ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ส่อแท้ง เหตุ 5 ส.ส.ประชาธิปัตย์แห่ถอนชื่อ หลัง "ชวน" ออกโรงกดดันเอง ทำเสียงสนับสนุนหดไปไม่ถึงฝัน ด้าน "วราวุธ" ลั่น ชทพ.ทำงานเป็นทีม-ไม่สั่งส.ส.ถอนชื่อ ขณะที่ "เพื่อไทย" เสียดาย "กบฏปชป." กลับลำถอนชื่อร่วมปิดสวิตซ์"ส.ว."
วันที่ 9 กันยายน 2563 รายงานข่าวจากรัฐสภาแจ้งว่า หลัง 16 ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ร่วมลงชื่อยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ร่วมกับอีก 12 พรรคการเมืองต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ก.ย. ปรากฏว่ามีแรงกดดันอย่างหนัก ให้ ส.ส.ถอนชื่อจากการยื่นญัตติครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคร่วมรัฐบาลต้องมีความเป็นเอกภาพเดินไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาล ซึ่งมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ไปแล้ว
ล่าสุดมี ส.ส.อย่างน้อย 5 คนตัดสินใจที่จะถอนชื่อจากการยื่นญัตติครั้งนี้แล้ว ประกอบด้วย นายสาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่, น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.มหาสารคาม, นางกันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา, นายธีรภัทร พริ้งศุลกะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี และ น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส. ตรัง ซึ่งจะทำให้ญัตติดังกล่าว มีรายชื่อ ส.ส.สนับสนุนไม่ครบ ไม่สามารถนำเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาได้
"ชินวรณ์"ชี้เป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ต้องรับผิดชอบตอบสังคมให้ได้
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคประชาธิปัตย์ (วิปพรรค) กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส. บางส่วนของพรรคเข้าชื่อร่วมยื่นญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ กับพรรคก้าวไกล ให้ยกเลิกมาตรา 272 ว่าด้วยส.ว.มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ ว่า เป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะไปลงชื่อเสนอกฎหมายได้ แต่พรรคมีมติยืนยันว่ายื่นเสนอร่างเพียงอย่างเดียวเพื่อความเป็นเอกภาพและต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถเดินหน้าได้จริง ที่สำคัญคือเป้าหมายต้องชัดเจน นอกจากแก้ไขมาตรา256 แล้วยังต้องตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งสามารถนำเรื่องต่างๆทั้งเรื่องจัดระบบการเลือกตั้งการกระจายอำนาจ รวมทั้งบทเฉพาะกาล ที่พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนในเรื่องนี้แล้ว เพราะเราไม่ได้เห็นชอบที่จะให้ ส.ว. มาเลือกนายกรัฐมนตรี ดังนั้นเมื่อพรรคเห็นชอบให้ตั้ง ส.ส.ร. ประเด็นเหล่านี้จะไปเสนอ ส.ส.ร. เพื่อพิจารณาต่อไป เพราะแม้จะปิดสวิตซ์ ส.ว. ก็ไม่มีผลโดยตรงที่จะทำให้ ส.ว. ไปเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันข้างหน้า แต่ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งตนเข้าใจว่ากว่ารัฐธรรมนูญจะแล้วเสร็จก็เหมือนการปิดคัตเอ้าท์ ครั้งสุดท้ายที่ทุกฝ่ายจะเห็นร่วมกัน และส.ว. ไม่มีความจำเป็นต้องเลือกนายกรัฐมนตรี พร้อมคิดว่า นายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะตระหนักในเรื่องนี้ว่าต้องมาจากการเลือกจากประชาชนเช่นเดิม
นายชินวรณ์ กล่าวย้ำว่า ส.ส. บางคนที่ไปลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคอื่นเป็นสิทธิส่วนบุคคล ที่ต้องชี้แจงเหตุผลตอบคำถามต่อสังคมให้ได้ ทั้งนี้จะไม่กดดันให้ทั้ง16 คนที่ไปร่วมลงชื่อถอนชื่อจากร่างเดิมเพราะเชื่อว่ามุกคนมีวุฒิภาวะ อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังมีเวลาตัดสินใจที่จะพิจารณาจุดยืนของตนเองทางการเมือง เพราะเรื่องนี้จะเป็นคำตอบต่อไปในอนาคตด้วยว่าทำไมต้องลงชื่อในเรื่องดังกล่าวในช่วงนี้ มีเหตุผลอะไร เป็นพียงกระแสหรือไม่ และหวังว่าจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ ซึ่งคำตอบเหล่านี้แต่ละคนจะต้องรับผิดชอบตนเองเพราะทุกคนถือเป็นผู้แทนประชาชน
เมื่อถามว่าต่อไปหากพรรคมีมติในเรื่องต่างๆแล้วมีส.ส.บางส่วนยึดเอกสิทธิ์ของตนเองจะมีความหมายอะไร นายชินวรณ์ กล่าวว่า มติในเชิงนโยบาย พรรคมีความชัดเจน และต้องดำเนินการ ถึงมีมาตรการที่ต้องรับผิดชอบต่อไป ซึ่งมีความรับผิดชอบในส่วน มติที่เห็นชอบร่วมกับพรรค และบางคนยืนยันชัดว่าหากแก้ มาตรา 265 และตั้งส.ส.ร. ได้ก็พอใจแล้วซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นมติพรรคที่ผู้บริหารจะต้องไปพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ส่วนตัวนักการเมืองคนนั้นต้องมีความรับผิดชอบทางการเมือง
"เทพไท"ฟันธง แก้ รธน.รายมาตรา ผ่านฉลุย
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การลงชื่อในญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตนได้ลงชื่อในญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลหนึ่งฉบับและลงชื่อในญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 อีกหนึ่งฉบับ ซึ่งเห็นว่าญัตติทั้งสองมีเนื้อหาที่แตกต่างกัน สามารถลงชื่อได้ทั้ง2ญัตติ และเป็นเรื่องที่น่ายินดีเมื่อพรรคเพื่อไทย ได้มีมติยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มอีก4ฉบับ คือ 1.แก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี และเพิ่มเติมว่า สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจาก ส.ส.ได้ 2.แก้ไขมาตรา 270 เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และมาตรา 271
3.การยกเลิกมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่ทำให้ประกาศคำสั่งและการกระทำของ คสช. 4.การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ด้วยการยกเลิกมาตรา 88, 83 , 85 , 90 , 91 และ 94 เพื่อแก้ไขระบบเลือกตั้งใช้บัตร 2 ใบ การเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยทั้ง4ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งตรงกับแนวทางของสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน ที่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา มากกว่าการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ส่วนญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลในการแก้ไขมาตรา 256 และจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) ถ้าหากไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา 84 คน จะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลตกไป จะเกิดความเสียหายทางการเมืองต่อพรรคร่วมรัฐบาล แม้จะไม่ใช่ญัตติของรัฐบาลโดยตรงก็ตาม จึงเป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจในรัฐบาล ต้องส่งสัญญานโดยตรงไปยังสมาชิกวุฒิสภาทั้ง250คน ให้สนับสนุนญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย
ดังนั้นนอกจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.)แล้ว ส่วนตัวเห็นว่า ยังมีประเด็นการแก้ไขรายมาตราที่สำคัญใน2ประเด็นคือ 1.แก้มาตรา 272 ตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี 2.แก้ไขระบบการเลือกตั้งเป็นแบบบัตรเลือกตั้งสองใบ ถ้าหากสามารถแก้ไข ในประเด็นเหล่านี้ได้ด้วย ก็นับว่าเป็นความสำเร็จในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง
"เพื่อไทย"เสียดาย"กบฏปชป."กลับลำถอนชื่อร่วมปิดสวิตซ์"ส.ว."
ที่รัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณี 13 พรรคการเมืองร่วมยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 โดยมีกระแสข่าว ทางพรรคประชาธิปัตย์จะถอนชื่อออก พรรคเพื่อไทยพร้อมสนับสนุนต่อหรือไม่ว่า ถ้าถอนจริงก็เสียดาย เพราะเราเอาใจช่วยให้พรรคก้าวไกลเซ็นชื่อได้ครบ ทั้งนี้ทางพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้ายื่นมาตรา 262 ประกบเพื่อให้ได้น้ำหนัก ส่วนจะเซ็นชื่อช่วยหรือไม่นั้น ในการประชุมส.ส. พรรคเพิ่อไทยเมื่อวาน (8ก.ย.) ไม่มีการพูดเรื่องนี้ ซึ่งหากจะช่วยต้องทำการขอมติพรรคก่อน อย่างไรก็ตามเราไม่อยากให้มีการถอนชื่อ
เมื่อถามว่า เหตุใดพรรคเพื่อไทยจึงเปลี่ยนใจยื่นแก้มาตราม.272 เพื่อปิดสวิตซ์ส.ว. ทั้งที่ก่อนหน้านี้บอกกว่ายังไม่ถึงเวลา นายสุทิน กล่าวว่า เราประเมินสถานการณ์มาโดยตลอด การแก้รัฐธรรมนูญเราหวังเอาจริง คิดว่าจังหวะไหนทำได้ก็ทำ ถ้าจังหวะไม่ใช่ก็จะดึงไว้ก่อน อย่างไรก็ตามสัญญาณจากส.ว. และสังคมมีแนวโน้มว่าเป็นไปได้ จึงใช้โอกาสนี้ยื่นแก้ ซึ่งเราฟังความต้องการของผู้ชุมนุม นิสิต นักศึกษา และประชาชน ที่มีความประสงค์อยากให้เรายื่น ฉะนั้นตามเหตุผลดังกล่าวจึงคิดว่าต้องยื่น
เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้มองว่าแรงกดดันจากการชุมนุมยังไม่สามารถทำให้การแก้ไขเกิดขึ้นได้ นายสุทิน กล่าวว่า วันนี้แรงกดดันจากผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งทำให้ ส.ว.มีท่าทีเปลี่ยนไป และน่าจะมีแรงกดดันและแรงจูงใจนอกจากผู้ชุมนุมอีก จึงมีความชัดเจนว่าจะเป็นไปได้และเริ่มเห็นสัญญาณที่ดี ส่วนจะมั่นใจแค่ไหนเพราะขณะนี้เสียงส.ส. ก็ยังแตกกันอยู่ ตนไม่มั่นใจถึง 100% แต่มีความมั่นใจเพิ่มขึ้น และประเมินไว้ว่า เมื่อถึงวันอภิปรายจริงๆ เราเห็นสัญญาณที่เป็นบวกมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น