วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2565

“สนธิรัตน์” ผุด “สารคามโมเดล” ผลักดันเศรษฐกิจฐานราก “แก้หนี้ เพิ่มทุน สร้างรายได้เพิ่ม” แก้จน

เมื่อวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2565    ที่โรงแรมพิมานอินน์ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) พร้อมด้วยนายสุพล ฟองงาม รองหัวหน้าพรรค และประธานภาคอีสาน   ร่วมพบปะแกนนำจากสภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน วิสาหกิจชุมชน ในระดับอำเภอ จำนวนกว่า 150 คน ในเวทีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเพื่ออนาคตไทย 

“อย่ามองว่าผมเป็นนักการเมือง เพราะตัวพรรคการเมืองเองจะไม่มีความหมาย หากไม่จับมือทำงานกับพี่น้องประชาชนจริง ๆ ผมตั้งใจมาหาวิธีทำงานร่วมกับท่าน ขอมาทำงานร่วมกัน มารับฟังว่าพี่น้องประชาชนอยากได้อะไรจริง ๆ เช่น พ.ร.บ.ส่งเสริมระบบสวัสดิการชุมชน ถ้าหากอยากได้จริง ผม และพรรคสร้างอนาคตไทย พร้อมที่จะขับเคลื่อนไปกับพวกท่าน โดยผมจะเสนอเป็นหนึ่งในนโยบายพรรค เพื่อทำให้พ.ร.บ.นี้เกิดขึ้นได้จริง” 

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ตนมา จ.มหาสารคาม เพราะประชาชนที่นี่เข้มแข็งมาก ดังนั้นเราต้องเริ่มจากจุดที่เข้มแข็ง สร้างให้เป็นโมเดลเพื่อขยายไปสู่จังหวัดอื่น ๆ แม้ว่าจะทำได้ไม่ทั้งหมดในช่วงเวลานี้ แต่หลังจากที่ขับเคลื่อนจนได้พ.ร.บ.แล้ว ตนมั่นใจว่า จะสามารถจะผลักดันให้เกิดขึ้นทั่วประเทศได้ ตนเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะใช้สารคามโมเดลเป็นตัวตั้งของกองทุนสวัสดิการชุมชน 


นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจฐานราก ถือเป็นหนึ่งในนโยบาย 5 สร้างของพรรค ความเข้มแข็งชุมชนคือหัวใจสำคัญของประเทศ การสร้างเศรษฐกิจฐานรากของพรรค จะทำควบคู่กับไปใน 3 ด้าน คือการแก้หนี้ เพิ่มทุน สร้างรายได้เพิ่ม ภายใต้แนวคิดขับเคลื่อนกลุ่มที่มีศักยภาพ 10-50 คน โดยขณะนี้ได้เริ่มนำร่องแล้วในพื้นที่ จ.มหาสารคาม ในกลุ่มเกษตรกรปลูกข้าว ซึ่งประสบปัญหาในเรื่องราคาตกต่ำ โดยเข้าไปช่วยในการลดต้นทุนการผลิต และผลักดันราคาขายให้มากกว่าท้องตลาด 0.50 สตางค์ – 1 บาทต่อกิโลกรัม โดยร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์ (ธกส.) กลุ่มรถเกี่ยวข้าวในพื้นที่ ซึ่งในช่วงบ่ายวันนี้ ตนจะเข้าไปพูดคุยกับกลุ่มชาวนาที่ได้นำร่องไว้ และจะขยายโครงการนี้ไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ในประเทศต่อไป  


ทั้งนี้ ในด้านกลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชน ได้สะท้อนถึงแนวทางการทำงานที่ผ่านมาว่ากลุ่มกองทุนตั้งมาเพื่อเหลือช่วยตนเอง ผู้อื่น ชุมชน และสังคม โดยสมาชิกกองทุนเป็นทั้งผู้ให้ และผู้รับ ดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนตั้งแต่เกิดจนตาย โดยที่ผ่านมากองทุนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือวิกฤติของประเทศ เช่น สถานการณ์โควิด โดยได้เข้าไปช่วยในส่วนการจัดหาหน้ากากผ้า และจัดหาสมุนไพรในการรักษาให้กับชุมชนต่าง ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือทั่วประเทศ 


นอกจากนี้เมื่อครั้งที่นายสนธิรัตน์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการการใช้พลังงานทดแทน หรือพลังงานชุมชน เช่น โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร ซึ่งถือเป็นผลงานที่จับต้องได้ การทำงานของกลุ่มกองทุนทำงานรูปแบบ 3 ขา ได้แก่ ตนเอง ชุมชน และรัฐ ซึ่งที่ผ่านยังได้รับการสนับสนุนไม่เพียงพอ ขณะที่พรรคสร้างอนาคตไทย มีนโยบายที่สนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจฐานรากอย่างชัดเจน มีผลงานที่จับต้องได้ เชื่อว่าพร้อมที่จะใช้ชุมชนเป็นแกนหลักของพื้นที่ และเป็นตัวตั้งในการสร้างเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งกลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชนก็พร้อมที่จะร่วมสร้างอนาคตเศรษฐกิจฐานราก และสร้างอนาคตไทยไปด้วยกัน




 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...