วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

พบ‘อริยสัจ’!งานเปิดตัวหนังสือ‘อู่ทอง’

พบ‘อริยสัจ’!งานเปิดตัวหนังสือ‘อู่ทอง’

พบ‘อริยสัจ’!งานเปิดตัวหนังสือ‘อู่ทอง’ ย้อนรอยลูกปัดและพระพุทธแรกเริ่ม : สำราญ สมพงษ์รายงาน

                 ชาวพุทธศาสนิกชนทั่วไปเมื่อเห็นเสมาธรรมจักรคงเข้าใจว่าเป็นสัญลักษณ์ทางพระ พุทธศาสนาเพราะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมหมายต่างๆมากหมาย แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจความหมายของ "เสมาธรรมจักร" ว่าสื่อถึงหลักธรรมหมวดใดบ้าง จะเข้าใจเฉพาะในกลุ่มคนที่เป็นนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาและเจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่สำหรับชาวพุทธในยุคทวารวดีระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 - 16 จะเข้าใจความหมายนี้ดี คือหลักอริยสัจและปฏิจจสมุปบาท
                 อาจารย์ภูธร ภูมะธน  ที่ปรึกษาของหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ได้อธิบายให้ทราบในงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ล่าสุด “อู่ทอง...ที่รอการฟื้นคืน ผ่านรอยลูกปัดและพระพุทธศาสนาแรกเริ่ม” โดยมีพันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. เป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2558 ที่หอประชุมใหญ่ สยามสมาคม อโศก-มนตรี กรุงเทพฯ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี (อพท.7) และมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญดำเนินการ
                 นอกจากมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ และสุธีรัตนามูลนิธิ ซึ่งมีอาจารย์ภูธร ภูมะธน กับนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิชเป็นหลักแล้ว ยังมีศาสตราจารย์ ดร.ผาสุข อินทราวุธ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม แห่งมูลนิธิเมืองโบราณ ดร.เอียน ซี โกลฟเวอร์ แห่งสถาบันโบราณคดี มหาวิทยาลัยลอนดอน ดร.เจมส์ แลงค์ตัน ผู้เขียนหนังสือ A BEAD TIMELINE , Volume 1 : Prehistory to 1200 CE รวมทั้งกรมศิลปากรโดยเฉพาะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่างๆ ตลอดจนภาคเอกชนและคนอู่ทองจำนวนมากร่วมในงานดังกล่าวด้วย
                 อาจารย์ภูธร  กล่าวว่า การพบหลักฐานพระพุทธรูปและพระสาวกศิลปกรรมแบบอมราวดีมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 9 - 10 ที่      อู่ทองนั้นแสดงถึงการเข้ามาถึงและประดิษฐานตั้งมั่นแล้วในพุทธศตวรรษนั้น มีทั้งลัทธินิกายหินยาน มหายาน และตันตระยาน (วัชระยาน) โดยแต่ละลัทธิยังแบ่งเป็นนิกายต่าง ๆ เช่น นิกายมูลสรรวาสติวาท นิกายสัมมิตียะ นิกายเถรวาท และจากจารึกหลักธรรมที่พบซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 16  ผู้คนในแถบนี้ใช้คำบูชาหรือบทนมัสการพระพุทธเจ้า หลักอริยสัจ หลักปฏิจจสมุปบาท โดยยังมีหลักฐานสำคัญที่น่าสนใจที่อู่ทอง ประกอบด้วยพระพุทธรูปที่เก่าที่สุดองค์หนึ่งของประเทศไทย รวมทั้งพระพุทธรูปปางหายากอาหูยมุทรา พบพระพิมพ์มากถึง 15  รูปแบบ กับยังพบพระพิมพ์พระสาวกที่เป็นเอตทัคคะ พระอสีติสาวกรวมถึงพระเมตไตรย ธรรมจักรองค์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทย รวมทั้งรูปพระเจ้าสุทโธทนะอีกด้วย

หมอบัญชาจากลูกปัดกระบี่สู่ลูกปัดอู่ทอง

                 นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ที่สร้างความฮือฮาเกี่ยวกับลูกปัดกระบี่เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ได้กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ สืบเนื่องจากงานด้านโบราณคดีที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ทำไว้ที่รอบอ่าวบ้าน ดอนที่ชี้ว่าผู้คนในแผ่นดินนี้ ได้รับพระพุทธศาสนาจนถึงขั้นรุ่งเรืองในสมัยศรีวิชัยเมื่อ 1,000 กว่าปีมาแล้ว ควรที่ชาวพุทธจะได้ภาคภูมิใจ โดยหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ได้สานต่อด้วยการศึกษาเรื่องปฐมบทพระพุทธศาสนาในประเทศไทยเมื่อครั้งเฉลิม ฉลองพุทธชยันตี เมื่อ อพท.7 ชวนให้ทำการศึกษาเรื่องลูกปัดจึงได้เสนอให้เป็นการศึกษาคู่กันกับรอยพระพุทธ ศาสนาแรกเริ่มด้วย เพราะที่อู่ทองมีหลักฐานการสถาปนามั่นคงของพระพุทธศาสนาในสมัยทวารวดีแล้ว
                 สำหรับลูกปัดที่พบในอู่ทองและลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีนนั้น นายแพทย์บัญชา กล่าวว่า มีความพิเศษมากมายหลายประการ การศึกษาครั้งนี้ได้ทำการสำรวจผลงานของนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศใน อดีต ตลอดจนลงพื้นที่พบปะสัมภาษณ์ผู้รู้เกี่ยวกับลูกปัดในพื้นที่และการบันทึก ภาพลูกปัดจากทุกพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและในความครอบครองของคนรักลูกกปัด จำนวนหนึ่งในพื้นที่เกี่ยวข้อง พบว่าใน 4 จังหวัดลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน คือสุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และนครปฐม มีพื้นที่ที่มีรายงานการพบลูกปัดมากถึง 178  แหล่ง อยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรีถึง 109  แหล่ง เฉพาะอู่ทองมีมากถึง 46  แหล่ง โดยลูกปัดที่พบมีทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบตามถ้ำ เพิงผาและที่ราบไหล่เขา สมัยหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์ตามที่ราบลุ่มน้ำตอนกลางโดยเฉพาะที่ลุ่ม น้ำทวนจรเข้สามพัน ท่าว้า ท่าคอย ที่เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำแม่กลองกับแม่น้ำท่าจีน ซึ่งล้วนเป็นลูกปัดที่มีลักษณะพิเศษและโดดเด่น ทำจากหินสีมีค่ากึ่งรัตนชาติชนิดและรูปทรงต่างๆ โดยมีเมืองโบราณอู่ทองเป็นเสมือนในกลางและสืบเนื่องถึงสมัยทวารวดีที่พบลูก ปัดแก้วเป็นจำนวนมาก
        
                 "การศึกษาครั้งนี้ ได้พบลูกปัดที่มีลักษณะพิเศษอาจมีความเกี่ยวเนื่องและถือเป็นร่องรอยแรกๆ ของพระพุทธศาสนาในพื้นที่จำนวนหนึ่ง อาทิ ลูกปัดหินคาร์เนเลียนเขียนลายเส้นสีดำรูปสวัสดิกะและจักร ลูกปัดตรีรัตนะ ลูกปัดรูปมงคลต่างๆ ที่นิยมในพระพุทธศาสนา รวมทั้งลูกปัดรูปสิงโต รูปธรรมจักร เฉพาะอย่างยิ่งจี้ห้อยทำด้วยงาช้างมีอักขระอักษรพราหมีแบบที่นิยมเขียนใน เอเชียอาคเนย์ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12  อ่านว่า  "อประมาทะ" ซึ่งอยู่ในปัจฉิมพุทโธวาทของพระพุทธองค์ก่อนดับขันธปรินิพพาน การศึกษาครั้งนี้หวังว่าจะมีส่วนสำคัญในการฟื้นคืนการพัฒนาเมืองอู่ทองให้ กลับคืนใหม่สมกับคุณค่าของเมืองอู่ทองที่พระพุทธศาสนาเคยรุ่งเรืองและถือ เป็นต้นทางนำพระพุทธศาสนามาสู่ประเทศไทยของเราอีกด้วย" นายแพทย์บัญชา กล่าว

อพท.หวังฟื้นฟูเมืองอู่ทองให้กลับมามีชีวิตชีวา

                 พันเอกดร.นาฬิกอติภัค กล่าวว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทองให้บรรลุ ผล มีภารกิจคือ การพัฒนาอดีตที่รอการฟื้นคืนให้กลับมาอีกครั้ง ด้วยการเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาในยุคทวารวดี และการพัฒนาประเพณี ศิลปวัฒนธรรมที่รอการฟื้นฟู ให้กลับมามีชีวิตชีวา ด้วยการพัฒนาคนและส่งเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยว การฟื้นคืนเมืองโบราณอู่ทอง เป็นภารกิจที่ยากยิ่ง เนื่องด้วยความเก่าแก่ของยุคสมัยและกาลเวลาที่ผ่านไปนับพันปี ซึ่ง อพท. ได้ประสานความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคประชาชน ตั้งแต่ปี 2556  มาจนถึงปัจจุบัน
                 1.การฟื้นคืนคูเมืองโบราณอู่ทองและแม่น้ำจรเข้สามพัน โดยร่วมมือกับกรมศิลปากร กรมชลประทานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำเมืองโบราณอู่ทอง 2.การสำรวจใต้ดินเพื่อค้นหาทะเลโบราณ ชายฝั่งโบราณ แหล่งโบราณสถานและโบราณวัตถุสมัยทวารวดี โดยร่วมมือกับกรมทรัพยากรธรณี  3.พัฒนาชุมชนลูกปัดอู่ทอง ลูกปัดอู่ทองเป็นโบราณวัตถุที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองโบราณ     อู่ทองกับเมืองโบราณอื่นทั่วโลก โดยร่วมมือกับชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน เมืองโบราณทวารวดีอู่ทองส่งเสริมให้ประชาชนพัฒนาสินค้าและเครื่องประดับลูก ปัดอู่ทองให้เป็นที่ต้องการของนักสะสมลูกปัด 4.ฟื้นคืนแหล่งโบราณสถาน ด้วยการสำรวจ ขุดค้น ขุดแต่ง และบูรณะ ทั้งที่มีอยู่เดิมและแห่งใหม่ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ด้านโบราณคดีและประวัติ ศาสตร์ของชาติไทย โดยร่วมมือกับกรมศิลปากร และมหาวิทยาลัยศิลปากร
                 5.จัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเรื่องเมืองโบราณอู่ทอง เพื่อจัดการเรียนการสอนให้กับเยาวชนเมืองโบราณ     อู่ทอง ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2
                 6.ฟื้นคืนเรื่องพุทธศาสนาระยะเริ่มแรกและลูกปัดทวารวดี เพื่อให้ ได้หลักฐานทางวิชาการและเชื่อมโยงกับแหล่งกำเนิดในภูมิภาคอาเซียนและนานา ชาติกับเมืองโบราณอู่ทอง โดยได้รับเกียรติจาก มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญและภาคีเครือข่าย ในการดำเนินงานหลายโครงการร่วมกับ อพท.7 ประกอบด้วย 6.1) จัดสัมมนาเรื่อง อู่ทองเมืองโบราณ เมืองท่องเที่ยวสร้างสรรค์ เชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิม : ผ่านหลักฐานพุทธศาสนาสมัยแรกเริ่มและรอยลูกปัด โดยเชิญนักประวัติศาสตร์โบราณคดี ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐมาร่วมสัมมนา และได้รวบรวมองค์ความรู้จากการจัดสัมมนา และผลสำรวจการลงพื้นที่จัดพิมพ์หนังสือ “อู่ทอง หลักฐานพระพุทธศาสนาแรกเริ่มและรอยลูกปัด” ในปี 2557
                 6.2) ปี 2557 การศึกษาเมืองโบราณในภูมิภาคที่มีความสำคัญคล้ายคลึงและเทียบเคียงกับเมือง โบราณอู่ทอง รวมทั้งศึกษาเรื่องลูกปัดที่มีการพัฒนาสร้างสรรค์การท่องเที่ยว และลงพื้นที่ศึกษาเมืองโบราณในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย  6.3) ปี 2558 ลงพื้นที่ศึกษาต้นทางพระพุทธศาสนาในอินเดียสู่อู่ทอง และรวบรวมผลงานวิจัยและบทความที่เกี่ยวข้องระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับ พระพุทธศาสนาในประเทศสาธารณรัฐอินเดีย 6.4) ปี 2558 การศึกษาวิจัยและประชุมปฏิบัติการนานาชาติ ว่าด้วยทองโบราณที่แดนทองของไทย : อู่ทอง สุพรรณบุรี Golden of U-Thong by the world expert on Ancient Gold from London  6.5) ปี 2558 การศึกษาประมวลรวบรวมองค์ความรู้รอยพระพุทธศาสนาแรกเริ่มและรอยลูกปัดโบราณ อู่ทอง : ความสัมพันธ์อาเซียน ซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจและศึกษา  6.6) ปี 2558 การศึกษาประมวลรวบรวมองค์ความรู้รอยพระพุทธศาสนาแรกเริ่มและรอยลูกปัดโบราณ อู่ทอง จนได้จัดทำหนังสือเรื่อง “อู่ทอง...ที่รอการฟื้นคืน ผ่านรอยลูกปัดและพระพุทธศาสนาแรกเริ่ม ในลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน” ซึ่งเป็นที่มาของการจัดงานแถลงข่าวในวันนี้

ย้อนรอยอู่ทองเมืองโบราณสำคัญในอดีต
                 นางศิริกุล กสิวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ อพท.และรักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณ   อู่ทอง กล่าวว่า เป็นที่ประจักษ์ในวงการประวัติศาสตร์และโบราณคดีว่า "เมืองโบราณอู่ทอง" เป็นหนึ่งในเมืองโบราณที่สำคัญที่สุดเมืองหนึ่งของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ คณะรัฐมนตรีได้ประกาศพื้นที่ "เมืองโบราณอู่ทอง" เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามที่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เสนอ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555  ด้วยวิสัยทัศน์ว่า "เมืองสร้างสรรค์การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิม" ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มีเนื้อที่ 38.16 ตารางกิโลเมตร โดยมี อพท.7 เป็นหน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่

                 ตั้งแต่ปี 2556 อพท.7 ได้ประสานขอให้ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ในฐานะองค์กรทางพระพุทธศาสนาที่มีวัตถุประสงค์ กิจกรรมและผลงานด้านพระพุทธศาสนาทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และการ   พระศาสนา และสุธีรัตนามูลนิธิ ในฐานะองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อส่งเสริมการพระศาสนา ประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งได้ทำการรวบรวมศึกษาค้นคว้าหลักฐานโบราณคดีกลุ่มลูกปัดสมัยหัวเลี้ยวหัว ต่อประวัติศาสตร์ในพื้นที่ภาคใต้ ทำการศึกษาพัฒนาองค์ความรู้ว่าด้วยประวัติศาสตร์โบราณคดี "อู่ทองและปริมณฑล" ผ่านหลักฐานพระพุทธศาสนาสมัยแรกเริ่มและรอยลูกปัด เพื่อเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักสำคัญของโครงการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่อง เที่ยวอย่างยั่งยืน "เมืองโบราณอู่ทอง" ภายใต้บันทึกข้อตกลงการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนพื้นที่พิเศษเมือง โบราณอู่ทอง ระยะเวลา 3 ปีขึ้น ตามวัตถุประสงค์ อันประกอบด้วย

                 1. เพื่อประมวลรวบรวม สนับสนุนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิเคราะห์ สร้างสรรค์พัฒนาองค์ความรู้ของเมืองโบราณอู่ทอง ผ่านหลักฐานพระพุทธศาสนาสมัยแรกเริ่มและรอยลูกปัด อย่างรอบด้าน ครบถ้วนสมบูรณ์ 2. เพื่อจัดทำเอกสาร หนังสือ สื่อความรู้ เรื่องเมืองโบราณอู่ทอง ผ่านหลักฐานพระพุทธศาสนาสมัยแรกเริ่มและรอยลูกปัดเพื่อเผยแผ่ นำเสนอ สื่อสาร ศึกษา ค้นคว้า อ้างอิง และใช้ในการพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของอู่ทองเมืองโบราณ 3. เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วม ริเริ่มสร้างสรรค์และพัฒนาขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ      "อู่ทองเมืองโบราณ" ในมิติต่างๆ ตามวิสัยทัศน์พันธกิจของคนอู่ทองสุพรรณบุรี และ อพท. บนพื้นฐานหลักฐานพระพุทธศาสนาสมัยแรกเริ่มและรอยลูกปัด

                 ในปี 2556 ได้ร่วมกันจัดโครงการประชุมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง อู่ทองเมืองโบราณ เมืองท่องเที่ยวสร้างสรรค์ เชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิม:ผ่านหลักฐานพุทธศาสนาสมัยแรกเริ่มและรอยลูก ปัด ขึ้น ณ เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2556 สรุปถึงความสำคัญของเมืองโบราณ  อู่ทองว่า - เป็นเมืองโบราณสำคัญที่สุดเมืองหนึ่งเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน สามารถย้อนอดีตอันรุ่งเรืองได้ถึงสมัยพุทธกาล ผ่านสุวรรณภูมิ ฟูนัน ถึงทวารวดี - เป็นศูนย์กลางการเดินทางค้าขายสำคัญของโลกตะวันออกและตะวันตก จากหลักฐานรอยลูกปัดจำนวนมากและหลากหลายจากทั้งสองฟากฝั่งซีกโลก - เป็น "ปุระ - เวียง - เชียง - มหานคร" ของผู้คนหลากหลายชาติ ศาสนา อารยะและวัฒนธรรม - เป็นต้นแบบการจัดการ "เมืองและเรื่องน้ำ" อย่างพิเศษ อาทิ พุ คู ห้วย ฝาย คอก สระ บาราย ทำนบtank ท่า - มีรอยเริ่มแรกพระพุทธศาสนาที่สถาปนาตั้งมั่น พร้อมหลักฐานและหลักธรรมหลากหลายนิกาย

                 - เป็นต้นทางแห่ง "สายธารอารยธรรมไทยพุทธ" ถึงทุกวันนี้ และได้ดำเนินการต่อเนื่องด้วยการศึกษาประมวลรวบรวมองค์ความรู้ "รอยพระพุทธศาสนาแรกเริ่มและรอยลูกปัดโบราณอู่ทอง" เพื่อจัดพิมพ์เป็นเอกสารฐานข้อมูลอ้างอิงหลักสำหรับการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เมืองโบราณ    อู่ทองต่อไป ซึ่งปรากฏเป็นรูปเล่ม "อู่ทอง...ที่รอการฟื้นคืน" ผ่านรอยลูกปัดและพระพุทธศาสนาแรกเริ่มในลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน ที่อยู่ในมือของท่านนี้ โดยได้รับการสนับสนุนและความอนุเคราะห์จากหลากหลายฝ่าย

ผลวิจัย'ทองโบราณที่อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี'
                 นางศิริกุล ยัวได้กล่าวถึงผลการศึกษาวิจัย “ทองโบราณที่อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี”ว่า องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้ร่วมกับ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ดำเนินการพัฒนา “อดีตที่รอการฟื้นคืน” (ให้กลับมาอีกครั้ง) ด้วยการเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนายุคแรกเริ่มของรัฐทวารวดี ศูนย์กลางการค้าของรัฐทวารวดีมาตั้งแต่ปี 2556 ในปี 2558  นี้ อพท. ได้สนับสนุนงบประมาณให้มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ดำเนินการศึกษาวิจัยและประชุมปฏิบัติการนานาชาติว่าด้วยทองโบราณที่แดนทอง ของไทย: อู่ทอง สุพรรณบุรี Golden of U-Thong by the world expert on Ancient Gold from London มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ

                 1.เพื่อทำการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์จากหลักฐานทาง โบราณคดีสำคัญของพื้นที่อู่ทองตลอดจนในอาณาบริเวณที่เกี่ยวข้อง 2.เพื่อจัดทำรายงานและการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยสู่วงวิชาการในระดับประเทศ ภูมิภาคและนานาชาติ ตลอดจนในหมู่ผู้เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่พิเศษอู่ทอง ตลอดจนสื่อและสาธารณะ เพื่อการขยายผลต่อยอดเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนบนฐานความรู้
                 โครงการนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.แอนนา ที.เบนเนตผู้ศึกษาและรายงานเรื่องทองโบราณแรกๆ ในเอเซียอาคเนย์ ต่อที่ประชุมว่าด้วยทองเอเซียอาคเนย์ ณ Yale University Art Gallery,USA 13-14  May 2011 มาเป็นผู้เชี่ยวประจำในโครงการนี้ ซึ่งได้ดำเนินการสำรวจทองโบราณที่อู่ทอง ทั้งที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ประชาชนในพื้นที่อำเภออู่ทอง ดร.แอนนา เบนเนตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหะวิทยาระดับโลก ทำการศึกษาวิเคราะห์ทองที่อู่ทอง จากการศึกษาวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์พระพุทธรูปทองคำและเครื่องประดับทองคำ ที่เก็บรักษาและจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง รวมทั้งทองคำโบราณของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พบว่าเป็นเครื่องทองที่ทำอย่างวิจิตรบรรจงยิ่งและมีความหลากหลายในเทคนิค วิธีการผลิต ซึ่งจะได้นำกลับไปวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อรายงานต่อไป
                 ทั้งนี้เป็นที่ชัดเจนว่าอู่ทองเป็นเมืองสำคัญมากในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ประวัติศาสตร์ตั้งแต่ก่อนสมัยทวารวดี หากเป็นไปได้ จะพยายามเรียบเรียงเพื่อจัดพิมพ์เป็นหนังสือเชิงวิทยาศาสตร์โบราณคดีว่าด้วย ทองที่อู่ทองซึ่งจะเป็นฐานการศึกษาค้นคว้าต่อไปในอนาคต ส่วนหนังสืออู่ทอง...ที่รอการฟื้นคืนที่ว่าด้วยลูกปัดและพระพุทธศาสนาแรก เริ่มนั้น งดงามและสมบูรณ์แบบมาก อยากขอให้ อพท.พิจารณาจัดแปลและพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งจะส่งผลให้อู่ทองเป็นที่รู้จักในระดับสากลอีกด้วย

...........................
(หมายเหตุ : ที่มา http://www.komchadluek.net/detail/20150720/210113/%E0%B8%9E%E0%B8%9A%E2%80%98%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%88%E2%80%99!%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E2%80%98%E0%B8%AD%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%E2%80%99.html)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กกต.เตือนผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกเป็น สว. ศึกษาและทำความเข้าใจระเบียบการแนะนำตัวให้เป็นไปตามกฎหมาย

   เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567  ด้วยปรากฏว่ามีบุคคล กลุ่มบุคคล ได้ดำเนินการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการแนะนำตัวของผู้ที่ประสงค์จะลงสมัครรับเล...