วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2564

"2พส."กราบขอบพระคุณ."รก.เจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง"ที่แนะนำสั่งสอน


เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน 2564  เพจพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ได้โพสต์ข้อความว่า เข้ารับฟังโอวาทจากเจ้าคุณอาจารย์พระราชปัญญาสุธี รก. เจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง กราบขอบพระคุณเจ้าคุณอาจารย์ ที่ได้เมตตาแนะนำสั่งสอน ทั้งเพื่อการปรับปรุงแก้ไขและการทำหน้าที่ในการเผยแผ่พระศาสนาต่อไป

ปล. เจ้าคุณอาจารย์ฝากว่า ว่างๆ มาทำบุญวัดสร้อยทองกันบ้างนะโยม มาสนับสนุนพระเณรที่ศึกษาเล่าเรียนพระบาลี

ขณะเดียวกันเพจ Poonchuay Doojai ของพระครูพิพิธสุตาทร (พระมหา ดร.บุญช่วย สิรินธโร(ดูใจ)) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) วิทยาเขตเชียงใหม่ ได้โพสต์ข้อความว่า

“โลกวัชชะ: วาทกรรมของใคร ???”

>>>>>>><<<<<<<


@ “โลกวัชชะ” ได้กลายเป็น “วาทกรรม” ที่ถูกใช้เพื่อกล่าวหาพระภิกษุในประเทศไทย ว่ามีความย่อหย่อนในวินัยสงฆ์ เป็นเหตุให้ชาวบ้านติเตียน และทำให้ศาสนาเสื่อม วาทกรรม “โลกวัชชะ” ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและต่อเนื่อง ที่เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้นก็น่าจะเป็นช่วงที่เกิดกระแสการเร่งเร้าการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ภายใต้กรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช) ในปี 2557


@ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้เสนอให้มีการปฏิรูปองค์กรพระพุทธศาสนา ใน 4 ประเด็นหลัก คือ


1. เรื่องทรัพย์สินของวัดและพระสงฆ์ เนื่องจากเห็นว่า มีพระสงฆ์บางรูปแสดงความอวดรวย ใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ ทำให้เห็นว่าเป็นผู้สะสม มากกว่า เสียสละ และทรัพย์สินของวัดไม่มีการแสดงบัญชีทรัพย์สินให้พุทธศาสนิกชนได้รับรู้ถึงที่มาที่ไปของเงินบริจาค ไม่มีการตรวจสอบความโปร่งใส


2. เรื่องปัญหาของพระสงฆ์ที่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธา เนื่องจากเห็นว่า มีพระสงฆ์บางรูปที่ประพฤตินอกลู่นอกทาง ประพฤติไม่เหมาะสม ทั้งนี้ เพราะไม่มีความรู้ในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน สั่งสอนประชาชนตามความเข้าใจของตัวเองที่คิดว่าถูกต้อง หรือสอนตามแบบอย่างโบราณาจารย์ที่เคยสั่งสอนกันมาจากอดีต


3. เรื่องการทำพระธรรมวินัยให้วิปริตและการประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย เนื่องจากมีพระภิกษุบางรูปที่มีความรู้ในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาพอสมควร แต่ดัดแปลงหลักธรรมคำสอนนั้นให้เอื้อประโยชน์แก่ตัวเอง สร้างความเข้าใจผิดแก่พุทธศาสนิกชนผู้เคารพนับถือและปฏิบัติตาม จนเข้าใจว่านั่นคือพระพุทธศาสนาที่แท้จริง


4. เรื่องฝ่ายอาณาจักรที่จะต้องเข้าไปสนับสนุน ปกป้องคุ้มครองกิจการพระพุทธศาสนา เพราะเห็นว่า องค์กรทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ไม่สามารถที่จะบริหารจัดการกิจการพระพุทธศาสนาให้เรียบร้อยดีงามได้ องค์กรทางพระพุทธศาสนาขาดความทันสมัย แก้ไขปัญหาได้ไม่ทันท่วงที


@ ต่อมา มีการออกประกาศของมหาเถรสมาคม คำสั่งเจ้าคณะปกครองสงฆ์ ในเรื่องควบคุมพฤติกรรมพระสงฆ์ ภายใต้แรงกดดันจากกระแสการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาดังกล่าว การระทำอันละเมิดกฎหมายบ้านเมือง และ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ การวิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงตนกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความสงบสุขของประชาชน หรือส่อไปในทางยั่วยุ ปลุกปั่น ทำลาย ก้าวร้าวรุนแรง และไม่สร้างสรรค์


@ เชื่อได้ว่า ดุลยพินิจในการตีความของพระสังฆาธิการแต่ละรูปอาจมีความแตกต่างกัน ทำให้การวินิจฉัยพฤติกรรมของพระภิกษุสามเณรแตกต่างกันไป ซึ่งอาจไม่ถูกใจสังคมที่เต็มไปด้วยความรู้สึก แต่ขาดความเข้าใจพื้นฐานพระธรรมวินัย


@ “โลกวัชชะ” ใน “นิยามใหม่” ที่ว่า "โลกติเตียน" จึงอาจกลายเป็น “เครื่องมือ” ในการกำจัดพระภิกษุสามเณรบางรูป(ที่ไม่เป็นที่ชอบหน้า)ออกไปจากพระศาสนา โดยปราศจากข้อกล่าวหาอันเป็นความผิดโทษตามวินัยสงฆ์ และปราศจากข้อกล่าวหาอันเป็นความผิดกฎหมายบ้านเมือง


>>>>>>><<<<<<<


@ ในทางพระพุทธศาสนา “โลกวัชชะ” ใช้คู่กับ “ปัณณัตติวัชชะ” เสมอ เพื่อความเข้าใจที่ถูกตรง !!!


@ โลกวัชชะในพระพุทธศาสนาเถรวาทพบว่า การกระทำผิดที่ทางฝ่ายบ้านเมืองตำหนิติเตียนว่าไม่ดีมีความผิด และแม้ปุถุชนชาวบ้านทั่วไปทำก็ไม่ดีมีความผิด  เช่น  ฆ่ามนุษย์  ลักขโมย เล่นการพนัน ดื่มเหล้า เป็นต้น แม้ว่าความผิดบางอย่างแม้วินัยไม่ระบุไว้ว่ามีความผิด แต่หากเป็นความผิดตามกฎหมายบ้านเมือง ภิกษุก็ทำไม่ได้เช่นเดียวกัน กล่าวได้ว่าเมื่อเกิดการประพฤติเสียหายขึ้นนอกจากจะผิดพระวินัยแล้วยังเป็นโลกวัชชะเป็นที่ติเตียนของชาวบ้าน


@ “ปัณณัตติวัชชะ” ในพระพุทธศาสนาเถรวาท คือ โทษทางพระวินัยบัญญัติ หรือเป็นโทษที่เกิดจากความประพฤติผิดพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ โทษทางพระวินัย ทำแล้วมีความผิดเฉพาะพระภิกษุ  ชาวบ้านไม่มีความผิด  เช่น การพูดอวดคุณพิเศษที่ไม่มีในตน ฉันอาหารที่ไม่มีผู้ประเคน โทษที่เกิดเพราะความละเมิดพระวินัย เรียกว่า “อาบัติ” มี ๗ อย่าง คือ (1) ปาราชิก (2) สังฆาทิเสส (3) ถุลลัจจัย (4) ปาจิตตีย์ (5) ปาฏิเทสนียะ (6) ทุกกฏ (7) ทุพภาสิต


@ “โลกวัชชะ” แปลว่า โทษทางโลก ความผิดทางโลก รวมถึงอาบัติที่มีโทษทางโลกด้วย" เช่น การเสพสิ่งเสพติด มียาเสพติดที่ผิดกฎหมาย การฆ่าคน เป็นต้น ที่จัดว่าเป็น โลกวัชชะ เพราะเป็นสิ่งที่กฎหมายบ้านเมืองจัดว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิด และกำหนดโทษเอาไว้


@ “โลกวัชชะ” จึงหมายถึง การกระทำที่แม้แต่คนทั่วไป(ที่มิใช่พระภิกษุ)ทำก็ถือเป็นความผิด เป็นความเสียหาย หรือที่เรียกกันว่า “ผิดกฎหมาย” เช่น เสพยาเสพติด โจรกรรม ฆ่ามนุษย์ ทุบตีกัน หมิ่นประมาทกัน เป็นต้น เพราะฉะนั้น เมื่อพระภิกษุรูปใดกระทำในสิ่งที่กฎหมายทางโลกบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด แม้พระภิกษุรูปนั้นจะไม่ผิดพระวินัย แต่ก็เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ต้องรับโทษดังคนทั่วไปไม่มีข้อยกเว้น


@ ส่วนโทษของชาวโลกหรือความผิดกฎหมายบ้านเมือง (มิใช่โทษทางพระวินัย) ที่เรียกชื่อว่า “โลกวัชชะ” โทษกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘ โดยโทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้ (1) ประหารชีวิต (2) จำคุก (3) กักขัง (4) ปรับ (5) ริบทรัพย์สิน


@ “โลกวัชชะ” จึงมิได้มีความหมายว่า "โลกติเตียน" เหมือนที่พยายามนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำอะไรบางอย่างกันอยู่ ณ เวลานี้ !!!


@ “โลกวัชชะ” ที่แท้จริง ปรากฏให้เห็นมาแล้วสด ๆ ร้อน ๆ คือกรณี “ปาร์ตี้หมูกระทะ” ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ศาลแขวงจังหวัดเชียงใหม่ ได้พิจารณาจากพยานหลักฐาน พิพากษาให้จำคุกจำเลยทั้ง 8 คน เป็นเวลาคนละ 15 วัน และปรับคนละ 10,000 บาท ตามความผิดฐานรวมตัวมั่วสุมจัดกิจกรรม เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้เป็นเวลาหนึ่งปี และศาลยังสั่งปรับ ผู้ต้องหาอีก 4 คน เป็นเงินคนละ 12,500 บาท ในข้อหาเพิ่มในข้อหาบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัดหรือสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551


@ นี่ถือเป็นโทษ “โลกวัชชะ” ที่แท้ ไม่ใช่ที่พยายามนิยามใหม่ให้กลายเป็นเรื่อง “โลกติเตียน”


@ ยิ่งทุกวันนี้ มีความพยายามในการใช้ “โลกวัชชะ” ในนิยามใหม่ที่ผิดเพี้ยนนี้ ไปดำเนินการเอาผิดพระภิกษุผู้ไม่ได้กระทำการใด ๆ อันเป็นความผิดกฎหมายบ้านเมือง กดดันเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ให้ถอดจีวรของพระภิกษุออกอย่างพร่ำเพรื่อ ถือเป็นการไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย โดยแท้


@ ช่วงนี้ก็มีกรณี Live ของ พส. พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต และ พระมหาไพวัลย์ วรวณฺโณ เป็นกรณี “ดราม่า” ใหม่ที่ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง


# “ไม่สำรวม” ???

# “ไม่เหมาะสม” ???

# “เอาผ้าเหลืองมาคลุมกาย เพื่อหาผลประโยชน์” ???

# “ใช้ผ้าเหลืองเป็นแต้มต่อ” ???

# “จำอวดหน้าจอ” ???

# “พระรั่ว ตลกคาเฟ่” ???

# “แปลก หลอกแดก” ???


@ ในยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์พุทธในประเทศไทย มีพระภิกษุแหวกประเพณีด้วยการ “ยืนเทศน์บนโพเดียม” ที่สายประเพณีนิยมมองว่า “ไม่สำรวม” และยังออกแนว “ขัดพระธรรมวินัย” ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่ากระทำผิดประเพณีนิยมทางพระพุทธศาสนาที่ต้องนั่งเทศน์บน “ธรรมาสน์” เพียงเท่านั้น


@ ครั้นต่อมาเมื่อมีพระภิกษุเข้าไปเทศน์ในโรงหนัง ก็ถูกล่าวหาว่า "ไม่เหมาะสม" เพราะมุมมองว่าโรงหนังเป็นที่ "อโคจร" ที่พระภิกษุไม่ควรเข้าไป การวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมอีกตามเคย


@ คราวนี้มาถึงการเทศน์ “ออนไลน์” !!! ภายใต้สังคมโลกยุค “Digital Disruption” ในปัจจุบันนี้


@ จึงมีคำถามตามมาว่า “ขัดพระธรรมวินัย” หรือไม่ ??? เป็น “โลกวัชชะ” หรือไม่ ???


@ หากยึดเอาความหมายดั้งเดิม ก็ไม่น่าจะมีอะไรที่ผิดโทษ “โลกวัชชะ” อย่างแน่นอน เว้นแต่จะมีพวกที่ชอบเอาความหมายใหม่ คือ “โลกติเตียน” ไปใส่พระโอฏฐ์ ก็จะบอกว่า “ผิด” พร้อมทั้งพยายามหาเหตุผลข้าง ๆ คู ๆ มาสนับสนุน เพื่อสนองความเชื่อของตนเอง


@ ส่วนจะมีความผิด “ปัณณัตติวัชชะ” คือผิดโทษตามพระวินัยหรือไม่ ก็ไม่น่าจะมีลายลักษณ์อักษรใดที่ได้กล่าวถึงโทษปัจจุบันเป็นแน่แท้ เพียงแต่อาจต้องเทียบเคียง ตีความ สืบย้อนหาเจตนารมณ์


@ ซึ่งก็แน่นอนว่าไม่น่าจะผิดตาม “ปัณณัตติวัชชะ” ถึงขั้นที่จะต้องเรียกร้องให้มีการ “ถอดจีวร” อย่างที่พวกหมั่นใส้ใช้ความกระสันอยากเฉพาะตนจำนวนหนึ่ง มุ่งมั่นพยายามให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ


@ เพียงอยากให้กลับมาพิจารณาโทษพระภิกษุในสังคมปัจจุบันอย่าง “พุทธะ” บนฐานพุทธธรรม คือ “ปัณณัตติวัชชะ” และ “โลกวัชชะ” โดยปราศจากอคติทั้งปวง ก้าวข้ามอารมณ์ความรู้สึกภายในของบุคคล ตรงไปตรงมา โทษใดเข้ากับบทใดก็ดำเนินการตามนั้น


@ ดังตัวอย่างของ “ศาลแขวงจังหวัดเชียงใหม่” จัดการ “โลกวัชชะ” ได้ตรงตาม “พุทธธรรม” อย่างน่าชื่นชม


@ ส่วนใครที่ทำเกินกว่านั้น ด้วยความกดดันจากใคร ภายใต้นิยามใหม่ “โลกติเตียน” ก็ถือเป็น “วิบาก” ติดตัวของใครคนนั้นไป ซึ่งไม่มีใครช่วยอะไรได้ !!! จะนรก จะสวรรค์ จะนิพพาน จากพฤติกรรมนิยาม “โลกวัชชะ” เกินเลยวิถีแห่งพุทธะ ก็เลือกเอาเอง!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...