หนุน รพ.สนาม “1 วัด 1 จังหวัด” สสส.จับมือภาคีเครือข่ายสุขภาพพระสงฆ์ ดันมติมหาเถรสมาคม ให้วัดดูแลผู้ป่วยโควิด-19ชู รพ.สนามวัดสุทธิวราราม เป็นต้นแบบ พร้อมพัฒนานวัตกรรมสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ ช่วยพระ-บุคลากรทางการแพทย์-ญาติ สร้างความเข้าใจกับผู้ป่วยติดเชื้อ ลดเสี่ยงจากสัมผัส ตั้งเป้าส่งต่อ รพ.สต. 10,000 แห่งทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ที่วัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ โดยพระสุธีรัตนบัณฑิต, รศ.ดร. เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) และผู้จัดการโครงการการเสริมสร้างสุขภาวะและการเรียนรู้ตามแนวพระพุทธศาสนา สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 1 เดือน แต่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลสนามและมาตรการดูแลผู้ป่วยโควิดด้วยระบบอื่นๆ เช่น ระบบกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ระบบชุมชน (Community Isolation) ในแต่ละวันยังคงมีอัตราที่สูง จากข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พบว่า มีผู้ติดเชื้อที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลสนามและระบบอื่นๆ กว่า 80,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ติดเชื้อที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลที่มี 40,000 คน พบว่ามีมากกว่าถึง 1 เท่า การวางระบบบริหารจัดการโรงพยาบาลสนามและระบบอื่นๆ ให้มีความพร้อมถือเป็นมาตรการสำคัญ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยลดการแพร่ระบาดในครอบครัวและชุมชมวงกว้างในสถานการณ์ที่ผู้ป่วยยังคงล้นโรงพยาบาล
พระสุธีรัตนบัณฑิต, รศ.ดร. กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามวัดสุทธิวราราม ตั้งขึ้นในอาคารศูนย์เรียนรู้พระพุทธศาสนาและการพัฒนาสังคม ภายใต้โครงการการเสริมสร้างสุขภาวะและการเรียนรู้ตามแนวพระพุทธศาสนา สนับสนุนโดย สสส. วัดสุทธิวรารามมีรูปแบบการจัดการและวางระบบที่มีความพร้อม 5 ด้าน คือ 1.ด้านสถานที่ รองรับ 138 เตียง 2.ด้านการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย ที่ผ่านมา มีผู้เข้ารับการรักษากว่า 138 คน ปัจจุบันรักษาผู้ป่วยหายดีกลับบ้านแล้วกว่า 60 คน 3.ด้านอาหาร จัดตั้งโรงครัวทำอาหาร 3 มื้อ 4.ด้านการค้นหาผู้ป่วยและเยี่ยมผู้ป่วยในชุมชน กลุ่ม “พระไม่ทิ้งโยม” ลงพื้นที่เชิงรุกในชุมชนรอบข้าง และ 5.ด้านการสื่อสาร พัฒนานวัตกรรมด้านการสื่อสารรูปแบบรูปภาพเชิงสัญลักษณ์ 4 ภาพ โดยให้ผู้ป่วยสำรวจอาการเบื้องต้นแล้วใช้รูปภาพสื่อสารกับพระสงฆ์ บุคลากรทางการแพทย์ หรือคนในครอบครัว เพื่อลดการแพร่ระบาดจากการสัมผัส และลดปัญหาในการสื่อสาร โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก และแรงงานข้ามชาติ โดยขยายการผลิตสื่อในรูปแบบสติกเกอร์ เพื่อส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 10,000 แห่งทั่วประเทศ พร้อมเตรียมเปิดพื้นที่การเรียนรู้ Mini-Sandbox ย่านเจริญกรุง เพื่อเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มุ่งพัฒนาสุขภาวะองค์กรพระสงฆ์และชุมชน โดยสนับสนุนให้โรงพยาบาลสนามวัดสุทธิวรารามเป็นต้นแบบดูแลคนป่วยในวัดที่มีความพร้อมในการขยายผล พร้อมสานพลังภาคีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติผลักดันให้มหาเถรสมาคมเห็นชอบแนวทางการดูแลคนป่วยในวัดได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยให้วัดที่มีศักยภาพจัดตั้งเป็นศูนย์พักคอยเพื่อชุมชนอย่างน้อย 1 วัด 1 จังหวัดทั่วประเทศ ขณะนี้มีวัดและวิทยาลัยสงฆ์ภูมิภาคต่าง ๆ ของ มจร. นำรูปแบบการจัดการของวัดสุทธิวรารามไปปรับใช้แล้ว 17 แห่ง อาทิ วัดสิงห์ กรุงเทพฯ วัดไร่ขิง จ.นครปฐม วัดท่าโรงช้าง จ.สุราษฎร์ธานี วิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง จ.ลำปาง วิทยาลัยสงฆ์ร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด เพื่อช่วยให้ประชาชนที่กลับภูมิลำเนาได้เข้าถึงบริการสุขภาพ ลดภาระปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ตัดวงจรการระบาดและลดจำนวนผู้เสียชีวิตของไทย
ทั้งนี้ วัดที่สนใจจัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อชุมชนในวัด หรือหารือแนวทางการจัดตั้ง ติดต่อได้ที่เว็บไซต์ https://stopcovid.anamai.moph.go.th/dashbord_center/ โดยจะมีทีมงานประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหาแนวทางการจัดการวางระบบที่มีศักยภาพและมีความพร้อมที่ได้มาตรฐานต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น