วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2563

"ชวน"นำหัวกะทิไทยต้านโกง แนะนำ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" สร้าง"การเมืองสุจริต"



 เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2563  เวลา 09.00 น. ที่ห้องแซฟไฟร์ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี  นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ธรรมาภิบาลกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในสังคมไทย"  ในการประชุมวิชาการเนื่องในวันสหวิทยาการ โดยมีนายอนุชา นาคาศัยพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับและดูแลสำนักงานราชบัณฑิตยสภา กล่าวเปิดการประชุม และศ.นพ.ยงยุทธ วัชรคุลย์ ราชบัณฑิตประธานกรรมการ คณะกรรมการสหวิทยาการเพื่อการวิจัยและพัฒนา กล่าวรายงาน


สำหรับการประชุมวิชาการในวันนี้ ในภาคเช้า นอกจากนายชวนปาฐกถาแล้ว ยังมีการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง "การป้องกันและปรับรามการทุจริตรในประเทศไทย" โดยวิทยากร ประกอบด้วย พลเอก จรัญ กุลละวณิชย์ ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ รองศาสตราจารย์ ดร.จุรี วิจิตรวาทการ รองศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร และนายธปไตร แสละวงศ์ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.วรเดช จันทรศร เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย ส่วนภาคบ่าย เป็นการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง "ข้อเสนอในการขจัดคอรัปชันในสังคมไทย" โดยวิทยากรประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.วรเดช จันทรศร ราชบัณฑิต ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ราชบัณฑิต และนายวรวิทย์ สุขบุญ โดยมี พลเอก ดร.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย


นายชวน  กล่าวปาฐกถาว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาเป็นเวลายาวนาน ถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง  ไม่สุจริต  ไม่ซื่อตรง  และไม่ซื่อสัตย์  มีพฤติกรรมที่แสวงหาประโยชน์ส่วนตนเองมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม  ซึ่งแนวทางในการแก้ไขปัญหาการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทย  นอกจากการใช้มาตรการทางด้านกฎหมายในการปราบปรามแล้ว  ควรนำหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีหรือหลักธรรมาภิบาลมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  ควรจะต้องมีการสร้างเครื่องหมายแห่งความดีให้เกิดขึ้นกับตัวเองและสังคม  เช่น  หลักคุณธรรมจริยธรรม  เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความดี  มีจิตสำนึกที่ดี  


และที่สำคัญที่สุดคือมีการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง  ซึ่งเป็นปรัชญาที่ชี้แนวทางในการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกระดับรวมถึงระดับรัฐบาลในการพัฒนาและบริหารประเทศ แนวทางในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น มี 3  แนวทาง คือ 1.  แนวทางตามหลักธรรมาภิบาล เป็นหลักในการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีเหมาะสำหรับประเทศไทย  เพราะสามารถตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิผล  เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม  เพื่อเข้ามามีบทบาทตรวจสอบได้ 2.  แนวทางตามหลักคุณธรรมและจริยธรรม และ 3.  แนวทางตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง แนวคิดนี้ ต่างประเทศได้มีการนำไปสอนคนในชาติ โดยเฉพาะประเทศภูฎาน  ที่นำไปปลูกฝังให้กับประชาชนและยกย่องว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 9  เป็นปราชญ์ของประเทศ ได้เสนอความเห็นว่า "พระองค์แสดงให้เห็นจากแนวคิดนี้ว่าบ่อเกิดของการคอร์รัปชันส่วนมากมาจากความโลภของบุคคลในองค์กร"  


พร้อมกับยกย่องพระองค์ว่า "เป็นผู้นำที่มีชีวิตเรียบร้อยเหมาะสมกับฐานะความเป็นอยู่ซึ่งจะเป็นหนทางในการป้องกันคอร์รัปชั่น"   ควร  "ตามรอยเบื้องพระยุคลบาทด้วยจิตพอเพียง" เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ โดยเริ่มรณรงค์ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงไปน้อมนำ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"  มาใช้เป็นวิถีชีวิต และขยายผลไปสู่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนทุกระดับ  ดังนั้นเมื่อบุคคลระดับผู้นำของประเทศมีวิถีชีวิตอย่าง "พอเพียง"  


ตามข้อเสนอนี้ก็จะ "ไม่ทุจริตเสียเอง"  ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 9   มีพระราชดำรัสเตือนไว้  และจะสามารถควบคุมกำกับดูแลไม่ให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบในองค์กรที่ตนรับผิดชอบรวมถึงเป็นแบบอย่างให้กับสาธารณชนที่มาจากภาคการเมืองซึ่งเข้ามาร่วมใช้อำนาจรัฐด้วยกัน  หากเป็นเช่นนี้ประเทศชาติจะสามารถหลุดพ้นจากการทุจริตผิดกฎหมายคอร์รัปชั่นต่าง ๆ  ได้อย่างแน่นอน     

 

การเมืองสุจริตถือเป็นมิติใหม่และเป็นแนวคิดใหม่ที่ตนได้คิดริเริ่มขึ้น  เนื่องจากเห็นว่าการได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยนั้น  จะต้องได้มาด้วยความชอบธรรมหรือได้มาด้วยความสุจริต  ไม่ใช่ได้มาด้วยการซื้อสิทธิขายเสียง  การทุจริต  ทั้งนี้แนวทางในการแก้ไขปัญหาจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องเสริมสร้างให้ประชาชน  เห็นถึงความสำคัญของการเมืองที่ยึดหลักธรรมาภิบาล  อันประกอบด้วย  หลักนิติธรรม  หลักคุณธรรม  หลักความโปร่งใส  หลักการมีส่วนร่วม  หลักความรับผิดชอบ  และหลักความคุ้มค่า  ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการเมืองสุจริต ซึ่งการทำประชาธิปไตยและการเมืองให้สุจริตได้นั้น  จำเป็นจะต้องเพิ่มเติมหลักความไม่เกรงใจด้วย เพราะประเทศไทยเราเคยชินกับคำว่าเกรงใจจนบางครั้งก็ยอมทำในสิ่งที่ผิด ทั้ง ๆ  ที่รู้อยู่แล้วว่าไม่ถูกต้องก็เกิดความเสียหายต่อส่วนรวม  และเกิดความเสียหายกับตนเอง  เพียงเพราะต้องทำตามเพราะความเกรงใจ 


ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศไทย  เกิดจากธรรมาภิบาลภาคปฏิบัติที่ล้มเหลว  เพราะความเกรงใจและละเลยการทำหน้าที่ของตน การจัดโครงการในครั้งนี้  เพื่อนำนโยบายแนวคิด "การเมืองสุจริต"   ไปสู่การปฏิบัติโดยผ่านการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน  โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษา  เยาวชน  และนักศึกษา  เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  และระบบการเมืองสุจริต  เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายตระหนักถึงความสำคัญของคุณธรรมและจริยธรรม  ความซื่อสัตย์สุจริตที่จะเป็นเครื่องมือนำพาให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน


ขณะที่นายอนุชา   กล่าวว่า   การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ซึ่งทุกภาคส่วน จะได้ระดมความรู้ ความสามารถนำมาร่วมกันแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการทุจริตคอรัปชันที่เป็นปัญหาระดับต้น ๆ ของประเทศ การแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากภายในและภายนอกหน่วยงานของรัฐ ที่สำคัญต้องทำงานเชิงรุกผ่านการบูรณาการจากทุกภาคส่วน โดยต้องมองปัญหาและแนวทางแก้ไขไปข้างหน้า นอกจากการปราบปรามแล้ว ต้องวางมาตรการสร้างความเข้าใจคู่ขนานกันไปด้วย 


ในส่วนของราชบัณฑิตยสภานั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประกอบด้วยปราชญ์ผู้มีความรู้ ที่หลากหลายสาขาวิชา เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการ ซึ่งการเสนอแนะองค์ความรู้จากการประชุมจะเป็นประโยชน์ต่อคณะรัฐมนตรี และรัฐบาลในการกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศต่อไป

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์

  วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ สุน...