วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2563

วิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ "มจร" ติวเข้มพระนิสิต เสริมศักยภาพคิลานุปัฏฐากชุมชนพุทธวิถี



วิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) จัดอบรมพัฒนาศักยภาพพระนิสิตพระสงฆ์บูรณาการการเรียนการสอนจากรายวิชาเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๘๐) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์  ที่มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่งและมีคุณภาพ โดยคนไทยมีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีพัฒนาการที่ดีรอบด้านและมีสุขภาวะที่ดีในทุกช่วงวัย มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคมและผู้อื่น

โดยที่พระสงฆ์เป็นผู้มีความสำคัญในการสืบทอดพระพุทธศาสนา พัฒนาการเรียนรู้ด้านคุณธรรม จริยธรรม และการพัฒนาสังคม ท้องถิ่น ชุมชน อันเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชุมชน ในเรื่องการดูแลสุขภาพตนเอง สิ่งแวดล้อมภายในวัด และขยายผลสู่การพัฒนาสุขภาวะของชุมชน แต่พระสงฆ์กลับมีปัญหาทางสุขภาพ โดยเฉพาะป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือดและภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่ใส่บาตรทำบุญ ของประชาชน ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงผลเสียต่อการเจ็บป่วยของพระสงฆ์ นอกจากนี้พระสงฆ์ยังเป็นผู้เสี่ยงต่อสิ่งที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มกาแฟ เครื่องดื่มชูกำลังและขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม หากไม่ได้รับการแก้ไขจะกลายเป็นผู้ป่วยรายใหม่ในสังคม



พระศรีปริยัติธาดา รองเจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ กล่าวว่า วิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะองค์กรแห่งการเรียนรู้วิถีพุทธและปลูกฝังค่านิยม ต้นแบบพุทธวิถี อุทิศชีวีเพื่อพุทธศาสน์ ได้ตระหนักถึงพันธกิจ ด้านการให้การศึกษา วิจัย ส่งเสริมและให้บริการวิชาการพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ รวมทั้งการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยพิจารณาเห็นว่า กลไกการพัฒนาที่สำคัญคือการสร้างและพัฒนาศักยภาพพระนิสิต พระสงฆ์ 

จึงได้จัดอบรมพัฒนาอบรมพัฒนาศักยภาพพระนิสิต พระสงฆ์ เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาวะและการป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามสุขภาวะ เพื่อส่งเสริม และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสุขภาพและด้านสุขภาวะที่ถูกต้อง พัฒนาภาคีเครือข่ายพระสงฆ์ ร่วมกับประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น ให้มีความรู้เกี่ยวกับการเจ็บป่วยและตายจากโรคที่ป้องกันได้ สร้างเสริมความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดการสุขภาวะของพระสงฆ์และคนทั่วไปทุกกลุ่มวัย เพื่อเสริมสร้างความเป็นศาสนทายาทที่ดีมีจิตสาธารณะ สนองงานกิจการคณะสงฆ์ ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๐ สู่การปฏิบัติเป็นพระคิลานุปัฏฐาก ในการดูแลพระสงฆ์ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง พระสงฆ์เยียวยาพระสงฆ์อาพาธ  ตามหลักสูตร “พระคิลานุปัฏฐาก (พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด – อสว. จำนวน  ๓๐ ชั่วโมง ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดทำขึ้น ระหว่างวันที่ ๓-๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๓  ณ วิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์



ในการจัดอบรมในครั้งนี้ ได้รับความความเมตตาและได้รับความอุปถัมภ์สนับสนุนด้านเอกสารการอบรม ภัตตาหาร จากผู้มีจิตศรัทธาและได้รับการสนับสนุนวิชาการและวิทยากร จากภาคีเครือข่ายการขับเคลื่อนวัดส่งเสริมสุขภาพและธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๐ มจร วิทยาเขตเชียงใหม่  นำโดย พระอาจารย์วิสิทธิ์  ฐิตวิสิทฺโธ,ผศ.ดร. คุณธวัชชัย  จันจุฬา  นักวิชาการ โครงการวัดปลอดบุหรี่ สร้างความดี สร้างสุขภาวะชุมชน สสส และคณะพระวิทยากร/คณะทำงานขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๐ คณะสงฆ์ภาค ๑๑ (นครชัยบุรินทร์) นำโดย พระครูอมรชัยคุณ (หลวงตาแชร์)  และ พระอาจารย์ประพันธ์ชัย กิตฺติรตฺโน รวมทั้งหน่วยราชการประกอบด้วย ศูนย์อนามัยที่ ๙  นครราชสีมา(นครชัยบุรินทร์) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต  ๙ นครราชสีมา (นครชัยบุรินทร์),  สำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ โรงพยาบาลบุรีรัมย์  กระทรวงสาธารณสุข 

ดร.ปิยวัฒน์ คงทรัพย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา ในฐานะอาจารย์ผู้สอนประจำรายวิชา จิตวิทยาในพระไตรปิฎก วิชาธรรมประยุกต์ วิชาหลักพุทธธรรม และรายวิชาศาสนาทั่วไป หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา วิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกล่าวว่า  หลักสูตรได้ตระหนักถึงความสำคัญในด้านการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมที่เป็นกระบวนการบูรณาการการจัดการเรียนการสอนเข้ากับพันธกิจ ของมหาวิทยาลัย อย่างครบถ้วน  

จากการสำรวจความต้องการพัฒนาศักยภาพพระนิสิต พระสงฆ์  ในครั้งนี้  มีแจ้งความประสงค์เข้าร่วม จำนวน  ๙๕ รูป  มาเข้ารับการอบรม ๘๐ รูป และผ่านการอบรมเข้ารับเกียรติบัตร  จำนวน ๗๕ รูป  ที่สามารถลงพื้นที่ไปเรียนรู้เพิ่มเติมกับพี่เลี้ยง เช่น โรงพยาบาล,รพ สต.,อสม. เช่น ลงพื้นที่ตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ในพื้นที่ตำบลของตนเองให้ครอบคลุมทุกวัด โดยร่วมทำงานกับพี่เลี้ยงในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ทั่วไปและดูแลพระสงฆ์ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (พระสงฆ์เยียวยาพระสงฆ์อาพาธ) รวมทั้งการให้ธรรมะช่วยเหลือสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ป่วยทั่วไปในชุมชน กล่าวคือได้ทำหน้าที่เป็นศาสนทายาทที่ดีมีจิตสาธารณะ สามารถนำหลักพุทธธรรมบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ไปพัฒนาจิตใจ แก้ไขปัญหาสังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนตรงกับผลลัพธ์การเรียนรู้ที่กำหนดในรายวิชา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรกำหนด อย่างครบถ้วน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"วราวุธ" เผย พม.จับมือ พศ.- กรมการศาสนา ตั้งศูนย์คุ้มครองเด็กและสามเณร สร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชนหากถูกละเมิด

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567  นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมยุษย์ (รมว.พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเด็ก ...