วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2563

"มจร" เปิดแล้ว! ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชาชน


"มหาจุฬาฯ" ลงนาม MOU ตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชาชน กับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและสำนักงานกิจการยุติธรรม เตรียมขยายให้ครอบคลุม วิทยาลัยสงฆ์ทุกภูมิภาคกว่า 40 จังหวัด 

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2563  ที่วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)  อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และสำนักงานกิจการยุติธรรม   เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการ   การบูรณาการและพัฒนาองค์ความรู้ การศึกษาวิจัย การพัฒนาบุคลากรและฝึกอบรม การเผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ หรือการกำหนดแนวทางนโยบายที่เกี่ยวกับกฎหมาย สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน การบริหารงานยุติธรรม การบูรณาการพระพุทธศาสนาและสังคม และรวมทั้ง  เพื่อสร้างความร่วมมือและบูรณาการการทำงานระหว่างบุคลากร พระสงฆ์ คณาจารย์ นักวิชาการ รวมถึงนิสิตร่วมกันทั้งสามหน่วยงาน ในด้านกฎหมาย สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน การบริหารงานยุติธรรม การให้บริการทางวิชาการ และศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ได้มีการเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชาชน พร้อมเปิดร้องรับเรื่องราวไกล่เกลี่ยทันที   


         

พระราชปริยัติกวี อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่าการเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยนี้ อาตมาได้ให้แนวทางไปเมื่อ 2 -3 เดือนที่แล้ว เพราะถือว่า คณะสงฆ์และมจร ต้องช่วยเหลือประเทศชาติให้เกิดสังคมสันติสุข ปัจจุบันสังคมไม่ค่อยปกติสุขเท่าไร เราต้องหาวิธีการให้เกิดความปกติสุข เพราะเมื่อสังคมปกติสุข ประชาชนก็อยู่แบบมีความสุข การจะสร้างสังคมให้ปกติสุขได้มันต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการด้วยกัน คือ            

หนึ่ง คติสมบัติ เรื่องสถานที่ต้องมีความเหมาะสม สอง อุปนิสัยสมบัติ คุณสมบัติผู้ไกล่เกลี่ยต้องรอบรู้และเข้าใจเรื่องที่จะทำการไกล่เกลี่ย สาม กาลสมบัติ  เวลาและระยะเวลาในการทำงานต้องเหมาะสมและสุดท้าย ประโยคสมบัติ นักไกล่เกลี่ยต้องมีหลักการ มีวิธีปฎิบัติที่ถูกต้อง            

"คู่ขัดแย้งเมื่อไปศาล ศาลเป็นสถานที่โต้แย้งด้วยเหตุและผลของกฎหมาย มีแพ้มีชนะ วัด แม้จะเป็นศาสนสถานแต่บางคนก็ไม่อยากจะเข้าไปไกล่เกลี่ยในวัด สถานศึกษาบางแห่งก็อาจจะไม่เหมาะสักเท่าไร อาตมาเห็นว่ามหาจุฬา ฯ เหมาะที่สุดที่จะเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ย อาตมาจึงได้ให้แนวทางไปเมื่อ 2 -3 เดือนที่แล้ว ว่า ศึกษาความเป็นไปได้อยู่ว่าทำได้หรือไม่ และปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพดูว่า หากพระสงฆ์เราจะเป็นนักไกล่เกลี่ยในทางกฎหมายทำได้หรือไม่ จะต้องมีการอบรมอย่างไรบ้าง พร้อมให้เปิดหลักสูตรระยะสั้นระยะยาว เพื่อให้เป็นนักไกล่เกลี่ยได้.." 

ส่วนพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ ในฐานะผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดเผยว่า เมื่อปีพุทธศักราช  2555 พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในขณะนั้น ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU)  กับ นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในขณะนั้น เพื่อช่วยระดมพลังกันสร้างสันติศึกษาให้เป็นที่พึ่งของสังคมและโลก หนึ่งในนั้น คือ "งานด้านการไกล่เกลี่ย"           

ตลอดระยะเวลา 8 ปี ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬา ฯ พยายามตอบสนองงานคณะสงฆ์และมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการบริการสังคมสร้างความรู้รักสามัคคี แก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ในสังคม ตั้งแต่ชุมชน หมู่บ้าน รวมทั้งระดับชาติ หรือแม้แต่ครัวเรือน ซึ่งงานไกล่เกลี่ยนี้ เดิมเป็นงานของพระสงฆ์เราอยู่แล้ว เราจะเห็นว่าในอดีตเวลาชาวบ้านหรือชุมชนหมู่บ้าน ทะเลาะหรือขัดแย้งกัน ท่านเจ้าอาวาส มักจะเข้าไปมีบทบาทในการไกล่เกลี่ยอยู่เสมอ ๆ  ซึ่งหากจะว่าไปแล้วงานนี้ มจร เราตอบสนองการปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนาของมหาเถรสมาคมด้วยที่ต้องการให้วัดและพระสงฆ์เป็นศูนย์กลางของชุมชนหมู่บ้าน

"วันนี้ถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ ที่จะนำบทบาทพระสงฆ์ในอดีตกลับมา ตามแผนปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนาของมหาเถรสมาคม ด้วยการลงนามบันทึกความเข้าใจหรือบันทึกข้อตกลงร่วมหรือลงนาม MOU ระหว่าง พระราชปริยัติกวี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กับ นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และพันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม  และท่านอธิการบดีได้ให้นโยบายว่าการตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยแบบนี้ หลังจากนี้พยายามมีให้ครบทุกวิทยาเขต ทุกวิทยาลัยสงฆ์ ภายใต้สังกัดของ มจร ซึ่งมีประมาณ 40 จังหวัดทั่วประเทศ.."

หลังจากทั้ง 3 หน่วยงานลงนามบันทึกความเข้าใจเรียบร้อยแล้ว ภาคบ่าย จะมีการเปิดหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 ตั้งแต่วันที่ 16 -20  กันยายน 2563 นี้ ทันที 



           

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์

  วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ สุน...