วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2565

กทม. จับมือ สสปน. ส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่ กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน กระจายรายได้

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม 2565  นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว และสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องศ์การมหาชน) (สสปน.) หารือเรื่องความร่วมมือในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร ซึ่งในที่ประชุมมีความเห็นตรงกันที่จะร่วมมือกันส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันหารือแนวทางดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เบื้องต้นจะร่วมมือกันจัดกิจกรรมในช่วงเดือน 11 และเดือน 12 ของปีนี้ก่อน จากนั้นจะมีการประเมินผลการจัดกิจกรรมและหารือแนวทางความร่วมมือสำหรับจัดกิจกรรมอื่น ๆ เพิ่มเติมต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้อุตสาหกรรมไมซ์กรุงเทพฯ เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ และระดับโลก


สำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) เป็นอีกหนึ่งสาขาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก คือ การจัดประชุม (Meeting) การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive) การประชุมนานาชาติ (Convention) และการจัดการแสดงสินค้า (Exhibition) คำว่า MICE (อุตสาหกรรมไมซ์) ย่อมาจาก M = Meeting หมายถึง การจัดประชุมของกลุ่มบุคคล หรือองค์กรโดยจะเป็นการประชุมเฉพาะกิจหรือล่วงหน้าไว้แล้ว แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การประชุมกลุ่มสมาคม (Association Meeting) กลุ่มบริษัทเอกชน (Corporate Meeting) และการประชุมกลุ่มองค์กรภาครัฐ (Government Meeting) คือ การประชุมของกลุ่มบุคคลหรือผู้แทนจากหน่วยงานราชการ ซึ่งมาจากหลาย ๆ หน่วยงานทั่วโลก I = Incentive Travel หมายถึง การจัดการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลแก่พนักงานหรือบุคคลที่สามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมายที่บริษัทวางไว้ โดยบริษัทผู้ให้รางวัลจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย C = Conventions หมายถึง การประชุมนานาชาติของกลุ่มบุคคลต่างองค์กรในสาขาอาชีพเดียวกัน หรือสมาคมวิชาชีพเดียวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็น มีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นการจัดโดยสมาคมระดับนานาชาติ และ E = Exhibitions หมายถึง การจัดงานแสดงสินค้าหรือบริการเพื่อขายให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งได้ให้ผู้เข้าชมทั่วไปได้เข้าร่วมงานด้วย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. Trade Show เป็นการแสดงสินค้าสำหรับผู้ประกอบการ 2. Consumer Show เป็นการแสดงสินค้าสำหรับลูกค้าทั่วไป


ทั้งนี้ อุตสาหกรรมไมซ์มีความสำคัญต่อประเทศอย่างยิ่ง เพราะรายได้จากอุตสาหกรรมไมซ์จัดเป็นรายได้ในภาคบริการที่มีจำนวนมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักเดินทางกลุ่มไมซ์อยู่ที่ 89,000 บาท ต่อทริป (5 – 7 วัน) ซึ่งมากกว่านักท่องเที่ยวปกติประมาณ 3 เท่า (จุฑา ธาราไชย, 2557) ทำให้เศรษฐกิจประเทศปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมีการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องด้วย จากการศึกษาพบว่ามีการสรุปความสำคัญของไมซ์ ไว้ดังนี้ ช่วยสร้างรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ทำให้ดุลการชำระเงินดีขึ้น เช่น รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายของผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นชาวต่างประเทศ ช่วยสร้างงานและกระจายรายได้ไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการดำเนินธุรกิจไมซ์จะต้องอาศัยองค์ประกอบจากหลายภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เป็นต้น ภาคเอกชน เช่น โรงแรม สถานที่จัดประชุม ผู้จัดงานการประชุมมืออาชีพ ผู้จัดงานแสดงสินค้ามืออาชีพ และบริษัทรับจัดการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล รวมถึงธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง และยังช่วยให้ประชาชนทั่วไปได้รับประโยชน์จากการลงทุนของรัฐ เมื่อมีการจัดกิจกรรมในธุรกิจไมซ์ รวมถึงช่วยสร้างรายได้ทางอ้อมให้บุคลากรสาขาอาชีพต่าง ๆ เช่น การขายของที่ระลึก ร้านอาหาร เป็นต้น พร้อมทั้งสร้างรายได้ให้รัฐในรูปแบบของภาษีเงินได้จากรายรับของธุรกิจไมซ์


ขอบคุณข้อมูลจากเพจกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...