วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2565

"ชัชชาติ"จับมือสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากกทม.พร้อมชูคนเมืองทำเกษตร เตรียมออกแคทตาล๊อกเสิร์ฟ



เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565  นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับ นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และเครือข่าย เพื่อหารือความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากกรุงเทพมหานคร โดยมี นางอณุสรา ชื่นทรวง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กทม. ร่วมประชุม ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) 


“สำหรับประเด็นที่ได้หารือกันในวันนี้ อย่างแรกคือได้ฝากให้สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยและผู้ประกอบการได้ร่วมกันเสนอแนะกฎระเบียบของกรุงเทพมหานครที่ควรได้รับการปรับปรุง ซึ่งไม่สอดคล้องกับการทำงานของผู้ประกอบการในปัจจุบัน สอง คือ ความโปร่งใส โดยขอให้ผู้ประกอบการและ SMEs ได้เป็นแนวร่วมในการตรวจสอบความโปร่งใส หากพบการทุจริตขอให้แจ้งให้กทม.ทราบ สามคือให้หน่วยงานของกทม.ทำการจัดซื้อจัดจ้างโดยสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs แต่ต้องเป็นไปตามกรอบและระเบียบที่กำหนด นอกจากนี้ประเด็นที่ทั้ง 2 หน่วยงานจะสามารถร่วมกันดำเนินการได้ คือ การจัดหลักสูตรเพื่อฝึกอาชีพให้ตรงกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน การส่งเสริมการค้าในตลาดที่มีพื้นที่จริง และการค้าบน Platform Digital ทั้งนี้หากทางสมาพันธ์ฯ จัดงานที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและผู้ประกอบ SMEs กทม.ก็พร้อมที่จะไปร่วมด้วย” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว 

👉🏼สำหรับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบการไทย และเป็นพลังในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ สภาวิชาชีพ สถาบันการเงิน และหน่วยงาน หรือองค์กรเอกชน เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถที่จะก่อตั้ง อยู่รอด และเติบโต ท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน


ขณะเดียวกันนายชัชชาติ ได้บรรยายในหัวข้อ "HEALTH & WEALTH FORUM" สร้างสุขก่อนสูงวัย (อยู่ดี, กินดี, การเงินดี) ซึ่งเป็น Special Talk ที่จัดโดยสื่อในเครือเนชั่น ได้แก่ กรุงเทพธุรกิจ, ฐานเศรษฐกิจ และสปริงนิวส์ ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮเอท เอราวัณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีประชาชนทั่วไปเข้าร่วมฟังกันจำนวนมาก


เนื้อหาที่นายชัชชาติ บรรยายบนเวทีส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาที่สร้างแรงบันดาลใจ และบอกเล่าเรื่องราวของแผนการพัฒนากรุงเทพมหานครในกลุ่มผู้สูงวัย โดยเฉพาะการเน้นไปที่ "เส้นเลือดฝอย" ซึ่งเน้นการให้ความสำคัญกับศูนย์สุขภาพชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงการสร้างแรงบันดาลใจด้วยการวิ่งในทุกๆเช้า โดยเป็นสิ่งเล็กๆ ที่นายชัชชาติ ทำมาตลอดจนเป็นสไตล์ นำมาสู่เอกลักษณ์ "ผู้ว่าฯที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก" รวมไปถึงการได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือ 2 เล่ม คือ The Power of Habit และ "Willpower" เขียนโดย Roy Baumeister


ภายหลังการบรรยายบนเวทีจบลง "แนวหน้า ออนไลน์" มีโอกาสสัมภาษณ์นายชัชชาติ ในประเด็น "เกษตรคนเมือง" โดยนายชัชชาติ ให้สัมภาษณ์อย่างเป็นกันเองว่า กำลังรวบรวมข้อมูลพื้นที่ว่างเปล่าในแต่ละเขตพื้นที่ของ กทม. เพื่อจัดทำเป็นแคทตาล็อก (catalog) ให้คนในพื้นที่แต่ละเขตทราบว่า มีพื้นที่ว่างเปล่าตรงไหนบ้างที่จะใช้ทำเกษตรคนเมืองได้ และเพื่อจะสามารถใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมได้มากขึ้น


"เมื่อวาน (21 ส.ค.65) ไปกรมพัฒนาชุมชน พื้นที่แถวหนองจอก ก็มีพื้นที่ที่ว่างอยู่ เราก็ไปปลูกผัก ปลูกอะไรกัน หรือไปหาที่ดินส่วนราชการ เช่น กรมธนารักษ์ เพื่อไปใช้ประโยชน์ ทาง กทม.จะเป็นศูนย์กลางให้ เหมือนกับทำแคทตอล๊อกให้ว่ามีที่ไหนบ้าง คือ ไม่ต้องใช้เงินและใช้วิธีขอยืมเขามาและให้เป็นแหล่งทำมาหากิน ซึ่งตอนนี้รวบรวมดาต้าเบสก่อน คือ แคตตาล๊อกพวกนี้จะมีข้อมูลบอกถึงจำนวนพื้นที่ที่ไม่ใหญ่มาก ขนาดแปลงอาจจะไม่เยอะมาก แต่ทำเป็นแคทตาล๊อก ทำแต่ละเขตๆว่ามีพื้นที่ไหนว่างบ้าง อย่างที่หนอกจอก ที่บดินทร์เดชา 4 มีพื้นที่ 40 ไร่ ปลูกผักบุ้งจีน และปลูกหลายอย่าง ตรงนี้ก็เป็นต้นแบบ เป็นโมเดลได้ เพราะต่อไปค่าขนส่งแพงขึ้น และพอคนเห็นเป็นผักปลอดสารพิษคนก็กล้าซื้อมากขึ้น ก็สอดคล้องกับการทำโครงการแยกขยะ ปุ๋ยหมักในเมือง แล้วก็มีพื้นที่ว่างเยอะ สวนผักในเมือง อาจจะหาพื้นที่ในชุมชนและลดการเก็บขยะ ลดปริมาณขยะลง เอาพื้นที่รอใช้ประโยชน์" อาจารย์ชัชชาติเล่าให้ฟัง


สำหรับอนาคตการทำ "เกษตรคนเมือง" จะเป็นอย่างไร ในแนวทางการพัฒนาของกรุงเทพมหานคร ประเด็นนี้อาจารย์ชัชชาติตอบชัดเจนว่า อนาคตก็ส่งเสริม เพราะสุดท้ายก็มาลงที่มาร์เก็ต (market) ซึ่งถ้ามีความต้องการ หรือ ดีมานด์ (demand) ทางกรุงเทพมหานครก็จัดการทรัพยากรให้ หรือ รีซอร์ส (resource) ให้โดยสอดคล้องกับโครงการแยกขยะ การทำปุ๋ยหมักของ กทม.การมีปุ๋ยและใช้พืชลงดิน เป็นการใช้งบน้อยดีที่สุด เพราะอะไรก็ตามที่ใช้งบเยอะ โอกาสเกิดยาก


"หลักการ คือ ทำแบบยูโด สเตติจี้ (Judo Strategy) ใช้น้ำหนักคนอื่นในการทุ่ม คือ คนที่มีที่ดินว่างเปล่า คนที่มีแรงงานว่างอยู่ ก็แจกเงินทุน แจกโนฮาว (Know-how) อันนี้ก็มากหน่อย ผู้สูงอายุก็มาทำตรงนี้ได้ มาขายได้ ก็ดี เป็นอีกโซลูชั่นหนึ่ง" นายชัชชาติ กล่าวทิ้งท้าย


ส่วนในมุม "เกษตรคนเมือง" เมื่อนำรูปแบบประเทศไทย เปรียบเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกานั้นทางอาจารย์ชัชชาติสะท้อนมุมมองให้ฟังว่า ที่สหรัฐอเมริกาไม่มีพื้นที่แบบประเทศไทย ก็อาจต้องทำ "เกษตคนเมือง" บนตึก และบนหลังคา ส่วนในประเทศไทยมีแรงงานมาก ตอนนี้สิ่งที่ต้องทำ คือ หาที่ดินก่อน และตามมาด้วยการหาเมล็ดพันธุ์และแยกปุ๋ยหมัก เพราะปัจจุบันจริงๆแล้วมีที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์เยอะ และถ้าเกิดไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ยังไม่ได้ทำอะไร บางพื้นที่ก็รอพัฒนา ซึ่งบางพื้นที่บางส่วน ทาง กทม.ก็พัฒนาเป็นสวนสาธารณะ


เพราะฉะนั้น รูปแบบการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร ที่เชื่อมโยงกับการเป็นเมืองเกษตรกรรมของไทยนั้น ทางอาจารย์ชัชชาติซึ่งสวมหมวกผู้ว่าฯกทม.มาหมาดๆ ก็มีแนวคิดและแผนพัฒนาให้คนเมืองทำเกษตรกรรมโดยเน้นไปที่การปลูกผักปลอดสารพิษ ดังนั้นใครที่สนใจทำเกษตรในเมือง และ ยังติดขัดเรื่องพื้นที่การทำเกษตร ก็รออาจารย์ชัชชาติในการรวบรวมข้อมูลออกมาเป็นแคทตอล๊อกให้ได้ทราบกันว่า ในพื้นที่เขตของตนเองนั้น มีพื้นที่ไหนว่างเปล่าและได้รับการอนุญาติให้ทำ "เกษตรในเมือง" ได้บ้าง ก็เรียกว่า เป็นหนึ่งแนวคิดที่ตอบโจทย์ความเป็นเมืองเกษตรกรรมผ่านคนเมือง (Urban) ได้อย่างน่าติดตาม


CR.เพจ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ และhttps://www.naewna.com/likesara/675251


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เผยงานวิจัยป.เอกสันติศึกษา "มจร" พัฒนานักขายรุ่นใหม่ ยกระดับความเป็นมืออาชีพ

วันที่ ๒๘  มีนาคม  ๒๕๖๗  พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. กระบวนกรธรรมะโอดี เป็นวิทยากรพัฒนาและฝึกอบรมนักขายทั่วประเทศ ภายใต้หลักสูตร "การพัฒ...