วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

เยือนเมืองดอกบัว “มหานคร” แห่ง โคก หนอง นา



“ทีมข่าวพิเศษ”  รับรู้เรื่องราวการทำ  “โคก หนอง นา”  ตั้งแต่ สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนแล้วว่า “จังหวัดอุบลราชธานี” เป็นจังหวัดที่ขับเคลื่อนโครงการ โคก หนอง นา หรือชื่อเต็มว่า “โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา" อย่างเข้มข้นและได้ผลมากมีประชาชนให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมมากที่สุดในประเทศไทยถึง  4,044 แปลง แบ่งออกขนาด 15 ไร่จำนวน 71 แปลง ขนาด 1 ไร่จำนวน 3,973 แปลง รวมพื้นที่ 9,474 ไร่  การขับเคลื่อนที่มีผลสัมฤทธิ์แบบนี้ นอกจากมีการบูรณาการภาครัฐที่เข้มแข็งแล้ว ยังมีภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมทำงานกับภาครัฐอย่างเข้มแข็งด้วย โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีมีที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นพระภิกษุถึง 2 รูป ทั้งจากคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายและคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย คือ พระปัญญาวชิรโมลี และ พระพิพัฒน์วชิโรภาส ซึ่งทั้ง 2 รูปถือว่าเป็นพระที่ขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจฐานรากในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชนอยู่ดีกินดี อันตั้งอยู่บนฐานเศรษฐกิจพอเพียงเจริญตามรอยศาสตร์ของพระราชาอย่างได้มรรคได้ผล มีผลสำเร็จเป็นเครื่องพิสูจน์ได้   ความร่วมมือแบบนี้สมควรให้จังหวัดอื่น ๆ นำเอาไปเป็นแบบอย่างในการขับเคลื่อนการทำงานระหว่างภาครัฐ คณะสงฆ์และประชาชนตามหลัก  “บวร”


“ดร.ภคิน ศรีวงศ์”  นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ รับอาสาพาไปดูแปลงพร้อมกับพาไปพบ “เจ้าคุณ”ทั้ง 2 รูปทั้ง พระปัญญาวชิรโมลี และ พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้เป็นหลักสำคัญของการขับเคลื่อนแปลงโคก หนอง นา ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีพร้อมทั้งจะไปสอบถามแนวคิดและความคืบหน้า ที่จะให้จังหวัดอุบลราชธานีนำร่องจัดตั้ง  “เขตเศรษฐกิจพอเพียง” 

“โคกหนองนาแม่อุดมโมเดล” ของ อุดม ชอบเสียง ชาวตำบลระเว อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี คือเป้าหมายแรกที่เราไปสำรวจดูซึ่งที่นี้ “รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์” ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาไทยระบุว่า “น่าจะเป็นแปลงตัวอย่างในการต่อยอดสู่ขั้นก้าวหน้า” ซึ่งหมายถึงนอกจากมีครบ 4 พ. คือ พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น มีไว้แจกจ่ายทำบุญทำทานตามหลักทฤษฎีบันได 9 ขั้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์รัชกาลที่ 9 แล้ว เหลือไว้ สำหรับต่อยอดขั้น  “ธุรกิจ” แล้ว

“พี่ดม” เล่าว่าเข้าร่วมโครงการโคกหนองนาไว้ขนาด 1 ไร่ แต่ในความจริงทำแนวเศรษฐกิจพอเพียงปลูกพืชแบบผสมผสานไว้ประมาณ 5 ไร่ ต้นไม้ป่าอยู่มุมนึง มีพริกที่ได้ผลผลิตเยอะ ทำกับสามี ตลาดมันเยอะ ทุกวันนี้มีกล้วยที่มีตลาดให้ความต้องการตลอดเลย  เราเอาไปขายเองดีกว่าให้มารับที่สวน เพราะบางอย่างที่เรามี เขาก็ไม่ต้องการ ส่วนใหญ่ขายที่ตลาดชุมชน หน้าอำเภอเฉพาะวันจันทร์และวันศุกร์ ตลาดแถวบ้านมีทุกวัน แต่เราไปวันเว้นวัน จะมีกล้วย พริก และต้นพริก เมื่อเราถามว่าชุมชนแถวนี้ส่วนใหญ่คือเกษตรกรแล้วอะไรคือจุดเด่นของเรา พี่ดมว่า


“ความคิดค่ะ คนแถวนี้เขาไม่คิดแบบเรา เราคิดว่าเราจะมีทุกอย่างแบบผสมผสาน ขายได้ทุกอย่าง อะไรที่ชุมชนเราชอบกิน เราก็ปลูก รายได้เฉพาะของในสวน เดือนนึงมีรายได้ประมาณ 20,000 บาท ขายออนไลน์ก็มี เมล็ดผักกาด เมล็ดผักชี เมล็ดข้าวโพด การขายเมล็ดทำให้มีรายได้เยอะ ขายเพาะกล้าด้วย  ลูกค้าออนไลน์ก็มีมา เรื่อย ๆ มีเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์มารับถึงสวน ทำให้มีรายได้ 2 ทาง เดือนนึงมีรายได้ประมาณ 30,000-40,000 บาท ช่วงหน้าแล้งยังขายหญ้าได้อีก  2,000 บาท  ที่นี้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้วย ผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงานก็จะมี กศน. กลุ่มแม่บ้าน รายได้จากการมีคนมาดูงาน ครั้งละ 1,000 กว่าบาท โครงการโคก หนองนา นี้มีประโยชน์ต่อชุมชนมาก คนในชุมชนก็มีการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  แต่คนที่ทำตรงนี้บางคนเขาคนที่ถอย เพราะใจเขาไม่เอาแล้ว อาจจะปลูกแล้วขายไม่เป็น ก็เลยคิดว่าซื้อกินดีกว่า ในหมู่บ้านคนที่ปลูกพืชผักขายมีอยู่แค่ 3 คน นอกนั้นซื้อกินหมด โดยเฉพาะหน้าฝนยิ่งไม่มีคนปลูก ทำให้เราขายดี..”


เป้าหมายต่อไปคือ สวน "ฮักแพง ฮ่องย่า นาหนองไผ่" ของ  แก้วกล้า บัวศรี ขนาด 15 ไร่ ตั้งอยู่ใน ต.โนนกุง อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี อดีตนักบวชเก่าจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ เป็นผู้มีศิลป์ในการแกะสลักเทียนเข้าพรรษา ช่วงที่ทีมงานไปถึง “ทิดจ่อย” หรือ แก้วกล้า บัวศรี กำลังแกะสลักเทียนเข้าพรรษาอยู่ในวัด ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากแปลงโคก หนอง นา ของเขามากนัก สำหรับเทียนจำพรรษาที่กำลังแกะอยู่นั้นวัดจะส่งเข้าประกวดในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2565 ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 121 แล้ว ภายใต้ชื่องานว่า “121 ปี ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา” เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ให้นักท่องเที่ยวและประชาชนเดินทางมาท่องเที่ยวงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี และเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น โดยมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-17 กรกฎาคม 2565 นี้


“ทิดจ่อย” เล่าเบื้องหลังชีวิตว่า แต่ก่อนใช้ชีวิตเป็นนักบวชทั้งเณร ทั้งพระ ประมาณ 13 ปี  ได้ศึกษาแนวทางการดำเนินชีวิต หลักอิทธิบาท 4 ไปที่ไหนไม่มีอดตาย ศึกษาด้านการทำเกษตรเริ่มแรก น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อมีโอกาสลาจากร่มผ้ากาสาวพัสตร์มาสู่เพศบรรพชิต ลาสิกขามาเมื่อประมาณปี 2549 ก็มีใจรักด้านการเกษตร ยังได้ไปทำงานที่กรุงเทพฯ ลองผิดลองถูกทุกอย่าง อยู่ในเมืองชีวิตมีแต่ความวุ่นวาย มันไม่มีความสุข วนเวียนอยู่ 8 ปี สุดท้ายได้มีโอกาสกลับสู่ชนบท ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ จังหวัดสุรินทร์ เมื่อก่อนได้มาศึกษาอยู่ที่ จังหวัดอุบลราชธานี  เมื่อลองผิดลองถูกมาสักพักแล้ว ก็อยากจะมีความรู้เรื่องการทำโคก หนอง นา ตอนปี 2558 กลับมาอยู่บ้านแฟนที่อุบลราชธานี เริ่มต้นจากการทำไร่ไถนา ปกติเป็นคนรักธรรมชาติ ชอบความสงบ ลองผิดลองถูก เลี้ยงปลาดีไหม ปลูกต้นไม้ดีไหม แต่เมื่อเราลงทุนลงแรงไปแล้ว ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ก็ลองมาทบทวนว่า เราไม่มีน้ำ เมื่อก่อนตรงนี้แห้งแล้งมาก ไม่มีน้ำเลย ตอนแรกเลี้ยงปลาในบ่อเล็ก ๆ มีการเจาะน้ำบาดาลมาใช้บ้าง แต่ก็ไม่เพียงพอ ต่อมาได้เข้าไปศึกษาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ดูว่ามีแนวคิดอะไรบ้าง ลองผิดลองถูกมาตลอดจนเมื่อมีโครงการโคก หนอง นา เข้ามาจึงมองเห็นว่าแหล่งน้ำมาแล้ว โครงการในฝันของเรามาแล้ว ตอนสมัครไม่มีคู่แข่งเลย มีวันหนึ่งได้ขับรถไปกับกำนัน และมีคนกรมพัฒนาชุมชนโทรมาหากำนัน เพื่อหาผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ โคก หนอง นา คนเรานั้นชอบเสียดายที่ดิน จึงสนใจเพราะมันตรงกับใจ และได้ปรึกษากับภรรยา ตอนแรกภรรยาไม่เห็นด้วย ก็ได้พยายามอธิบายทำความเข้าใจกับภรรยา ตอนหลังก็เข้าใจ จนปี 2563 ก็ได้ขุดบ่อ



“ตรงนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานภาครัฐ คณะสงฆ์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรแพทย์ภายในตำบล ใช้หลัก “บวร” ในการขับเคลื่อน พระก็มาจากวัดร่องข่า วัดบ้านโคกสว่าง 2 ชุมชนมาช่วยกัน ถึงเวลาผมก็ไปช่วยวัด ช่วยชุมชน ผมทำอะไรเขาก็มาช่วยผม เหมือนการเอามื้อสามัคคี น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า เกิดชุมชนสามัคคี  ทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้ อยากสร้างเป็นแหล่งรายได้ของชุมชนและตนเองด้วย ผมว่าศาสตร์ของพระราชานี้หากขยันก็รวย ไม่ขยันก็มีกิน สุดยอดของเราแล้ว..”


สังคมน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งพามีความเกื้อกูลซึ่งกันและกันแบบนี้เป็นสังคมแห่งน้ำใจเป็นสังคมที่หลายหมู่บ้านและชุมชนอยากฟื้นฟูนำกลับมา ตลอด 2 ปีมานี้หลายชุมชนฟื้นฟูกลับคืนเอามาได้โดยใช้แปลงโคกหนองนาเป็นฐานและต่อยอดจากการ “เอามื้อสามัคคี”  ซึ่งสิ่งเหล่านี้นักวิชาการ นักปราชญ์หลายท่านสรุปตรงกันว่ามันคือ “รากเหง้าวัฒนธรรมชุมชนเดิม” ของประเทศไทยอยู่แล้ว แต่ตอนหลัง ๆ วิถีชีวิตคนไทยเปลี่ยนไปทำให้วัฒนธรรมชุมชนเหล่านี้จ่างหายไปจากชุมชนหมู่บ้านและสังคมไทยไปด้วย

“ดร.ภคิน ศรีวงศ์”  ไกด์กิตติมศักดิ์ บอกว่ายังมีอีกแปลงหนึ่ง คนนี้น่าสนใจเพราะดูจาก มีบ้านหลังโตและที่ดินซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองราคาไร่ละหนึ่งล้านบาทขึ้นไปเป็นคนมีอันจะกิน ภรรยาเป็นพยาบาล แต่สนใจทำโคก หนอง นา ซ้ำที่ดินปลูกต้นไม้เศรษฐกิจเอาไว้หลายไร่ คนนี้เคยทำงานลงเรือน้ำมันแถวตะวันออกกลาง กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เห็นว่าเขาตั้งใจจริง ทำจริง ลงมือจริง จึงให้งบโครงการโคก หนอง นา ไว้ขนาด 1 ไร่


“ไพบูลย์ ยะระเขต” ชาวตำบลขามใหญ่ อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี  หน้าตาเหมือนชาวเหนือ บอกว่า  กล้าตัดสินใจทำโคก หนอง นา เพราะ หนึ่ง  เรามีเวลา สอง มีความตั้งใจจริงที่จะทำ และ สาม ที่ดินของเราก็พัฒนาให้มีมูลค่าเพิ่ม จากเดิมทำนาอย่างเดียว ไม่มีร่มไม้เลย ที่เห็นอยู่ตรงนี้ใช้เวลาเพียง 2 ปี 2 เดือนเท่านั้นลงมือเองทำคนเดียว  ในส่วนของ 5 ไร่ที่เราตั้งใจทำก่อนหน้านี้ ที่ทำอยู่ตอนนี้ทั้งหมด  11 ไร่ ปลูกป่าผสมผสาน เข้าไปอยู่ในกลุ่ม “คนบ้าปลูกต้นไม้”  บ้านี้คือบ้าดี ลักษณะของคนกลุ่มนี้คือ ไม่บ้าจริงทำไม่ได้ เพราะมีช่วงหนึ่งที่กฎหมายมาตรา 7 ยังไม่ปลดล็อค พอปลดล็อคแล้วก็สบายเลย คนที่เริ่มต้นก่อนยิ้มเลย อันนนี้คือมูลเหตุว่าทำไมคนถึงไม่กล้า แต่คนบ้าเขากล้าทำ  ตอนนี้มีไม้ทั้งหมด 40 กว่าชนิดคือเข้าร่วมโครงการทั้งหมด ปลูกแบบผสมผสาน แต่จะเน้นยางนา เพราะเป็นไม้สูง ราชาแห่งไม้ ที่เดิมตรงนี้เป็นดินทรายมันเหมาะ ก่อนที่จะปลูกก็ต้องดูภูมิสังคมว่าไม้ดั้งเดิมคือไม้อะไร พอยางนามันปลูกได้ ก็ตามด้วย ประดู่ พะยูง ไม้สักทอง ตะเคียน แล้วก็ไม้ระดับกลาง เช่น มะฮอกกานี อายุ15-16 ปีก็ตัดได้แล้ว ต่อมาไม้กินก็ไล่เลี่ยตามมา แต่ไม่ได้ปลูกเป็นแนว เป็นแถว  ปลูกแบบป่าเลย แต่ยางนาก็ปลูกใกล้ๆกันห่าง 3-4 เมตร เผื่อเราตัดอย่างอื่นออกก่อนยางนาก็ผอมมันก็จะได้อวบขึ้น


“ระหว่างระยะห่างขอต้นยางนาก็จะปลูกไม้อื่นผสมไปหมด เพราะมองว่าเมื่อยางนาสูงชะรูดขึ้นแล้ว สูงประมาณ3-4 เมตรแล้วช่วงนั้นต้นเล็กๆมันจะเบียดกันหาแสง เมื่อต้นที่สูงได้ระดับมันแล้วเราก็ตัดได้ คือเราควรปลูกอย่าให้เป็นอวกาศ แต่ควรปลูกให้เป็นโอกาส  สาเหตุสำคัญที่ทำแบบนี้ เพราะ หนึ่ง เราไม่ได้รับราชการ ไม่มีบำนาญไว้ให้ลูก แล้วอะไรที่จะเป็นมรดกให้ลูกได้ จึงมาคิดว่าต้นไม้ก็เป็นมรดกได้ มันเพิ่มมูลค่าได้ ส่งต่อให้ลูกได้..”

“ไพบูลย์ ยะระเขต”   พาทีมข่าวเดินชมดูสวนไม้ป่าเศรษฐกิจที่ปลูกไว้อย่างหนาแน่นกว่า 40 กว่าชนิด บางแห่งมีแซม “ผักหวาน”ไว้ด้วย ภายในสวนมีการเลี้ยงไก่ มีบ่อปลา ระหว่างร่องไม้มี “คลองใส้ไก่” ขนาดเล็กที่เขาลงมือทำไว้เลี้ยงพืชให้ชุ่มด้วยน้ำหล่อเลี้ยงให้ดูเขียวขจีอยู่เสมอ พร้อมทั้งพาไปชฤมพืชผัก นาข้าว และกล้าไม้ที่รอแจกและขาย จนเราคิดว่าไม่น่าเชื่อว่าจะทำได้คนเดียว ซ้ำหน้าตาก็ไม่เหมือนกับเกษตรกรทั่วไป


หากจะว่าไปแล้วตลอด2ปีมานี้ทีมข่าวพิเศษลงพื้นที่สำรวจแปลงโคกหนองนาภายใต้การสนับสนุนของ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มาแล้วกว่า 40 จังหวัด ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นการปลูกไม้เศรษฐกิจจำนวนมากแบบแปลงของ ไพบูลย์ ระยะเขต เลย แม้แต่แปลงโคก หนอง นา ของ พระอาจารย์สังคม ธนปญฺโญ จังหวัดสุรินทร์ ที่ว่าเป็น “ปรมาจารย์แห่งโคกหนองนา” จำนวนต้นไม้และขนาดแปลงเล็กกว่านี้ แปลงของไพบูลย์ ระยะเขต จึงนับว่าเป็นแปลงที่สมบูรณ์ที่สุดที่เราเคยเจอมา

ความจริงยังมีอีก 2 แปลงที่ควรค่าแก่การกล่าวถึงและเจ้าของทั้ง 2 แปลงถือว่าเป็นกลไกหนึ่งสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนการทำโคกหนองนา ที่กำลังจะต่อยอดเป็น “เขตเศรษฐกิจพอเพียง” หรือชื่อเต็มว่า  “การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy Model) มีเป้าหมายเพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย และเท่าที่ฟังจากพระคุณเจ้าทั้ง 2 รูป นอกจากเป็นที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยแล้ว ถือว่าเป็น “มันสมอง” สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในการนำร่องจัดตั้ง “เขตเศรษฐกิจพอเพียง” ในจังหวัดอุบลราชธานี ที่ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์รัชกาลที่ 9 มิใช่เพื่อตอบโจทย์ในการอยู่ดี กินดี เฉพาะคนไทยหรือนโยบายรัฐบาลเท่านั้น แต่แนวทางเขตเศรษฐกิจพอเพียง หากทำได้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสหประชาชาติหรือ UN ได้หลายข้อ ที่เรียกร้องให้นานาประเทศร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ยั่งยืนหรือ  SDGs  ซึ่งย่อมาจากคำว่า “Sustainable Development Goal” ด้วยกำหนดเป้าหมายไว้ 17 ข้อ เพื่อทำให้โลกดีขึ้นในทุกมิติภายในปี 2030 ด้วย!!


ตอนหน้าจะถอดรหัสความคิดจากสองเจ้าคุณที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพอเพียง มันดีอย่างไร ทำไมจึงตั้งใจทำให้ได้..!!


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...