วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

"โป๊ปฟรานซิส"ทรงชูภาษาเป็นสะพาน สร้างความเข้าใจแก้ความขัดแย้ง สร้างสันติสุขให้กับมนุษยชาติ




กรรมการมหาเถรสมาคมร่วมรับฟังสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงแสดงปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "สร้างสะพานแห่งสันติสุขและความเข้าใจ" ทรงชูภาษาเป็นสะพาน สร้างความเข้าใจแก้ความขัดแย้ง สร้างสันติสุขให้กับมนุษยชาติ    

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 เวลา 15.20 น. สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พระประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน และศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก เสด็จยังหอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงแสดงปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "สร้างสะพานแห่งสันติสุขและความเข้าใจ" (Building Bridges for Peace and Understanding) ต่อคณะผู้นำศาสนาต่างๆ และประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีพระคาร์ดินัลฟรังซิส เซเวียร์เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช อาร์คบิชอปแห่งเขตปกครองกรุงเทพฯ นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประมุขแห่งเขตปกครองนครราชสีมา และประธานกรรมาธิการฝ่ายเสวนาระหว่างศาสนา ผู้แทนคริสตศาสนสัมพันธ์ของสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ร่วมรับเสด็จ 




ขณะเดียวกัน มีคณะนักร้องประสานเสียงจากหลากหลายกลุ่มศาสนาได้ร่วมขับร้องประสานเสียงบทเพลง Peace Prayer ให้การต้อนรับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ได้ทรงแสดงปาฐกถาในหัวข้อ "Building Bridges for Peace and Understanding" หรือ สร้างสะพานแห่งสันติสุขและความเข้าใจ" โดยทรงตรัสเป็นภาษาสเปน พร้อมมีล่ามแปลเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งมีผู้นำทางศาสนา 5 ศาสนา จำนวน 18 ท่าน อาทิ 



ผู้แทนมหาเถรสมาคมคือสมเด็จพระวันรัต กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และพระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศวาสวรวิหาร ประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ไทย ประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก นายประสาน ศรีเจริญ ผู้แทนจุฬาราชมนตรี พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ นายปานชัย สิงห์สัจเทพ นายกสมาคมศรีคุรุสิงห์ นายจรัล ศรีสวรรค์ชวาลา นายกสมาคมศาสนาซิกข์นามธารีสังคัตประเทศไทย และผู้นำคริสตชนนิกายต่างๆ รวมถึงคณาจารย์ และนิสิต ร่วมรับฟัง




สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสปาฐกถาสาระสำคัญตอนหนึ่ง โดยพระองค์ได้ตรัสถึงเรื่องความจำเป็นในการยอมรับและเห็นคุณค่าของกันและกัน รวมถึงความร่วมมือระหว่างศาสนาต่างๆ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อมนุษยชาติในการเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อนในปัจจุบันโดยพระองค์ตรัสว่า โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจการเงิน และผลกระทบที่รุนแรงต่อการพัฒนาสังคมท้องถิ่น ความขัดแย้งทางสังคม รวมทั้งปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐานของผู้ลี้ภัย ซึ่งภาวะการณ์เหล่านี้กระตุ้นเตือนว่าไม่มีภูมิภาคหรือภาคส่วนใดของมนุษยชาติที่จะไม่ได้รับผลกระทบ เราจึงจำเป็นต้องค้นหาวิธีการที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งคือการสร้างความเข้าใจระหว่างกัน 



พระองค์เชื่อว่าสถาบันศาสนา รวมถึงสถาบันการศึกษา จะเป็นส่วนสำคัญในการร่วมกันแก้ปัญหา และน่าจะเป็นหลักประกันในอนาคตให้กับอนุชนรุ่นหลัง รวมทั้งธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมและสันติภาพ

ขณะเดียวกันภาวะการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้เราต้องลองค้นหาวิธีการใหม่ ๆ ในการสร้างประวัติศาสตร์ปัจจุบัน โดยไม่จำเป็นต้องตำหนิหรือกล่าวโทษใคร วิธีคิดแบบแยกส่วนเป็นเอกเทศที่ไม่ใช่องค์รวมในการมองภาพเวลา พื้นที่ หรือมิติอื่น ซึ่งเคยนำมาใช้แก้ปัญหาความขัดแย่งได้นั้นล้าสมัยไปแล้ว

“ยุคนี้เป็นยุคที่ต้องกล้าจินตนาการถึงวิธีคิดใหม่ที่ต้องการหันหน้าเข้าหากันและการสานเสวนาหารือกันควรเป็นแนวทางที่ควรเดิน การทำงานร่วมกันควรเป็นแนวทางปฏิบัติและการทำความรู้จักซึ่งกันและกันเป็นวิธีการและหลักเกณฑ์ โดยเสนอกระบวนการทัศน์ใหม่”

สำหรับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง สร้างความเข้าใจกันระหว่างผู้คนและปกปักรักษา สิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าในด้านนี้สถาบันศาสนารวมถึงสถาบันการศึกษาทุกระดับ มหาวิทยาลัยสามารถมีส่วนร่วมและช่วยได้ โดยไม่ต้องละทิ้งพันธกิจหลักและความเชี่ยวชาญเฉพาะตนไป ทุกสิ่งที่เราทำเพื่อการดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการรับประกันสิทธิในอนาคตของอนุชนรุ่นหลัง ทั้งยังเป็นการธำรงไว้ ซึ่งความยุติธรรมและสันติภาพ นี่เป็นวิธีเดียวที่เราจะเตรียมเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อให้พวกเขาเป็นผู้สร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ยุคสมัยนี้เราต้องการสร้างรากฐานที่ยึดหลักการให้เกียรติและการเคารพศักดิ์ศรีของบุคคลในการส่งเสริมมนุษยนิยมแบบบูรณาการที่เห็นความสำคัญและสามารถเรียกร้องให้ปกป้องแผ่นดินโลก ซึ่งเป็นบ้านส่วนรวมของพวกเราทุกคนในการบริหารจัดการอย่างมีความรับผิดชอบ โดยรักษาความงดงามและความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ในฐานะที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต

ศาสนาสำคัญของโลกเราเป็นหลักฐานแสดงถึงมรดกทางจิตวิญญาณอันสูงส่งกว่าสิ่งที่มองเห็นด้วยตาที่มีร่วมกันในหลายลัทธิความเชื่อ ซึ่งสามารถเป็นหลักที่มั่นคงในเรื่องนี้ได้ สามารถพิสูจน์ได้ หากเรากล้าทดลอง โดยปราศจากความกลัวที่จะมาพบปะกัน พวกเราทุกคนได้รับกระแสเรียก ไม่ใช่เพียงให้สนใจเสียงร้องของคนยากจนที่อยู่รอบตัวเรา เช่น คนที่อยู่ชายขอบของสังคม คนที่ถูกกดขี่ข่มเหง กลุ่มชนชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อยของศาสนา แต่ยังมีเสียงเรียกโดยไม่ต้องกลัวที่จะสร้างพื้นที่ สำหรับการพบปะกันและทำงานร่วมกัน ซึ่งมีการริเริ่มดำเนินการกันมาบ้างแล้ว

ในขณะเดียวกันยังมีการขอให้เรายอมรับความจำเป็นในการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเคารพสิทธิด้านมโนสำนึกและเสรีภาพทางศาสนา และสร้างพื้นที่ใหม่ ๆ ด้วยความมั่นใจว่า “ไม่ใช่ทุกอย่างจะเสียหายไปทั้งหมด เพราะมนุษย์ซึ่งอาจตกต่ำได้ถึงขีดสุดก็สามารถพัฒนาตนเอง กลับสู่หนทางที่ถูกต้องและเจริญขึ้นมาใหม่อีกครั้งและต้องเอาชนะอุปสรรคทางจิตใจและสังคมทั้งปวงที่อยู่รอบด้านได้”

ในผืนแผ่นดินไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความงดงามทางธรรมชาติ ข้าพเจ้าอยากจะเน้นลักษณะเด่น ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าสำคัญยิ่งและเป็นหนึ่งในความอุดมสมบูรณ์ที่มีศักยภาพในการส่งออกและแบ่งปันให้ภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งเป็นครอบครัวมนุษยชาติของเราได้

พวกท่านชาวไทยให้ความสำคัญและดูแลผู้สูงอายุ ให้เกียรติและเคารพยกย่องผู้สูงวัย ซึ่งทำให้ท่านเป็นรากแก้วเพื่อให้ชนชาติของท่านไม่เหี่ยวเฉาไปกับสโลแกนบางคำ ที่จะทำให้จิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่ว่างเปล่าหรือเสื่อมถอยลง นอกจากแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในการลดทอนคุณค่าแห่งค่านิยมและวัฒนธรรมท้องถิ่นอันงดงาม โดยการยัดเยียดรูปแบบที่เหมือนกันเพียงแบบเดียว เรายัง “เห็นแนวโน้มที่จะทำให้คนหนุ่มสาวมีลักษณะคล้ายกัน” เพื่อสลายความแตกต่างที่แปรไปตามถิ่นกำเนิดของแต่ละคน ทำให้คนหนุ่มสาวเหล่านั้นเป็นสิ่งมีชีวิตตามสั่ง ซึ่งผลิตออกมาเหมือน ๆ กันในปริมาณมาก ซึ่งเป็นการทำลายทางวัฒนธรรมที่ร้ายแรงพอ ๆ กับการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต

ขอให้ท่านทำให้หนุ่มสาวได้ค้นพบวัฒนธรรมของสังคมที่เขาอาศัยอยู่ การช่วยให้คนหนุ่มสาวค้นพบคุณค่าอันไม่มีวันเสื่อมสลายของอดีต ได้ค้นพบรากเหง้าของตัวเอง โดยการสำนึกอย่างกตัญญู อันเป็นการแสดงออกอย่างแท้จริงถึงความรักที่มีต่อเขาในระหว่างที่เฝ้าดูการเติบโตและการตัดสินใจของเขาเหล่านั้น มุมมองทั้งหมดนี้จำเป็นต้องมีบทบาทของสถาบันการศึกษาเช่นมหาวิทยาลัยแห่งนี้เข้ามาเกี่ยวข้อง การศึกษาวิจัย การมีองค์ความรู้จะช่วยเปิดหนทางใหม่ ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคน เสริมสร้างความยุติธรรมในสังคม ปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แสวงหาวิธีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติสุขและการอนุรักษ์ทรัพยากรที่ให้ชีวิตแก่แผ่นดินของเรา  

จากนั้น เวลา 17.00 น. สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เสด็จถึงอาสนวิหารอัสสัมชัญ ทรงประกอบพิธีมิสซา และประทานโอวาทให้เยาวชนที่เป็นคนรุ่นใหม่ "You are the Now of God" ในเรื่องของการใช้ชีวิต เพราะเยาวชนคือความหวังของโลกอนาคต ควรต้องรู้จักใช้ชีวิต ด้วยการสร้างและวางรากฐานชีวิตเหมือนกับบรรพบุรุษ เหมือนต้นไม้ใหญ่ที่มีกิ่งก้านงดงาม มีรากที่แข็งแรง เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ด้วยการเรียนรู้ ทำความดี อย่ากลัวอนาคต ขอให้มองอนาคตด้วยความเบิกบาน กล้าหาญ ตอบสนองสถานการณ์ปัจจุบัน และนำความรักความเมตตามอบสู่ผู้คนบนโลก เพื่อให้เกิดความสันติสุขสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ขอให้เยาวชนผู้ต่างเป็นความหวังของโลกอนาคต อย่าให้สิ่งดึงดูดความสนใจทำให้เยาวชนล่องลอยและไฟแห่งชีวิตมอดดับ และขอให้เชื่อมั่นในความดีและมิตรภาพที่แน่นแฟ้น เพราะจะทำให้ทุกคนมีความสุข

แก้ปัญหาความขัดแย่ง
ค้นหาวิธีการใหม่ ๆ ในการสร้างประวัติศาสตร์ปัจจุบัน
มนุษยนิยมแบบบูรณาการ
หาพื้นที่มนุษย์สานเสวนา

รักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลายให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"ณพลเดช" ปิ๊งไอเดีย! เชียงรายศูนย์กลางการเงินโลก-โมเดลสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย หลังออกกฎหมาย เขต ศก.พิเศษ

วันที่ 19 เมษายน 2567     เวลา 11.00 น. ที่ประเทศลาว  ดร.ณพลเดช มณีลังกา คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำส...