“สร้างอนาคตไทย” เปิดบ้านแลกเปลี่ยนความรู้บริหารจัดการคาร์บอน ชี้ กระแสโลกร้อน เปลี่ยนกติกาขีดการแข่งขันภาคเศรษฐกิจ ต้องวางนโยบาย-กฎหมายให้สอดรับ เพื่อแก้ปัญหาเชิงรุก-เสริมศักยภาพการแข่งขันภาคธุรกิจไทยทั้งใน-ต่างประเทศ
วันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2565 พรรคสร้างอนาคตไทย จัดสัมมนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง อนาคตตลาดคาร์บอน (Carbon Market) แนวทาง และวิธีการดำเนินการจัดการคาร์บอน โดยได้รับเกียรติจากนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมบรรยาย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประกอบด้วย ผู้บริหารพรรค อาทิ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายวิเชียร ชวลิต ผู้อำนวยการพรรค นายนริศ เชยกลิ่น โฆษกพรรค น.ส.โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ รองโฆษก นายธันวา ไกรฤกษ์ รองโฆษกพรรค รวมถึงภาคเอกชน และหน่วยงานระหว่างประเทศ
นายอุตตม กล่าวว่า การบริหารจัดการคาร์บอนเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกต้องให้ความสนใจ ซึ่งประเทศไทยได้ตอบรับเงื่อนไขหลาย ๆ อย่างมาจากเวทีโลก โดยการพัฒนาประเทศหลังจากนี้ ในส่วนของนโยบายเศรษฐกิจไม่สามารถละเลยเรื่องดังกล่าวได้ เนื่องจากมีผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องมีนโยบายสาธารณะที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อเปลี่ยนปัญหาเหล่านี้ให้เป็นโอกาสแก่ภาคประชาชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถปรับตัวได้และมีความสามารถในการแข็งขันที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ ปัญหาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ องค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ได้เรียกร้องให้นานาประเทศมีมาตรการในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในกิจกรรมทั้งบนบก ทางทะเล และทางอากาศ หลายประเทศที่เป็นคู่ค้า และแหล่งทุนสำคัญของประเทศไทยก็ได้เริ่มกำหนดมาตรการเพื่อกีดกันสินค้า และการลงทุน ทั้งในภาคอุตสาหกรรม กสิกรรม การเงิน การธนาคาร และการท่องเที่ยว
นายอุตตม กล่าวต่อว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้องครอบคลุมทุกภาคเศรษฐกิจ ดังนั้นการจัดทำกฎหมายสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจะต้องเป็นนโยบายที่เร่งด่วน และต้องเป็นกฎหมายที่ทันสมัย สามารถใช้บังคับได้ในทุกภาคเศรษฐกิจของไทย ไม่ใช่เป็นแบบไซโล ต่างคนต่างทำอีกต่อไป ต้องมองในเชิงนโยบาย และการบริหารจัดการ ต้องมีโต้โผดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะหากไม่มี เมื่อเอกชนจะขยับทีก็ต้องถอยครึ่งก้าว ถอยสองก้าว เพราะรัฐไม่ชัดเจน ตนมองว่าคณะกรรมการที่ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรีอำนาจไม่พอ หากเปรียบเทียบเหมือนตอนทำอีอีซี จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าพวกตนไม่ไปขอนายกฯ เสนอ แต่งตั้ง และออกกฎหมาย ถ้าทำอย่างนี้จึงจะมีการยอมรับ
ดังนั้น ต้องมีตัวกลาง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานลักษณะไหนก็ตาม แต่ที่สำคัญคือ
1. ต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่าผลกระทบต่อประเทศไทยในอนาคตเป็นอย่างไร ประเทศต้องการการปรับเปลี่ยน พรรคสร้างอนาคตไทยพูดเสมอว่าเราอาสามาทำงานเพื่อขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศ นี่คือหนึ่งในนโยบายห้าสร้างของพรรค คือ สร้างเศรษฐกิจใหม่โครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต ดังนั้นเรื่องนี้จะอยู่ในนโยบายของพรรคด้วย แต่จะทำอย่างไรให้เกิด หน่วยงานต้องดูให้ลึกว่าผลกระทบเป็นอย่างไร ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ แต่ต้องเป็นดูระยะยาว ส่วนที่ท้าทาย คือจะวางยุทธศาสตร์อย่างไรให้ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม และภายในระยะเวลาเท่าไหร่
2. ต้องให้เอกชนเข้าร่วมตั้งแต่ต้น แค่เพียงรัฐบาลไม่พอ รัฐมีหน้าที่สนับสนุนให้เอกชนเดินอย่างมีแต้มต่อ เพราะสุดท้ายต้องเกิดการแข่งขันในเวทีโลกอย่างแน่นอน เป็นกลไกตลาดที่ต้องค้าขาย เราต้องฉลาดที่จะค้าขาย รัฐต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าจะเดินอย่างไร เดินกับใคร
3. ที่สำคัญ คือเรื่องการสื่อสาร วันนี้จะทำอย่างไรให้คนไทยเข้าใจ ว่าเรื่องดังกล่าวกระทบต่อเขาอย่างไร
“เรื่องการบริหารจัดการคาร์บอน จะเป็นความท้าทายของรัฐบาลหน้าว่าเรื่องนี้จะทำอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์กับภาคเศรษฐกิจทั้งการสร้างเศรษฐกิจใหม่ และการแก้ปัญหาเชิงรุกให้กับขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเรื่องนี้เป็นหนึ่งในนโยบาย 5 สร้างของพรรค ที่พร้อมจะเดินหน้าขับเคลื่อน โดยพรรคให้ความสำคัญครอบคลุมทั้งในเรื่องกฎหมายและระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับเรื่องนี้ ขอย้ำว่าพรรคจะใส่เรื่องนี้ไว้ในนโยบายพรรคอย่างจริงจัง” นายอุตตม กล่าว
ทั้งนี้ พรรคสร้างอนาคตไทย เกิดจากพวกเราที่ร่วมอุดมการณ์ ตั้งใจ และยินดีให้คนภายนอกใช้พรรคเป็นเวทีเปิดเพื่อถกปัญหา หาทางออก และรับฟังทุกข้อเสนอแนะ ที่จะสร้างอนาคตเศรษฐกิจ สังคม และอนาคตประเทศไทย นอกจากนี้พรรคยังเปิดให้ทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งภาครัฐ และเอกชนสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการจัดอบรม เสวนาต่าง ๆ ของพรรค ไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น