"พระอาจารย์ครุศาสตร์ มจร" ใช้โครงการ "โคกหนองนา แห่งน้ำใจและความหวัง" สร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุขภาวะทางการศึกษาแบบพุทธบูรณาการ ผ่านโครงการวิจัยเรื่อง "โคกหนองนาโมเดล : การจัดการเรียนรู้แบบบ้านเรียนระดับประถมศึกษา"
วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง “วัชรปาณีศรีวิชัย” อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ พระปลัดสรวิชญ์ อภิปญฺโญ,ผศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรและอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 ช่วงที่ผ่านมาทำให้เกิดผลกระทบด้านการศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก เด็กนักเรียน ไม่สามารถไปเรียนที่สถานศึกษาได้ ขาดกิจกรรมและปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนและครู ทำให้เกิดช่องว่างของพัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและสติปัญญา ของผู้เรียน ด้วยเหตุนี้ จึงพยายามค้นหาวิธีการช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองให้มากที่สุด ขณะเดียวกันผู้ปกครองสามารจัดการศึกษาเพื่อลูกหลานของตนเอง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตามมาตรฐานการเรียนรู้แต่ละช่วงวัย
พระปลัดสรวิชญ์ กล่าวด้วยว่า โครงการ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” “วัชรปาณีศรีวิชัย” อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ จึงเป็นอีกโครงการหนึ่งที่สามารถใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้เรียนได้เป็นอย่างดี เพราะบริบทสภาพแวดล้อมของโครงการสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการเข้าได้กับทุกรายวิชา จึงได้เตรียมข้อมูลด้านกายภาพเพื่อรองรับหลักสูตรการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “โคกหนองนาโมเดล : การจัดการเรียนรู้แบบบ้านเรียนระดับประถมศึกษา” โดยได้เตรียมการมาได้ 8 เดือนแล้ว
"ขณะนี้ได้ออกแบบพื้นที่ให้เอื้อต่อการใช้ประโยชน์ บนเนื้องที่ 5 ไร่ 3 งาน ณ บ้านก่อ ตำบลผื่อ อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ โดยได้ปลูกไม้ให้ร่มเงา เช่น ต้นยางนา ต้นประดู่ ต้นสัก ต้นพยุง เป็นต้น โดยได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากภาคีเครือข่ายกสิกรรมเกษตร และโครงการโคกหนองนาทั่วประเทศเป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลประกอบการดำเนินโครงการนี้" พระปลัดสรวิชญ์ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น