"พรรคสร้างอนาคตไทย" เปิดเวทีถกทางออกวิกฤตเศรษฐกิจ “บัณฑิต” ชี้แก้เงินเฟ้อด่วนก่อนเศรษฐกิจติดหล่ม ด้านเอกชนมั่นใจเอกชนไทยยังมีศักยภาพสูงขอเพียงรัฐบาลสนับสนุนให้ตรงจุด ขณะที่เอสเอ็มอีและภาคท่องเที่ยว วอนช่วยเร่งแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ พรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) จัดเสวนา “เจาะลึกวิกฤติร่วมคิดทางออก” ถกนักวิชาการ นักธุรกิจชั้นนำ ประกอบด้วย ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล นายกิตติ พรศิวะกิจ ประธาน Smart Tourism สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น และนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย โดยมีนายสันติ กีรนันทน์ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ เพื่อหาทางออกของวิกฤติเศรษฐกิจประเทศ สะท้อนปัญหา และเสนอแนะแนวทางแก้ถึงรัฐบาล
โดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ว่า งานวันนี้เราตั้งใจให้เป็นวงเสวนาที่อยากให้เราได้มีโอกาสร่วมกันคิดวิเคราะห์สิ่งที่ประเทศกำลังเผชิญ สถานการณ์หลายอย่างดูเหมือนดีขึ้น แต่ทั้งผู้ประกอบการ ประชาชนยังห่วงใยว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจะไปต่ออย่างไร เรายังต้องช่วยกันบริหารจัดการ ช่วยคิด และหาทางออก จึงเป็นที่มาของการเสวนาในวันนี้ ตนและพรรคหวังว่าสิ่งที่จะออกมาวันนี้ จะเป็นประโยชน์กับส่วนรวม เป็นการช่วยกันคิด ร่วมกันทำของคนไทย เพื่ออนาคตของเรา ในภาวะที่หลาย ๆ อย่างสุ่มเสี่ยง แต่โอกาสก็มีเยอะ ถ้าช่วยกันคิด ช่วยกันบริหารจัดการความท้าทาย ทำสิ่งที่มีให้เกิดขึ้นได้ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็จะทำให้คนไทยเดินหน้าต่อไป ประเทศเติบโต พร้อมรับความท้าทายในอนาคต
นายอุตตม กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทย เผชิญความท้าทาย แต่ไม่ใช่ทุกอย่างแย่ไปหมด แต่ทำอย่างไรจะก้าวไปด้วยกัน ไม่ทิ้งภาคใดเผชิญปัญหาให้ล้มลงเป็นภาระ นโยบายสาธารณะเป็นสิ่งจำเป็น แต่แผนงานที่ขับเคลื่อนได้จริงสำคัญมากกว่า วันนี้ผู้ที่จะมารับผิดชอบการขับเคลื่อนต้องเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชน รัฐต้องส่งเสริมภาคเอกชนให้ก้าวเดินต่อไปได้ กฎระเบียบที่จำเป็นต้องเปลี่ยน ให้สามารถขับเคลื่อนไปได้ก็ต้องทำ วันนี้โลกเปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงจึงจะรอด และพัฒนาไปได้ ถ้าหากคิด และทำแบบเดิม ๆ ไม่อาจตอบโจทย์ไปสู่ทิศทางที่ต้องการได้ การเติมทุน การขับเคลื่อนเชิงรุก ทำอย่างไรให้ประเทศเป็นที่สนใจของนักลงทุน ซึ่งตรงนี้ได้มีการเริ่มต้นเรื่อง EEC เอาไว้แล้ว ก็ต้องใช้ EEC เป็นตัวสร้างโอกาสดึงดูดนักลงทุนเข้ามา และสุดท้ายธรรมาภิบาลคือสิ่งสำคัญที่ต้องมี เพราะจะช่วยให้การขับเคลื่อนประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืน
ขณะที่ ดร.บัณฑิต มองว่าจากปัจจัยผลกระทบเศรษฐกิจจากสถานการณ์โลกที่เผชิญอยู่ขณะนี้ ทั้งภาวะสงคราม สถานการณ์ราคาพลังงานแพง การขาดแคลนอาหาร จะมีความยืดเยื้อ ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหาโดยมุ่งเน้นการใช้จ่ายจากภาครัฐนั้นไม่ตอบโจทย์ และต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะผลที่จะตามมาคือการเร่งตัวของภาวะเงินเฟ้อให้เร็วขึ้น รวมถึงการสร้างภาระทางการเงินจากเงินกู้มากขึ้น โดยได้เสนอ 3 แนวทางแก้ปัญหาหลักสำคัญที่ประเทศต้องให้ความสำคัญ คือ 1. การแก้ไขภาวะเงินเฟ้อ ควรใช้กลไกตลาดมากกว่าการควบคุม เพราะมาตรการควบคุมเป็นมาตรการที่ใช้ในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งไม่ตอบโจทย์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน และหากมุ่งเน้นมาตรการควบคุมประเทศอาจจะเผชิญปัญหาการขาดแคลนสินค้า เนื่องจากไม่คุ้มทุนการผลิตของผู้ประกอบการ 2.การช่วยเรื่องการปรับตัวของระบบเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องสภาพคล่อง การประนอมหนี้ การดูแลค่าเงินให้มีความสมดุล 3.การประหยัด ซึ่งภาครัฐต้องส่งสัญญาณให้เกิดความร่วมมือกันของคนในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน อย่างเช่นประเทศญี่ปุ่นที่ขณะนี้ออกมาประกาศลดการใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนะให้ภาครัฐใช้ศักยภาพประเทศเกษตรกรรม ในสถานการณ์ที่โลกขาดแคลนอาหาร ผลักดันผลผลิตภาคการเกษตร การผลิตอาหาร เพื่อสร้างโอกาสใหม่ สร้างรายได้ให้กับประเทศในช่วงที่โลกกำลังประสบปัญหา
น.ส.จรีพร กล่าวว่า ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสแต่ต้องมองให้เห็น วันนี้โลกเปลี่ยนไปจากอดีตมากประเทศไทยต้องปรับตัวให้มากขึ้น ต้องก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ เพราะระบบเศรษฐกิจแบบเดิมไม่สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยเฉพาะการแข่งขันด้านเทคโนโลยี ประเทศไทยต้องเปลี่ยน และเพิ่มขีดความสามารถด้านนี้ วันนี้ประเทศไทยยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก เราต้องดึงพวกเขามา เพื่อสร้างเม็ดเงินลงทุนในประเทศ เป็นแรงในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ที่จะฝากไว้คือเราต้องส่งเสริมสตาร์ทอัพ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยมาก ๆ
นายแสงชัย กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มเอสเอ็มอีประสบปัญหาเรื่องรายได้ที่ลดลงอย่างมาก เนื่องจากต้นทุนการผลิตวัตถุดิบสูงขึ้นทุกรายการจากสถานการณ์ราคาพลังงานแพง เช่น ข้าวสาลีมีราคาสูงร้อยละ 45.60 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงขึ้นร้อยละ 26.37 ซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ และเสี่ยงต่อการทำให้ขาดทุนเป็นหนี้เพิ่ม ซึ่งขณะนี้หนี้เอสเอ็มอีสูงอยู่แล้วจากโควิด โดยระดับหนี้เสียในไตรมาสแรกปีนี้สูงเกือบ 6.7 แสนล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 19.2 ของพอร์ตสินเชื่อทั้งระบบ ขณะที่การเข้าถึงสินเชื่อและแหล่งทุนยังคงมีปัญหาต่อเนื่อง และแม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะออก 7 มาตรการช่วยเหลือด้านเงินทุนการประนอมหนี้แต่ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้มีความเป็นห่วงว่าจะผลักดันให้เอสเอ็มอีเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงต้องการให้ธนาคารควรเพิ่มความยืดหยุ่นในการพิจารณาสินเชื่อเพื่อให้มีสภาพคล่องในการทำธุรกิจ นอกจากนี้ยังมองว่า กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีของ สสว.กระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีอยู่ยังไม่ได้ตอบโจทย์การช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายเล็ก โดยรัฐบาลต้องบูรณาการหน่วยงานที่มีอยู่จำนวนมากและกระจัดกระจายระดมเข้ามาช่วยเหลือเอสเอ็มอี เช่น การพัฒนาแพคเกจจิ้ง แนวทางการวางแผน business model เพื่อให้ธนาคารยอมปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มเอสเอ็มอีสามารถเดินต่อไปได้
ด้านนายกิตติ กล่าวว่า รายได้ของการท่องเที่ยวปีที่แล้วติดลบ 90 เปอร์เซ็นต์ จำนวนรายได้ต่อคนต่อทริปลดลง ในปีนี้มีการผ่อนคลายมาตรการ เปิดประเทศ มั่นใจว่านักท่องเที่ยวจะต้องกลับมา โดยตั้งเป้า 12-16 ล้านคน มั่นใจว่าเป็นไปได้ แต่ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ซึ่งทางสภาฯ ได้วางกลยุทธ์ความร่วมมือ 3 ขา คือ 1.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 2.กระทรวงการท่องเที่ยวดูเรื่องนโยบาย และ3.สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นตัวแทนเอกชน ซึ่งต้องร่วมมือกันทำให้เกิดสมดุล ทั้งเรื่องดีมาน ซัพพลาย ต้องคุยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาคเอกชน ต้องใช้วิธีทำงานแบบตั้งเป้า เชื่อว่าการท่องเที่ยวไทยกลับมาได้แน่นอน สำคัญสุดคือเรื่องความรู้ ทำอย่างไรจะยกระดับผู้ประกอบการ และบุคลากร เรายังต้องการเติมทุน เติมลูกค้า และเติมความรู้ เราจำเป็นต้องออกแบบใหม่ เพราะการท่องเที่ยวเปราะบางมาก ได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2019 ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ต้องออกแบบใหม่ในเรื่องของดีมาน ซัพพลาย ออกแบบพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ออกแบบความสัมพันธ์สร้างสมดุลระหว่างรายเล็ก และรายใหญ่ หรือเมืองเล็กเมืองใหญ่ เกลี่ยให้พัฒนา เชื่อมโยงไปร่วมกัน และทำให้รองรับเมกะเทรนด์ของอนาคตได้อย่างแน่นอน เช่น สังคมสูงวัย สังคมที่มีสุขภาพดี เรื่องดิจิทัล เรื่องการเปลี่ยนถ่ายอำนาจในโลก ถ้าสร้างสมดุลได้โอกาสจะเป็นของเรา หลายประเทศที่เป็นตัวอย่างของการเปิดประเทศ ก็ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เรามี 6 เรื่องเป็นข้อเสนอ ที่มาจากคำว่า FUTURE โดย F คือ Financial and fund โดยต้องการกองทุนสำหรับการท่องเที่ยวประมาณ 1 แสนล้าน ขอให้เพิ่มมิติเป็น 3 เรื่อง 1. ให้กู้ตามปกติ 2. การช่วยเหลือแบบให้เปล่าอย่างมีเงื่อนไข 3.การร่วมทุนกับบริษัทใหญ่หรือองค์กรที่จะช่วยเหลือ เมื่อเติมทุนแล้วก็นำเทคโนโลยีใส่เข้าไปให้ นำผู้บริหารมืออาชีพ และนำตลาดใส่ให้เขา จะทำให้ฟื้นขึ้นได้เร็ว U คือ Upskill และ Reskill บวกกับมีที่ปรึกษาเชิงลึกโดยผู้มีประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้ว เพื่อช่วยนำทางวิธีการเติบโตบูรณาการให้ครบลูปตั้งแต่ต้นทางจนปลายทาง ที่ผ่านมาภาครัฐทำงานเป็นหย่อม ๆ ต่อมา T คือ Tech ผู้ประกอบการต้องการเงินหมุนเวียนมาช่วยพัฒนาเทคโนโลยี เป็นทุนที่มาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง และนำส่งคืนให้กองทุนได้หมุนเวียนต่อไป อีกตัวคือ U คือ Unique product ต้องสร้างขึ้นมา มีคนคิดนอกกรอบเรื่องการท่องเที่ยวแล้วเติบโตได้ในยุคนี้ก็มี บางคนตกงานก็ออกมาเริ่มต้นงานด้านท่องเที่ยวแล้วสำเร็จก็มี มันมีสูตรสำเร็จอยู่ R คือ เมื่อมีสินค้าแล้ว ต้องมี Responsive marketing เพราะเราไม่สามารถวางแผนยาวเป็นปี ต้องวางแผนกันเป็นวัน ต้องมีกลยุทธ์การตลาดที่ทันเวลารวดเร็ว สุดท้ายคือ E มาจาก Extra ordinary booster มีเงื่อนไขปัจจัยพิเศษมาให้ก้าวกระโดด เติมทั้งกระสุน และกระแสมาพร้อมกันทั้งซัพพลายเชน อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายประเด็นที่จะฝากทางพรรคสร้างอนาคตไทยไว้เพื่อทำเป็นนโยบายของพรรคต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น