เมื่อวันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2565 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินงานในช่วง ปี 66-80 โดยได้ปรับปรุงให้สอดรับกับทิศทางการทำงานในอนาคต โดยมีการปรับตัวชี้วัดให้สอดคล้องให้กับสถานการณ์ เช่น ตัวชี้วัดธุรกิจบริการการท่องเที่ยวด้านสุขภาพเป็นต้น ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการโครงการสำคัญที่จะดำเนินการภายใต้แผนแม่บทยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นโครงการประจำปี 67 มีทั้งหมด 1,026 โครงการ ซึ่งจะมีการประสานกับสำนักงบประมาณและหน่วยงานเจ้าของโครงการ เพื่อให้โครงการมีความสมบูรณ์มากขึ้น และนำโครงการไปบรรจุไว้ในคำของบประมาณปี 67 ต่อไป
นายดนุชา กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเทศในช่วงเวลาถัดไป จะมีบางกิจกรรมที่จะต้องดำเนินการต่อเนื่อง จึงต้องมีการปรับให้ยึดโยงกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) กำหนดตัวชี้วัด เพื่อทำให้การปฏิรูปประเทศมีความต่อเนื่องต่อไป
“ที่ประชุมรับทราบการดำเนินงานศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัย ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้ดำเนินการไป 98% แล้ว และมีการจัดทำโครงการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด คืออุดรธานี พิษณุโลก และสระบุรี ที่จะร่วมมือกับองค์กรยูนิเซฟ และภาคีพัฒนาอื่นๆ ที่จะจัดทำกลไกการพัฒนาที่จะเชื่อมโยงภาคส่วนอื่นๆกับในพื้นที่ และมีการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆต่อไป”
ขณะที่นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้เดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติซึ่งวางไว้ 20 ปี เข้าสู่ระยะที่ 2 แล้ว โดยหลายอย่างมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป หลังจากการดำเนินยุทธศาสตร์ชาติในระยะ 1 ได้เห็นความก้าวหน้าต่อเนื่องเกิดขึ้นตามลำดับ แม้บางอย่างจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายเพราะติดปัญหา แต่ถ้าทุกคนช่วยกันทำงานก็จะเดินหน้าไปได้ และในระยะต่อไปต้องดูว่าจะเดินหน้าอย่างไร หลายอย่างมีการเปลี่ยนแปลงในระยะต่อไป ซึ่งเราไม่ได้อยู่ไปจนถึงปี 2580 แต่หลัก ๆ คือเราอยู่ใน 6 ยุทธศาสตร์ซึ่งมีการอ่อนตัวอยู่แล้ว สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ตลอดเวลา โดยทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ ครอบคลุมการเจริญเติบโตทุกด้านของประเทศ ดังนั้น ขอให้คณะกรรมการฯ ทุกคนช่วยกันแสดงความเห็น หาทางปฏิบัติ และหากมีปัญหาหรืออุปสรรคขอให้แจ้งมา พร้อมกับต้องเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยการดำเนินการระยะที่ 1 คือการแก้ปัญหาความยากจน ลดภาระ ลดหนี้ให้ประชาชน เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน โดยมีมาตรการเสริมดูแลผู้มีรายได้น้อย ดูแลคนทุกช่วงวัย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ให้อยู่รอดได้ ไม่เป็นภาระของสังคมและครอบครัว โดยระยะที่ 2 ต่อจากนี้จะต้องมีการวางแผนหาวิธีการทำให้ประชาชนพอเพียง มีรายได้ที่เพียงพอ ส่วนระยะที่ 3 ของการแก้ไขปัญหาความยากจน คือจะต้องไปสู่ความยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ในปัจจุบัน โดยวันนี้หลายเรื่องดีขึ้น หลายเรื่องยังไม่ดีแต่ก็มีส่วนที่ดีอยู่มากพอสมควร ถ้าทุกคนย้อนกลับไปดูและสร้างความเข้าใจ ทุกอย่างก็จะเดินหน้าได้เพื่อไปสู่ทั้ง 3 ระยะเพื่อความยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดเป็นการดำเนินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทุกอย่างจะเดินหน้าไปได้สู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น