วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2565

‘ไทยสร้างไทย’ เอาบ้าง! ชูนโยบายแก้หนี้เสียเครดิตบูโรดันธุรกิจเดินหน้า

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม 2565  นายสุพันธุ์ มงคลสุธี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย พร้อมคณะ จัดงาน Lunch Talk พูดคุยพบปะผู้ประกอบการ นักธุรกิจ ภาคเอกชน ภาคอีสาน ในหัวข้อ ปลดล็อกเศรษฐกิจอีสาน สร้าง Tourism Corridor หวังแก้ปัญหาเศรษฐกิจและเสริมสร้างการลงทุนในภาคอีสาน เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมเซ็นทาราคอนเวนชันเซ็นเตอร์ จังหวัดอุดรธานี


นายสุพันธุ์ เสนอต่อวงว่า การที่จะปลดล็อกเศรษฐกิจได้นั้น สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการคือการทำให้เศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้ ผ่านการลงทุนในทุกมิติ โดยหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้การลงทุนนั้นชะลอตัวลงไปนั้นเป็นเพราะกลุ่มนักลงทุนในประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการในประเทศตั้งแต่ขนาดกลางลงมาจนถึงประชาชนคนตัวเล็กขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ไม่สามารถเกิดการลงทุนได้ 


ปัญหาใหญ่ที่ทำให้นักธุรกิจและประชาชนในประเทศขาดสภาพคล่องทางเศรษฐกิจเป็นเพราะปัญหาหนี้เสียที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้การลงทุนไม่สามารถเดินต่อไปได้ เนื่องจากนักธุรกิจและประชาชนไม่สามารถกู้เงินก้อนใหม่ เข้าไม่ถึงเงินกู้ก้อนใหม่เพื่อนำเงินทุนมาเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ โดยลูกหนี้เหล่านี้ล้วนแต่เป็นลูกหนี้ที่ดีมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีมาตลอด แต่กลายมาเป็นหนี้เสีย (NPL) ในช่วงที่รัฐออกมาตรการต่างๆ ที่ทำให้กระทบต่อธุรกิจและการลงทุนของคนเหล่านี้ เช่น มาตรการล็อคดาวน์ 


นายสุพันธุ์ ระบุว่า กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 (รหัส 21) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ถึงเดือนมิถุนายน 2565 มีหนี้เสียในระบบเพิ่มขึ้นจาก 2.3 ล้านบัญชีเป็น 4.3 ล้านปัญชี หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านบัญชี จำนวนคนเพิ่มจาก 1.9 ล้านคนเป็น 2.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่าล้านคนคิดเป็นมูลค่าหนี้ 2.6 แสนล้านบาท เป็น 4.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2.2 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลาเพียง 5 เดือน


นายสุพันธุ์ ระบุต่อว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมาพรรคไทยสร้างไทยได้เปิดตัวนโยบาย “กองทุนฟื้นฟูหนี้เสีย” โดยเป็นนโยบายที่จะฟื้นฟูธุรกิจและการใช้ชีวิตของประชาชนในประเทศ โดยแบ่งการดำเนินนโยบายเป็น 2 ระยะ ระยะเร่งด่วนจะอัดฉีดเงินช่วยเหลือดอกเบี้ยให้ลูกหนี้บางส่วน เปลี่ยนสถานะลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียให้มาเป็นหนี้ปกติ โดยหวังว่าจะปรับโครงสร้างหนี้จากลูกหนี้รหัส 21 ให้มาเป็นรหัส 10 เพื่อให้ลูกหนี้สามารถกู้เพิ่มเติมหรือมีสถานะทางการเงินที่ปกติได้ ระยะที่ 2 จะเป็นการดันธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยพักชำระหนี้เป็นเวลา 1 ปี เติมเงินสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ให้มีทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ นายสุพันธุ์ ย้ำว่า ผู้ประกอบการและประชาชนเหล่านี้ คือผู้ที่แบกรับภาระแทนรัฐมาตลอดในช่วงวิกฤตโควิด ลูกหนี้เหล่านี้ไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ได้ทำธุรกิจไม่เป็น แต่เป็นเพราะมาตรการของรัฐที่ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถทำธุรกิจได้ รัฐจึงต้องช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้กับคนกลุ่มนี้ โดยไม่ใช่เพียงการแจกเงินเหมือนเดิม แต่ต้องช่วยให้เขากลับมาทำธุรกิจได้ 


จากนั้นภายในงานมีการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์กับสภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้า ของจังหวัดอุดรธานีและกลุ่มจังหวัดใกล้เคียง เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาการลงทุนและพลิกฟื้นเศรษฐกิจในภาคอีสานตอนบน เช่น การสร้างการท่องเที่ยวผ่านงานเฟสติวัล และอีเว้นท์ต่างๆ เช่น งานเทศกาลภาพยนตร์สยองขวัญ จัดทัวร์ไหว้พระ ทัวร์ด้านความเชื่อ หรือการส่งเสริม Soft power ในด้านอื่นๆ เช่น ด้านอาหาร เนื่องจากเป็นศูนย์รวมของหลายวัฒนธรรมอาหารจีน ไทย และเวียดนาม โดยต้องลงไปดูถึงในระบบปฐมภูมิ เช่น การส่งเสริมเกษตรกร นำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตให้มากขึ้น จัดหาปุ๋ยที่มีราคาถูกและคุณภาพดีให้กับเกษตรกร


อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ คือ การส่งเสริมให้อุดรและกลุ่มจังหวัดใกล้เคียงพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเป็นศูนย์กลางของภาคอีสานตอนบนเพื่อเป็นระเบียงเชื่อมต่อการลงทุน ทั้งจาก จีน ลาว และ เวียดนาม เนื่องจากบริเวณนี้มีศักยภาพในทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ดีในการเป็นศูนย์กลางเพื่อจะกระจายสินค้าในภูมิภาคภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ได้รับปากผู้มาเข้าร่วมงานว่า จะนำนโยบายและสิ่งที่พูดคุยกันทั้งหมด ในวันนี้ไปพิจารณาเพื่อหาทางทำออกมาเป็นนโยบายต่อไป พร้อมทั้งได้ขอให้ภาคธุรกิจที่เข้ามาร่วมพูดคุยกันในวันนี้ ช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ไปพร้อมกันได้ด้วย

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...