วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564

134ปีสถาปนา"มจร"! สะท้อนมุ่งสร้างพุทธปัญญานวัตกรรม พัฒนาจิตใจชุมชนยั่งยืนร่วมต้านภัยโควิด



วันที่ 13 กันยายน  2564  ในภาคบ่ายของร่วมงานครบรอบวันสถาปนา 134 ปี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผ่านระบบออนไลน์  พระธรรมวัชรบัณฑิต ศาสตราจารย์ ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวนำการเสวนาวิชาการว่า  มหาจุฬากับการพัฒนาปัญญาและคุณธรรม   3 ด้าน คือ 1)สถานที่ศึกษาปฏิบัติเผยแผ่ บูชาสักการะพักผ่อนทางกายใจ  2 )บริการวิชาการด้านพระพุทธศาสนาแก่สังคม 3 )สร้างพุทธนวัตกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม โดยมุ่งความดี ความเก่งนำไปสู่สันติสุข 



จากนั้นเป็นเวทีเสวนาวิชาการ “มหาจุฬา ฯ กับการพัฒนาปัญญาและคุณธรรม” ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร. สุรพล สุยะพรหม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป มจร โดยมีเสวนาวิชาการประกอบด้วย พระมหาหรรษา  ธมฺมหาโส, ศาสตราจารย์ ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร กล่าวประเด็นสำคัญว่า เป็นการนำเสนอทางยุทธศาสตร์ในการเสริมพลังให้มหาจุฬามีความก้าวหน้าหยิบยื่นให้กับสังคมต่อไป โดยมอง ๓ C  ประกอบด้วย 1) Context  บริบท ประกอบด้วยว่ากระแสที่มาแรงมากคือ SDGs ส่งผลในการจัดอันดับของมหาวิทยาลัย  กระแสคอรัปชั่นความขัดแย้ง โควิด ซึ่งเป็นกระแสที่สำคัญในสังคมไทย  กระแสของ Digital  รัฐธรรมนูญมาตรา 67 ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเถรวาท ประกาศกระทรวงจัดกลุ่มสถาบัน ปรัชญาอุดมศึกษาไทย การขอตำแหน่งทางวิชาการด้านศาสนา  คำถามพระพุทธศาสนาจะตอบโจทย์บริบทอย่างไร 



2) Concept  หลักการ ประกอบด้วย แก่นแท้พระพุทธศาสนา พระราชปณิธานรัชกาลที่ 5  ศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง พุทธศาสนสุภาษิต ปญฺญา โลกสฺสมิ ปชฺโชโต มหาวิทยาลัยสงฆ์แบบอย่างแห่งคุณธรรม และปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความจริงสูงสุดในทางศาสนา  

3) Content  เนื้อหา  แผนของมหาวิทยาลัย วิสัยทัศน์ การประกันคุณภาพ หลักสูตร  พัฒนาบัณฑิตการวิจัยและสร้างนวัตกรรมชี้นำสังคม จะต้องสามารถออกแบบให้ตอบโจทย์สังคมในยุควิถีใหม่  โดยยึดปัญญาเป็นฐานคือ พุทธิปัญญาเพื่อชาวโลกนำไปสู่ปัญญาสู่สากล และปัญญาสู่ชุมชน  



ขณะที่ศาสตราจารย์ ดร. สมบูรณ์ สุขสำราญ กรรมการ ก.พ.ว. มจร กล่าวประเด็นสำคัญว่า  พระพุทธศาสนาถือว่ามีความสำคัญแต่เราต้องคำนึงถึงฐานรากเพราะมหาจุฬาเป็นมหาลัยของทุกคนยกระดับให้ศูนย์กลางศาสนาโลกให้มีความเข้มแข็ง โดยยึดมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า การศึกษาในมหาจุฬาจะทิ้งหลักพระพุทธศาสนาไม่ได้ จะต้องยึดมั่นในอัตลักษณ์ของชาวมหาจุฬาแต่ต้องบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ 



รองศาสตราจารย์ ดร.เจษฎ์  โทณะวณิก  มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวประเด็นสำคัญว่า การพลิกโฉมด้านอุดมศึกษาถือว่าเป็นมีความสำคัญมาก โดยเรามองมิติผ่านทุกศาสนา โดยมหาวิทยาลัยมีการปรับโฉมของสถาบันอุดมศึกษา 

พระปราโมทย์  วาทโกวิโท, ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา  มจร เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร สรุปว่า ดังนั้น สิ่งที่น่าสนในมากคือ พระมหาหรรษา   ในฐานะพระสงฆ์รุ่นใหม่เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนามหาจุฬามิติวิถีใหม่ ซึ่งสอดรับมหาวิทยาลัยกลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา มหาจุฬายกระดับส่งออกปัญญาสู่ชุมชนพัฒนาป้องกันโรคทางใจใช้ภูมิคุ้มกันทางศาสนา โดยยกพระพุทธศาสนาเป็นมรดกโลก 



ขณะที่รศ.ดร.พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดี มจร  ฝ่ายวางแผนและพัฒนา เสนอบทความเรื่อง "134 ปี มจร ให้อะไรกับสังคม?"  ระบุประเด็นสำคัญว่า วันนี้ (13 กันยายน) มหาวิทยาลัยแห่งนี้กำลังฉลองครบ 134 ปี แห่งการสถาปนา ถือได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน และตลอดระยะเวลาที่ได้จัดการศึกษาโดยการผลิตบัณฑิตออกมารับใช้สังคมและคณะสงฆ์จำนวนกว่า……..นั้น มหาวิทยาลัยได้มีคุณค่าและเป็นแบบอย่างอะไรให้กับสังคม นี่เป็นคำถามสำคัญที่ประชาคมชาว มจร ควรตระหนักและแสวงหาคำตอบในเชิงประจักษ์ ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นผู้บริหารและรับผิดชอบการบริหารมหาวิทยาลัยด้วยรูปหนึ่ง ได้มองเห็นและประมวลได้ ดังนี้          

1.เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ เพื่อพัฒนาจิตใจและสังคมมหาวิทยาลัยได้ยึดหลักพระพุทธศาสนากับหลักวิชาการมาบูรณาร่วมกันเพื่อพัฒนานิสิตตามหลักภาวิตกาโย ภาวิตสีโล ภาวิตจิตโต และภาวิตปัญโญ โดยเล็งประโยชน์สังคมเป็นเป้าหมายสำคัญ ตามหลักพันธกิจข้อแรกของมหาวิทยาลัยคือผลิตบัณฑิตให้มีความรู้คู่คุณธรรม        


  

2.เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาในระดับโลกทั้งฝ่ายเถรวาทศึกษาและมหายานศึกษา ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้ขยายแนวทางด้านการศึกษาและแนวทางในการสนับสนุนการศึกษาในด้านนี้ออกไปมาก เช่นมีสถาบันสมทบในต่างประเทศ 6 แห่ง โดยมีนิสิตแต่ละปีการศึกษาไม่น้อยกว่า 25,000 รูป/คน มีวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติเป็นหน่วยจัดการศึกษาหลักร่วมกับคณะทั้ง 5 คณะ คือ บัณฑิตวิทยาลัย คณะพุทธศาสตร์ ครุศาสตร์ มนุษยศาสตร์และคณะสังคมศาสตร์ เป็นที่ตั้งสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 117 สถาบันทั่วโลก เป็นที่ตั้งสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติ (UN) มีมติตั้งสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก (International Council for the Day of Vesak) ให้เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคม แห่งสหประชาชาติ นับเป็นครั้งแรกที่วงการพระพุทธศาสนาของไทยได้รับสิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของ UN          

ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้เชื่อมโยงร้อยรัดพระพุทธศาสนาทั่วทุกมุมโลกและทุกนิกาย ทุกประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวโดยการเป็นตัวกลางในการกระชับความสัมพันธ์ในทุกมิติ เช่น จัดประชุมสัมมนาทางวิชาการระดับนานาชาติโดยเฉพาะด้านพระพุทธศาสนา มีการแลกเปลี่ยนนิสิต อาจารย์ในหลายประเทศ การไปศึกษาดูงานเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมถึงการเจรจาสนทนาธรรมแบบข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (VPA) และอื่นๆอีกมากมายในแบบอย่างชาวพุทธที่พึงปฎิบัติต่อกัน นอกจากนี้แล้วมหาวิทยาลัยยังเป็นเวทีของการศึกษาและการทำงานในแบบกัลยาณมิตรร่วมกันของคณะสงฆ์ทั้ง 2 นิกายใหญ่ คือ เถรวาทและมหายานจนกลายเป็นมหามิตรอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนาในเวลานี้          

3.เป็นแบบอย่างในการบริหารแบบธรรมาภิบาล โดยมหาวิทยาลัยได้ประยุกต์หลักธรรมในพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในทุกมิติ ทั้งด้านการบริหาร ด้านการเรียนการสอนและหลักการครองตน โดยในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีระบบบริหารแบบมีธรรมาภิบาลของประเทศไทยนั้น มหาวิทยาลัยปีนี้อยู่ในอันดับที่ 2 ของประเทศ          

4.มหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นด้านการบริการวิชาการแก่สังคม ในพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษาในด้านนี้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีความโดดเด่นในการให้บริการด้วยการเข้าถึงชุมชนในทุกระดับทั้งชุมชนเมืองและชนบทครอบคลุมในทุกภาคส่วนของประเทศและบุคลากรของมหาวิทยาลัยต่างก็ทำงานด้วยหลักจิตอาสาตามแบบอย่างของพระผู้เสียสละโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน          

5.มหาวิทยาลัยตระหนักถึงการสาธารณสงเคราะห์ เพื่อเป็นช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนโดยไม่จำกัดศาสนา ในด้านนี้มหาวิทยาลัยไม่ได้เพิกเฉยต่อความยากลำบาก ความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ว่าจะฝนตก น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟไหม้ วิกฤติโควิด-19 เป็นต้น มหาวิทยาลัยโดยองคาพยพที่มีวิทยาเขต 11 แห่ง วิทยาลัยสงฆ์ 25 แห่ง หน่วยวิทยบริการ 5 แห่งทั่วประเทศและสถาบันสมทบในต่างประเทศ 6 แห่งต่างก็เป็นมดงานระดมกันออกช่วยเหลือประชาชนทั้งทางด้านสิ่งของ และปัจจัย 4 และรวมทั้งธรรมะเพื่อปลุกปลอบใจในยามวิกฤติอีกด้วย          

6.มหาวิทยาลัยเป็นขวัญใจคนยาก คนขาดโอกาสทางการศึกษา การที่มหาวิทยาลัยมีวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์และหน่วยวิทยบริการกระจายอยู่ในต่างจังหวัดเป็นจำนวนมากก็เพราะต้องการที่จะกระจายโอกาสทางการศึกษาให้พระภิกษุสามเณรและคนในชนบทที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ที่ตกหล่นในระบบและมีรายได้น้อยได้มีโอกาสในการฝึกฝนอบรมตนในระดับอุดมศึกษาให้มากขึ้นเพื่อจะได้ไม่เป็นภาระของสังคมและประเทศชาติในอนาคต          

7.เป็นมหาวิทยาลัยที่พัฒนาพุทธนวัตกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดีได้อธิบายความหมายว่า พุทธนวัตกรรมในด้านนี้มีองค์ประกอบ 4 อย่างคือ ศาสนบุคคล ศาสนธรรม ศาสนวัตถุและศาสนพิธี ซึ่งก็ครอบคลุมถึงกรรมฐานในทางพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นหลักในการดำเนินชีวิตให้เกิดความสุข ให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาในพระพุทธศาสนาโดยใช้ปัญญาคู่กับวิทยาศาสตร์ มีงานวิจัยที่ให้น้ำหนักในเรื่องพัฒนาจิตใจและสังคม          

ดังนั้น ในแผนพัฒนาอุดมศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2565-2569) มหาวิทยาลัยจึงกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า ” มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา ที่สร้างพุทธนวัตกรรม เพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม ” ( Buddhist university with Buddhist innovation for Mental and social Development )


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รวม 4 สุดยอดเหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส จ.นครพนม อายุ109 ปี

เหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช  หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม อายุ 109 ปี รวมความเป็นสุดยอดดังนี้ สุดยอดพุทธศิลป์ สุดยอดม...