นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.) กล่าวถึงการแต่งตั้งที่ปรึกษาด้านกฎหมายของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 สำนักงานกฟก. และสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อให้ความร่วมมือในการเผยแพร่ความรู้ และช่วยเหลือทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ กฟก. และได้รับความร่วมมือจากสภาทนายความแก้ปัญหา ทีีกฟก. มีสมาชิกเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้สินอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย ทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบตั้งแต่การทวงถามหนี้ที่ไม่ให้เกียรติ ดูหมิ่นดูแคลน รวมถึงการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม หรือถูกฟ้องร้องเป็นคดีในชั้นศาลและเสียเปรียบทางคดี นำมา ซึ่งการสูญเสียที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย เนื่องจากไม่อาจจัดหาทนายความเพื่อช่วยเหลือต่อสู้คดีในชั้นศาลได้
ทั้งนี้จากปัญหาดังกล่าว สนง.กฟก. จึงได้ขอความช่วยเหลือและร่วมมือกับสภาทนายความโดยได้แต่งตั้งที่ปรึกษาด้านกฎหมายแก่เกษตรกรและสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรประจำจังหวัด 75 จังหวัด เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำในภารกิจตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายแก่องค์กรเกษตรกรและเกษตรกรสมาชิก กฟก. และจัดหาทนายความหรือเป็นทนายความในการว่าต่างหรือแก้ต่างคดีให้กับสำนักงาน และองค์กรเกษตรกรสมาชิกตามกฎหมายของ กฟก.โดยเกษตรกรสามารถเข้าปรึกษาด้านกฎหมายและคดีกับทางกฟก.และสภาทนายความทฯได้ทันที” นายสไกร กล่าว
ด้านนายอนุพร อรุณรัตน์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า จะช่วยให้คำปรึกษาแก่สำนักงานสาขาจังหวัด องค์กรเกษตรกร และสมาชิกเกษตรกร ได้มีความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายที่ถูกต้อง เนื่องจาก กฟก.ระดับจังหวัด ยังขาดบุคลากรด้านกฎหมาย และรายละเอียดของกฎหมายนั้นมีความละเอียดอ่อนที่ต้องให้ผู้รู้ด้านกฎหมายทำความเข้าใจในบางประเด็นจึงจำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้เฉพาะทาง เพื่อช่วยให้เกษตรกรไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหนี้ ทางสภาทนายความมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ร่วมมือกับ กฟก. ให้การช่วยเหลือประชาชน เกษตรกร หรือผู้ที่เดือดร้อนได้รับความเป็นธรรมทางด้านคดีความเป็นภารกิจที่สภาทนายความ ได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ดังนั้น การร่วมมือกับกฟก.ครั้งนี้จะเป็นผลดีต่อเกษตรกรทั่วประเทศเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับข้อมูลทะเบียนองค์กรและข้อมูลหนี้ของ กฟก.ประกอบด้วยสมาชิกเกษตรกร จำนวน 5,707,021 ราย จำนวนองค์กร 55,958 องค์กร มีเกษตรกรที่เป็นหนี้ จำนวน 543,613 ราย 797,050 สัญญา และมูลหนี้จำนวน 113,608,197,627.16 บาท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น