วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม 2565 ในการสัมมนาและงานปฐมนิเทศนิสิตสาขาการพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประจำปี 2565 พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) กล่าวว่า พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม ที่จัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาการพัฒนาสังคม ของมหาจุฬา เป็นหนึ่งในศาสตร์สาขาที่สำคัญของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาสังคมในระดับโลก ด้วยเหตุว่า
พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม Engaged Buddhism เป็นหลักการสำคัญของการพัฒนาของโลก ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals ) ของสหประชาชาติ (UN) และการพัฒนาของประเทศไทย ที่เน้นเรื่อง BCG ที่เป็นการพัฒนาบนฐานทุนทางวัฒนธรรม ซึ่งปรากฏในการพัฒนาของไทย เช่น การพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โคกหนองนาโมเดล การพัฒนาเศรษฐกิจฐากรากวิถีพุทธ การเกษตรวิถีพุทธ หรือการพัฒนาเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาความยากจน เป็นต้น ดังนั้น การศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม จึงเป็นสิ่งสำคัญ
สำหรับการศึกษาพระพุทธศาสนาในระดับสากลนั้น มีรูปแบบการเรียนรู้ใน 3 มิติที่สำคัญ คือ
1) การเรียนรู้พระพุทธศาสนาแบบวิชาการ (Scholar Buddhism ) ที่เน้นการศึกษาในเชิงคัมภีร์ หลักพุทธธรรม หลักพุทธปรัชญา หรือหลักคำสอนตามสายครูบาอาจารย์
2) การศึกษาพระพุทธศาสนาในเชิงปฏิบัติ (Practical Buddhism ) ที่เน้นหลักการทางพระพุทธศาสนาไปปฏิบัติธรรม เช่น การศึกษาและปฏิบัติสมาธิ การฝึกจิตใจ เพื่อเข้าใจโลก เข้าใจชีวิต และการปฏิบัติตามที่ครูบาอาจารย์สั่งสอน ในสายวิปัสสนาต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์ความสุขให้ดับตนเอง
3) พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม (Engaged Buddhism) เป็นการนำหลักการและวิถีปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาไปสู่การพัฒนาสังคม เกื้อกูล สร้างสรรค์ แบ่งปันต่อสังคม ซึ่งสังคมไทย ได้มีแนวปฏิบัติเชิงสังคมจำนวนมาก ไม่ว่า จะเป็น การพัฒนาชุมชนวิถีพุทธ การตั้งธนาคารข้าว กองทุนสงเคราะห์ กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ โคกหนองนา หรือการรักษาสิ่งแวดล้อม การช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน เป็นต้น
นอกจากนี้ พระธรรมวัชรบัณฑิต ยังให้คำแนะนำ นิสิตใหม่ว่า ให้หมั่นเรียนรู้เรื่องปรากฎการณ์วิทยา การพัฒนาเชิงพื้นที่ ภูมิศาสตร์การพัฒนา จิตวิทยาเชิงพุทธเพื่อสังคม และการพัฒนาร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาสังคมตามหลักพระพุทธศาสนา อันจะเป็นการยกระดับพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม Engaged Buddhism ของไทยสู่สังคมโลก ต่อไป
ในงานวันดังกล่าว ยังมีการมอบรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นสาขาการพัฒนาพัฒนาสังคมของมหาจุฬา ในโอกาสครบรอบ 10 ของการก่อตั้งสาขาการพัฒนาสังคมมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ซึ่งปัจจุบันสาขาการพัฒนาสังคมเปิดการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาโท-เอก ในส่วนกลางที่มหาจุฬาฯ อำเภอวังน้อย พระนครศรีอยุธยา วิทยาเขตนครศรีธรรมราช เชียงใหม่ เชียงราย นครปฐม พิจิตร จันทบุรี ร่วมกับภาคีการพัฒนาสังคมในประเทศไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น