วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

แนะปรับวัดเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมรับไทยยุคสูงวัย

 

แนะมส.-พศ.เปลี่ยนวิสัยทัศน์บริการสังคม ปรับวัดเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมรับไทยยุคสูงวัย : สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาโท สาขาสันติศึกษา มจร รายงาน

               ระหว่างวันที่ 4-5 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา มีการสัมมนาเรื่อง "บทบาทสื่อมวลชนกับการส่งเสริมพระพุทธศาสนา" จัดโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งมีคณะสื่อมวลชนทั้งนักข่าว ช่างภาพ ผู้ประกาศ ผู้ผลิตรายการ โปรดิวเซอร์ จากหนังสือพิมพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ภายใต้การนำของนายณรงค์ หนูเชื้อ นายกสมาคมสื่อมวลชนพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทยแห่งชาติ(สพวช.) และนายสมหมาย สุภาษิต อุปนายกสมาคมคนที่ 1 มีนายกนก แสนประเสริฐ รองผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) เป็นประธาน ที่ตะนาวศรีรีสอร์ท ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

               นายกนก กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ ตอนหนึ่งความว่า ปัจจุบันมีวัดทั่วประเทศประมาณ 39,800 วัด อยู่ในระหว่างขออนุญาตจัดตั้งวัดอีกประมาณ 2,000 วัด ขณะเดียวกันก็มีวัดร้างที่มีการสำรวจพบอีกประมาณ 6,000 วัด โดยจากจำนวนวัดในประเทศไทยทั้งหมดนั้น ตนยืนยันได้เลยว่ามีไม่ถึงร้อยละ 5 ที่มีผู้เข้าไปทำบุญในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก วัดส่วนใหญ่ตามต่างจังหวัดยังยากจนอยู่อีกมาก
               "ส่วนใหญ่จะได้จากการทำบุญในช่วงการทอดกฐินก็จะนำเงินที่ได้มาดูแลวัด บางวัดโชคร้ายทำบุญทอดกฐินเสร็จแล้วก็ยังโดนนักการเมืองท้องถิ่นมายึดเงิน จากการทำบุญวันทอดกฐินไปอีก ทางพศ.ต้องเข้าไปช่วยเจรจานำเงินดังกล่าวกลับมาคืนให้วัด ขณะเดียวกันในส่วนของวัดที่มีผู้ศรัทธาเข้าทำบุญเป็นจำนวนมากในแต่ละวันนั้น แม้ต่อปีจะมีเงินเข้าวัดหลายล้านบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการนำมาบริหารจัดการภายในวัด เพราะต้องใช้เงินทั้งการดูแลรักษาศาสนสถาน การดูแลพระเณรในวัด ซึ่งแม้จะมีรายรับเยอะ แต่ก็มีรายจ่ายเยอะเช่นกัน"  รองผอ.พศ.กล่าว
               ขณะที่นายชยพล พงษ์สีดา รองผอ.พศ. กล่าวว่า ในส่วนของแผนดำเนินงานปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาตามแผนที่ผ่านความเห็นชอบจาก คณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้วนั้น ในการดำเนินการแผนระยะแรกคือ การดำเนินการในเรื่องที่สามารถทำได้ทันที และการระดมความคิดเห็นจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปเป็นแผนการ ดำเนินงานในระยะที่สองนั้น จะมีการจัดระดมความคิดเห็นทั้งหมด 3 ครั้ง โดยครั้งแรกจะจัดที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) วิทยาเขตนครราชสีมา จากนั้นปลายเดือน ก.ย. จะจัดในพื้นที่ภาคเหนือ ก่อนที่จะมีปิดท้ายในช่วงสิ้นปีนี้ที่มจร. อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
               พร้อมกันนี้นายกนกได้มอบมอบสิ่งสักการมงคลที่ล้ำค่ายิ่ง อาทิ หลวงปู่ทวดเนื้อว่าน รุ่นเฉลิมพระเกียรติฯ ปี 44 มีโค้ตหมายเลขกำกับ มหาพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง หล่วงพ่อเปี่ยม วัดเกาะหลัก รุ่น 120 ปี พระมหาเกจิดังที่ร่วมนั่งปรกปลุกเสก พระ 25 พุทธศตวรรษ เมื่อปี 2500 ให้กับคณะสื่อมวลชนด้วย เป็นที่ระลึกในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดสันติสุขแก่สังคม
               การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ บริหาร พศ.โดยเฉพาะกองงานโฆษกกับสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ภาคสนาม เพื่อเป็นการช่วยส่งเสริมการเผยแพร่พระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามในการปฏิบัติหน้าที่นั้นสิ่งที่คณะสื่อมวลต้องการมากที่สุดก็ คือด้านข้อมูลที่กองงานโฆษก พศ.ควรที่จะอำนวยความสะดวกให้เท่าทันกับสถานการณ์ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ภาคสนาม
               พร้อมกันนี้มีข้อเสนอแนะต่อมหาเถรสมาคม(มส.)และพศ.ด้านวิสัยทัศน์ในการ ปฏิบัติหน้าที่มีต่อคณะสงฆ์แทนที่จะมุ่งปราบปรามคณะสงฆ์ก็ควรจะเปลี่ยนเป็น ด้านการส่งเสริมให้คณะสงฆ์ปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับสมณสารูปและให้การศึกษาที่ ถูกต้องเป็นสำคัญ หากจะเปรียบ มส. และ พศ.ก็คือราชสีห์ ส่วนคณะสงฆ์ก็คือหนู หากราชสีห์มุ่งแต่จะปราบหนูให้หมดไปก็คงไม่มีทางเป็นไปได้อย่างแน่นอน ดังนั้นต้องเปลียนวิธีคิดใหม่คือนำหนูมาใช้ในการทดลองด้านวิยาศาสตร์ คือจับหนูมาวิ่งอยู่ในลู่แทนที่จะเปลี่ยนให้วิ่งเพ่นพ่านแล้วก็วิ่งจับย่อม ไม่มีทางหมดอย่างแน่นอน
               ขณะเดียวกันได้มีข้อเสนอแนะคือควรมีการต่อยอดจากหมู่บ้านศีล 5 โดยพัฒนาบ้านวัดโรงแรมเป็นศูนย์ในการรองรับผู้สูงอายุเพราะว่าอนาคตอันใกล้ นี้ประเทศไทยจะไทยเข้าสู่ยุคผู้ชรา โดยพัฒนาวัดเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมนำวิชาการด้านโรงแรมและพยาบาลเข้ามา บูรณาการจัดภูมิทัศน์ให้เกิดสัปปายะ และขณะนี้แนวคิดตั้งกล่าวก็ได้ขึ้นแล้วในบางพื้นที่อย่างเช่นที่ศูนย์ ปฏิบัติธรรมพระธรรมโมลี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ภายใต้แนวความคิดของสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม
               หรืออย่างเช่นที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีศูนย์ปฏิบัติธรรมเป็นประจำ แต่ติดปัญหาก็คือสถานที่พักไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงมีการขยายไปยังต่างจังหวัด
              ทั้งนี้เมื่อเร็วๆ นี้สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดสัมมนาเรื่อง “โต้คลื่นสังคมสูงวัย:โอกาสและความท้าทายทางธุรกิจ” พร้อมนำเสนองานวิจัยการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยมี รศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารศศินทร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรซึ่งรวมถึงการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ สามารถสร้างผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยในประเทศไทยขณะนี้มีประชากร 63.8 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าวมีประชากรผู้สูงอายุ 12% และในอีก 30 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุ 32% ซึ่งจะเป็นประเทศที่มีการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเร็วมาก

              รศ.ดร.เกื้อ กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุดังกล่าว หากไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุจะทำให้ประชาชน องค์กร และภาครัฐไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที เช่น ประชาชนอาจไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการออม องค์กรต่างๆ ไม่สามารถหาแรงงานทดแทนหรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตเมื่อตลาดแรงงานหดตัว และภาครัฐไม่สามารถบริหารจัดการหนี้สินของรัฐบาลที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากค่า ใช้จ่ายต่างๆ ได้อย่างจำกัด ดังนั้นภาครัฐ เอกชน ควรมีนโยบายที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุน เตรียมความพร้อมให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะเรื่องของการออม ให้ควาสำคัญกับการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง สนับสนุนให้ลงทุนเริ่มสะสมเงินออมตั้งแต่ตอนอายุยังน้อยและมีวินัยในการออม ลงทุนก่อนวัยเกษียณ และควรมีการเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพที่เหมาะสม รวมถึงส่งเสริมให้มีพนักงานสูงอายุ โดยต้องทำทุกเรื่องอย่างรวดเร็ว โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ            
              “จากงานวิจัย พบว่าเมื่อมีการเปลี่ยนโครงสร้างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ไทยจะได้รับผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ 2 ช่องทาง คือ 1. ด้านความสมดุลของรายรับรายจ่ายของรัฐบาลที่อาจส่งผลต่อการใช้จ่ายในด้าน ต่างๆ และ2.บทบาทของตลาดการเงินต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดการเปลี่ยน พฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนที่มีอายุมากขึ้น อีกทั้ง จะทำให้ประเทศมีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั้งในระดับแรง งานมีฝีมือและแรงงานไร้ฝีมือ ดังนั้นภาครัฐต้องสนับสนุนให้แรงงานสูงอายุทำงานต่อแม้จะเข้าสู่วัยเกษียณ อายุ และต้องสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงาน สร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ และควรสนับสนุนความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการดึงดูดแรงงานต่างประเทศ เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย หากประเทศไทยเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาเป็นอย่างดีีจะ เป็นโอกาสในการเติบโตของประเทศ แต่ในทางกลับกันไทยจะเสียโอกาสทันที” ศ.ดร.เกื้อ กล่าว
               หากคณะสงฆ์และฝ่ายบ้านเมืองนำแนวความคิดนี้ไปประยุกต์ใช้แล้วเชื่อแน่ว่าวัด และพระพุทธศาสนา จะมีส่วนในการแก้ปัญหาผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี และอาจจะดีกว่าจะใช้เงินสร้างศูนย์ผู้สูงอายุในชุมชน โดยนำมาบูรณะวัดให้เหมาะสมกับการที่ใช้วัดเป็นศูนย์กลางเน้นการพัฒนาที่เป็น องค์รวม ได้ประโยชน์หลายทางและหลายอย่าง และยังเป็นการใช้วัดเป็นฐานในการพัฒนาชุมชนอีกทางหนึ่ง

..........................
(หมายเหตุ : ที่มา http://www.komchadluek.net/detail/20150907/212977/%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A8%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A2.html)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"พวงเพ็ชร" มาแล้วมอบสำนักพุทธจับมือ "พม." ตรวจสอบ พ่อ-แม่ ‘น้องไนซ์ เชื่อมจิต’ หากเข้าข่ายหลอกลวง ปชช. สั่งฟันทันที

เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีประชาชนเรียกร้องให้สำนักงานพระพุทธศาส...