วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

"อธิการบดี มจร" ตั้งคณะกรรมการปริวรรตคัมภีร์พระพุทธศาสนาโบราณลุ่มน้ำโขง



มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการโครงการปริวรรตคัมภีร์โบราณลุ่มน้ำโขง เพื่อรวบรวม จัดเก็บ และเผยแพร่ คัมภีร์ใบลาน รวมทั้งเอกสารโบราณในภูมิภาคอาเซียน (CLMV) ที่เกี่ยวเนื่องในศาสนาพุทธศาสนา โดยศูนย์อาเซียนศึกษาและสถาบันพระไตรปิฎกศึกษา มุ่งขยายเครือข่ายร่วมกับสถาบันนานาชาติที่ดำเนินการศึกษาเอกสารและคัมภีร์พระพุทธศาสนาและเผยแพร่ข้อมูลความรู้ของเอกสารโบราณผ่านฐานข้อมูลดิจิทัล 

วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม 2565 พระปลัดอภิเชษฐ์ สุภทฺรวาที เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานโครงการ เปิดเผยว่า การปริวรรตคัมภีร์โบราณในลุ่มน้ำโขงเป็นพันธกิจด้านเครือข่ายความร่วมมือของส่วนงานในมหาวิทยาลัยที่ประสานไปยังส่วนภูมิภาคและในอนาคตจะขยายความร่วมมือไปยังสถาบันและองค์กรความร่วมมือในประชาคมอาเซียน เช่น พม่า กัมพูชาตลอดทั้งในบาหลีของอินโดนีเซียด้วย ด้วยคณะทำงานได้รับรายงานถึงเอกสารเก่าแก่จำนวนหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาแต่โครงการมีความำเป็นต้องหยึดชะงักด้วยปัญหาเรื่องของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าที่ผ่านมา 



แต่ ณ ขณะนี้คณะกรรมการได้คัดรวบรวมคัมภีร์เก่าแก่จำนวนหนึ่งที่ถูกเก็บรักษาไว้ตามวัดต่างๆ ซึ่งได้รับอนุเคราะห์จากคณะสงฆ์ในหลวงน้ำทาและหลวงพระบางตลอดทั้งคณะสงฆ์จังหวัดนครพนม มหาสารคามและกาฬสินธุ์ (นคร-สาร-สินธุ์) และดำเนินการแปลคัมภีร์ ซึ่งได้สำเร็จลุล่วงแล้ว จำนวน 1 คัมภีร์ ซึ่งเป็นคัมภีร์กัมมัฏฐานโบราณของคนลุ่มน้ำโขง คัมภีร์ดังกล่าวมีความสำคัญมากต่อการศึกษาพระพุทธศาสนาในระดับท้องถิ่น และเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมาก ยังสะท้อนให้วิถีของความศรัทธาและจารีตบางอย่างของคนในท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งยังสื่อถึงความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงของพระพุทธศาสนาในภูมิภาคนี้ได้เป็นอย่างดี โดยพระปลัดอภิเชษฐ์ สุภทฺรวาที กล่าวเสริมว่าเป็นการเสริมให้เราได้เห็นแง่มุมประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาที่หลากหลายด้วย และในปลายปีนี้การปริวรรตคัมภีร์กัมมัฏฐานหลวงซึ่งได้ต้นฉบับจากหลวงพระบางก็จะเสร็จสิ้นพร้อมเผยแพร่ต่อไป



ขณะที่ พระมนตรี ปภสฺสโร อาจารย์ประจำวิทยาลัยสงฆ์นครพนม คณะทีมงานและผู้ปริวรรตคัมภีร์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่ได้รับการประสานจากศูนย์อาเซียนศึกษาและสถาบันพระไตรปิฎกศึกษา มีความปีติใจเป็นอย่างยิ่งที่ทางมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์คัมภีร์เก่าแก่ทางพระพุทธศาสนาเพราะถือว่าเป็นหัวใจหลักของพระศาสนา และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีจุดแข็งคือคณะสงฆ์และวัดต่างก็เป็นที่เก็บเอกสาร คัมภีร์เหล่านี้อยู่แล้ว จึงเป็นจุดแข็งที่ทำให้การประสานงานและขอความอนุเคราะห์ตามวัดต่างๆ เป็นไปโดยสะดวกและการปริวรรตสำเร็จได้โดยพระเถระนุเถระให้การสนับสนุน โครงการปริวรรตคัมภีร์โบราณลุ่มน้ำโขง เป็นโครงการความร่วมมือของศูนย์อาเซียนศึกษาและสถาบันพระไตรปิฎกศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ภายใต้ยุทธศาสตร์การเป็นคลังความรู้ที่เป็นเลิศทางพระพุทธศาสนาในประชาคมอาเซียน 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...