วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558

ทึ่ง!นศ.สาวจุฬาฯสอบบาลีประโยค4ได้(เมื่อปี56)

ทึ่ง!นศ.สาวจุฬาฯสอบบาลีประโยค4ได้(เมื่อปี56)  : สำราญ สมพงษ์รายงาน

              ดูเหมือนว่าในสังคมไทยนั้น การทำดีของพระจะรู้กันแต่วงการของพระเท่านั้น แต่หากพระทำไม่ดีอย่างเช่นกรณีของ "สมีคำ" เป็นข่าวและกล่าวขานกันทั่วบ้านทั่วเมือง จะจบได้ก็ดูเมื่อ "สมีคำ" กลับไทยแล้วก็ไปนอนในคุกเท่านั้น ส่วนผลกระทบที่ตามมานั้นคงไม่มีการพูดกันว่าจะเหยียวยาอย่างไร คนออกมาเปิดเผยและทำคดีนี้ก็คงจะได้หน้ากันไปตามๆกัน
              ปัญหาของ "สมีคำ" ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาด้วยเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อบวชเข้ามาแล้วแทนที่ศึกษาเหล่าเรียนตามระบบทั้งนักธรรมบาลีหรือการศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ก็เอาดีทางไสยเวทและการก่อสร้าง
              อย่างไรก็ตามแม้นจะมีสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษาของคณะสงฆ์ออกมาก็จะเป็นข่าวเพียงวันสองวันที่มีการประกาศผลสอบบาลี แต่ก็เน้นที่สอบประโยคเก้าได้เท่าใดเท่านั้นแล้วก็จบกัน ไม่มีการสืบค้นว่าการศึกษานักธรรมบาลีนั้นเรียนกันอย่างไร และยิ่งมีแม่ชีและฆราวาสสอบบาลีศึกษาได้ด้วยแล้วยิ่งเงียบฉี่ไม่เป็นข่าว
              แล้วแบบนี้จะสู้การเรียนบาลีที่ประเทศศรีลังกาและพม่าได้อย่างไร เพราะทั้งสองประเทศนี้มีผู้สามารถบรรยายและตอบโต้เป็นภาษาบาลีได้ด้วยเหมือนกับภาษาอังกฤษ
              ดังนั้น น้อยคนนักจะรู้ว่าในแต่ละปีนั้นจะมีฆราวาสและแม่ชีสอบบาลีศึกษาได้จำนวนเท่าใด
              บาลีนั้นเป็นภาษาของคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาและเป็นคำทับศัพท์ในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันนี้มีระบบการเรียนการสอนและก็สอบภายใต้การดำเนินงานของแม่กองบาลีสนามหลวง โดยสำนักเรียนต่างๆจัดการเรียนและก็ส่งรายชื่อเข้าสอบปีละหนึ่งครั้ง สอบได้ก็เลื่อนชั้นไปเรื่อยๆจนถึงประโยคเก้าซึ่งเทียบเท่าปริญญาตรีสามารถนำวุฒิการศึกษาไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยทั่วๆไปได้ หากสอบไม่ได้ก็จะต้องเรียนแล้วก็สอบเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะละความพยายามแล้วก็เลิกเรียนไปเอง  เพราะไม่มีการสอบซ่อม
              วิธีการเรียนการสอบบาลีนั้นทั้งสามเณร พระ แม่ชี และฆราวาสทั่วๆไปเหมือนกัน
              ล่าสุดทราบจากเฟซบุ๊กบาลีศึกษาแผนกบาลีมหาธาตุวิทยาลัย แจ้งว่า ในปี 2556 สำนักเรียนมหาธาตุวิทยาลัย มีน.ส.สุกัญญา เจริญวีรกุล อายุ 18 ปี ธรรมศึกษาเอก สอบได้บาลีศึกษา 4 ประโยคด้วย และมีแม่ชีและฆราวาสที่สอบได้ในประโยคเดียวกันอีก 4 คน รวมผู้ที่สอบได้ประโยค 1-2 ถึงประโยค 8 โดยเฉลี่ยประโยคละ 5 คน
              ขณะนี้น.ส.สุกัญญาเป็นนิสิตชั้นปีที่ 2  สาขาวิชาภาษาบาลีและสันสกฤต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้เธอสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนการเรียนภาษา-ฝรั่งเศส และโครงการพัฒนาความสามารถพิเศษด้านภาษาไทย ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พร้อมกันนี้เธอกำลังเรียนบาลีศึกษาประโยค 5 อยู่ที่มหาธาตุวิทยาลัย วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ โดยเรียนร่วมกับแม่ชีและฆราวาสมากพอสมควร
              ทั้งนี้เธอเคยเขียนข้อความในบล็อกที่เว็บไซต์เด็ก-ดี ความโดยสรุปว่า เมื่อจบ ม. 4 เทอม 1 เริ่มอ่านภาษาบาลีเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพราะชอบวิชานี้มากกว่าภาษาฝรั่งเศสหาหนังสือมาอ่านประมาณ 200 เล่ม
              หลังจากจบเทอม 2 ได้ลงสอบบาลีศึกษาโดยเริ่มจากการสอบประโยค 1-2 ต้องสอบ 2 วิชา คือวิชาบาลีไวยากรณ์และแปลมคธเป็นไทย ซึ่งเก็บคะแนนโหดมาก ถ้าแปลผิด 1 คำหัก 2 คะแนน ถ้าวากยสัมพันธ์(เชื่อมคำ)ผิดหัก 3 คะแนน และถ้าแปลผิดทั้งประโยคหัก 6 คะแนน ผิดเกิน 18 คะแนนคือสอบตก โดยข้อสอบมีประมาณ 1 หน้ากระดาษเอ 4
          
              สอบปีนั้นเป็นอย่างที่คิดไว้คือสอบผ่านวิชาไวยากรณ์แต่ตกวิชาแปล ถึงจะเสียใจแต่ก็ต้องยอมรับว่า ถ้าเราไม่ได้หว่านพืชก็ไม่ควรหวังผล เรียนมาเพียงไม่กี่เดือนสอบผ่านแค่วิชาไวยากรณ์ก็นับว่าดีแล้ว คนทั่วๆไปที่สอบผ่านใช้เวลา  2 ปีคือเรียนไวยากรณ์ 1 ปี และเรียนแปลอีก 1 ปี
              ตั้งแต่นั้นก็เริ่มอ่านธรรมบทภาค 1-4 และเริ่มอ่านเพื่อเตรียมสอบเอนทรานซ์ เมื่ออ่านจริงๆแล้วกลับพบว่าวิชาแปลไม่ยากอย่างที่คิด ปีหน้าฉันจะสอบใหม่อีกครั้ง ถ้าผ่านก็ดี แต่ถ้าไม่ผ่านก็ไม่เป็นไร เพราะไม่มีผลต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
              การเรียนบาลีศึกษานั้นมีการเปิดสอนที่มหาธาตุวิทยาลัยและที่้สำนักเรียนทั่วๆ เช่น ที่วัดโมลีโลกยาราม บางกอกใหญ่ เปิดเรียนสำหรับบุคคลทั่วไป พร้อมกับกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อมหาบาชีวิชชาลัยด้วย หรือที่วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม หากอดีตพระมหาเปรียญมีเวลาว่างก็สามารถศึกษาเพิ่มเติมและก็ส่งชื่อสอบอาจจะมีประโยคเพิ่มก็เป็นได้ อีกทั้งทำให้เข้าใจหลักธรรมในพระพุทธศาสนาลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
.........................
(หมายเหตุ : ที่มา http://www.komchadluek.net/detail/20130826/166651/%E0%B8%97%E0%B8%B6%E0%B9%88%E0%B8%87!%E0%B8%99%E0%B8%A8.%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%AC%E0%B8%B2%E0%B8%AF%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%844%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89.html )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...