วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

"สมเด็จพระสังฆราช" ประทานพระคติธรรม "วันอาสาฬหบูชา" 2565



วันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2565 เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันอาสาฬหบูชา โดยมีใจความว่า ดิถีอาสาฬหบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ควรที่สาธุชนจักได้น้อมรำลึกถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ ณ อิสิปตนมฤคทายวัน อันเป็นการเริ่มประกาศพระศาสนา

ทั้งนี้ท่ามกลางภาวการณ์ปัจจุบัน อันเต็มไปด้วยภยันตรายอันน่าหวาดหวั่นที่หลายคนคิดว่าคงไม่อาจเกิดมีขึ้นแล้ว ก็กลับบังเกิดมีขึ้นอีกทั่วไปในโลก เช่น ภัยสงคราม ทุพภิกขภัย และภัยอาชญากรรมร้ายแรงต่างๆ เป็นต้น

ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสวัสดิภาพของผู้คนในวงกว้าง ท่านทั้งหลายพึงหันมาพิจารณาทบทวนอริยมรรค โดยใช้หนทางแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุสำคัญประการหนึ่ง ได้แก่ “สัมมาสังกัปปะ” ซึ่งหมายถึง “ความคิดที่ถูกต้อง”

กล่าวคือ ความคิดที่จะลดละความอยากได้อยากมีจนเกินประมาณ ความคิดที่จะไม่พยาบาทจองเวรกัน และความคิดที่จะไม่เบียดเบียนกัน ขอจงช่วยกันระดมความคิดเห็นในทางสันติ ฉลาดในการปรึกษาหารือกันด้วยสัมมาวาจา เพื่อแก้ไขปัญหาของสังคมในทุกระดับ ให้คลี่คลายไปได้ด้วยความอดทนอดกลั้น รู้จักละวางทิฐิมานะ ให้อภัย และมุ่งแผ่เมตตาต่อกันด้วยใจจริง

วันอาสาฬหบูชา นอกจากจะเตือนใจให้รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อันเป็นสรณะสูงสุดของพุทธบริษัทแล้ว ยังอาจเตือนใจให้ทุกท่านตระหนักแน่วแน่ในปณิธานแห่ง “สัมมาสังกัปปะ” ได้อีกด้วย

เพราะฉะนั้น หากท่านประสงค์ให้สังคมไทยร่มเย็นเป็นสุข ก็ขอจงหมั่นเพียรศึกษาอบรมและปฏิบัติธรรมะ โดยเริ่มที่ตนเอง จากการมี “สัมมาสังกัปปะ” อยู่ทุกขณะจิต เป็นการเกื้อกูลให้ตนเอง และสรรพชีวิตผู้ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ต่างสามารถปลอดพ้นจากภยันตรายทั้งที่เป็นทุกข์ประจำ และทั้งที่เป็นทุกข์จรทั้งหลาย ได้สมความมุ่งมาดปรารถนาทุกประการ เทอญ

พร้อมกันนี้เพจสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้เผยแพร่ ประกาศ สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ที่ ๓ / ๒๕๖๕ เรื่อง การจัดกิจกรรมเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา พุทธศักราช ๒๕๖๕  ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ความว่า 

            อนุสนธิ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช จึงประกาศแนวทางการจัดกิจกรรมเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม อนุโลมแนวปฏิบัติของคณะธรรมยุต เป็นการเฉพาะสำหรับเทศกาลเข้าพรรษา พุทธศักราช ๒๕๖๕ ดังต่อไปนี้

          ๑. เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงงดเสด็จออกประทานพระวโรกาสให้พระเถรานุเถระเฝ้าถวายสักการะ

          ๒. งดกิจกรรมตักบาตรดอกไม้ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

          ๓. งดการประชุมสังฆสันนิบาต ตามประเพณีคณะธรรมยุต ในดิถีแรม ๕ ค่ำเดือน ๘ (วันจันทร์ ที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕) ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง แต่ให้ประชุมสงฆ์ในวัดที่จำพรรษา ทำวัตรเย็น เจริญพระพุทธมนต์ด้วยพระสูตรและพระปริตรตามที่สำนักงานคณะธรรมยุตประกาศ แล้วเจริญจิตภาวนาถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช อนุโลมวิธีเช่นเคยปฏิบัติ

ทั้งนี้ ความทราบฝ่าพระบาทแล้ว

ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕

ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เชิญร่วมรับฟังธรรมบรรยาย เรื่อง "อาสาฬหบูชา วันเริ่มต้นเเห่งแสงธรรมจากโพธิญาณเพื่อสันติสุขของชาวโลก"

โดยพระธรรมวัชรบัณฑิต,ศ.ดร. อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ในวันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2565  เวลา 08.30 น. สามารถรับชมผ่านช่องทาง Application Zoom : 633 922 7142  หรือรับชมผ่านช่องทาง facebook live MCU TV News ,MCU TV Channel,MCU TV Live Youtube MCU TV และ tv.mcu.ac.th

"ชัชชาติ" ร่วมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 65 รูป 

วันที่ 13 ก.ค.65 เวลา 07.00น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 65 รูป เนื่องในวันอาสาฬหบูชา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการกรุงเทพมหานคร และประชาชน ร่วมพิธี ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ สนามหลวง

สำหรับ วันอาสาฬหบูชา ปีนี้ตรงกับวันที่ 13 กรกฎาคม เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธนิกายเถรวาท และเป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย คำว่า อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก อาสาฬหปูรณมีบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนกรกฎาคมหรือเดือนสิงหาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...