วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

Media Disruption: EP8 ผลกระทบต่อ 'สิทธิแรงงาน' คนทำงานสื่อ




ทีมข่าว TCIJ: 18 พ.ย. 2562
*Media Disruption: EP1 ไทม์ไลน์และพฤติกรรมผู้เสพสื่อที่เปลี่ยนไปในระดับโลก
Media Disruption: EP2 การหายไปของ ‘สื่อเก่า’ ทั้ง ‘ปริมาณ-เม็ดเงิน-คนทำงาน’
Media Disruption: EP3 ‘การควบรวมสื่อ’ และ ‘การหายไปของสื่อท้องถิ่น’ ในต่างประเทศ
Media Disruption: EP4 สำรวจพฤติกรรมเสพสื่อที่เปลี่ยนไปของคนไทย
Media Disruption: EP5 ‘สื่อสิ่งพิมพ์ไทย’ ในยุค Disrupt ถึงจุดดิ่งสุดแล้วหรือยัง?
Media Disruption: EP6 เมื่อ ‘วิทยุไทย’ ถูก ‘การเมือง-สื่อใหม่’ Disrupt
Media Disruption: EP7 ‘ทีวีไทย’ ในกระแสเปลี่ยนผ่าน
Media Disruption: EP8 ผลกระทบต่อ 'สิทธิแรงงาน' คนทำงานสื่อ
---------------------------------------------------------
การปรับตัวของอุตสาหกรรมสื่อเก่าสู่ดิจิทัลนั้น ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับคนทำงานในภาคสื่อสารมวลชน ทั้งการเลิกจ้างและรูปแบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคงโดยเฉพาะ‘ฟรีแลนซ์’ เป็นปรากฏการณ์สำคัญไปทั่วโลก ในไทยยุค 'ทีวีดิจิทัล' ส่งผลกระทบคนทำงาน 'เครือข่ายสถานีอนาล็อก' เป็นกลุ่มแรกๆ หลัง ‘ฟองสบู่ดิจิทัลแตก’ เกิดการเลิกจ้างคนทำงานสื่อครั้งใหญ่ พบชีวิตคนทำสื่อออนไลน์ 'ค่าแรงต่ำ-อึดทน-ทำงานสารพัด'
Special Report ชิ้นนี้เป็นตอนหนึ่งของซีรีส์ชุด Media Disruption ที่ TCIJ ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการรู้เท่าทันดิจิทัล โดย Internews Network
Media Disruption: EP1 ไทม์ไลน์และพฤติกรรมผู้เสพสื่อที่เปลี่ยนไปในระดับโลก
Media Disruption: EP2 การหายไปของ ‘สื่อเก่า’ ทั้ง ‘ปริมาณ-เม็ดเงิน-คนทำงาน’
Media Disruption: EP3 ‘การควบรวมสื่อ’ และ ‘การหายไปของสื่อท้องถิ่น’ ในต่างประเทศ
Media Disruption: EP4 สำรวจพฤติกรรมเสพสื่อที่เปลี่ยนไปของคนไทย
Media Disruption: EP5 ‘สื่อสิ่งพิมพ์ไทย’ ในยุค Disrupt ถึงจุดดิ่งสุดแล้วหรือยัง?
Media Disruption: EP6 เมื่อ ‘วิทยุไทย’ ถูก ‘การเมือง-สื่อใหม่’ Disrupt
Media Disruption: EP7 ‘ทีวีไทย’ ในกระแสเปลี่ยนผ่าน
Media Disruption: EP8 ผลกระทบต่อ 'สิทธิแรงงาน' คนทำงานสื่อ
ในอุตสาหกรรมสื่อพบว่า ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) อุตสาหกรรมสื่อเก่าต้องปรับตัวสู่ดิจิทัล ซึ่งได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับสิทธิของคนทำงานในภาคสื่อสารมวลชน ทั้ง ‘การเลิกจ้าง’ และรูปแบบ ‘การจ้างงานที่ไม่มั่นคง’ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แพร่หลายไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย
จำนวน ‘คนงานประจำ’ ภาคสื่อ ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันการเลิกจ้างคนทำงานภาคสื่อสารมวลชนมีให้เห็นทั่วโลก โดยเฉพาะตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับงานข่าว | ที่มาภาพประกอบ: Washington Post
เทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลให้รายได้ของอุตสาหกรรมสื่อเก่าทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่องในศตวรรษที่ 21 นอกจากนี้ เจ้าของกิจการสื่อโดยรวมก็ยังคงทำกำไรได้จากการลดค่าใช้จ่ายขององค์กร การใช้เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น ลดจำนวนการพิมพ์ ลดการรายงานข่าวจากท้องถิ่นหรือการรายงานจากต่างประเทศ ควบรวมกิจการ มีการเลิกจ้าง รวมทั้งการลด ‘ตำแหน่งงานประจำ’ ลงเรื่อยๆ
ปี ค.ศ. 2004 หนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ในสหรัฐอเมริกามีพนักงานประจำกองบรรณาธิการน้อยกว่าปี ค.ศ. 1990 ถึง 2,200 คน ขณะที่สถานีโทรทัศน์ลดนักข่าวภาคสนามลง 1 ใน 3 นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา
ระหว่างปี ค.ศ. 2008-2018 การจ้างงานคนทำงานสื่อสารมวลชนในสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับงานข่าวมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 25 ในปี ค.ศ. 2008 คนทำงานสื่อสารมวลชนในสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับงานข่าวมีทั้งหมดประมาณ 114,000 คน ทั้งนักข่าว, บรรณาธิการ, ช่างภาพ และคนตัดต่อ ทำงานใน 5 อุตสาหกรรมที่ผลิตข่าว ได้แก่ หนังสือพิมพ์, สถานีโทรทัศน์, สื่อออนไลน์, วิทยุ และเคเบิลทีวี แต่ในปี ค.ศ. 2018 เหลือเพียง 86,000 ตำแหน่ง
ปี ค.ศ. 2018 ถือว่าเป็นปีที่คนทำงานภาคสื่อสารมวลชนในสหรัฐฯ ถูกเลิกจ้างมากที่สุดในรอบหลายปี โดยถูกเลิกจ้างมากถึง 11,878 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับการเลิกจ้างในปี ค.ศ. 2017 ปีที่เลิกจ้าง 4,062 คน ปี ค.ศ. 2018 มีสัดส่วนการเลิกจ้างมากกว่าถึงร้อยละ 281 ซึ่งนับเป็นการเลิกจ้างมากที่สุดตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี ค.ศ. 2009
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมการเลิกจ้างคนทำงานภาคสื่อในระดับโลก Media Disruption: EP2 การหายไปของ ‘สื่อเก่า’ ทั้ง ‘ปริมาณ-เม็ดเงิน-คนทำงาน’. ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ)
พนักงานประจำ (ที่เหลือ) ทำงานหนักขึ้น การจ้างงาน ‘ฟรีแลนซ์’ คุกคามสิทธิคนทำงานสื่อ
การจ้างงานนักข่าวฟรีแลนซ์ เป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในวงการสื่อมวลชนทั่วโลกในขณะนี้ เนื่องจากช่วยสร้างความยืดหยุ่นและลดต้นทุนให้กับองค์กรสื่อ | ที่มาภาพประกอบ: IBC
ในงานศึกษาชิ้นหนึ่งที่ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างนักข่าวใน 14 ประเทศในทวีปยุโรป พบว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล การจ้างงานระยะยาวแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะในหมู่นักข่าวหน้าใหม่ที่มีประสบการณ์ทำข่าวไม่เกิน 5 ปี หรือเป็นนักข่าวฟรีแลนซ์มาก่อน ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่พบการจ้างงานประจำในประเทศอย่างสวีเดน เยอรมนี มีมากกว่าในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก แต่ก็ยังพบความไม่แน่ใจในหมู่นักข่าวสวีเดน เยอรมัน เรื่องความมั่นคงในอาชีพ ทำให้นักข่าวหลายคนหันไปทำงานด้านประชาสัมพันธ์ (PR) แทน แม้ว่าจะเป็นนักข่าวมานานนับทศวรรษแล้ว เนื่องจากไม่ได้รับสัญญาจ้างแบบถาวร มีการเปรียบเปรยว่ารายได้ของนักข่าวใหม่ก็ไม่ต่างจากคนค้าขายตามริมถนน แม้นักข่าวกลุ่มดังกล่าวทำงานหนักกว่าก็ตาม ทั้งนี้ พบความวิตกกังวลในหมู่นักข่าวหน้าใหม่อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าวิชาชีพนักข่าวได้กลายเป็นอาชีพที่ขาดความมั่นคงไปเสียแล้ว [1]
การจ้างงานแบบฟรีแลนซ์ กำลังคุกคามคนทำงานสื่อในยุโรป
การจ้างงานแบบฟรีแลนซ์ได้คุกคามภาคสื่อมวลชนหลายประเทศในยุโรปด้วยเช่นกัน จากดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปี 2018 (2018 World Press Freedom index) ระบุว่ายุโรปเป็นภูมิภาคที่สัดส่วนมาตรฐานด้านเสรีภาพลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกภูมิภาค ซึ่งหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ผู้สื่อข่าวในยุโรปกำลังเผชิญก็คือการจ้างงานที่ไม่มั่นคงและค่าแรงที่ต่ำ มีงานศึกษาและสำรวจหลายชิ้นที่ระบุว่าการจ้างงานฟรีแลนซ์ ซึ่งมีลักษณะของการเป็น 'แรงงานรับจ้างตนเอง' (self-employed) เพิ่มมากขึ้นในแวดวงสื่อมวลชน ส่งผลให้ 'ช่องว่างของรายได้และความมั่นคง' ระหว่างผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์และผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำ ถ่างมากขึ้นด้วย โดย’สำนักข่าวประชาไท’ได้เคยสำรวจสถานการณ์การจ้างงานนักข่าวในทวีปยุโรปไว้ดังนี้
สหราชอาณาจักร เมื่อปี ค.ศ.2016 เว็บไซต์ Journalism.co.uk ได้ทำแบบสำรวจผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์จำนวน 310 คน มากกว่า 2 ใน 3 ระบุว่าการประกอบอาชีพผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์นี้เป็นรายได้หลักของตนเพียงอย่างเดียว ประมาณร้อยละ 40 เป็นกลุ่มคนยุค 'มิลเลเนียม' คือมีอายุระหว่าง 18-34 ปี และอีก 1 ใน 3 มีอายุระหว่าง 35-44 ปี ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่ระบุในแบบสอบถามว่ามีความกังวลใจเรื่องความไม่มั่นคงในการทำงานและรายได้ที่ต่ำ ทั้งนี้ค่ามัธยฐานของรายได้ผู้ประกอบอาชีพนักหนังสือพิมพ์ (ทั้งผู้สื่อข่าวและกองบรรณาธิการที่เป็นพนักงานประจำ) จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2015 อยู่ที่ 31,294 ปอนด์ต่อปี แต่ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้ตอบแบบสอบถามของ Journalism.co.uk เมื่อปี 2016 ร้อยละ 10 ระบุว่าพวกเขามีรายได้ระหว่าง 30,000-39,000 ปอนด์ต่อปี ร้อยละ 21 มีรายได้ 10,000-19,999 ปอนด์ และร้อยละ 33.9 มีรายได้ไม่ถึง 10,000 ปอนด์ต่อปี
เยอรมนี มีการศึกษาของมหาวิทยาลัยลุดวิก แมกซิมิเลียน แห่งมิวนิค (Ludwig Maximilian University of Munich: LMU Munich) พบว่าผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์แม้จะมีการศึกษาสูงแต่กลับได้ค่ารับตอบแทนต่ำกว่าผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำ โดยร้อยละ 83 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ในเยอรมนีมีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย (ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 91 ในหมู่ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้หญิง) ส่วนผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำมีเพียงร้อยละ 74.1 เท่านั้น และ 1 ใน 3 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ทำอาชีพนี้ควบคู่ไปกับการทำอาชีพอื่น
เบลเยียม งานวิจัยของสมาคมนักข่าวเบลเยียม (Association des journalistes professionnels: AJP) ระบุว่าในภูมิภาคที่พูดภาษาฝรั่งเศสของเบลเยียม ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ได้รับค่าตอบแทนต่ำมาก อย่างรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันพวกเขาได้ค่าเรื่องเพียง 20 ยูโร รายงานขนาดยาวที่ตีพิมพ์หลายตอนได้ค่าเรื่องประมาณ 120-150 ยูโร ส่วนรายงานข่าวผ่านรายการทีวีได้ชิ้นละประมาณ 125 ยูโร นอกจากนี้การสำรวจผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ที่พูดภาษาดัตช์ในเขตฟลามส์ (Flanders - เขตปกครองทางตอนเหนือของเบลเยียม) เมื่อปี 2017 พบว่าค่าจ้างผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ยิ่งต่ำลงลดลง ในนิตยสารเฉพาะทางและเว็บไซต์ต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหรือสื่อด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ยังถูกใช้งานแบบอาสาสมัคร (ไม่ได้รับเงินตอบแทน) อีกด้วย
สเปน เกือบร้อยละ 45 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์มีรายได้น้อยกว่า 1,000 ยูโรต่อเดือน ซึ่งตัวเลขนี้ยังมีเรื่องช่องว่างรายได้ระหว่างเพศแฝงอยู่ โดยร้อยละ 51 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้หญิงได้ค่าแรงต่ำมาก เมื่อเทียบกับผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้ชายที่ร้อยละ 26 ทั้งนี้สถานีโทรทัศน์ในสเปนสเปนจ่ายเงินระหว่าง 200-400 ยูโร ต่อสกู้ปข่าวหนึ่งชิ้น
ฝรั่งเศส จากการสำรวจของสหภาพแรงงานผู้สื่อข่าวแห่งชาติ (Snj-CGT) พบว่ามีผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ประมาณ 6,500 คน ที่มีบัตรสื่อมวลชน (press cards) แม้ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์จำนวนหนึ่งจะไม่ผ่านเกณฑ์รับรองอย่างเป็นทางการ แต่กระนั้นจำนวนนี้ก็เป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของผู้ถือบัตรสื่อมวลชนในฝรั่งเศส โดยปี ค.ศ.2017 ที่ผ่านมาร้อยละ 66 ของได้รับอนุญาตถือบัตรสื่อมวลชนรายใหม่เป็นผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ ข้อมูลที่น่าสนใจอีกหนึ่งประการก็คือกว่าร้อยละ 57 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์มีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไปแล้ว ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ที่มีบัตรสื่อมวลชนมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ 1,969 ยูโร เทียบกับผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำที่ 3,549 ยูโร ทั้งนี้รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ (ที่มีบัตรสื่อมวลชน) ลดลงจากปี ค.ศ.2000 ที่เคยได้อยู่ที่ 2,058 ยูโร นอกจากนี้พบว่ายังมีผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์อีกจำนวนมากที่ไม่มีบัตรสื่อมวลชน บางคนต้องทำงานมากกว่า 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อแลกกับรายได้เพียงหลักร้อยยูโร
อิตาลี สถาบันคุ้มครองทางสังคมสื่อมวลชนแห่งชาติ (INPGI) ระบุว่าผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์มีถึงร้อยละ 65 ของผู้สื่อข่าวทั้งหมดในประเทศ ข้อมูลในปี ค.ศ.2015 พวกเขามีรายได้เฉลี่ยต่อปี 11,241 ยูโร ซึ่งเป็นตัวเลขเพียง 1 ใน 5 เมื่อเทียบกับผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำ และผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ประมาณร้อยละ 83 ยังมีรายได้เฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 10,000 ยูโร ด้วยซ้ำ [2]
มีความเห็นของของนักข่าวที่ระบุว่า การลดลงของนักข่าวประจำและการเพิ่มขึ้นของนักข่างฟรีแลนซ์ ทำให้นักข่าวกลาย เป็นอาชีพที่ขาดความมั่นคงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของงานข่าว การจ้างนักข่าวประจำที่ลดลงก็จะให้นักข่าวที่เหลือใช้เวลาทำงานต่อหนึ่งชิ้นนานขึ้น ทั้งค้นคว้าข้อมูลเอง ถ่ายวิดีโอ และยังต้องใช้เวลาทำงานด้านเว็บไซต์ ซึ่งการต้องทำหลายอย่างส่งผลให้คุณภาพของงานลดลง ปริมาณนักข่าวที่มีน้อยลงจะทำให้ข่าวสืบสวนสอบสวนมีคุณภาพน้อยลงไปด้วย และจากการสำรวจนักข่าวแคนาดาเมื่อปี ค.ศ.2013 จำนวน 343 คน ต่อคำถามว่าในปี ค.ศ.2022 พวกเขาจะยังคงเป็นนักข่าวอยู่หรือไม่ พบนักข่าวถึงร้อยละ 42.2 ตอบว่าจะเลิกเป็นนักข่าว [3]
ในการบรรยาย 'แรงงานและอาชีพในเศรษฐกิจดิจิทัล' โดย อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการฝึกอบรม TCIJ School รุ่นที่ 6 เมื่อเดือน มิ.ย. 2562 ได้ระบุถึงรูปแบบการทำงานและจ้างงานของคนทำสื่อที่เปลี่ยนไปอย่างมากในยุคปัจจุบันไว้ว่า เป็นผลกระทบจากองค์กรสื่อถูก disrupt สื่อเก่าหลายแห่งปรับตัวไม่ทันจนต้องปิดตัวลง ที่อยู่รอดก็ต้องปรับตัว-ปรับองค์กรสู่แพลตฟอร์มแบบใหม่ ซึ่งเอื้อต่อการจ้างงานแบบฟรีแลนซ์มากขึ้น
"ในยุคที่เทคโนโลยี disrupt ทุกสิ่ง มีเดียเองก็ถูก disrupt หนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อแบบเก่า จำนวนมากที่ปรับตัวไม่ทันต้องปิดตัวลงไป สิ่งนี้มันเกิดเร็วมาก คุณดูตอนประมูลทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบการแห่ไปประมูลเสนอค่าตอบแทนให้รัฐมหาศาล แต่เมื่อภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน ทุกคนย้ายมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ก็เจ๊งเลย ทีนี้พอทุกคนรู้ตัวว่าต้องย้ายแพลตฟอร์มมันก็เลยทำให้มีความต้องการคอนเทนต์ออนไลน์มาก แล้วก็มีผู้ผลิตที่เป็นฟรีแลนซ์ พร้อมจะกระโจนลงไปในสนาม ผลิตงานป้อนให้แพลตฟอร์ม ซึ่งเราก็มองว่าการเปลี่ยนแปลงนี้มันก็เป็นโอกาสทางธุรกิจของเรา แต่บางทีก็ลืมนึกไปว่าเมื่อมีคนส่งงานเข้ามาเยอะ ตัวเลือกมันก็เยอะ โอกาสของเรามันก็อาจจะน้อยลงตามไป หรือว่าค่าตอบแทนของเรามันก็อาจจะน้อยลงไปด้วย ซึ่งหากคิดต้นทุนให้ดีมันก็อาจจะไม่สอดคล้องกับรายจ่ายที่เราต้องจ่ายจริงๆ ในการผลิตงานหนึ่งชิ้น ในรูปแบบการจ้างงานแบบเดิม สมมติเราเป็นนักข่าวอย่างน้อย ปัจจัยการผลิต สาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ที่เราใช้ในการทำงานมันก็เป็นของนายจ้าง เรามีหลักประกันทางสังคม ความสัมพันธ์การจ้างงาน สภาพการทำงาน มีกฎหมายรองรับ แต่ถ้าเราเป็นฟรีแลนซ์จะไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย คุณแบกรับต้นทุนเองทั้งหมด" อรรคณัฐ ระบุ
ทั้งนี้การจ้างงานฟรีแลนซ์เหมาจ่าย (เช่น การทำรายการทีวีด้วยนักข่าวตัวคนเดียวทำทุกกระบวนการทั้งลงพื้นที่ ดำเนินรายการเอง ถ่ายวีดีโอเอง ตัดต่อเอง) เป็นอีกทางเลือกขององค์กรสื่อที่ไม่ต้องมีภาระผูกพันในการจ้างงานมากนัก ถือเป็นรูปแบบการจ้างงานแบบใหม่ที่กำลังค่อยๆ คืบคลานเข้ามาในวงการสื่อไทย
"อันนี้ (การจ้างงานฟรีแลนซ์เหมาจ่าย) มันก็จะทำให้เราเห็นถึงปัญหาของรูปแบบการจ้างงานแบบใหม่ ซึ่งกำลังเป็นแนวโน้มการจ้างงานในอนาคตเกือบทุกอุตสาหกรรม นายจ้างพยายามจะ breakdown กระบวนการทำงานให้ย่อยลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วก็เลือกที่จะทำสัญญาจ้างแบบที่ไม่ต้องมีภาระผูกพันสำหรับนายจ้าง แล้วก็เอาเรื่องของการแข่งขันมาเป็นข้ออ้างว่าโอเค เนื่องจากว่ามันมีการแข่งขันสูง ธุรกิจไปไม่ได้ ถ้าไม่ทำแบบนี้” อรรคณัฐ ระบุ กับ TCIJ School รุ่นที่6 เมื่อเดือน มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา
เข้าสู่ยุค 'ทีวีดิจิทัล' คนทำงาน 'เครือข่ายสถานีอนาล็อก' โดนผลกระทบกลุ่มแรกๆ
หลังจากที่ไทยก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัลเมื่อปี 2557 ฟรีทีวี 6 ช่องเดิม (ThaiPBS, 3, 5, 7, 9 และ NBT) ก็ได้ทยอยยุติการเผยแพร่สัญญาณแบบอนาล็อก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนทำงานเครือข่ายสถานีอนาล็อก ในสถานีต่างจังหวัด
เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2562 ตัวแทนคนทำงานเครือข่ายสถานีอนาล็อก สถานีต่างจังหวัดรวม 20 คน ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ขอความเป็นธรรมให้มีมาตรการเยียวยาพนักงานเครือข่ายสถานีอนาล็อก สถานีต่างจังหวัด กรณีนายจ้าง บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จํากัด ในนามสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ได้บอกเลิกจ้างพนักงานต่างจังหวัดทั้งหมด ซึ่งทำให้มีคนตกงาน 113 คน
ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวระบุว่าด้วยเครือข่ายสถานีอนาล็อก สถานีต่างจังหวัด กรณีนายจ้างบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ในนามสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ได้บอกเลิกจ้างพนักงานต่างจังหวัดทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 3 เฟส เฟสที่ 1 จำนวน 4 สถานี เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2560 เฟสที่ 2 จำนวน 13 สถานี เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2560 เฟสที่ 3 จำนวน 20 สถานี เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2561 โดยทางบริษัทฯ ไม่เคยนำแผนงานระบบทีวีดิจิทัลแจ้งให้พนักงานทราบมาก่อน ซึ่งไม่เป็นไปตามนโยบายของ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐโดยตรงที่กำกับดูแลทีวีระบบกระจาย เสียงและภาพระบบดิจิทัลให้นโยบายไว้ว่าให้สถานีออกอากาศในระบบอนาล็อกควบคู่กับระบบดิจิตอลไปจนถึงอายุ สัมปทานในปี 2566
"พนักงานต่างจังหวัดที่ถูกเลิกจ้าง ทั้งหมด 113 ราย อย่างเช่นพวกกระผมซึ่งมีอายุ 40 กว่าปีขึ้นไปทั้งสิ้น ขาดโอกาสในการหางาน ไม่มีโอกาสขยับขยายหางานใหม่ ครอบครัวที่ต้องดูแลต้องประสบปัญหาเดือดร้อนในทันที และหลังจากนี้ไปจะมีพนักงานต่างจังหวัดอีกมากมายหลายช่องก็จะถูกเลิกจ้างและประสบปัญหาเช่นเดียวกับพวกกระผมกันหมด ด้วยสภาวการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ปัญหาหนี้สิน ความเดือดร้อนเหล่านี้มีที่มาจากบริษัททีวีดิจิทัลและนโยบายของรัฐที่สนับสนุนให้มีทีวีดิจิตอลทั้งสิ้น ซึ่งขณะนี้ทาง กสทช. ก็ได้มีมาตรการเยียวยา ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลไปบ้างแล้ว" ตัวแทนคนทำงานเครือข่ายสถานีอนาล็อก ระบุ
ในตอนท้ายของหนังสือระบุว่า ขอความกรุณาต่อท่านนายกรัฐมนตรีได้โปรดพิจารณาถึงปัญหาดังกล่าว และได้โปรดมีมาตรการเยียวยาพนักงานเครือข่ายสถานีอนาล็อก สถานีต่างจังหวัดจำนวนมากที่ถูกเลิกจ้าง ที่ได้รับความเดือดร้อนจากพิษของดิจิทัลจากนโยบายของรัฐให้ได้รับความดูแลชดเชยเยียวยาด้วย
“พวกผมอยู่ต่างจังหวัดที่โดนเลิกจ้าง สถานีต่างจังหวัดทั้งหมด 37 สถานีโดนเลิกจ้างทั้งหมด ทีวีอนาล็อกเดิมจะมีช่อง 7 ช่อง 3 ช่อง 9 ช่อง ThaiPBS และช่อง 5 เราโดนกลุ่มแรก และปิดก่อนออายุสัมปทาน การเดินทางเข้า กทม. พวกผมอาศัยรวมเงินคนละ 100-200 บาท เพื่อให้ตัวแทนไปทำหน้าที่ครับ พวกผมลำบากกันจริง อายุก็เลย 40-50 ปีแล้วทั้งนั้นขาดโอกาสในการหางานใหม่ ช่วยแรงงานอย่างพวกผมด้วยเถอะครับ” ตัวแทนคนทำงานเครือข่ายสถานีอนาล็อก ระบุ [4]
การเลิกจ้างครั้งใหญ่ของวงการสื่อไทย เมื่อ ‘ฟองสบู่ทีวีดิจิทัลแตก’
เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2562 กลุ่มพนักงานฝ่ายข่าว และผู้ผลิตรายการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 จำนวนเกือบ 20 คน เดินทางมาที่ศาลแรงงานกลาง เพื่อขอความเป็นธรรมและปรึกษานิติกร กรณีถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมของผู้บริหาร หลังมีการคืนช่องสัมปทานทีวีดิจิตอล ช่อง 13 Family และ ช่อง 28 SD | ที่มาภาพ: กรุงเทพธุรกิจ
นับตั้งแต่ทีวีดิจิทัลเริ่มต้นในปี 2557 พบว่าเม็ดเงินโฆษณาก็ไม่ได้เติบโตจากยุคฟรีทีวี 6 ช่อง โดยเม็ดเงินโฆษณาก้อนเดิมนั้นได้ย้ายจากช่องฟรีทีวีเดิมไปยังทีวีดิจิทัลช่องใหม่ แต่การแข่งขันกลับมีสูงกว่าเดิม รวมทั้งมีส่วนที่ไหลไปยังสื่อออนไลน์ด้วย ขณะที่ทีวีดิจิทัลเป็นสื่อที่ลงทุนสูงเมื่อรายได้ไม่คุ้มต้นทุนทำให้หลายช่องต้องทยอยลดต้นทุน ทั้งการปรับกลยุทธ์องค์กร การเลิกจ้างพนักงานมาต่อเนื่อง และสุดท้ายมาจบลงที่การคืนใบอนุญาต
จากการรวบรวมตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พบว่าทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่อยู่ในภาวะขาดทุน ทั้งนี้พบว่าแต่ละสถานีของช่องดิจิทัลจะมีพนักงานเฉลี่ยช่องละ 200 คน โดยเป็นพนักงานประจำของตนเองประมาณร้อยละ 30-40 เท่านั้น ที่เหลือเป็น ‘การจ้างผลิต’ หรือ ‘outsource’
ข้อมูลจาก กสทช. ระบุว่าตั้งแต่ปี 2558-2562 มีการปิดตัวของทีวีดิจิทัลไป 9 ช่อง (ช่อง LOCA | ช่อง THAITV | ช่อง 3 FAMILY | ช่อง MCOT Family | ช่อง SPRING NEWS | ช่อง BRIGHT TV | ช่อง VOICE TV | ช่อง SPRING (ช่อง NOW เดิม) | ช่อง 3SD) มีพนักงานประจำของสถานีทีวีดิจิทัลและพนักงานของบริษัทรับจ้างผลิต ทั้งผู้ผลิตรายการอิสระ ธุรกิจตัดต่อ ผู้ผลิตโฆษณา ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง จำนวน 3,472 คน นอกจากนี้ยังมีผลกระทบทางอ้อมต่อครอบครัวคนที่ถูกเลิกจ้างอีกจำนวน 11,458 คน รวมผู้ที่ ได้รับผลกระทบ 14,930 คน [5]
ส่วน Positioning ได้รวบรวมตัวเลขการเลิกจ้างของช่องทีวีดิจิทัลระหว่างปี 2558-2562 ไว้ดังนี้
ปี พ.ศ.2558 ช่อง SPRING NEWS เลิกจ้าง 80 คน
ปี พ.ศ.2558 ช่อง LOCA และ ช่อง THAITV เลิกจ้าง 500 คน
ปี พ.ศ.2559 ช่อง VOICE TV เลิกจ้าง 57 คน
ปี พ.ศ.2560 ช่อง THAIRATH TV เออร์ลี่รีไทร์ 100 คน
ปี พ.ศ.2561 ช่อง NEW tv เลิกจ้าง 37 คน
ปี พ.ศ.2561 ช่อง 3 เปิดเออร์ลี่ รีไทร์ กลุ่มเกษียณ
ปี พ.ศ.2562 ช่อง GMM เลิกจ้างทีมข่าว 27 คน
ปี พ.ศ.2562 ช่องเด็ก ช่อง 3 family และ MCOT Family รวม 100 คน
ปี พ.ศ.2562 ช่องข่าว BRIGHT TV, VOICE TV และ SPRING NEWS รวม 300 คน
ปี พ.ศ.2562 ช่องวาไรตี้ SD ช่อง 3SD และ SPRING รวม 150 คน [6]
ล่าสุดจากกรณีที่ทีวีดิจิทัล 7 ช่อง (ช่อง 3 FAMILY | ช่อง MCOT Family | ช่อง SPRING NEWS | ช่อง BRIGHT TV | ช่อง VOICE TV | ช่อง SPRING (ช่อง NOW เดิม) | ช่อง 3SD) ได้คืนใบอนุญาตนั้น กสทช. ได้จ่ายเงินชดเชยให้จำนวน 2,933 ล้านบาท ในจำนวนนี้ผู้ประกอบการได้นำไปจ่ายเป็นเงินเยียวยาเลิกจ้างพนักงานตามกฎหมายแรงงานและบวกเพิ่มให้รวม 1,400 ล้านบาท แต่ก็พบว่ากลุ่มที่เป็นลูกจ้าง outsource (พนักงานของบริษัทรับจ้างผลิต) ได้รับผลกระทบเพราะไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน เมื่อมีการยกเลิกประกอบกิจการจึงไม่ได้รับสิทธิการจ่ายเงินค่าเลิกจ้างนี้ ซึ่งมีการส่งเรื่องร้องเรียนมาที่ กสทช.จำนวนมาก [7]
ทั้งนี้ ในช่วงที่ 7 ช่องทีวีดิจิทัล ได้ประกาศคืนใบอนุญาตแก่ กสทช. นั้น ‘ศูนย์ประสานงานและติดตามข้อมูลสถานการณ์ในอุตสาหกรรมสื่อมวลชน’ ได้ออกมาเรียกร้องดังนี้ 1.ให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ที่แจ้งความประสงค์คืนใบอนุญาต ประกอบกิจการ พิจารณาการเลิกจ้างลูกจ้างด้วยความรอบคอบ เป็นธรรม คำนึงถึงคุณค่าของทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นกลไกสำคัญในการปฏิบัติงานวิชาชีพสื่อสารมวลชน และคำนึงถึงความอุตสาหะทุ่มเทเสียสละให้กับองค์กรในการทำหน้าที่สื่อมวลชนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 2.กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเป็นเงินพิเศษไม่น้อยกว่า 3 เดือน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม พัฒนาทักษะ ในการประกอบอาชีพใหม่ นอกเหนือจากค่าชดเชยเลิกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด
3. ให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลที่ยังคงประกอบกิจการต่อไป ทำสัญญาการจ้างงานที่เป็นธรรม เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และเสนอแผนงานด้านการพัฒนาบุคลากรที่ยังคงประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนต่อ กสทช. เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นตั้งใจในการสร้างสื่อมวลชนมืออาชีพ และยืนยันถึงความตระหนักในการพัฒนาเนื้อหารายการให้มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 4. ให้กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ สนับสนุนงบประมาณในการจัดฝึกอบรม พัฒนาวิชาชีพ ให้กับพนักงานที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวในระยะยาว เพื่อประโยชน์ในการสร้างบุคลากรที่มีทักษะด้านสื่อสารมวลชนเป็นกำลังส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และ 5. ขอให้มอบหมายเจ้าหน้าที่ กสทช.ที่เกี่ยวข้อง ในการประสานงานด้านข้อมูลร่วมกับ 'ศูนย์ประสานงานและติดตามข้อมูลสถานการณ์ในอุตสาหกรรมสื่อมวลชน' (ศปส.) เพื่อได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องและทันท่วงทีต่อการแก้ไขเยียวยาให้กับพนักงานในองค์กรสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว [8]
ชีวิตคนทำงานบริษัทรับจ้างผลิตให้ทีวีดิจิทัล
อดีตบุคลากรในบริษัทรับจ้างผลิตแห่งหนึ่งที่ผลิตรายการป้อนให้กับช่องทีวีดิจิทัล ให้ข้อมูลกับ TCIJ เมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2562 ว่าสำหรับกระบวนผลิตสื่อปกตินั้นอาจมีหลายทีมหรือจำนวนคนที่มากพอในการผลิตสื่อและสลับวันเวลาในการหยุดพักหรือลาตามกิจธุระ แต่สำหรับสื่อที่อยู่ในกระบวนการเหมาช่วงหรือคนทำสื่อให้กับบริษัทรับจ้างผลิตต่างๆ นั้น จะตกอยู่ในข้อจำกัดของจำนวนคนที่พอดีกับงานหรือน้อยกว่า ดังนั้นเมื่อทำงานไประยะหนึ่งจะทำให้เกิดความอ่อนล้า ตึงเครียด ไปจนถึงการเจ็บป่วย นอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายที่บุคลากรต้องเยียวยาตัวเองในการรักษาแล้ว สำหรับทีมหากโชคร้ายเป็นการเจ็บป่วยระยะยาวก็ยิ่งทำให้ภาระงานตกอยู่กับคนที่เหลือมากขึ้น บางคนอาจต้องฝืนร่างกายมาทำงานทั้งที่เจ็บป่วย กลายเป็นแรงกดดันใหม่ๆ ที่อาจนำไปสู่การลาออกและรับคนใหม่วนเวียนไป ถึงกระนั้นสภาพความเครียดและความเสี่ยงเหล่านี้ ต่างก็ยังมีคนต้องการเข้ามา เพื่ออย่างน้อยที่สุดคือการรักษาพื้นที่ของการทำงานสื่อเอาไว้และอาจดีกว่าต้องหลุดออกไปเคว้งคว้างกับอนาคตที่ไม่อาจคาดเดา
และในช่วงวิกฤตการเลิกจ้างนั้น นอกจากที่บริษัทรับจ้างผลิตอาจเลือกที่จะเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดเพื่อลดภาระด้านสวัสดิการและต้นทุนอื่น หรือเลือกหันมาคุมต้นทุนด้วยการเหมาช่วงด้วยกรอบวงเงินที่ชัดเจน ภายใต้สถานการณ์สื่อที่ทุกคนต้องวิ่งเข้าหางาน ไม่ว่าทีมข่าวชุดเดิมอาจรวมตัวกันเข้ามารับการว่าจ้างใหม่หรือทีมอื่นอาจต้องการเข้ามารับช่วงผลิตนี้ แม้ว่าจะเป็นการทำงานภายใต้ข้อจำกัดที่สูงมากก็ตาม เช่น การไม่มีสวัสดิการที่ชัดเจนไม่ว่าประกันสังคมหรืออื่นๆ ความเสี่ยงที่จะสูญเสียงานหลังครบสัญญาการจ้างผลิตและบริษัทนั้นไม่สามารถดีลเพื่อคว้าสัญญาการผลิตใหม่ได้ ค่าใช้จ่ายชดเชยต้นทุนหากวัสดุอุปกรณ์เสีย เสื่อมสภาพหรือสูญหาย นอกจากนี้จำนวนคนยังเป็นอีกข้อจำกัดที่ชัดเจน เพราะการเพิ่มหรือลดล้วนแล้วมีผลกระทบทั้งสิ้น
ชีวิตคนทำสื่อออนไลน์ ‘ค่าแรงต่ำ-อึดทน-ทำงานสารพัด’
'One-Man-Band Journalist' คือคำที่ใช้เรียกสื่อมวลชนที่ทำงานได้หลายอย่างในตัวคนเดียว ซึ่งการทำงานลักษณะนี้เริ่มแพร่กระจายมากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะคนทำสื่อออนไลน์ | ที่มาภาพประกอบ: ProVideo Coalition
ปัจจุบันเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ ที่ไม่มีฐานข่าวจากสื่อเก่าเป็นของตนเอง (หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์) มีรูปแบบของกองบรรณาธิการข่าวที่ทำงานคล่องตัว มีระดับขั้นตอนของการทำงานน้อยกว่าสื่อดั้งเดิม มีนักข่าวที่เป็นฟรีแลนซ์ หรือ สตริงเกอร์ (stringers) มากขึ้นสามารถรายงานข่าวได้จากทุกที่ ทำให้ค่าใช้จ่ายของกองบรรณาธิการลดลง นักข่าวมีความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น แต่ทั้งนี้พบว่า นักข่าวหรือพนักงานของสื่อออนไลน์นั้นทำงานหนักกว่านักข่าวหรือคนทำสื่อยุคก่อนหน้านี้มาก
มีงานศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของ Digital Disruption ต่อการทำงานของนักข่าวในระยะเปลี่ยนผ่าน ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ในที่เทคโนโลยีทำให้นักข่าวคนเดียวสามารถทำงานได้หลายอย่างมากขึ้น โดยเฉพาะคนทำสื่อออนไลน์ และยังพบว่าปัจจุบันคนทำงานที่เกี่ยวกับสื่อออนไลน์ส่วนใหญ่ไม่พอใจในเรื่องของรายได้ และมองว่าเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยมั่นคง แถมไม่ค่อยได้เลื่อนตำแหน่ง ทั้งนี้พบว่านักข่าวหนังสือพิมพ์ที่องค์กรปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์ต้องทำงานหนักขึ้นมากด้วย ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่านักข่าวหนังสือพิมพ์ที่องค์กรปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์ต้องผลิตชิ้นงานมากกว่าเดิมถึง 3 เท่าเพื่อป้อนชิ้นงานสู่เว็บไซต์ นักข่าวหนังสือพิมพ์ที่มีการเผยแพร่ทางออนไลน์ด้วยต้องทำงานถึงประมาณวันละ 15 ชั่วโมง คนทำงานสื่อที่เกี่ยวข้องกับออนไลน์มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะประสบปัญหาทางอารมณ์จากการทำงานมากเกินไป ซึ่งจะไปลดโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และการทำงานมากเกินไปนั้นจะทำให้เกิดความเหนื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจเพิ่มขึ้น [9]
นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายว่าในยุค Digital Disruption ได้ส่งผลให้นักข่าวต้องเกาะติดอยู่ในโลกออนไลน์เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่เกือบตลอดเวลา ส่งผลให้เส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวไม่ชัดเจน [10]
กรณีในไทย จากรายงาน 'ชีวิตคนข่าวยุคดิจิทัล: เมื่อวงการสื่อถูก Disrupt นักข่าวก็ถูก Disrupt' โดย อรวรรณ จิตรรัมย์, สื่อมวลชนอิสระ, TCIJ School รุ่นที่ 6 ได้ศึกษาชีวิตการทำงานของคนทำงานสื่อออนไลน์ 3 ตัวอย่าง พบปัญหาคือ คนทำงานองค์กรสื่อออนไลน์ที่เป็นองค์กรขนาดเล็กในไทย ต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่หนัก คนทำงานหนึ่งคนต้องทำงานหลายตำแหน่ง เช่น ผลิตเนื้อหา พิสูจน์อักษร ทำงานวีดีโอ ดูแลเพจ และงานหลังบ้านอื่นๆ เช่นเดียวกับนักข่าวมัลติมีเดียทีวีดิจิทัล ที่ต้องรับหน้าที่หลายอย่าง ทั้งหาประเด็น เขียนบท ถ่ายวิดีโอ สัมภาษณ์แหล่งข่าว และตัดต่อ ซึ่งเป็นการทำงานตั้งแต่ Pre-Production จนถึง Post-Production ให้จบในคนๆ เดียว
พนักงานประจำสำนักข่าวออนไลน์ที่เป็นองค์กรขนาดเล็กคนหนึ่ง ระบุว่าเธอได้รับมอบหมายให้เขียนข่าวเน้นความรู้เชิงลึกอย่างต่ำ 6 ชิ้นต่อเดือน นอกจากเขียนข่าวแล้วยังต้องเป็นกองบรรณาธิการพิสูจน์อักษรให้คอลัมนิสต์หลายชิ้นต่อเดือน ทำงานวีดีโอ ดูแลเพจ และงานหลังบ้านอื่นๆ
"เราสตาร์ทงานด้วยเงินเดือน 18,000 บาท แต่เราได้เงินขึ้นน้อยมากซึ่งเราก็เศร้า ในรุ่นเราที่จบมาพร้องกันบางคนทำเอเจนซี่ เงินเดือน 23,00-25,000 บาท แต่เราได้แค่ 18,000 บาท ก็พยายามลบความคิดนี้ให้ได้ เพราะเราไม่อยากเสียใจ ไม่อยากเครียดแล้ว งานเราเครียดพอแล้ว เราเลยคิดว่าจะทำด้วยเงินเดือนเท่านี้เท่าที่ไหว และตอนนี้เรายังไหว ทั้งนี้ทั้งนั้นพอทำงานไปจริงๆ เรากลับพอว่าใช้ไม่พอและเราต้องแบ่งเงินให้พ่อแม่ด้วยเพราะท่านก็อายุเยอะแล้ว เราต้องสู้ความรู้สึกนี้ตลอดเวลา เป็นแบบนี้เลยต้องรับทำงานฟรีแลนซ์เสริม ทำอะไรก็ได้เพื่อให้มันมีเงินที่พอ"
"ที่ทำงานที่นี่ โอที ไม่ได้ แต่ได้โบนัสปลายปี เราสมัครเข้ามาด้วยอุดมการณ์ อยากทำงานที่ดี ยอมได้เงินน้อย คิดว่าทำงานเขียน แต่พอเข้ามาจริงเราต้องทำงานอื่นไปด้วย เคยโต้เถียงกับเจ้านายประเด็นนี้ เพราะเราไม่อยากถูกเอาเปรียบ เขาตอบกลับว่า ทุกคนต้องทำงานหลายอย่างทั้งนั้น สุดท้ายเราต้องอยู่ในสภาวะจำยอม ….งานเราไม่ต้องเข้าสำนักงานก็ยังได้ แต่เอาเข้าจริงมันคือการทำงานตลอดเวลา ต้องพกคอมพิวเตอร์ไปทุกที จะนอนมันก็ต้องอยู่ข้างหมอนตลอด อาจดูเหมือนทำที่ไหนก็ได้แต่นั่นคือการเราไม่ได้หยุด วันหยุดก็ไม่ได้หยุด" นี่คือเสียงสะท้อนชีวิตพนักงานประจำสำนักข่าวออนไลน์คนหนึ่งในรายงานของอรวรรณ [11]
ที่มาข้อมูล
[1] Journalists thinking about precarity: Making sense of the “new normal” (Örnebring H., Knight Center for Journalism in the Americas. 22 Aug 2018)
[2] การจ้างงาน ‘ฟรีแลนซ์’ กำลังคุกคามคนทำงานสื่อมวลชนในยุโรป (สำนักข่าวประชาไท, 27 Oct 2018)
[3] University of Western Ontario, Journalistic Labour and Technological Fetishism, 2015
[4] ‘เครือข่ายสถานีอนาล็อก’ ร้อง ‘บิ๊กตู่’ เยียวยาพนักงาน หลังโดนพิษทีวีดิจิทัลตกงาน (แนวหน้า, 20 พ.ค. 2562)
[5] กสทช.สรุป 5 ปี "ทีวีดิจิทัล" ปิดฉาก 9 ช่อง "เลิกจ้าง" กระทบคนสื่อ-ครอบครัวเกือบ 15,000 คน (ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, 3 ต.ค. 2562)
[6] วิบากกรรมคนสื่อ “ทีวีดิจิทัล” 5 ปี เลิกจ้างกว่า 1,000 คน (Positioning, 18 พ.ค. 2562)
[7] กสทช.สรุป 5 ปี "ทีวีดิจิทัล" ปิดฉาก 9 ช่อง "เลิกจ้าง" กระทบคนสื่อ-ครอบครัวเกือบ 15,000 คน (ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, 3 ต.ค. 2562)
[8] ตัวแทน 5 องค์กรวิชาชีพสื่อ ในฐานะ “ศูนย์ประสานงานและติดตามข้อมูลสถานการณ์ในอุตสาหกรรมสื่อมวลชน” (ศปส.) ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการ กสทช. โดยมี "ข้อเรียกร้องในการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562 (NBCT สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, 21 พ.ค. 2562)
[9] Technology and the Transformation of News Work: Are Labor Conditions in (Online) Journalism Changing? (Steve Paulussen, researchgate.net, Aug 2012)
[10] The European Trade Union Institute’s (ETUI) health and safety at work magazine spring-summer 2017
[11] ชีวิตคนข่าวยุคดิจิทัล: เมื่อวงการสื่อถูก Disrupt นักข่าวก็ถูก Disrupt (อรวรรณ จิตรรัมย์, TCIJ School รุ่นที่ 6, TCIJ, 6 ก.ย. 2562)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"พวงเพ็ชร" มาแล้วมอบสำนักพุทธจับมือ "พม." ตรวจสอบ พ่อ-แม่ ‘น้องไนซ์ เชื่อมจิต’ หากเข้าข่ายหลอกลวง ปชช. สั่งฟันทันที

เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีประชาชนเรียกร้องให้สำนักงานพระพุทธศาส...