วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

ปาฏิหาริย์แห่ง'แรงอธิษฐาน'ของดร.เมล กิลล์

 

 ปาฏิหาริย์แห่ง'แรงอธิษฐาน'ของ...ดร.เมล กิลล์ กูรูผู้สร้างแรงบันดาลใจ : เรื่อง/ภาพ สำราญ สมพงษ์

              มูลนิธิชีวันตารักษ์ เป็นมูลนิธิที่ก่อกำเนิดขึ้นจากการประชุมของผู้ที่สนใจในการพัฒนางานการดูแล ผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีทั้งนักบวช แพทย์สาขาต่างๆ พยาบาลวิชาชีพ ผู้บริหารองค์กรสาธารณสุข อาสาสมัครดูแลผู้ป่วย รวมไปถึงผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากมะเร็ง และโรคร้ายต่างๆ ปัจจุบันมีการปรับคณะกรรมการบริหารใหม่ให้ นพ.ดร.มโน เมตตานันโท เลาหวณิช เป็นประธานมูลนิธิ

              กิจกรรมล่าสุดของมูลนิธิชีวันตารักษ์ รับอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย สมัครรุ่นแรก ๘๐ ท่าน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อาหาร-ของว่าง ฟรีทุกวัน ตลอดการอบรม เสาร์-อาทิตย์ ๑๐ สัปดาห์ เริ่มเสาร์-อาทิตย์ ๑๘ ส.ค.-๒๐ ต.ค.๒๕๕๕ ณ ห้องประชุมชั้น ๒๙ ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม ทั้งนี้ ได้เชิญ ดร.เมล กิลล์ (Dr.Mel Gill) นักจิตบำบัด นักเขียนกำกับและสร้างภาพยนตร์ชื่อเดียวกันคือ The Meta Secret (สุดยอดเดอะซีเคร็ท ถูกแปลเป็นภาษาต่างมากกว่า ๕๐ ภาษา) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาบุคคล เป็นที่ปรึกษาขอผู้บรรยาย ฝึกสอนเจ้าของธุรกิจหลายคนทั่วโลก จนถึงได้รับการขนานนามว่า "นักพูดพันล้าน กูรูผู้สร้าง แรงบันดาลใจ
 
              สิ่งที่ ดร.เมล กิลล์ ยืนยันกับผู้เข้าอบรมคือว่า ปาฏิหาริย์แห่ง "แรงจิตอธิษฐาน" สามารถช่วยให้คนป่วยหายป่วยจริง จากที่นักจิตอาสาตั้งคำถามโดยยกตัวอย่างประสบการณ์ส่วนตัวที่แม่ป่วยเป็น อัมพฤกษ์ โดยได้ตั้งจิตอธิษฐานให้แม่หายป่วย ปรากฏว่า ๒ วันต่อมาแม่ก็หายเป็นปกติ โดยได้ยกตัวอย่าง "แรงอธิษฐาน" จากการทดลองของนักจิตบำบัดต่างประเทศ ซึ่งนำคนมาทดลองโดยแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มให้อยู่ในห้องกระจกที่บุคคลภายนอกสามารถมองเห็นคนทดลองได้ แต่คนที่อยู่ในห้องมองไม่เห็นคนข้างนอก โดยกลุ่มที่ ๑ ทดลองให้มีบุคคลมาส่งกระแสจิตส่งความรักความเมตตาให้ กลุ่มที่ ๒ มีบุคคลด่าว่าสาปแช่ง และกลุ่มที่ ๓ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ๗ วันผ่านไปได้นำเลือดไปตรวจ ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ ๑ มีเกล็ดเม็ดเลือดเพิ่มขึ้น กลุ่มที่ ๒ ลดลง ขณะที่กลุ่มที่ ๓ ไม่มีผลการเปลี่ยนแปลงอะไร
 
              พร้อมกันนี้ ดร.เมล กิลล์ ได้ยกตัวอย่างคำสอนของพระลามะขึ้นมาประกอบว่า จงบอกให้คนทำในสิ่งที่มีความสุขเพียงวันละ ๑ เรื่องก็เพียงพอแล้ว และสิ่งที่อาสาสมัครจะทำได้ก็คือช่วยบอกคนอื่นให้มีความสุข แต่การบอกคนที่กำลังจะตายนั้นยากมาก เพราะว่าคนใกล้จะตายนั้นจะมีความโกรธว่า "ทำไมเขาจะต้องตาย" และคนรวยจะบอกยากมากเพราะว่าจะมัวกังวลอยู่กับทรัพย์สมบัติ ส่วนคนจนจะคิดว่าดีแล้วจะได้หมดปัญหา
 
              ดังนั้นหน้าที่ของอาสาสมัครคือไม่ต้องรับในสิ่งที่ผู้ป่วยระบายอะไรออกมา เพราะว่าหากเรารับก็เป็นทุกข์ จงให้คำแนะนำให้เขาหายความกังวลให้เข้าใจในชีวิต โดยมีเทคนิคคือให้เขาจัดลำดับภาพของเขาในอดีต ปัจจุบันและอนาคตให้เป็นระเบียบ เพราะว่าคนทั่วไปจะมองภาพทั้ง ๓ กาลนั้นสับสนกัน และแนะนำให้เขาละทิ้งความกังวลโดยด้วยการฝึกยกลูกโป่ง ๒ ข้างสลับกันไป ก็จะทำให้เขาหายความกังวลมีจิตสงบ และมองเห็นภาพของความดีในชีวิตได้
 
              พร้อมกันนี้ ดร.เมล กิลล์ ได้เล่าถึงชีวิตที่ได้พลิกชีวิตจากวัยรุ่นอายุเพียง ๑๘ ปี ที่ประสบอุบัติเหตุตกเขาที่ประเทศมาเลเซียเมื่อ ๔๐ ปีก่อน และติดเชื้ออย่างรุนแรงจนต้องตัดแขนซ้ายทิ้ง เพื่อเยียวยาฉุดยื้อชีวิต สุดท้ายระหว่างผ่าตัดแพทย์ลงความเห็นว่า “เขาเสียชีวิตไปแล้ว!” ประมาณ ๑๙ นาที ในค่ำคืนอันมืดมิดของวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๑๙๗๖ และแล้วปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้น เมื่อแพทย์สามารถช่วยชีวิตเขากลับมาให้หายใจอีกครั้ง สิ่งหนึ่งที่เขาล่วงรู้จากมิติหลังความตาย  กลายมาเป็น “ของขวัญล้ำค่าแห่งชีวิต” ที่ทำให้เขาเปลี่ยนวิธีคิดและการใช้ชีวิตไปตลอดกาล จากการรอดตายในครั้งนั้นทำให้เขารู้ถึง “ชีวิตหลังความตาย”
 
              ดร.เมล กิลล์ ได้บอกถึงประสบการณ์มิติหลังความตายให้จิตอาสาที่เข้าอบรมว่า มันเหมือนเป็น "อีกโลกหนึ่ง" ไม่มีเวลา ไม่มีพรมแดน เขาเห็นตัวเองลอยไปปลายอุโมงค์สีขาวพร่าพราย รู้สึกถึงสันติสุขอันยิ่งใหญ่ มีร่างเรืองแสงพาเขาไปเที่ยวชมสถานที่ที่มี ความวิจิตรเหมือนสรวงสวรรค์ ที่มีภาพบันทึกเหตุการณ์ในอดีตเหมือนกับตอนที่มีชีวิตจริง ซึ่งไม่ได้สื่อสารกันด้วยการพูดแม้แต่น้อย แต่ก็เข้าใจกันอย่างลึกซึ้งราวกับเป็นร่างเดียวกัน และเข้าใจความจิตของคนที่เกี่ยวข้องว่าเขาคิดอะไรในช่วงนั้น หลังจากนั้นก็มีผู้พามาสู่ร่างเดิม
 
              ทั้งนี้ ดร.เมล กิลล์ พูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า "ผมไม่ได้นับถือศาสนาใด ผมมีความเชื่อว่าเราทุกคนเป็นพี่น้องเผ่าพันธุ์เดียวกัน ผมมั่นใจว่าพระพุทธเจ้าก็ไม่ใช่พุทธ พระองค์ ไม่ได้ให้ใครมานับถือตัวตน แต่ให้นับถือสิ่งที่ตรัสรู้หรือแนวทางปฏิบัติ พระองค์ไม่ได้สนใจว่าเป็นพุทธหรือไม่ แต่หากใครพูดถึงบิดาแห่งจิตวิทยา ผมขอยกย่องพระพุทธเจ้าเป็นอันดับหนึ่งของโลก อย่าสนใจชีวิตของคนอื่นที่ตายไปแล้วว่าไปไหน จงสนใจว่าจะทำอย่างไรให้ชีวิตของเราเป็นสุข ณ ปัจจุบันก็เพียงพอแล้ว"

การอธิษฐานจิต
              นพ.ดร.มโน บอกว่า การอธิษฐานจิตนั้นเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง และมีพุทธภาษิตรับรองไว้มากมาย แม้การอธิษฐานก็ได้จัดไว้ว่าเป็นหนึ่งในบารมีประเภทหนึ่งที่พระโพธิสัตว์จำ เป็นต้องสะสมให้เต็มเปี่ยม เพื่อให้เข้าถึงอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

              ข้อควรคำนึงในการอธิษฐานคือ การอธิษฐานนั้นไม่ใช่การสวดอ้อนวอนเพื่อขอต่อพระผู้เป็นเจ้าหรือสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ให้ตนได้บรรลุผลในสิ่งที่ตนเองปรารถนา แต่เป็นการตั้งใจที่จะให้ความดีที่ตนสะสมมาจากการบำเพ็ญเพียรทางจิต หรือการสร้างคุณความดีอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ส่งผลในสิ่งที่ตนเองได้ใช้ปัญญาพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมและควรที่จะได้ เข้าถึง เป็นต้นว่า อธิษฐานให้ตนเองก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม มีเพื่อนที่เป็นกัลยาณมิตรผู้เป็นบัณฑิต ขอให้ตนกระทำมงคลต่างๆ ให้สมบูรณ์ ฯลฯ

              ผู้ที่อธิษฐานจิตจำเป็นต้องมีปัญญาเข้าใจในเงื่อนไขของความเป็นจริงของโลก ตามเหตุปัจจัยว่าสิ่งใดที่อยู่ในวิสัยที่จะเป็นไปได้และสิ่งใดที่เป็นไปไม่ ได้ และไม่ใช่อธิษฐานขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นการวางแผนที่จะให้โครงการอันเป็นเป้าหมายของชีวิตของตนนั้นได้บรรลุ ผลตามที่ต้องการด้วยความจริงใจและบริสุทธิ์ใจ

              การอธิษฐานประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ คือ ๑.ปัญญา คือ ความเข้าใจในเหตุปัจจัยต่างๆ ว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดอะไร และอะไร สิ่งใดที่สามารถกระทำได้หรือไม่ได้ ๒.สัจจะ คือ ความจริงใจที่ตนเองประสงค์ที่จะเข้าถึงหรือทำให้สิ่งที่ตนปรารถนาอย่าง แรงกล้านั้นเป็นจริง ๓.จาคะ คือ ความเสียสละสิ่งที่เป็นข้าศึกศัตรูต่อเป้าหมายที่ตนเองปรารถนานั้น และ ๔.อุปสมะ คือ ความสงบของจิต

              "การอธิษฐานจิตจึงไม่ใช่สิ่งที่เหลวไหลหรืองมงายแต่เป็นการปฏิบัติที่อยู่ใน ครรลองของคำสอนของพระพุทธเจ้า และสามารถนำมาให้ผู้ป่วย ญาติหรือผู้ที่ดูแลไข้ได้ปฏิบัติ และอาจนำมาปฏิบัติคนเดียวตามลำพังหรือปฏิบัติเป็นหมู่คณะก็ได้และยังเป็นการ สร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้นในหมู่ญาติและครอบครัวของผู้ป่วยได้เป็น อย่างมาก  นอกจากนั้นแล้วยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ป่วยได้อย่างดีอีกด้วย" นพ.ดร.มโน กล่าว
...............

(หมายเหตุ : ที่มา http://www.komchadluek.net/detail/20120925/140818/%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%A3.%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%A5%E0%B9%8C.html)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ธรรมะกับประชาธิปไตยไยห่วงใยสถาบันศาสนา

การวิเคราะห์ประชาธิปไตยในปริบทพุทธสันติวิธีชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ในระบอบประชาธิปไตย เพื่อลดความขัดแย้ง สร้างควา...