วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

วัดท่าการ้องทุบกำแพงสานสัมพันธ์ไทยพุทธ-มุสลิม

 

วัดท่าการ้องทุบกำแพงสร้างสะพาน สานสัมพันธ์พี่น้องไทยพุทธ-มุสลิม : สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาโทสาขาสันติศึกษา มจร รายงาน

              หากพูดถึงวัดท่าการ้อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คนทั่วไปจะนึกถึงส้วมติดแอร์เพราะแนวคิดของพระพิพัฒนศาสนกิจวิธาน รองเจ้าคณะอำเภอพระนครศรีอยุธยา เจ้าอาวาส ต้องการให้บริการกับประชาชนอย่างมีความสุข เพราะเห็นคนที่เข้ามาใช้บริการโดยเฉพาะผู้หญิงใบหน้าเต็มไปด้วยเหงื่อต้อง แต่งหน้ากันใหม่ ถ้าถามว่าคุ้มหรือไม่ก็ต้องตอบว่า "คุ้ม" แม้ว่าเงินบริจาคจะน้อยกว่าจุดอื่นก็ตาม หรือไม่ก็ตลาดน้ำ
              เมื่อเข้ามาที่วัดแห่งนี้จะรู้สึกเหมือนกับมาเที่ยวงานประจำปีที่มีทุกวัน เพราะมีห้องหรือเต็นท์ที่ประกอบด้วยกิจกรรมบุญต่างๆมากมายอย่างเช่นห้อง บรรจุพระเกจิชื่อดังในประเทศไทย  ห้องบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ ที่โบสถ์ประดิษฐานด้วยหลวงพ่อยิ้ม ศาลาหอฉันก็ประดิษฐานสมเด็จฯโต พรหมรังษี ทำให้รู้ศึกว่าที่วัดแห่งนี้คือเป็น  "เนื้อนาบุญ" ที่ชาวพุทธทั้งหลายมีความเชื่อด้านใดก็สามารถมาฉลองศรัทธาได้ไม่ต้องไปไหน อีก เนื่องจากว่าเจ้าอาวาสเป็นพระนักพัฒนาที่มีวิศัยทัศน์ที่ต้องการพัฒนาคน มากกว่าวัตถุ รู้จักใช้คน มีการบริหารจัดการที่มีแบบแผน และนำเอาองค์ความรู้ต่างๆมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม
              วัดท่าการ้องตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนเล็กๆ นอกเกาะกรุงศรีอยุธยาที่มีประชากรหลากหลายศาสนาอาศัอยู่โดยเฉพาะชาวไทยพุทธ และมุสลิมทำให้มีคนเรียกชุมชนแห่งนี้ว่า "มัสยิดวัดท่าการ้อง" มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยชาวมุสลิมนั้นมีเชื้อสายมาจากมาลายู เปอร์เซีย ซึ่งเป็นต้นตระกูลบุนนาค ขณะที่เจ้าอาวาสก็เป็นคนพื้นที่โดยกำเนิด และที่เรียกว่าท่าการ้องนั้นก็เนื่องจากเป็นย่านค้าขายและเลี้ยงวัว คงจะมีการทำเนื้อแดดเดียวทำให้กาซุกซุมคอยกินเนื้อ
              ชาวไทยพุทธและมุสลิมชุมชนแห่งนี้มีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างดีตั้งแต่ในอดีต ได้มีกิจกรรมร่วมกันทำอย่างต่อเนื่องเช่นการลงแขกทำนานำอาหารมาร่วมกันรับ ประทาน วางศิลาฤกษ์ของแต่ละศาสนา น้ำท่วมก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยชาวมุสลิมนำวัวมาพักไว้ที่วัดเพราะเป็นที่สูง พอน้ำลดชาวมุสลิมก็มาช่วยทำความสะอาด ร่วมถึงการร่วมกันพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆโดยไม่มีกำแพงขวางกั้นหากมี เหตุการณ์ไม่ดีก็จะค่อยช่วยเป็นหูเป็นตา ทางวัดทำตลาดน้ำค้าขายร่วมกัน ตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งภายในวัดโดยมีเจ้าอาวาสและโต๊ะอีหม่านทำให้ หน้าที่ ตั้งโรงเรียนฝึกอาชีพร่วมกัน
              จากกิจกรรมดังกล่าวทำให้ชาวไทยพุทธและมุสลิมที่นี้ลบภาพที่ถูกปลูกฝังให้ เกลียดกัน ได้ปรับความคิดเปิดใจกว้างว่า "เขาก็คือเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน" หรือ "โลกทั้งผองคือพี่น้องกัน" โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของ "ขันติธรรม" ของการอยู่ร่วมกัน และยึดหลัก "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกันนี้จะไม่ก้าวก่ายกันในเรื่องของคำสอนแต่ละศาสนา
              พร้อมกันนี้มีแผนในการสร้างสันติสุขแบบยั่งยืน โดยอันดับแรกคือสร้างความเข้าใจในคำสอนของตัวเองและคำสอนของเพื่อน ซึ่งศาสนาอิสลามนั้นหมายถึงศาสนาแห่งสันติสุข แต่ที่มีปัญหาทุกวันนี้เพราะนำศาสนาไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและผลประ โยชน พร้อมกันนี้จะจัดกิจกรรมร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สานสัมพันธ์กันให้ แน่นยึ่งขึ้น
              เหล่านี้คือข้อมูลที่นิสิตปริญญาโทสาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานและปฏิบัติการสันติสานเสวนา ตามรายวิชาสันติสนทนา ในหัวข้อ "สานสัมพันธ์พุทธ-อิสลาม สร้างสันติภาพท่องเที่ยวชุมชน"  เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2558 ที่ผ่านมาในช่วงเช้า  โดยได้รับความอนุเคราะห์เมตตาเอื้อเฟื้อจากเจ้าอาวาสวัดท่าการ้องและโต๊ะ อิหม่ามประจำมัสยิดชุมชนท่าการ้องเป็นอย่างดียิ่ง
              ขณะที่ช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่มย่อยสานเสวนาเรื่อง "ความเชื่อที่ต่าง"เพื่อร่วม"สร้างสะพานสันติภาพ"ในสังคมได้อย่างไร?  โดยสรุปง่ายๆ คือ "หาวิธีการนำไปสู่สันติภาพร่วมกัน" ยึดแนวทาง "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"  ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
              ได้วิธีการจากการแบ่งกลุ่มระดมความเห็นสร้างเป็นโมเดลคือ "สะพานสันติภาพ" ไปมาหาสู่กันระหว่างไทยพุทธ-มุสลิม ได้ดังนี้
               เข้าใจ คือ เปิดใจ ทำความเข้าใจ เรียนรู้วิถีชีวิตให้เกียรติให้อภัยซึ่งกันและกัน ไม่ปิดกั้นความเชื่อและความเชื่อแตกต่าง  เปิดโอกาสรับฟังมุมมองที่แตกต่าง เห็นผู้อื่นเปรียบเสมือญาติอยู่กันอย่างสามัคคีเป็นพี่เป็นน้องกันเห็นอก เห็นใจกัน  มีความจริงใจต่อกัน การศึกษาความเชื่อและให้ความรู้ที่ถูกต้องในแต่ละศาสนา ไม่นำศาสนามาเปรียบเทียบ และเชื่อมโยงผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย

              เข้าถึง คือ  ตั้งศูนย์กลางที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ทำหน้าที่สื่อสารระหว่างศาสนา เป็นแหล่งเรียนรู้ ฝึกอาชีพและพัฒนาเยาวชน  เปิดพื้นที่ในการประกอบสัมมาชีพร่วมกัน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนนำสินค้ามาจำหน่ายร่วมกัน
              และพัฒนา คือ  ทำจัดกิจกรรมร่วมกันเช่น การสัมมนา ศึกษาดูงาน เเลกเปลี่ยนเรียนรู้ พูดคุยกัน แบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สร้างกิจกรรมร่วมกันบ่อยครั้งขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยขยายเป็นระดับจังหวัด ระดับประเทศ รวมถึงสร้างผู้นำและพัฒนาเยาวชนเพื่อให้มีบทบาทในด้านต่างๆอย่างเช่นสมัคร เป็นผู้แทนท้องถิ่น
              พระครูพิพิธสุตาทร  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ อาจารย์ผู้สอนได้สรุปว่า มีความจำเป็นต้องรื้นกำแพงเพื่อสร้างสะพาน เพราะถ้าไม่รื้นกำแพง กำแพงอาจจะสูงขึ้นเรื่อยๆ คือความขัดแย้งจะสูงไปเรื่อยๆ  ชุมชนวัดท่าการ้องมีความเชื่อที่มีความแตกต่างแต่สามารถอยู่ร่วมกันอย่าง สันติสุข สิ่งสำคัญคือ เราต้องรู้จักความเชื่อของอิสลามให้มาก แล้วเราจะได้วิเคราะห์ว่าความเชื่ออะไรที่เหมือนกัน ความเชื่ออะไรที่มีความแตกต่างกัน เราจะได้ใจกว้างทางศาสนาเพื่อการสันติสนทนาต่อไป

              ทั้งนี้พระพิพัฒนศาสนกิจวิธาน กล่าวว่า  วัดท่าการ้องอยู่ท่ามกลางพี่น้องมุสลิมที่มีทั้งใหม่และเก่า เคร่งและยืดหยุ่น แต่ทุกวันนี้มีการปรับประยุกต์ตามบ้านเมือง อาตมามาอยู่ที่นี่ 15 ปี มีความเข้าใจคนอิสลามโดยยึดหลักมัชฌิมาปฏิปทาพบกันคนละครึ่งทาง เมื่อมัสยิดวางศิลาฤกษ์อาตมาก็ไปร่วม
              เจ้าอาวาสวัดท่าการ้องกล่าวต่อว่า คำสอนจากพระคัมภีร์ทั้งพุทธและอิสลามไม่มีแตกต่างกันมากนัก การทำงานร่วมกับพี่น้องมุสลิมต้องมีความเข้าใจ เพราะหลักปฏิบัติบางอย่างมีความแตกต่างกัน เรื่องความเชื่อและพิธีกรรมที่มีการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก  อย่างไรก็ตามเราต้องมีรากอย่าลืมรากของตนเอง และพิธีกรรมบางอย่างที่ทำให้เกิดความขัดแย้งก็ควรละทิ้ง
              อย่างเช่น มจร  มีการพัฒนามาจากรากจึงมีความมั่นคงมาตลอด  ต่อไป มจร จะมีนิสิตมากที่สุดในโลก เพราะมีวิทยาเขตมากมายทั่วไทยและทั่วโลก และต่อไปต้องมี "มหาวิทยาลัยเตรียมเจ้าอาวาส" เรียนจบพร้อมบรรจุเป็นเจ้าอาวาสทันที  ฉะนั้น เราต้องสร้างฐาน สร้างราก ที่วัดท่าการ้องใช้เวลาเป็น 10 ปีขึ้นไปจึงมีวันนี้
              "อาตมานั้นเป็นเพื่อนกับโต๊ะอิหม่ามกับคนปัจจุบัน จึงมีความสนิทสนมกันมากเป็นพิเศษ  ทำให้เราอยู่แบบเข้าใจกัน โดยใช้คำว่า "ช่องว่าง" ของกฎหมายมาประยุกต์ใช้ในงานด้านสังคม งานชุมชน และงานจิตอาสา โดยนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นตัวเชื่อมกิจกรรมร่วมกันระหว่างคนศาสนาใน ชุมชน เช่น วันแม่ วันพ่อ วันสงกรานต์ วันเด็ก ถือว่าไม่มีหลักศาสนามาเกี่ยวข้อง เป็นการใช้ช่องว่างมาทำกิจกรรมร่วมกัน จนเกิด "ความไว้วางใจ" ต่อกัน  สิ่งที่สอดแทรกคือ ความสามัคคี การมีน้ำใจ การอยู่ร่วมกัน และใช้วิธีการนำเสนอให้เป็นกลางๆ" พระพิพัฒนศาสนกิจวิธาน กล่าวและว่า
             และทำ "ศูนย์ยุติธรรมชุมชน" เมื่อมีข้อพิพาทระหว่างศาสนาเราจะไม่ใช้ตำรวจมาตัดสิน แต่เราจะใช้ผู้นำศาสนาหรือบุคคลที่ชุมชนยอมรับมาไกล่เกลี่ยกัน ถือว่ามีความสำคัญ ทั้งโดยใช้หลัก "บริหารชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน"  และสร้างตลาดน้ำขึ้นมาก็ด้วยแนวคิดว่า "จะทำอย่างไรให้พี่น้องชาวพุทธและมุสลิมอยู่ร่วมกันได้"  ปัจจุบันนี้มีผู้นำอิสลามมาดูงานที่วัดท่าการ้องประมาณ 26 ประเทศ มาดูว่าเราอยู่ร่วมกันได้อย่างไร?
              "สิ่งสำคัญ คือ ไม่ทะเลาะกับคนในชุมชน แต่ต้องทำความเข้าใจระหว่างกัน อยู่ร่วมกันอย่างผสมผสาน ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน ทำให้ชุมชนเกื้อกูลกันและกัน คนท้องที่เท่านั้นที่รู้ดีที่สุด"  เจ้าอาวาสวัดท่าการ้องกล่าว

....................
(หมายเหตุ : ที่มา http://www.komchadluek.net/detail/20150824/212144/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98-%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%AA%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%A1.html) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...