วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2563

ยุค New Normal! "ลูกศิษย์หลวงพ่อชา-โจน" ยันโลกไม่เดินตามหลักพุทธไม่รอด

 


นักการทูตและวิชาการประสานเสียงบนเวทีสัมมนานานาชาติ 133 ปี มหาจุฬาฯ พระพุทธศาสนาอยู่รอดแต่ชาวโลกจะไม่รอด

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. อธิการบดี มจร ได้นำผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และศิษย์เก่า จัดงานสถาปนาครบรอบ 133 ปีของการสถาปนา มจร  โดยมีกิจกรรมสำคัญประกอบด้วยการจัดนิทรรศการ และสัมมนาทั้งระดับชาติและนานาชาติ รวมถึงการทำบุญถวายเป็นพระราชกุศลแด่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 และอุทิศแด่บุรพาจารย์ชาวมหาจุฬาฯ 


ขณะที่การสัมมนานานาชาติภายใต้หัวข้อ "ความอยู่รอดของพระพุทธศาสนาในยุคปกติใหม่" นั้น ได้มีวิทยากรชาวพุทธจาก 6 ประเทศ ทั้งฝ่ายเถรวาท มหายาน และวัชรยาน ได้แสดงมุมมองทั้งในเชิงแนวคิดและวิถีปฏิบัติ เพื่อให้พระพุทธศาสนายังคงเป็นที่พึ่งสำคัญในการตอบโจทย์ชีวิต ชุมชนและสังคมต่อไป

 


นายโจน จันได เจ้าของ "ฟาร์มสุข" ได้ย้ำบนเวทีว่า "อย่าไปห่วงเลยว่าพระพุทธศาสนาจะไม่รอด แต่ให้ห่วงคนที่นับถือพระพุทธศาสนาและชาวโลกว่าจะไม่รอด เพราะเมื่อคนสนใจเงินทอง สนใจวัตถุนิยม และบริโภคด้วยความฟุ้งเฟ้อและความอยาก แทนที่จะเน้นไปที่ความต้องการที่แท้จริง ชีวิตก็จะเต็มไปด้วยเงื่อนไข และใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก โควิดจึงเป็นโอกาสที่ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนการใช้ชีวิตของตัวเองอีกครั้ง"

ขณะที่พระภาวนาวิเทศ หรือหลวงพ่อเขมธัมโม ชาวชาวอังกฤษ ลูกศิษย์พระโพธิญาณเถร หรือหลวงพ่อชา สุภทฺโท  ได้แสดงความเห็นผ่านออนไลน์ว่า "โลกยุค New Normal จะทำให้พระพุทธศาสนามีคุณค่าต่อสังคมโลกมากยิ่งขึ้น  เพราะคนจำนวนมากกำลังเผชิญหน้ากับความทุกข์ และพยายามจะดิ้นเพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์  พระพุทธเจ้าได้จัดวางหลักธรรมเอาไว้ให้ใช้เป็นหลักปฏิบัติ ขอเพียงให้นำธรรมไปทำแล้วธรรมจะคุ้มครองให้มนุษย์มีความสุขมากขึ้น"


ทางด้าน ดร.เค ชยสุริยา เอกอัคราชทูตศรีลังกาประจำประเทศไทย ได้กระตุ้นว่า "ยุค New Normal วิกฤติของชาวโลกคือโอกาสของพุทธธรรม ชาวโลกควรมีสติมากยิ่งขึ้น เพราะสติจะทำให้มีความมั่นใจ กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ และใช้ปัญญาก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคด้วยความนิ่งสงบ และปลอดภัย"

"ครูพี่ป๊อป" ณัฐพงศ์ นำศิริกุล นักธุรกิจสีขาวและนักปฏิบัติจิตอาสารุ่นใหม่  กล่าวว่า ไม่ว่ายุคใดสมัยใด หลักธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นจริงเสมอ โดยมีจุดมุ่งหมายคือ การดับทุกข์ ยิ่งมนุษย์บนโลกพบเจอทุกข์มากเท่าไร ผู้คนก็ยิ่งวิ่งเข้าหาพระพุทธศาสนามากขึ้น โดยแนะให้ใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันอย่างมี "สติ" ในทางที่ถูกที่ควร จะสามารถน้อมนำหลักธรรมให้เข้าถึงวิถีชีวิตผู้คนและเกิดประโยชน์ได้อย่างมหาศาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์

  วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ สุน...