความเห็นส่วนตัว จะนำรัฐธรรมนูญมาอ้างไม่ได้เป็นคนละเรื่องกัน 

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...